beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

สัปดาห์วิทยาศาสตร์ ในมุมมองของ Beeman


"เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ ""เราจะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของเราได้อย่างไร ถ้าเราไม่วิจัยเพื่อประชาชน และสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจัยให้เกิดขึ้นในบ้านเรา"

        ผมตั้งใจจะเล่าเรื่องสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่จัดที่ ม.นเรศวร ตั้งแต่วันที่ 18-20 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีโอกาสเสียที (งานล้นมือ ทำไม่ทันจึงยังไม่มีเวลาเขียน) พอดีได้ดู การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่ส่วนกลาง จัดวันที่ 23-28 สิงหาคม 2548 ทางโทรทัศน์ และมีการพูดถึง "นาโนเทคโนโลยี" และที่เป็น Highlight ของงาน (ในด้านสื่อมวลชน) คือ "ตู้ปลานาโน" (ผมเรียกเอง) มีการใช้เทคโนโลยี เอาปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม และกล้วยไม้ไปอยู่ในตู้ปลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เอาปลาทอง (ปลาน้ำจืด) และปลาการ์ตูน (ปลาน้ำเค็ม) และกล้วยไม้ อยู่ในตู้ปลาเดียวกัน ผมว่ามันสุดยอดครับ

       เมื่อดูข่าวโทรทัศน์เรื่องนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึง โฆษณาทางทีวีเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพหิมะตกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (เข้าใจว่าใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์กราฟฟิกในการตัดต่อ) แต่ผมมาติดใจสโลแกนอยู่คำหนึ่งว่า "เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ"

       คำสุดท้าย "ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ" มันโดนใจผมมาก ผมว่าเหมือนหลักการของ KM นะ พวกนักวิชาการ หรือ พวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มักจะคิดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และคิดว่าทำเรื่องยากให้มันยากยิ่งขึ้น แต่เรื่องที่พวกเขาทำมันไม่ไปสู่ประชาชนครับ มันอยู่บนหิ้งหรือไม่ก็อยู่ในมือของชาวต่างชาติ เราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของเราอย่างไร ถ้าเราไม่วิจัยเพื่อประชาชน และสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจัยให้เกิดขึ้นในบ้านเรา

       เราสร้างเงื่อนไขของงานวิจัยให้เป็นเรื่องยาก แต่ความจริงอันหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมด) การวิจัยอะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์ประชาชนอย่างยั่งยืน นั่นคืองานวิจัยเพื่อปวงชน ครับ ขอทิ้งประเด็นไว้แค่นี้ก่อน

       คราวนี้มาถึงเรื่องที่ขึ้นต้นไว้นะครับเรื่อง ปลาตู้ เรื่องนี้ทำให้นักชีววิทยา (เรื่องผึ้ง) อย่างผม ต้องเปลี่ยนทฤษฏีการสอนใหม่ครับ คือ เราสอนเรื่องการแพร่ของน้ำครับ หรือเรียกว่า ออสโมซิส ถ้าเอาปลาน้ำจืดมาอยู่ในน้ำเค็ม ปลาจะตายเพราะสูญเสียน้ำในร่างกายให้สิ่งแวดล้อม หรือถ้าเอาปลาน้ำเค็มมาไว้ในน้ำจืด ปลาจะตายเพราะได้รับน้ำมากเกินไป

       แต่ปลาตู้นาโน (ไม่ทราบว่าใช้น้ำจืดหรือน้ำเค็มใส่เข้าไป) ใช้หลักการทำให้ ก๊าซที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต คือ ออกซิเจน มีลักษณะเป็น Bubble ขนาดนาโน (เล็กมาก ขนาด 1 เมตร หารด้วย 10 ยกกำลัง 9 เท่ากับ 0.0000000001 เมตร) ละลายอยู่ในน้ำ ทำให้สิ่งมีชิวิตนี้อยู่อาศัยกันได้สบายเลย (ผมคิดว่าอย่างนี้เอาคนลงไปอยู่ด้วยก็ยังได้)

      แต่นี้มันเป็นเพียงแค่การทดลองครับ ในธรรมชาติคงทำไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นคือ "ถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้ เราก็คงไม่ได้ทำ แต่ถ้าเราคิดว่ามันทำได้เราจึงลงมือทำมันครับ" คือ ผมอยากจะบอกใครหลายคนว่า อย่าเพิ่งไปติความคิดของใครว่าทำไม่ได้และเชื่อมั่นตัวเองเหลือเกินว่าทำไม่ได้ เพราะฉันทำเรื่องนี้มาตั้ง 20 ปีแล้ว แต่มันทำไม่ได้ (ไม่เคยลงมือทำแต่วาดฝันวิมานในอากาศ)  ต้อง "ให้เขาลงมือทำก่อน ทำไม่ได้ค่อยว่ากัน" และ โปรดอย่าทำลายกันด้วยคำพูด แต่จงให้กำลังใจคนทำงานด้วยกันครับ

       คงต้องยกยอดเรื่องสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเรศวร ไว้บันทึกหน้าต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 3065เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2005 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท