ครูเทศบาล
สุนทรี ครูตุ๊กตา ธำรงโสตถิสกุล

การศึกษาพิเศษ


การจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ

การจัดการศึกษาพิเศษโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ 

                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2542  หมวด  2  ว่าด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา  มาตรา  10  กล่าวว่า  การจัดการศึกษา  ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน  ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ไม่น้อยกว่า  12  ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง  และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

                การจัดการศึกษาให้สำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  สังคม  การสื่อสารและการเรียนรู้  หรือมีร่างกายพิการ  หรือทุพพลภาพ  หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้  หรือไม่มีผู้ดูแล  หรือด้อยโอกาส  ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ  และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ

                การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสองให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก  สื่อ  บริการ  และความช่วยเหลืออื่นไดทางการศึกษา  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

                การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ  ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น(พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ , 2542.)

เนื่องจากโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐเป็นโรงเรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  รับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล  -  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  เป็นโรงเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนการสอนโดยยึดเด็กเป็นสำคัญและเนื่องจากสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนไป  ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชบัญญัติดังกล่าวโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ  ในฐานะที่เป็นโรงเรียนของชุมชน  จึงต้องมีการสนองนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ของทางรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นแต่ทางคณะผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐก็ปฏิบัติตามด้วยความตั้งใจและเต็มใจ  เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ปีพุทธศักราช   2542  ที่ว่า  “คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน”  เพื่อเป็นการกระตุ้น  ส่งเสริม  และพัฒนาศักยภาพของผู้พิการทุกคนให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อยู่บนพื้นฐานที่ว่า  “เด็กพิการทุกคนสามารถพัฒนาได้”  ต่อมานโยบายการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการของกระทรวงศึกษาธิการ  ปี  พุทธศักราช  2543 – 2544  ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิม  เป็น  “คนพิการทุกคนต้องได้เรียน  โดยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม”  และได้มีการส่งบุคลากรในโรงเรียนเพื่อเข้ารับการอบรม หลักสูตรการจัดการศึกษาพิเศษ  200  ชั่วโมง  เมื่อวันที่  15 มีนาคม  -  10  เมษายน   2547  ซึ่งจัดโดย  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย เป็นระยะเวลา  1  เดือน  โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มดำเนินการรับเด็กพิเศษเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ซึ่งในระยะแรกเริ่มรับเด็กเฉพาะในระดับปฐมวัยโดยเน้นการพัฒนาและ การฟื้นฟูสมรรถภาพของนักเรียนให้ดีขึ้น   และได้ขยายการดำเนินงานเข้าสู่ระดับประถมศึกษาโดยเน้นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเด็กในระดับประถมศึกษา  ปีที่  3 -5  โดยเน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น  พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของตนเอง  ให้ดีขึ้น  โดยมีครูประจำชั้นคอยส่งเสริมและช่วยแก้ไขเพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน

                โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ  เป็นโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์อำเภอ เมือง จังหวัดอุตรดิตถ์  จึงได้เริ่มดำเนินการรับเด็กพิเศษเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน  ตั้งแต่  ปีการศึกษา 2547  เป็นต้นมา  ขณะนั้น  เริ่มมีการจัดการศึกษาพิเศษในระยะแรกเริ่มรับเด็กเฉพาะในระดับปฐมวัย

รูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ

ในอดีตที่ผ่านมาการจัดการศึกษาสำหรับพิเศษนิยมให้เข้าเรียนในโรงเรียนพิเศษ เช่นโรงเรียนสำหรับคนหูหนวก  โรงเรียนสำหรับคนตาบอด โรงเรียนสำหรับเด็กพิการทางร่างกาย  เป็นต้น  แต่โรงเรียนเหล่านี้ต่างมีข้อเสียหลายประการที่สำคัญคือ  เป็นการแยกเด็กออกจากสังคมทำให้สังคมไม่เข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  และเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ไม่เข้าใจสังคม  ดังนั้น  เมื่อเด็กเรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้วเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่  และดำรงชีพอยู่เฉพาะในกลุ่มของเขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนในสังคมเดียวกันกับคนปกติ ได้นักการศึกษาพิเศษ  พิจารณาเห็นว่า การจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก  เพราะไม่สามารถเตรียมคนให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้  ต่อมาจึงมีความพยายามที่จะให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนปกติให้มากขึ้น  เหลือเพียงเด็กที่มีความบกพร่องขั้นรุนแรงเท่านั้นจะจัดให้เรียนในโรงเรียนพิเศษดังเดิม  แต่ก็มีเพียงจำนวนไม่มากนัก ( ผดุง    อารยะวิญญู : 2544, 43-44 )

การจัดการศึกษาพิเศษของโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ก็เช่นเดียวกัน ได้มีการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในลักษณะของการเรียนร่วมเต็มเวลา  และการเรียนร่วมบางเวลา( Mainstreming  และ  Integration) เป็นการส่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในห้องปกติห้องละประมาณ  1-2 คน  การเรียนร่วมในลักษณะนี้มีข้อดี  คือ เด็กทั้ง 2 ประเภทได้เรียนการอยู่ด้วยกันทำให้เกิดความเข้าใจกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเป็นการเตรียมเด็กให้อยู่ในสังคมเดียวกัน  ได้อย่างมีความสุข เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่แต่เรียนร่วมในลักษณะนี้ก็มีข้อเสียเช่น  ครูปกติไม่เข้าใจเด็กทำให้สอนเด็กได้ไม่ดี  ผู้ปกครองเด็กรังเกียจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ   เด็กอาจเรียนไม่ทันเพื่อนเป็นต้นโรงเรียนจึงได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะดำเนินการเรียนร่วมเต็มเวลา ( Mainstreming ) เช่น

เตรียมเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้มีความพร้อมใกล้เคียงกับเด็กปกติในทุกด้าน

- ชี้แจงให้ผู้ปกครองเด็กทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจนโยบายของโรงเรียน

- แนะนำครูผู้สอนในการปรับหลักสูตร วิธีสอน และวิธีวัดผล

- ชี้แจงให้เด็กทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจซึ่งกันและกัน และเข้าใจปรัชญาของการเรียนร่วมเป็นต้น

 

การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนร่วม

การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐนั้นมีอยู่   2  วิธีด้วยกัน  ดังนี้  คือ

 วิธีที่ 1   วิธีการจับฉลาก

วิธีการจับฉลาก คือ  การรับเด็กในระดับชั้นอนุบาลโดยวิธีการจับฉลากได้ และมีวิธีการคัดแยกเด็กโดยใช้ ( แบบคัดแยกเด็กแป้นหมุน 1 ( Dial – R ) เพื่อให้ครูรับทราบระดับความสามารถของเด็กในห้องของตนว่ามีระดับความสามารถเป็นอย่างไร  มีความบกพร่องในด้านใดบ้าง และมีความเสี่ยงที่จะเป็นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือไม่ อยู่ในเกณฑ์เด็กปกติ หรือว่าอยู่ในเกณฑ์เด็กอาจฉลาด เพื่อที่ครูจะได้หาทางช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือทำการแก้ไขและส่งต่อได้ถูกต้อง

 

วิธีที่ วิธีการรับตรง  คือ การรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยตรง

                          เด็กที่มีความพิเศษประเภทต่าง ๆ เช่น เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ เด็กปัญญาอ่อน ระดับเรียนรู้ได้ ( Moderate ) เด็กร่างกายพิการ  และเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ใช้เครื่องช่วยฟังเป็นต้น

 

กฏเกณฑ์ในการรับ

                          เด็กที่จะรับเข้าศึกษาในลักษณะนี้จะต้องเป็นเด็กที่มีความบกพร่องไม่มากนัก เพื่อที่เด็กจะได้เรียนร่วมกันกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนได้อย่างดี และมีความสุข และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนตามปกติ หากเด็กที่มีความบกพร่องในระดับที่รุนแรงจนไม่สามารถเรียนร่วมกันได้แต่โรงเรียนจะส่งต่อเด็กเข้าเรียนร่วม   ณ   ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองพระแล อ. ลับแล จ. อุตรดิตถ์ ก่อน เมื่อเด็กได้รับการฝึกฝนจนสามารถนั่งเรียนจึงรับกลับเข้าเรียนร่วมในบางชั่วโมงที่เด็กสามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติได้

 

หมายเลขบันทึก: 305890เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท