ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 2)สภาพสังคม เศรษฐกิจและอาชีพ


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 2)

.......................................................
เรื่อง ลักษณะทางการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ
และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ

1. การแบ่งเขตการปกครองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ประเทศไทยได้กำหนดรูปแบบการปกครองเป็น 3 แบบ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

            1. การบริหารราชการส่วนกลาง เช่น กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งหน่วยงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร  แต่อย่างไรก็ตามทางส่วนกลางก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่และตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในทุ่งจังหวัดเพื่อความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีทั้งสิ้น 62 หน่วยงาน

            2. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองในส่วนภูมิภาคเป็นการที่ส่วนกลางได้แบ่งอำนาจมาให้ส่วนภูมิภาคดูแล รูปแบบของการปกครองในส่วนภูมิภาคก็เช่น จังหวัด อำเภอ หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวน 36 หน่วยงาน ซึ่งแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ   48 ตำบล 417 หมู่บ้าน

            3. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจการปกครองที่ให้ประชาชนในท้องถื่นนั้นๆ มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง รูปแบบของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีในแต่ละจังหวัด เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นดังนี้

-          องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง

-          เทศบาลเมืองจำนวน 1 แห่ง และเทศบาลตำบล 14 แห่ง

-          องค์การบริหารส่วนตำบล 45 แห่ง

-          หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในจังหวัด 10 แห่ง

ตาราง แสดงจำนวนหมู่บ้าน ตำบล แยกเป็นอำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำแนกได้ดังนี้

อำเภอ/กิ่งอำเภอ

พื้นที่

ตร.กม.

จำนวนตำบล

จำนวนหมู่บ้าน

เทศบาลเมือง

เทศบาลตำบล

อบต.

 

หมู่บ้าน อพป.

หัวหิน

838.96

7

60

-

2

5

19

ปราณบุรี

766.37

6

41

-

2

6

5

สามร้อยยอด

871.88

5

40

-

1

5

15

กุยบุรี

935.41

6

47

-

2

6

21

เมืองประจวบคีรีขันธ์

830.00

6

55

1

2

5

22

ทับสะแก

538.00

6

65

-

1

6

25

บางสะพาน

868.00

7

69

-

3

7

25

บางสะพานน้อย

720.00

5

40

-

1

5

23

รวม

6,367.62

48

417

1

14

45

155


2. เรื่อง ลักษณะทางการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชากรใน

    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

             สภาพสังคมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ก. ด้านการศึกษา  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษาให้กับประชากร โดยมีการจัดการศึกษาเป็น 2 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน และการศึกษานอกระบบโรงเรียน

            ข. ด้านการศาสนาและวัฒนธรรม การนับถือศาสนาของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 96 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 1 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1 นับถือศาสนาอื่นๆ  วัดทางพระพุทธศาสนามี 186 วัด โบสถ์คริสต์ 9 แห่ง มัสยิด 10 แห่ง มีศูนย์วัฒนธรรม 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่โรงเรียนประจวบวิทยาลัย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และที่โรงเรียนหัวหิน อำเภอหัวหิน

            ค. ด้านการสาธารณสุข จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนสถานพยาบาลแผนปัจจุบัน ที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนทั้งสิ้น 16 แห่ง จำนวนเตียง 1,169 เตียง  มีบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ โดยคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรของจังหวัด ดังนี้ 1: 5,379 , 1:23,667 , 1:12,793 และ 1: 1,138 ตามลำดับ

            สาเหตุการตายที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ โรคหัวใจ อุบัติเหตุ โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมะเร็ง สาเหตุการเจ็บป่วยของผู้ป่วยนอก ได้แก่ โรคระบบหายใจ โรคระบบย่อยอาหาร  ผู้ป่วยในที่เข้านอนรักษาด้วยโรคไม่ติดต่อสำคัญ ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และผู้ป่วยในที่เข้านอนรักษาด้วยโรคติดต่อทั่วไป คือโรคอุจจาระร่วง

            ง. ด้านอาชญากรรม จากสถิติคดีอาญา 5 กลุ่มในปี พ.ศ.2542 ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่าอำเภอหัวหินมีสถิติอาชญากรรมสูงสุด รองรองมาได้แก่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี อำเภอบางสะพาน กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอทับสะแก อำเภอกุยบุรี และอำเภอบางสะพานน้อย 

คดีอาญา กลุ่มที่ 1 คือ คดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ  ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ปล้นทรัพย์

ชิงทรัพย์ ลักพาเรียกค่าไถ่ และวางเพลิง

            คดีอาญา กลุ่มที่ 2 คือ คดีชีวิต ร่างกายและเพศ ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ฆ่าผู้อื่นโดยประมาท พยายามฆ่า ทำร้ายร่างกาย และข่มขืนกระทำชำเรา

            คดีอาญา กลุ่มที่ 3 คือคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ได้แก่ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ กรรโชคทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รับของโจร ทำให้เสียทรัพย์

            คดีอาญา กลุ่มที่ 4 คือ คดีที่น่าสนใจ ได้แก่ โจรกรรมรถจักรยานยนต์ โจรกรรมรถยนต์ โจรกรรมกระบือ-โค โจรกรรมเครื่องมือเกษตร ปล้นชิงรถโดยสาร ปล้นชิงรถแท็กซี่  ข่มขืนและฆ่า ลักพาเรียกค่าไถ่ ฉ้อโกง ยักยอก

            คดีอาญา กลุ่มที่ 5 คือที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ได้แก่ อาวุธปืน การพนัน ยาเสพติด ปรามการค้าประเวณี มีและเผยแพร่วัตถุลามก

            จ. ด้านยาเสพติด จากสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ติดชายแดนตลอดแนวทางด้านทิศตะวันตก และยังมีสภาพเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีความ  180 กิโลเมตร และด้านตะวันออกมีพื้นที่ติดทะเลตลอดแนว ทำให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดปัญหายาเสพติด ในภาพรวมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สภาพปัญหายาเสพติดมีกระจายในทุกอำเภอ ตัวยาที่เป็นปัญหาเรียงตามลำดับความสำคัญคือ ยาบ้า กัญชา สารระเหย และเฮโรอีน

3. เรื่อง   ทรัพยากรธรรมชาติ และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีทรัพยากรอยู่หลายประเภท ทั้งทรัพยากรบนบกและทรัพยากรในน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดที่สำคัญ เช่น ป่าไม้ สัตว์น้ำ แร่ธาตุ 

1. ป่าไม้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีเนื้อที่ป่าทั้งหมดประมาณ 4,084.70 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นพื้นที่ป่าสงวน 2,813.70 ไร่ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด ชนิดของป่าประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ เป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกันตั้งแต่อำเภอหัวหินถึงอำเภอบางสะพานน้อย พรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจมีหลายชนิด ได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนทอง ชิงชัน แดง ยาง ไม้จันทน์ และไม้เกดซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัด จากการที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ป่ามากสามารถแบ่งประเภทป่าเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

            1.1 อุทยานแห่งชาติ มี 4 แห่งคือ

-        อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นอุทยานทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 61,300 ไร่ แบ่งเป็นพื้นน้ำ 12,500 ไร่ พื้นดิน 48,800 ไร่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่สลับกันไปกับภูเขาหินปูน ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

-        อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  มีพื้นที่ป่าทั้งหมดประมาณ 600,000 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คืออำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ รคเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาพทั่วไปมีทั้งป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณแล้ง มีพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยาง ตะเคียน ยมหอม แดง ฯลฯ สัตว์ป่าที่สามารถเห็นได้ เช่น ช้าง เสือ เก้ง ค่างแว่นถิ่นใต้ เลียงผา ฯลฯ

-          อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติทับสะแก มีพื้นที่ประมาณ 100,625 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นภูเขาและหุบเขาอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ชนิดของป่าเป็นป่าดิบเขา ส่วนตอนล่างเป็นป่าเบญจพรรณ

-          อุทยานแห่งชาติหาดวนกร มีพื้นที่ประมาณ 23,750 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่น้ำ 9,600 ไร่ พื้นดิน 14,150 ไร่ มีอาณาเขตอยู่ในเขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอทับสะแก เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สวยงาน มีสภาพเป็นป่าชายหาดทราย ปลูกสนปดิพัทธ์ตลอดแนว เพื่อเป็นร่มเงาสำหรับผู้เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อน

1.2 วนอุทยาน มีวนอุทยาน 2 แห่งได้แก่

-          วนอุทยานปราณบุรี มีพื้นที่ประมาณ 75 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากน้ำปราณ ตำบล วังก์พง ในเขตอำเภอปราณบุรี

-          วนอุทยานป่ากลางอ่าว มีพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่จำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน

1.3 ป่าสงวนแห่งชาติ  มีพื้นที่ป่ารวมทั้งสิ้น 1,758,557.5 ไร่มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 20 แห่ง ได้แก่ ป่ากลางอ่าว ป่าเขากลอย ป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง ป่าพุเค็ม ป่าดอนเต็งรัง ป่าทับสะแก ป่าเขาไชยราชและป่าคลองกรูด ป่าคลองแม่รำพึง ป่าคลองเก่าและป่าคลองเตย  ป่าคลองวาฬ ป่ากุยบุรี ป่าเขาสีเสียด ป่าเขาตาม่องล่าย ป่าเขาทุ่งมะเม่า ป่าเขาถ้ำ พยอม ป่าเขาเขียว ป่าเลนบางปู ป่าเขาน้อย ป่าเขาน้อยห้วยตามา ป่าทุ่งกระต่ายขัง

1.4 ป่าชายเลน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีป่าชายเลนอยู่น้อยและมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 268.75 ไร่ บริเวณที่มีป่าชายเลนขึ้นอยู่ได้แก่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี ส่วนอำเภออื้นๆ มีไม่มากนัก จากจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนที่มีน้อย จึงทำให้ป่าชายเลนไม่มีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าใดนัก นอกจากประโยชน์ทางอ้อม เช่นกันคลื่นลม และการพังทลายของฝั่ง รวมทั้งการเก็บของป่า

            2. แร่ธาตุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีแร่ธาตุที่สำคัญอยู่หลายชนิด เช่น ดีบุก ควอทซ์ แคลไซ วุลแฟรม ทองคำ และแร่คละชายหาดซึ่งมีปริมาณมากที่สุด ประกอบด้วย โมนาไซ เซอกอน ลูโคซีน  อีโมไน และลูไทล์

            3. ดิน ดินในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สามารถแบ่งตามวัตถุกำเนิดและลักษณะการเกิดของดินได้ดังนี้

-          ดินที่เกิดจากตะกอนน้ำกร่อยน้ำทะเล มาตกทับถมทำให้เกิดเป็นที่ราบ ดินเป็นดินเหนียว ส่วนบริเวณริมชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลพัดทรายมากองไว้เป็นหาดทราย ดินจะเป็นดินทราย หรือทรายปนเปลือกหอยทะเล

-          ดินที่เกิดจากตะกอนน้ำพัดมา อาจจะเป็นตะกอนลำน้ำ หรือตะกอนที่น้ำพัดพาจากที่สูง มาตกตะกอนบริเวณข้างล่าง ลักษณะพื้นที่จะเป็นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำ หรือพื้นที่ค่อนข้างเรียบ คือพื้นที่ที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดกึ่งลอนชัน ส่วนใหญ่ดินจะเป็นทรายถึงดินร่วนปนทราย อาจจะมีดินเหนียวเป็นบางจุด

-          ดินที่เกิดจากการสลายตัวอยู่กับที่ของดินเนื้อหยาบ อันได้แก่ หิน ทราย หรือหินแกรนิต ทำให้เกิดดินที่เป็นดินทราย หรือดินค่อนข้างเป็นทราย พบในบริเวณพื้นที่ใกล้ภูเขา


4. เรื่อง  ทรัพยากรธรรมชาติ และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            การเพาะปลูก

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีสภาพพื้นดินที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่มากที่สุด รองลงมาเป็นการปลูกไม้ยืนต้น และพื้นที่ทำนาปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพรตามลำดับ โดยมีพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เป็นจำนวนมากได้แก่

1. สับปะรด  เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัด มีการปลูกมานาน มีโรงงานแปรรูปส่งไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศ ทำรายได้ให้จังหวัดมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญและมีการเพาะปลูกมากที่สุด ได้แก่ อำเภอปราณบุรี อำเภอหัวหิน อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์  อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี ตามลำดับ   

2. มะพร้าว  เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้จังหวัด เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งนอกจากจะจำหน่ายตลาดภายในประเทศแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นน้ำกะทิ ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย และยังมีการนำเอามะพร้าวมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้อีกด้วย แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญและมีการเพาะปลูกมากที่สุด ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ  

3. อ้อย  เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย จำนวน 1 โรงงาน คือ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จำกัด แหล่งที่มีการปลูกกันมากที่สุด ได้แก อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอสามร้อย ตามลำดับ  ใน

4. ข้าว  เป็นพืชที่ปลูกเพื่อใช้บริโภคภายในจังหวัดไม่ได้นำออกจำหน่ายนอกเขตจังหวัด มีพื้นที่ปลูกในทุกอำเภอ

5. พืชผักและผลไม้  มีปลูกมากในจังหวัด ซึ่งทำรายได้ให้จังหวัดจำนวนไม่น้อย ได้แก่ มะม่วง ขนุน แตงโม พริก ขิง พืชผักสวนครัว รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น ว่านหางจรเข้ เป็นต้น

ในการประกอบอาชีพด้านการเพาะปลูก ได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทาน โดยได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โครงการชลประทานที่สำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 ขนาดคือ

- ขนาดใหญ่ ได้แก่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี พื้นที่รับประโยชน์ 235,750 ไร่ ความจุของน้ำ 445 ล้านลูกบาศก์เมตร

- โครงการชลประทานขนาดกลาง มี 6 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์รวม 47,025 ไร่ คือ  อ่างเก็บน้ำยางชุม พื้นที่รับประโยชน์ 15,065 ไร่ ความจุของน้ำ 32  ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองบึง พื้นที่รับประโยชน์ 16,960 ไร่ ความจุของน้ำ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยอ่างหิน พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่  ความจุของน้ำ 2.8  ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองช่องลม พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่ ความจุของน้ำ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ฝายคลองลำชู พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่ ความจุของน้ำ 61.20 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองจะกระ พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่ ความจุของน้ำ 10.40 ล้านลูกบาศก์เมตร 

- โครงการชลประทานขนาดเล็ก มี 69 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 93,676 ไร่ ความจุของน้ำ 18,962 ล้านลูกบาศก์เมตร

การประมง

            การประมงเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะการประมงน้ำเค็มเป็นอาชีพที่เคยทำรายได้ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มาก แต่ในปัจจุบันการจับสัตว์น้ำจะลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง สัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ ปลาทูและปลาลัง

            ในปัจจุบันปลาทะเลเริ่มจับได้น้อยลงทุกปี ประกอบกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งเคยเป็นแหล่งทำการประมงของเรือประมงไทย ได้ประกาศขยายทะเลเขตเศรษฐกิจทำให้เขตการประมงของไทยแคบลง ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลของไทยลดน้อยลงไปด้วย ประกอบกับมีผู้ทำอาชีพประมงจำนวนมาก และสัตว์น้ำที่เหลือไม่สามารถแพร่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทัน จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น กรมประมงได้พยายามหาวิธีที่จะเพิ่มผลผลิตอาหารโปรตีนจำพวกสัตว์น้ำให้มีความเพียงพอกับความต้องการบริโภคของประชาชน โดยได้จัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำทะเล (ประการังเทียม) วางตามจุดต่างๆ ของแต่ละอำเภอ   

            - การประมงน้ำเค็ม พื้นที่ทำการประมงอยู่ในบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอ่าวแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาทู กุ้งทะเล ปู หอย เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ คือ อวนลอยประเภทต่างๆ อวนปลากะตัก อวนครอบหมึก เป็นต้น

            - การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง  มีเนื้อที่เพาะเลี้ยงประมาณ 6,178.5 ไร่ สัตว์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ กุ้งกุลาดำ ปัญหาการเพาะเลี้ยงยังมีเกษตรกรบางส่วนลักลอบเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และเกิดข้อขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพอื่นกับผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ

            - การประมงน้ำจืด   การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทางราชการได้จัดทำโครงการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจหันมาเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมากยิ่งขึ้น เช่น การดำเนินโครงการประมงหมู่บ้าน โครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสา โครงการพัฒนาการประมงในหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน ไทย-พม่า โครงการเกษตรยังชีพ โครงการสระเก็บกักน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น นอกจากนี้การทำการประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนปราณบุรี เขื่อนเขาล้าน เป็นต้น  ปัจจุบันสัตว์น้ำที่นิยมเลี้ยงกันมากคือ ปลานิลแปลงเพศ  รองลงมาคือปลาดุก 

 

หมายเลขบันทึก: 305143เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท