ประชาธิปไตย


การปกครองระบอบประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy) คือ ระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง คำว่า democracy ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า "ดีมอคระเทีย" (กรีก: δημοκρατία (ข้อมูล)) ซึ่งหมายถึง "การปกครองโดยประชาชน" (popular government)[1] อันเป็นคำประสมระหว่างคำว่า "ดีมอส" (กรีก: δῆμος, demos) หมายถึง ประชาชน และ "คราทอส" (กรีก: κράτος, kratos) หมายถึง การปกครอง หรือ พละกำลัง ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ นครรัฐกรีกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเอเธนส์ภายหลังการก่อจลาจลเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล[2]

ในทฤษฎีทางการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม[3] แต่ในปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" โดยประการแรก เห็นว่าบรรดาพลเมืองหรือสมาชิกในสังคมย่อมมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงอำนาจ ส่วนประการที่สองนั้นเห็นว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยเสมอกัน[4][5][6] หรือที่เรามักจะรู้จักคำจำกัดความของระบอบประชาธิปไตยจากคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า "การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน"

ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีจุดเริ่มต้นจากกรีซโบราณก็ตาม[7][8] ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในวัฒนธรรมต่างชาติ อาทิ ในอินเดียโบราณ[9] สาธารณรัฐโรมัน[7] ทวีปยุโรป[7] ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้[10] มาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมักจะได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็น "การปกครองระบอบสุดท้าย" และได้แผ่ขยายไปทั่วโลก[11] พร้อม ๆ กับมโนทัศน์เรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: suffrage) อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น[12]

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล[13]

คำสำคัญ (Tags): #ประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 304251เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท