เริ่มจากการออกกำลังกาย ไปถึงบทบาทของ อสส.


เราน่าจะติดอาวุธ (ทางปัญญา)ให้ อสส.เพื่อให้เขาสามารถดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ดิฉันไปสังเกตการณ์และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยเบาหวานแถบชุมชนบางคอแหลมของทีม ผศ.สมนึก กุลสถิตพรและน้องๆ นักกายภาพบำบัด จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัด ๒ รอบ เช้า และบ่าย แต่ละรอบมีผู้ป่วยและญาติมาร่วมประมาณ ๒๗ คน

อาจารย์สมนึกบรรยายง่ายๆ และใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เน้นว่าถ้าจะออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์นั้น ให้ออกกำลังกายอะไรก็ได้ที่สามารถทำได้ติดต่อกันต่อเนื่องครั้งละอย่างน้อย ๑๐ นาที ถ้าได้ ๑๕-๓๐ นาทียิ่งดี แต่ไม่ควรเกิน ๑ ชม. เพราะอาจจะเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้ การออกกำลังกายจะได้ผลต้องมีความหนักเพียงพอ เช่น ถ้าเดิน ต้องเดินให้เร็วกว่าปกติเล็กน้อย วิธีวัดความหนักที่ง่ายที่สุดคือดูว่าเหนื่อยไหม ถ้ารู้สึกค่อนข้างเหนื่อย มีเหงื่อซึมเล็กน้อย ก็ใช้ได้แล้ว ควรออกกำลังกายอย่างน้อย ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ ระหว่างการออกกำลังกายอย่ากระแทก อย่ากลั้นลมหายใจ และต้องไม่ลืมดูแลเท้าให้ดี

หลังการบรรยายเราให้ผู้ป่วยและญาติทดลองออกกำลังกายตาม CD ที่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ประยุกต์ท่าทางเป็นการออกกำลังกายของภาคต่างๆ ๔ ภาค กลุ่มรอบเช้าลองให้ทำตามของภาคใต้ ส่วนรอบบ่ายใช้ของภาคกลาง ผู้ป่วยทุกคนกุลีกุจอเลื่อนโต๊ะเก้าอี้และพากันเต้นแบบไม่ถอย เข้าจังหวะบ้างไม่เข้าบ้างเป็นที่สนุกสนาน รวมเวลาที่ใช้ประมาณ ๓๐ นาที หลายคนบอกรู้สึกเหนื่อยบ้างเล้กน้อย คนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยจะเหนื่อยมากหน่อย

ในงานนี้เราให้ผู้ป่วยลองบันทึกกิจกรรมของตนเองที่ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน เพื่อจะได้รู้ว่ามีช่วงเวลาไหนที่สามารถจะออกกำลังกายได้ คนที่บอกว่าไม่มีเวลาสำหรับการออกกำลังกาย พอบันทึกแล้วก็พบว่าตนเองมีเวลาที่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี วันละหลายชั่วโมงทีเดียว นอกจากนี้ยังสอนให้จดบันทึกการรับประทานอาหารแต่ละมื้อด้วย สำหรับการออกกำลังกายเราขอให้บันทึกว่าออกกำลังกายแบบไหน นานเท่าไหร่ รู้สึกเหนื่อยมากน้อยแค่ไหนด้วย วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้เรื่องการจัดการตนเองได้ด้วย

อาจารย์สมนึกยังทำหนังสือเกี่ยวกับการออกกำลังกายแบบต่างๆ เช่น ไม้พลอง โยคะ มวยจีน มาแจก พร้อมสำเนา CD การออกกำลังกายทั้ง ๔ ภาคให้นำกลับไปใช้ต่อที่บ้านด้วย

ผู้ป่วยที่มาร่วมกิจกรรมกับเราในครั้งนี้ รักษาเบาหวานอยู่ที่ศูนย์สาธารณสุขและ รพ.ต่างๆ ผู้ป่วยบางรายก็มีปัญหาแทรกซ้อน เช่น retinopathy, neuropathy เกิดขึ้นแล้ว ในรอบบ่ายมีคุณลุงท่านหนึ่งตาบอดแต่ก็สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จึงให้ลูกสาวพามา คุณลุงออกกำลังกายไปกับเราด้วยโดยมีลูกสาวคอยบอกท่าทาง แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีความสนใจตั้งใจ เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพของตนเอง เราคงต้องมาพิจารณาว่าบริการสุขภาพที่เราจัดให้ผู้ป่วยเพียงพอและดีพอหรือยัง

ดิฉันสังเกตเห็น อสส.หญิงคนหนึ่งคอยดูแลคุณลุงที่ตาบอดและคอยแนะนำผู้ป่วยรายอื่นๆ ด้วย อสส.หลายคนที่ดิฉันได้พบมีความกระตือรือร้นสนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เราน่าจะ "ติดอาวุธ (ทางปัญญา)" ให้ อสส.เพื่อให้เขาสามารถดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้  อสส.กลุ่มหนึ่งต้องการมีเครื่องตรวจน้ำตาลไว้ประจำที่ชุมชน เพื่อจะได้ตรวจเลือดได้เองเมื่อต้องการโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ศูนย์ เพราะบางศูนย์ก็ให้บริการตรวจเลือดเฉพาะวันที่มีคลินิกเบาหวานเท่านั้น

ดิฉันมองเห็นโอกาสในการให้ อสส.เข้ามามีบทบาทในการดูแลชาวชุมชน กทม.ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 30590เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท