รู้จักแม่นำโขงแห่งชานุมารมณฑล กันหน่อย


แม่นำโขงสายใยแห่งชีวิตของชาวชานุมารมณฑล

ประวัติศาสตร์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง

ยุคสมัยการล่าอาณานิคม

          ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกนักล่าอาณานิคม ผู้กระหายการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าจากซีกโลกตะวันออก โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้เข้ามาเก็บข้อมูลสำรวจแม่น้ำโขงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๐๔ ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ นั่นเป็นจุดเริ่มของการศึกษาเพื่อจะเข้ามายึดครองประเทศใหญ่ในเขตลุ่มน้ำโขง

          ลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศเขมร ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ และบุกยึดครองประเทศเวียดนามอย่างเบ็ดเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พร้อมกับการขยายอิทธิพลบุกยึดประเทศลาวในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และมีเป้าหมายต่อไปคือประเทศสยาม

          ประเทศสยามต้องตกอยู่ในวงวนของการล่าอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ไม่สูญเสียอิสรภาพทั้งประเทศแต่ก็สูญเสียแผ่นดิน นามแคว้นสิบสองจุไท ในปี ๒๔๓๑ และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทิ้งปัญหาไม่เป็นธรรมเรื่องการปักปันพรมแดนไทย – ลาว ในแนวแม่น้ำโขงที่ไม่ได้ถือร่องน้ำลึกแม่น้ำเป็นแนวเขตแต่ถือร่องน้ำที่ติดฝั่งไทยเป็นเกณฑ์

ยุคสมัยใหม่

          การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงในระยะแรกนั้น มีความสัมพันธ์กับการเมืองในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุนนิยมของผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา และลัทธิสังคมนิยมที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เกือบทั้งสิ้น

          แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคอินโดจีน จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีแผนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค ที่แฝงไว้ด้วยข้อตกลงทางการเมืองและการทหาร ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลอเมริกา เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในฐานทัพ การสร้างถนนเพื่อเป็นถนนสายยุทธศาสตร์

          ในระยะแรกมีการจัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เพื่อวางแผนการพัฒนาภายใต้วัตถุประสงค์ ส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ ประสานงาน ให้คำแนะนำ และควบคุมแผนการสำรวจเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น อาทิ เนื้อไม้ สมุนไพร ซากสัตว์ ป่า ทองคำ อัญมณี ฯลฯ ถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม จากเกษตรกรรมธรรมชาติ สู่ระบบทุนนิยม สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจแก่มหาอำนาจได้อย่างแนบเนียน

          แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๒๐ การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงได้หยุดชะงักลง เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน และอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองของประเทศสมาชิกในเวลานั้น ทำให้ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก

          ภายหลังจากการถอนตัวได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวขึ้น

          ในช่วงสงครามเย็น ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๓๒ จากการถอนตัวของประเทศสมาชิก ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงหยุดชะงักลง ในช่วงท้ายของยุคสงครามเย็น ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ได้เข้ามาในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คณะกรรมการ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเซีย ที่รุกเข้ามาในลุ่มน้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราว ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ

          ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง การค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นขึ้นภายใต้วาทกรรมของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “แมวจะสีอะไรก็ตามขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่แรงจูงใจในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงแหล่งทุนต่างประเทศเปิดช่องทางให้ด้วย รวมทั้งหลังจากการผลัดเปลี่ยนสู่ผู้นำรุ่นที่สามของจีนได้อย่างราบรื่น จีนได้เริ่มประกาศระบบเศรษฐกิจการตลาดสังคมนิยมแบบเปิดและสั่งการได้ เช่น เดียวกับวาทกรรม “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่เคยใช้กับเกาะฮ่องกง นอกจากนี้ในรายละเอียดของโครงร่างปฏิรูปประเทศแห่งสมัชชาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๖ เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ยังต้องการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจการค้าของจีนสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ให้สูงยิ่งขึ้น แต่ฐานคิดการปฏิรูปนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการของจีนหลายท่านว่า ละเลยภาคชนบทหรือเกษตรกรด้วยการเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในเขตเมือง จะทำให้เกิดการอพยพของคนชนบทเข้าเมือง และจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังละเลยความคิดเรื่องระบบนิเวศน์ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปอย่างมหาศาล เพื่อป้อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเมืองใหญ่

          ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เกิดการรวมตัวของ ๖ ประเทศภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion GMS) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ตลอดถึงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง

          รวมไปถึงการกลับมาของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในโฉมหน้าใหม่ภายใต้ชื่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) นอกจากนี้ยังมีแผนความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างไทย พม่า ลาว จีน ที่ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเป็นการตอบสนองเพื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแต่เพียงทางเดียว และโดยเฉพาะหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี ๒๕๔๕ การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศสังคมนิยม ยังผลให้เกิดการผลักดันการใช้ทรัพยาการธรรมชาติในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนเพื่อตอบสนองเขตอุตสาหกรรมในจีน รวมทั้งเพื่อการเพิ่มการค้าและตัวเลขทางเศรษฐกิจ – การบริโภคด้วยการเปิดเขตการค้าเสรีไทย – จีน (FTA) ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และกำลังผลักดันการค้าเสรีอาเซียนจีนอยู่อย่างจริงจังอีกด้วย

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

          เขื่อนขนาดใหญ่มากกว่า ๑๐๐ เขื่อน ถูกกำหนดให้มีขึ้นบนลำน้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากสถาบันหลัก คือ ธนาคารพัฒนาเอเซีย ธนาคารโลก และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งทั้ง ๓ สถาบัน เป็นองค์กรโลกบาลที่มีเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมและจัดการแม่น้ำโขงเชิงพาณิชย์

          โครงการบางส่วนได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว และโครงการหลักที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อลุ่มน้ำโขงทั้งหมด คือ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ๘ เขื่อน กั้นแม่น้ำโขงตอนบน หรือแม่น้ำหลานซางในประเทศจีน ภายใต้โครงการหลานซาง – เจียง ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงและความวิตกกังวลของประเทศปลายน้ำว่า จะมีผลกระทบกับแม่น้ำโขง ระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างไรบ้าง รวมทั้งประเด็นที่จีนกำลังจะกลายเป็นผู้ควบคุมลำน้ำโขง แม่น้ำนานาชาติแต่เพียงผู้เดียว

เขื่อนที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบน

          มี ๒ เขื่อน ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมันวาน สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดาเชาซาน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เขื่อนแห่งที่สาม ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ คือเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซี่ยวหวาน เป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สันเขื่อนสูงถึง ๒๔๘ เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จีนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๕ รวมทั้งเขื่อนจิงหงในสิบสองปันนาที่อยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมการก่อสร้าง และได้ปรับแต่งหน้าดินบริเวณฝั่งโขงไปแล้ว โดยมีนักธุรกิจการเมืองจากไทยไปร่วมลงทุนซึ่งมีสัญญาจะส่งไฟฟ้ามาขายในประเทศไทยด้วย

          ผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีผู้ที่สูญเสียที่อยู่อาศัยไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๙,๕๕๓ คน ระบบนิเวศน์ และผลกระทบด้านอื่น ๆ ยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ อันมีสาเหตุมาจากเงื่อนไขทางการเมือง เนื่องจากการควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการเดินเรือ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น การลดปริมาณของพันธุ์ไม้น้ำ สาหร่ายใต้ผิวน้ำ (ไก) การลดจำนวนลงของปลาบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์

          นอกจากนี้ผลกระทบต่อแม่น้ำโขงตอนล่างพบว่า มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๒ ประการคือ ฤดูกาลน้ำขึ้น – น้ำลงของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงในรอบหนึ่งปี และปริมาณตะกอนในลุ่มน้ำ

          การเปิด – ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนในประเทศจีน มีผลทำให้ปริมาณเฉลี่ยของน้ำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในฤดูแล้ง และการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป อีกทั้งปริมาณตะกอนกว่าครึ่งหนึ่งที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงก็ถูกเก็บกักไว้ที่เขื่อนต่าง ๆ ในจีน ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

          ผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการทำประมง ปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติในฤดูแล้งส่งผลกระทบต่อการเดินทาง วางไข่ และอยู่อาศัยของปลา ขณะเดียวกันในฤดูฝนการเก็บน้ำของเขื่อนทำให้น้ำไม่หลากตามธรรมชาติ ระดับน้ำในพื้นที่ป่าน้ำท่วมถึงบริเวณตอนใต้ของประเทศลาวและกัมพูชาลดลง และส่งผลกระทบไปถึงแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์วางไข่ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมไปถึงการลดลงของทรัพยากรประมง และการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางชนิด

          ผลกระทบต่อการเกษตร กว่าร้อยละ ๘๐ ของนาข้าวบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้อาศัยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มากับตะกอนในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง ทำให้วงจรการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ปริมาณตะกอนที่มีประโยชน์ต่อการเพาะปลูกลดน้อยลง ส่งผลไปถึงความอุดมสมบูรร์ของดินและปริมาณผลผลิตทางการเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วย

          แสดงถึงนัยสำคัญว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตจะสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ต้องแบกรับ รวมไปถึงคุณภาพน้ำในแม่น้ำที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมากขึ้น

          ขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่เพิ่มมากกว่าปกติในฤดูแล้งทำให้ไม่สามารถทำเกษตรริมโขงได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นผลกระทบเรื่องการกัดเซาะ ปัญหาแผ่นดินถล่ม รวมถึงปัญหาการย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ซึ่งได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

          สถาบันหลักที่ให้การช่วยเหลือในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ คือ ธนาคารพัฒนาเอเซีย เขื่อนทั้งหมดที่จีนดำเนินการเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ บางส่วนมีสัญญาส่งขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย

          เช่นเดียวกับประเทศลาว พื้นที่ใหม่ที่นักสร้างเขื่อนทั้งหลายกระหายให้มีเขื่อนในลุ่มน้ำ

          ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีโครงการมากมายเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียและองค์กรข้ามชาติ เช่น การผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนเซคามัน ๑ กั้นแม่น้ำเซคามัน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ ของแม่น้ำสาขาแม่น้ำเซกองซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง เขื่อนเซคามัน ๑ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตามข้อตกลงที่จะขายให้กับประเทศไทย

          อีกโครงการที่สำคัญคือโครงการเขื่อนน้ำเทิน ๒ ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำเทิน แม่น้ำสาขาใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ของแม่น้ำโขง โครงการนี้ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน ในตอนกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และห่างจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเทิน – หินบูน ที่สร้างเสร็จแล้ว ไปทางเหนือเพียง ๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตามข้อตกลงที่จะขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โครงการเขื่อนน้ำเทิน ๒ นี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและระบบนิเวศน์ แต่แม้ว่าจะมีผลกระทบมากมายเพียงใดต่อชุมชน พันธุ์ปลา ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพรรณและสัตว์ประจำถิ่น แต่ธนาคารโลกก็เตรียมการที่จะให้เงินกู้และให้การรับรองสนับสนุนโครงการแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา ก็เผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เมื่อรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามที่จะผลักดันโครงการเขื่อนแซมเบอร์ (SAMBOR dam) ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง โดยอ้างว่าเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนนี้มีความสูงถึง ๓๕ เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง ๓,๓๐๐ เมกกะวัตต์ มีงบประมาณในการก่อสร้างอยู่ที่ ๔ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้จะทำให้คนไร้ที่อยู่อาศัยถึง ๖๐,๐๐๐ คน ในบริเวณรอบริมฝั่งแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพันธุ์ปลา สัตว์ป่าท้องถิ่น เขื่อนแซมเบอร์นี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

          และที่ปลายแม่น้ำโขงก่อนไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม ที่นี่มีแผนการก่อสร้างเขื่อนมากมายในลุ่มน้ำโขงเช่นเดียวกัน อาทิ เขื่อนเปลียกอง เป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างกั้นแม่น้ำดาโปโค แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเซซาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้มีความสูงถึง ๖๕ เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเป็นบริเวณกว้างถึง ๘,๐๐๐ เฮกเตอร์ และท่วมพื้นที่การเกษตร ๕,๖๙๐ เฮกเตอร์ แรกสุดได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

          เขื่อนเซซาน ๓ และเขื่อนเซซาน ๔ เขื่อนอีกสองแห่งที่จะสร้างกั้นแม่น้ำเซซาน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็มีเป้าหมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และมีที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียงแค่ ๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น เขื่อนเซซาน ๓ ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเซีย และมีแผนจะสร้างให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๐

          นอกจากนั้นยังมีแผนจะสร้างเขื่อนทุงคอนตำ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำทุงโปโค แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเซซาน ทั้งเขื่อนเซซาน ๓ เขื่อนเซซาน ๔ และเขื่อนทุงคอนตำ อยู่ในแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำตลอดแม่น้ำเซซานในประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว และเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน

          ในประเทศไทยเอง โครงการคุกคามแม่น้ำโขงมีมาตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ เขื่อนปากมูล ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำมูน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ปริเวณปากมูน จ.อุบลราชธานี ก็สร้างข้อขัดแย้งอย่างกว้างขวางถึงความไม่คุ้มค่าอย่างที่สุดของโครงการนี้ เมื่อต้องแลกกับระบบนิเวศน์ของพันธุ์ปลาที่สูญเสียไปทั้งระบบ และส่งผลกระทบมหาศาลต่อธรรมชาติและชุมชน เขื่อนปากมูนได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลกเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘

          เขื่อนราษีไศลซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำมูนใน จ.ศรีสะเกษ ทำให้ระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) เสียหายอย่างมหาศาล เขื่อนราษีไศลนี้เป็นเขื่อนสำคัญในโครงการผันน้ำ โขง – ชี – มูล ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

          ดูเหมือนว่าบทเรียนราคาแพงที่ไทยได้รับจากเขื่อนทั้ง ๒ ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติลุ่มน้ำโขง ประเทศไทยยังมีโครงการสร้างเขื่อนหัวนา กั้นแม่น้ำมูน ใน จ.ศรีสะเกษ โครงการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กั้นลำเชียงทา แม่น้ำสาขาของแม่น้ำชี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โครงการสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่ กั้นแม่น้ำลำโดมใหญ่ แม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูน

          ในแม่น้ำโขงเขตรอยต่อไทย – ลาว บริเวณ จ.เชียงราย โครงการใหญ่ที่คุกคามลุ่มน้ำโขงโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียให้การสนับสนุน คือ โครงการผันน้ำ กก – อิง – น่าน มีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อน สร้างอุโมงค์ เพื่อผันน้ำไปเก็บไว้ที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ โครงการนี้จะปิดตายลุ่มน้ำอิงทั้งระบบอันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

โครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง

          โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ในแม่น้ำหลานซางหรือแม่น้ำโขง เป็นแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศจีนเป็นผู้ผลักดันโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินเรือจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนานของจีน ลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง ผ่านพม่า ลาว และไทย ไปยังหลวงพระบาง

          ผลจากการสำรวจเส้นทางเดินเรือเมืองซือเหมา มลฑลยูนนาน ถึงเมืองหลวงพระบางประเทศลาว ระยะทาง ๘๘๖.๑ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้แทนจากประเทศจีนมีความเห็นว่า หากต้องปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ ให้สามารถขนส่งสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน เกาะแก่ง หาดดอน เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ต้องระเบิดเพื่อทำลาย โดยรัฐบาลจีนยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณ จำนวน ๒๐๐ ล้านหยวน ระหว่างการหารือผู้แทนจีนอาศัยอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นแรงผลักดัน

          รายงานสำรวจความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ประกอบกับจีนมีความพร้อมทางด้านเทคนิค จึงมีการศึกษาเพิ่มเติม และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ใช้เวลาเก็บข้อมูลภาคสนามเร่งด่วนเพียง ๑ เดือน นับเป็นรายงานการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานทางวิชาการ โดยมีการเสนอให้ดำเนินการ ๓ ระยะ

          ระยะแรก ระเบิด ๑๑ แก่ง และ ๑๐ กลุ่มหินใต้น้ำเพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๑๐๐ ตัน ได้ในระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี ให้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยในระยะแรกมีแก่งที่อยู่บริเวณพื้นที่ประเทศไทย คือ คอนผีหลง

          ระยะที่สอง ระเบิดและขุดลอกสันดอน ๕๑ แห่ง เพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๓๐๐ ตัน ระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี ในระยะที่สองมีแก่งที่อยู่ในบริเวณประเทศไทย ตั้งแต่ อำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ๙ แห่ง

          ระยะที่สาม ปรับปรุงร่องน้ำให้มีลักษณะคล้ายคลองเพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุก อย่างต่ำ ๕๐๐ ตัน เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี

          นอกเหนือจากการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ได้มีการกำหนดข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกกับเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น มาตรา ๑ ในบทบัญญัติทั่วไป ข้อ ๑.๕ ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ทำการขุดดิน หิน ทราย วางตาข่ายจับปลา และเคลื่อนย้ายไม้ไผ่ หรือซุงลอยน้ำในบริเวณร่องน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมในร่องน้ำที่สามารถเดินเรือได้ ฯลฯ หมายความว่าภายหลังจากการปรับปรุงร่องน้ำเสร็จสิ้น แม่น้ำโขงต้องเป็นแม่น้ำเพื่อการเดินเรือเท่านั้น

          แม้จะมีเสียงทักท้วงจากชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ องค์การระหว่างประเทศ ต่อผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจีนกลับไม่สนใจ ยังดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน แต่การดำเนินการมิได้ราบรื่นนักเพราะอุปสรรคทางธรรมชาติ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

          ทีมวิศวกรจีนรับผิดชอบการวางระเบิดทำลายแก่งหินกลางลำน้ำโขง ได้วางแผนระยะเวลาการระเบิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ – เมษายน ๒๕๔๖ ยกเว้นฤดูน้ำหลากในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ๒๕๔๕ ระเบิดรอบแรกไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน ๒๕๔๕ โดยทีมวิศวกรจากจีนเข้าไประเบิดแก่งหินกลางแม่น้ำโขงบริเวณรอยต่อพม่า – ลาว ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๔๕ – เมษายน ๒๕๔๖ ซึ่งการดำเนินการรอบสองมีความคืบหน้าไปถึง ๑๐๐% และมีแผนจะระเบิดในช่วงหน้าแล้งของปี ๒๕๔๗ ซึ่งดำเนินการระเบิดแก่งระยะที่สองในเขตกัวเหล่ยของจีนถึงเชียงกกของลาวไปแล้ว เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๗ ส่งผลให้ระดับน้ำในเขตไทย – ลาว โดยเฉพาะเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่นผันผวนอย่างหนัก ระดับน้ำขึ้นลงต่างกันในวันเดียวกว่าหนึ่งเมตร

          ทั้งนี้ในเขตรอยต่อแม่น้ำโขงไทย – ลาว แก่งหินที่จะถูกระเบิดเพื่อรองรับการเดินเรือในแม่น้ำโขง คือ แก่งคอนผีหลวง (Khon Pi Luang) ซึ่งยังไม่มีการระเบิดเพราะติดปัญหาเรื่องความมั่นคงชายแดนในการปักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ อยู่เขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตรงข้ามกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว

          เป้าหมายของการระเบิดแก่งคอนผีหลงและแก่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นแผนระยะแรกนั้น เพื่อให้เกิดร่องน้ำการเดินเรือมีความลึก อย่างน้อย ๑.๕ เมตร กว้างไม่ต่ำกว่า ๒๒ เมตร ให้เรือขนาดระวางไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน เดินเรือได้ตลอดทุกฤดูกาล

          คำว่าไม่ต่ำกว่าในที่นี้ หมายความว่าสามารถระเบิดให้กว้างขึ้น ลึกขึ้นและให้เรือขนาดระวางมากกว่า ๑๐๐ ตันขึ้นไปเดินเรือได้ และต้องจดจำไว้เสมอว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องระเบิดแก่งทิ้งเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการเดินเรือในแม่น้ำโขง ที่ปรารถนาจะเดินเรือในหน้าแล้งได้อย่างสะดวก ตามปกติหน้าแล้งในแม่น้ำโขงเดินเรือได้ยากลำบาก เพราะมีเกาะแก่งหินตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก

          หากการพัฒนาในระยะแรกดำเนินการไปได้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งจะมีการระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนอีก ๕๑ แห่ง เพื่อให้เรือระวางบรรทุกไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ตัน เดินทางได้ทุกฤดูกาล

          สุดท้ายจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้แม่น้ำโขงมีลักษณะคล้ายคลอง เปิดเส้นทางให้เรือระวางบรรทุกไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ตัน จากท่าเรือซือเหมาประเทศจีน ถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทาง ๘๖๑.๑ กิโลเมตร

          หลังการพัฒนาเสร็จสิ้นคือ ระเบิดแก่งหิน และสันดอนทรายครบตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว แม่น้ำโขงจะต้องถูกใช้เพื่อการเดินเรือนานาชนิดได้อย่างอิสระ สะดวก สบาย ภายใต้ระบบการค้าแบบทุนนิยม และต้องไม่มีการวางตาข่ายดักปลา เก็บขอนไม้ลอยน้ำ ขุดดิน หินทราย โดยคนในชุมชนริมฝั่งโขงอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในเรือ

          นั่นหมายความว่า วิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งโขงอย่างที่ดำเนินมาเนิ่นนานจะถูกห้ามไม่ให้มีอีกต่อไป

          แต่สำหรับชาวบ้านและชุมชนริมฝั่งโขงใน จ.เชียงรายนั้น ลำพังแค่มีการสร้างท่าเรือ และการเดินเรือระวาง ๕๐ – ๑๐๐ ตัน ในบริเวณนี้ส่งผลกระทบมากมายกับชุมชนและระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงมากเกินพอแล้ว ซึ่งไม่นับรวมในช่วงที่มีการระเบิดแก่งในเขตจีน พม่า ลาวนั้น ส่งผลให้กระแสน้ำผันผวนเปลี่ยนแปลงจนชาวประมงไม่สามารถหาปลาได้อย่างปกติ รวมทั้งในหน้าน้ำหลากมีผลให้ชายฝั่งแม่น้ำโขงในเขตไทย–ลาวพังทะลายอย่างรุนแรง เพราะน้ำไหลเชี่ยวแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่มีหินผา เกาะแก่งค่อยกั้นน้ำในตอนบนเหมือนแต่ก่อน

การค้าเสรี : เสรีของใคร

โครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

          การเดินเรือสินค้ามากมายจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ โครงการนี้มีแนวความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้มีการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมองเห็นว่า จ.เชียงราย มีศักยภาพที่จะเป็นประตูการค้าติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มประเทศ GMS (Great Mekong Subregion) ให้สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดติดต่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

          ในแผนนี้มีการกำหนดกิจกรรมและโครงการ รวมทั้งโครงการก่อสร้างทั้งหลายเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นไปที่ ๓ อำเภอหลักใน จ.เชียงราย คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ

          ในด้านของอุตสาหกรรม โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเห็นว่า ควรมีการดำเนินการจัดตั้งเขตประกอบอุตสาหกรรมทั่วไปและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก รวมทั้งการจัดการสินค้า ใน อ.เชียงของ ควรพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรครบวงจรและเขตอุตสาหกรรมทั่วไป

          ในการพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมนั้น แผนนี้กำหนดว่า ต้องมีการสร้างท่าเทียบเรือ ปรับปรุงถนน และสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชียงแสนและเชียงของ มีการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบาย และป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

          บทเรียนการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ อ.เชียงของ ได้ทำให้แม่น้ำโขงของฝั่งไทยพังทลายมา ขณะที่ตะกอนกลับไปทับถมร่องน้ำทางฝั่งลาวจนตื้นเขิน และทำให้เกิดการ “มูน” หรือมีการทับถมของทราย เกิดเป็นดอนกลางลำน้ำโขงขึ้นใหม่

          การสร้างท่าเรือแห่งนี้ รวมทั้งที่ อ.เชียงแสนทางตอนเหนือขึ้นไป ได้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศเนื่องจากได้มีการสร้างท่าเรือทั้ง ๒ แห่งล้ำเข้าไปในลำน้ำจนทำให้ลาววิตกกังวลเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ท่าเรือทั้ง ๒ แห่งนี้ถูกผลักดันในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่ จ.เชียงราย ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และนำไปสู่การอนุมัติงบประมาณกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อก่อสร้างท่าเรือทั้งที่เชียงแสนและเชียงของ แต่กระแสน้ำโขงที่เชียวกรากได้พัดพาเอาท่าเรือเชียงแสนที่มีมูลค่า ๑๔ ล้านบาทพังลงทันทีที่ก่อสร้างเสร็จ

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ กรมเจ้าท่าได้เสนอโครงการของบก่อสร้างท่าเรือแม่น้ำโขงใหม่ ทั้งที่เชียงของและเชียงแสนในงบประมาณ ๒๐๕ ล้านบาท เป็นงบออกแบบ ๕ ล้านบาท แต่โครงการนี้ก็ประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนนั้นคือ ระหว่างการก่อสร้าง ลาวได้มีการคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือทั้ง ๒ แห่ง เนื่องจากการออกแบบท่าเรือ ได้ยื่นออกไปในลำน้ำโขงเกินเขตแดนของลาวโดยไม่ได้มีการปรึกษาหรือขออนุญาตก่อน หลังการเจรจาระหว่างไทยกับลาวต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ลาวจึงยอมให้ก่อสร้างท่าเรือเชียงของได้ โดยอนุญาตให้สร้างล้ำเข้าไปในเขตแม่น้ำได้แต่ต้องลดระยะลง เป็นเหตุให้ต้องทุบทิ้งท่าเรือเชียงของที่เพิ่งสร้างได้ไม่กี่ปีทิ้งอีก ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้สร้าง

          ท่าเรือเชียงแสนที่ยังคงไม่ยอมแก้แบบก่อสร้าง และแม้ท่าเรือเชียงแสนจะสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ทว่ามีเรือขนส่งไม่กี่ลำเข้ามาเทียบท่า ส่วนใหญ่จะไปใช้ท่าเรือของเอกชน

เขตการค้าเสรีอาเซียนไทย – จีน

          อาเซียน (สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จัดตั้งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ ในยุคสงครามเย็นและสงครามเ

หมายเลขบันทึก: 305266เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใครอยากมาเที่ยวชานุมาน...เชิญจ้า

เยี่ยมมากเลยครับ อยากทราบมานานแล้วครับ ขอบคุณมากกกกก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท