ชีวิตที่พอเพียง : 27. เลี้ยงหมู


• ตอนอายุได้สัก 10 ขวบผมมีหน้าที่ต้มข้าวหมู และเลี้ยงหมู   ตอนแรกมี 2 – 3 ตัว เป็นหมูพื้นเมือง เรียกว่า หมู “ขี้พร้า” ตัวดำ ท้องหย่อน หลังหย่อน ตัวไม่โตมาก   ตอนหลังมีหมูพันธุ์ สีขาวปลอด ตัวโต หลังตรง ท้องไม่หย่อน เข้ามา    คนก็หันมาเลี้ยงหมูพันธุ์มากขึ้น    ตอนหลังที่บ้านผมเคยเลี้ยงมากเป็นร้อยตัว    โดยเลี้ยงแบบปล่อยในพื้นที่หลายไร่ มีรั้วล้อม   ที่เลี้ยงมากเพราะมีที่  มีอาหาร (รำข้าว  ปลายข้าว) จากโรงสี   และให้ลูกจ้างโรงสีผลัดเวรกันทำหน้าที่เลี้ยง    ตอนนั้นผมมาเรียนที่กรุงเทพแล้ว
• ผมมีหน้าที่ไปแบกต้นกล้วย (เรียกว่าหยวก) ที่เขาตัดเครือกล้วยไปแล้ว ถ้าปล่อยไว้ก็จะค่อยๆ เน่าไป    (เราเอาหยวกมาใช้ประโยชน์สองอย่าง   อย่างหนึ่งคือเลี้ยงหมู  อีกอย่างหนึ่ง ใช้ทำเชือก เรียกว่าเชือกกล้วย จะเล่าวิธีทำภายหลัง)    เอาหยวกมาวางนอนไว้สำหรับ “ฝานหยวก” ซึ่งคนปักษ์ใต้พูดว่า “ขวานหยวก”    คนปักษ์ใต้พูดออกเสียงตัว ฝ เป็น ขว หมด  เช่น ฝน พูดว่า ขวน   ไฟ พูดว่า ไคว    เสียวฟัน พูดว่า เข็ดควัน
• วิธี “ขวานหยวก” ทำโดยขึ้นไปนั่งคร่อมหยวก ที่ปลายด้านหนึ่ง (ด้านโคน) หันออกนอกพื้น    ใช้มือสองข้างจับ “มีดขวานหยวก” ซึ่งเป็นมีดพิเศษ มีด้ามทั้งสองข้าง ตัวมีดงอเล็กน้อย ความยาวของมีดประมาณหนึ่งศอก  ปาดหยวกเป็นแว่นบางๆ ลงไปในครกไม้ที่รองรับอยู่   ยิ่งบางยิ่งดี เพราะตำให้แหลกง่าย    ถ้าเรา ขวานหยวกบางมาก ผู้ใหญ่มาเห็นก็จะชมว่าเก่ง  
• ขวานหยวกจนเต็มครก ก็ตำ ซึ่งเรามักเรียกว่าโขลก โดยใช้สากไม้ยาวประมาณเมตรครึ่ง    ด้ามจับอยู่ตรงกลางเป็นช่วงที่คอดจนเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วครึ่ง   ตัวสากมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นี้ว    ความหนักของสากหนักพอสมควรสำหรับเด็กเพราะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง   พอโขลกไประยะหนึ่งก็ต้องเอามือควักให้ส่วนที่อยู่ข้างล่างและยังไม่แหลกขึ้นมาข้างบน   ต้องโขลกให้แหลกทั่วกัน   มิฉะนั้นเวลาเอาไปต้มก็จะเห็นหยวกที่ยังเป็นชิ้นโตๆ และถูกผู้ใหญ่ตำหนิ
• แล้วเอาไปต้มโดยใช้กระทะขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 3 ฟุต   บนเตาอั้งโล่ หรือเตาดินที่ใช้หิน 3 ก้อนเป็นเส้า   ใช้ฟืนซึ่งเป็นไม้เสม็ดหรือไม้โกงกางที่มีคนตัดมาขาย   ที่บ้านผมซื้อมากองไว้ใช้สูงเป็นภูเขา   เวลาหน้าฝนฟืนโดนฝนก็จะมีเห็ดขึ้น คือเห็ดแครงและเห็ดเหม็ด   ผมมีหน้าที่ไปเก็บมาให้แม่ผัดกิน    ตอนต้มหยวกต้องคอยคนเป็นครั้งคราว โดยใช้ไม้พาย
• พอหยวกสุกจนเริ่มเปื่อยก็ใส่รำข้าวและปลายข้าวลงไปด้วย เพื่อเพิ่มสารอาหาร
• บางครั้งหยวกมีไม่ค่อยพอ   ผมก็ไปสาวผักบุ้งจากในสระ เอามาหั่นและต้มแบบเดียวกัน   อาจต้มปนกับหยวกด้วยก็ได้  
• เมื่อข้าวหมูสุกดีแล้วก็ราไฟและปล่อยให้เย็น   เอาฝาปิดไว้กันไก่มาลักกิน (ภาษาปักษ์ใต้)    พอตกเย็นก็มาตักเอาไปเลี้ยงหมู   โดยเอาเทลงในรางไม้ ที่เขาขุดไม้ทั้งต้นทำเป็นราง   หรือเอาไม้กระดานมาต่อกันเข้า ทำเป็นราง
• ตอนหลัง เมื่อเลี้ยงหมูเป็นร้อยตัว เวลาให้อาหารจะใช้วิธีเคาะระฆัง หมูที่เดินไปหากินไกลๆ ก็จะวิ่งมาเมื่อได้ยินเสียงระฆัง  ระฆังในที่นี้เป็นแผ่นเหล็กแขวนไว้   เอาเหล็กยาวๆ เคาะเสียงดังเก๊งๆ 
• ในเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านต้องทำมาหากินหลายๆ อย่าง   หาทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์   บ้านผมเลี้ยงหมูในช่วงแรกเพื่อเอาเศษอาหารและหยวกกล้วยไปแปรเป็นเนื้อหมู   ช่วงหลังเพื่อเอารำข้าวและปลายข้าวจากโรงสีไปเพิ่มมูลค่า
• ถ้าหมูไม่เป็นโรคก็ได้กำไรดี   แต่ถ้าเป็นโรคก็ขาดทุนมากเหมือนกัน   สมัยนั้นการป้องกันโรคของหมูยังแทบไม่มี

วิจารณ์ พานิช
๒๓ พค. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 30551เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  เคยทำมาเหมือนกันครับท่านอาจารย์  แต่ความที่มันนานมาแล้ว  หลงลืมอะไรไปหลายอย่าง  พอได้อ่านบันทึกจึงนึกได้  นับเป็นเครื่องเตือนความทรงจำที่ดีมาก  ลักษณะมีดขวานหยวกที่เกือบจะเลือนลางก็กลับมาชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง  จำได้ว่าไม่ลับให้คมจะโชว์แผ่นหยวกบางๆให้ผู้ใหญ่กล่าวชมได้ยากมาก  .. ผมอยู่กับน้า  เลี้ยงหมูเพียง 4-5 ตัว นอกจาก ขวานหยวก "เซหยวก" (แถวไชยาใช้คำนี้ หมายถึงตำหยวก) แล้ว  งานพิเศษคือไปลุยน้ำลึกในนา หรือในคลองเพื่อตัดต้นบอน หอบมามัดบรรทุกท้ายจักรยานเอาไปต้มให้หมูกินร่วมกันหยวกกล้วยและรำ ข้าวอีกด้วย  .. ขอบพระคุณมากครับ
     สมัยเป็นเด็กคุณแม่ก็เลี้ยงหมูเหมือนกันค่ะ  จำได้ว่าใช้วิธีฝานหยวกกล้วยแล้วผสมกับรำ  หรือบางทีก็ไปรับเปลือกกล้วยจากแม่ค้ากล้วยปิ้งมาให้หมูกินค่ะ แต่เนื่องจากมีบ้านเรือนมาอาศัยอยู่ละแวกนั้นมากขึ้น (ถึงแม้แถวๆนั้นมีบ้านที่เลี้ยงหมูอยู่ติดๆ กันหลายบ้าน)  กลิ่นมูลหมูไปรบกวนบ้านใกล้ๆ จึงต้องเลิกเลี้ยงไปโดยปริยายค่ะ
ผมก็เคยตัดต้นบอนเอามาหั่นและต้มเป็นอาหารหมูเช่นเดียวกัน   ขอบคุณคุณ Handy ที่ช่วยเตือนความจำ

ใครอยากเลี้ยงหมูแล้วได้น้ำหนักดี โตเร็ว แข็งแรง หมูไม่ตาย ไม่เป็นโรค

ไม่เป็นหวัด ไม่อ่อนเพลีย ที่สำคัญขี้ไม่เหม็น มีฟาร์มตัวอย่างให้ดูด้วย ที่จ.สระแก้ว ใช้ รุ่นที่ 2 ได้กำไรเพิ่ม 30,000 บาท ตอนนี้ผู้เขียนเองจะออกจากงานที่ทำอยู่ออกไปเลี้ยงหมูแล้ว อยู่ กรุงเทพก็เบื่อ อยากทำอะไรที่พอเพียงบ้าง

สอบถามเพิ่มเติมได้

โทร 02-946-0898

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท