ครูโขน
นาย ทวีศักดิ์ ครูวี วีระพงศ์

ครูวี


ประวัติความเป็นมาของกราววีระชัยสิบแปดมงกุฎ

ประวัติความเป็นมากราววีระชัยสิบแปดมงกุฎ 

กราววีระชัยสิบแปดมงกุฎ เป็นชุดท่ารำที่ดัดแปลงมาจากระบำวีระชัยสิบแปดมงกุฎเพื่อนำมาประกอบการแสดงโขนตามรูปแบบโขนหน้าจอ ผู้ประดิษฐ์ท่ารำชุดนี้ คือ นายกรี  วรศะริน  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (นาฏศิลป์ไทย)

กราววีระชัยสิบแปดมงกุฎ เป็นชุดการแสดงที่มีอยู่ในการแสดงโขนตอนยกทัพและการตรวจพลของฝ่ายพลับพลา อันได้แก่กองทัพของพระราม ที่เหล่าวานรเป็นพลทหาร 

คุณครูกรี  วรศะริน ท่านได้รับมอบหมายจากอดีตอธิบดีกรมศิลปากร นายธนิต  อยู่โพธิ์ เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2498 เมื่อคราวไปเผยแพร่นาฏศิลป์ไทย ณ ประเทศสหภาพพม่า ให้คิดประดิษฐ์ชุดการแสดงระบำวีรชัยของลิง โดยท่านนำหลักวิชานาฏศิลป์โขนลิง ท่ารำเบ็ดเตล็ด และประสบการณ์ด้านการแสดง มาเรียบเรียงประสานต่อเนื่องให้สอดคล้องอย่างเหมาะสม เช่น ท่ารำจากแม่ท่าลิง ท่ารำตรวจพลเพลงกราวนอก ท่ารบของพญาวานร (หนุมานรบนิลพัทและหนุมานรบมัจฉานุ) และมีการสอดแทรกท่าเต้นที่โลดโผนพลิกแพลงตามรูปแบบของยิมนาสติก เช่น การหกคะเมน ลังกาหน้า ลงกาหลัง เป็นต้น หลังจากนั้นได้มอบหมายให้ครูฉลาด พกุลานนท์ และครูบุญชัย เฉลยทอง ครูสอนนาฏศิลป์โขนลิงในสมัยนั้น เป็นผู้ช่วยฝึกซ้อมและถ่ายทอดท่ารำ

ที่มาของระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฎ เริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2498 รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนวัฒนธรรมไทยไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับประเทศสหภาพพม่า ในครั้งนั้นกรมศิลปากรได้นำนาฏศิลป์ไทยไปแสดงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในครั้งนั้นด้วยภายใต้การนำของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการกองการสังคีตได้มีแนวคิดในการที่จะทำชุดระบำของโขน เพื่อให้มีลักษณะเฉพาะในการที่จะนำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ และแสดงให้อาคันตุกะที่มาเยือนประเทศได้ชื่นชม ดังนั้นในการนี้จึงได้เกิดระบำชุดใหม่ขึ้นในช่วงเวลานั้น คือ ระบำวีระชัยลิง (สิบแปดมงกุฎ) ระบำวีระชัยยักษ์ และระบำครุฑ 

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการจัดการแสดงโขน ของกรมศิลปากร จึงได้มีการดัดแปลงตัดทอนท่ารำจากระบำวีระชัยสิบแปดมงกุฎ นำมาแสดงในรูปแบบของโขนหน้าจอ ซึ่งรูปแบบการแปลแถวเป็นไปตามแนวขนานของเวที จากการแสดงท่ารำที่โลดโผนสนุกสนาน คล่องแคล่ว ว่องไวของผู้แสดงที่แสดงเป็นวานร ทำให้ได้รับสนใจและชื่นชมในความสามารถของผู้แสดง จึงยึดรูปแบบการตรวจพลดังกล่าว และเรียกชื่อให้แตกต่างไปจากระบำที่เป็นต้นแบบ ว่า กราววีรชัยสิบแปดมงกุฎ

ค้นคว้าจาก...บทความวารสารศิลปากร เขียนโดย .ครูวิโรจน์  อยู่สวัสดิ์ .

 

หมายเลขบันทึก: 306634เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท