Definition of Situation (2)


การทดลองทางจิตวิทยาแสดงให้เราเห็นมานานแล้วว่า “ความรู้สึก” นั้นความจริงคือการเกิดการหลั่งสารเคมีบางอย่างในร่างกาย การหลั่งนี้อาจถูกกระตุ้นโดยการรับสารเคมีเข้าไป (คนจึงชอบดมยาหรือติดสารเสพติด รวมไปถึงเหล้าและบุหรี่ เพราะสารบางอย่างในสิ่งเหล่านั้นจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งที่ว่านี้) หรืออาจเกิดการหลั่งจากการกระตุ้นด้วยสถานการณ์บางอย่าง แต่การหลั่งนั้นจะถูก “นิยาม” ให้เป็น (หรือเรียกว่าเป็น) ความรู้สึกอะไร (ดีใจ ตกใจ เสียใจ ฯลฯ) ก็แล้วแต่การหล่อหลอมทางวัฒนธรรมว่าควรจะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรมากกว่าจะเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ผลการวิจัยหลายครั้งยืนยันว่า “ความรู้สึก” ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่าตนมีนั้น ความจริงถูกกำหนดโดยสถานการณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและสามารถ “ระบุ/ กำหนด” ได้ล่วงหน้า

               การทดลองทางจิตวิทยาแสดงให้เราเห็นมานานแล้วว่า “ความรู้สึก” นั้นความจริงคือการเกิดการหลั่งสารเคมีบางอย่างในร่างกาย การหลั่งนี้อาจถูกกระตุ้นโดยการรับสารเคมีเข้าไป (คนจึงชอบดมยาหรือติดสารเสพติด รวมไปถึงเหล้าและบุหรี่ เพราะสารบางอย่างในสิ่งเหล่านั้นจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งที่ว่านี้) หรืออาจเกิดการหลั่งจากการกระตุ้นด้วยสถานการณ์บางอย่าง แต่การหลั่งนั้นจะถูก “นิยาม” ให้เป็น (หรือเรียกว่าเป็น) ความรู้สึกอะไร (ดีใจ ตกใจ เสียใจ ฯลฯ) ก็แล้วแต่การหล่อหลอมทางวัฒนธรรมว่าควรจะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรมากกว่าจะเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ผลการวิจัยหลายครั้งยืนยันว่า “ความรู้สึก” ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่าตนมีนั้น ความจริงถูกกำหนดโดยสถานการณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและสามารถ “ระบุ/ กำหนด” ได้ล่วงหน้า

                  เมื่อแนวคิดเรื่องนิยามสถานการณ์เป็นฐานของแนวคิดเรื่อง social construction of reality มันก็ย่อมเป็นฐานของวิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นซึ่งเชื่อว่าไม่มีความจริงแท้แน่นอน (absolute reality) ใดๆ ทั้งสิ้นเพราะทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สังคมสร้างขึ้น (social construct) และเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงนึกได้แล้วว่านิยามสถานการณ์ก็คือหลักคิดพื้นฐานของวาทกรรมหรือ discourse ด้วย เพราะวาทกรรมก็เป็นเรื่องของการสร้างนัยหรือนิยามของคำใดคำหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งว่าจะเกี่ยวพันถึงเรื่องอะไรบ้าง และควรจะคิดหรือมีปฏิกิริยากับมันอย่างไร

                   นิยามสถานการณ์ยังเป็นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างทัศนคติและภาพลักษณ์ เมื่อเรานิยามเอ็นจีโอว่าตัวป่วนหรือพวกที่ชอบยุแยงให้คนทะเลาะกัน เราก็ย่อมมีทัศนคติต่อพวกเขาเป็นลบ แต่ถ้าเรานิยามพวกเขาว่าเป็นพวกที่ยอมเสี่ยงออกมาเรียกหาความเป็นธรรมให้กับคนที่ไมมีปากเสียงในสังคม เราก็จะชื่นชมเขาในฐานะผู้เสียสละ ในทำนองเดียวกัน การสร้างภาพลักษณ์ก็คือความพยายามที่จะสร้างนิยามสถานการณ์ให้กับผู้อื่นว่าควรนิยาม (ควรเห็น ควรคิด) ว่าเราเป็นคนอย่างไร เพื่อจะได้กำหนด (ทิศทางของ) พฤติกรรมของผู้อื่นที่มีต่อเรา

                  ความเข้าใจเรื่องนิยามสถานการณ์จึงช่วยให้เรา “เข้าใจ” ว่า

                 -ทั้งที่เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจบ้านเรามันแย่ ทำไมรัฐบาลถึงบอกว่าเติบโต 4-5% ทุกปี (ที่รัฐไม่ยอมอธิบายให้เราเข้าใจว่าความเติบโตของเศรษฐกิจที่แถลงกันมานั้นเป็นความ “เติบโต” ที่คิดจากฐานของเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (!!) ก็เพราะรัฐต้องการสร้างนิยามสถานการณ์ว่าเศรษฐกิจบ้านเรายังไปได้ดีอยู่)

                - ทำไมคนบางคนจึงสนใจการทำประชาสัมพันธ์ผลงาน (สร้างนิยามในสายตาผู้อื่น) มากกว่าการทำให้เกิดผลงาน

                - ทำไมเวลามีวิกฤตการณ์ “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายจึงต้องไป “ดูแล” ถึงที่เกิดเหตุ ทั้งที่บ่อยครั้ง การไม่ไปดูน่าจะดีกว่าเพราะเจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลามา “บรีฟ” (แต่เอาเวลาไปบริหารจัดการ) ไม่ต้องเอารถหรือ ฮ. มารับส่ง (จะได้เอาไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแทน) ไม่ต้องเสียเวลาหาอาหารดีๆ มาเลี้ยงดู และไม่ต้องอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง แต่นั่นแหละนะ บางครั้ง การสร้างนิยามหรือภาพลักษณ์ก็ดูจะมีความหมาย (สร้างความนิยมชมชื่น สร้างกำลังใจให้กับคนทุกข์ยาก ฯลฯ) ที่อาจจะสำคัญกว่าการลงมือปฏิบัติงานจริง (ที่ว่านี้ ไม่ได้ตั้งใจเสียดสีนะคะเพราะในบางกรณี กำลังใจว่ามีคนเหลียวแลและไม่ถูกทอดทิ้งก็อาจสำคัญกว่าข้าวของที่ได้รับจริงๆ ก็ได้)

                     แต่ที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมากกว่าการสร้างความเข้าใจ “สังคม” ก็คือนิยามสถานการณ์ช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจคนรอบตัวในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ได้เรียนรู้ว่าเมื่อคนเราจะมีปฏิกิริยาตามนิยามสถานการณ์ที่เขาให้ การจะเข้าใจพฤติกรรมของเขาก็ต้องมองผ่าน “แว่น” หรือนิยามที่เขาให้ ไม่ใช่ใช้นิยามของเราไปตัดสินหรือทำความเข้าใจผู้อื่น ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรจะยัดเยียดนิยามของเราให้คนอื่นโดยการพยายามบังคับให้คนอื่นคิด (มอง/ ให้นิยามสถานการณ์) เหมือนตัวเราเอง

                  อย่างไรก็ตาม คุณค่าที่โดดเด่นที่สุดของแนวคิดนี้สำหรับผู้เขียนก็คือการเตือนใจให้ตระหนักว่าประสบการณ์ของเราจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองหรือให้นิยามสิ่งที่เกิดขึ้นไปในทิศทางใด ผู้เขียนยอมรับว่าสำหรับคนบางคน ความเลวร้ายในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมอง เช่น การไม่มีเงินมาซื้อข้าวให้ลูกกินหรือซื้อยามารักษาแม่ที่ป่วยมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะ “คิด” ให้มันหายไปได้ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ (อย่างน้อยก็คนที่มี “ปัญญา” มาอ่านเว็บนี้) ความสุขหรือความทุกข์ส่วนใหญ่นั้น เราสามารถสร้าง positive thinking หรือกำหนดทิศทางของประสบการณ์ใหม่ได้ด้วยการเปลี่ยนนิยามสถานการณ์ให้กับตัวเราเอง...

สวัสดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 305479เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท