ทิศทางการเรียนลูกเสือไทย


การเรียนลูกเสือในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 ทิศทางการเรียนลูกเสือไทย                                  

ธนสาร     บัลลังก์ปัทมา          

พิมพ์ครั้งแรก The City Journal ปีที่ 5 ฉบับ 105 เดือนพฤษภาคม 2552         

                ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนในวิชาลูกเสือมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมาก การเรียนลูกเสือในอดีตต้องเรียนเรื่องเงื่อนต่าง ๆ การปฐมพยาบาล การอยู่ค่ายพักแรม การเรียนเรื่องระเบียบวินัย การจุดไฟติดไฟด้วยไม้ขีด 3 ก้าน แผนที่เข็มทิศ การผจญภัย แต่ปัจจุบันวิชาลูกเสือไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่ดูแล บางโรงเรียนจัดการเรียนวิชาลูกเสือแต่เมื่อถึงเวลาเรียนกลับนำวิชาอื่นที่สอนไม่ทันมาสอน หรือใช้เป็นวิชาซ่อมเสริมสำหรับเตรียมสอบ NT และ O-Net ทั้งที่วิชาลูกเสือเป็นวิชาทักษะชีวิต  นอกจากนี้เมื่อถึงเวลาอยู่ค่ายพักแรมลูกเสือ หลายโรงเรียนเลือกวิธีพาลูกเสือสามัญและสามัญรุ่นใหญ่ไปอยู่ค่ายพักแรมที่ค่ายทหาร เรียนวิชาทหารแทนที่จะเรียนวิชาลูกเสือ

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้หลักสูตรลูกเสือเป็นกิจกรรมหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หากมองย้อนไปถึงประวัติลูกเสือนับแต่ได้อุบัติขึ้นครั้งแรกของโลก โดยลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell : BP) ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่ได้ทดลองนำเด็กชาย 20 คน ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี Browmsea Islands) ซึ่งได้ผลดีตามที่คาดหมายไว้ ในปี พ.ศ. 2451 บี พี จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง   จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” (ข้อมูลจากhttp://www.scoutthailand.org)

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างหลักสูตรลูกเสือ นับว่ามีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมาก โดยมีการแบ่งลำดับลูกเสืออกเป็นลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ 

ลูกเสือสำรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เตรียมลูกเสือสำรอง ดาวดวงที่ 1-3 ฝึกอบรมและกิจกรรมลูกเสือสำรอง จะต้องจัดให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก โดยคำนึงถึงพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเด็กจะอยู่ชั้นใดก็ตาม

ลูกเสือสามัญ  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ลูกเสือตรี-โท-เอก  เริ่มฝึกอบรมให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เริ่มมีกิจกรรมใช้ชีวิตกลางแจ้งและการผจญภัย เน้นระบบหมู่ การเป็นผู้นำ รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ทั่วไป

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ลูกเสือโลก ลูกเสือชั้นพิเศษ และลูกเสือหลวง ฝึกอบรมและกิจกรรมเป็นระบบหมู่   ฝึกให้มีความรับผิดชอบสูงขึ้น เป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ฝึกการใช้ชีวิตกลางแจ้ง การผจญภัย ทักษะลูกเสือ ฝึกอบรมความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพตามที่ถนัด รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์

ลูกเสือวิสามัญ  ชั้นมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 4-6 เตรียมลูกเสือวิสามัญ สำรวจตนเอง พิธีเข้าประจำกอง  ฝึกอบรมและกิจกรรมลูกเสือสำรอง จะต้องจัดให้เหมาสมกับวัยของเด็ก โดยคำนึงถึงพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเด็กจะอยู่ชั้นใดก็ตาม

                การเรียนวิชาลูกเสือโรงเรียนต่าง ๆ จึงควรจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตรลูกเสือ ตามหนังสือเรียนที่คณะลูกเสือแห่งชาติได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นทักษะชีวิตสำหรับเด็กไทย ให้ลูกเสือไทยได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในความเป็นลูกเสือ สามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับลูกเสือได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักการปฐมพยาบาล การผูกเงื่อน การใช้แผนที่และเข็มทิศ ฯลฯ อย่าให้เป็นเพียงชั่วโมงที่ใช้สำหรับจัดให้ครบตามหลักสูตร แต่สอนวิชาซ่อมเสริมหรือเตรียมสอบ ทั้งนี้เพราะวิชาลูกเสือคือวิชาทักษะชีวิตของเด็กไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดทิศทางการเรียนลูกเสือให้ชัดเจน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีค่ายลูกเสือสำหรับเข้าค่ายพักแรม เพื่อพัฒนาครูฝึกลูกเสือ และสร้างความสำคัญและคุณค่าให้วิชาลูกเสือ อย่าให้วิชาลูกเสือเหลือเพียงอดีตที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้ใหญ่ในวันนี้

                การเรียนวิชาลูกเสือในปัจจุบัน หากลองถามเด็กชั้นประถมดู จะพบว่าเด็กบางคนยังไม่รู้จักประวัติลูกเสือ ไม่รู้จักการผูกเงื่อนแบบต่าง ๆ แม้ด้านการผลิตผู้กำกับลูกเสือจะมีอยู่สม่ำเสมอ แต่ผู้ผ่านการอบรมมักไม่ได้นำมาใช้สอนจริง ปัญหาอีกประการคือ การอบรมผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้ที่ 2 หรือขั้นความรู้ขั้นสูง ค่าร่วมการอบรมค่อนข้างแพง โรงเรียนหลายแห่งไม่ออกค่าใช้จ่ายในการอบรมให้ครู ทำให้ครูที่สนใจต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าอบรมเอง และเป็นที่น่าแปลกว่าแต่ละปีจะมีการสำรวจข้อมูลผู้ที่ผ่านการอบรมผู้กำกับลูกเสือแต่ไม่มีการนำผลการสำรวจมาพัฒนาครูด้วยการจัดอบรมแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย

                แนวทางการกิจการลูกเสือระดับโรงเรียน จึงน่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจัง แม้จะเป็นเพียงสัปดาห์ละชั่วโมง รวมถึงจัดกิจกรรมอยู่ค่ายพักแรมในระดับอำเภอหรือกลุ่มโรงเรียนเพื่อพัฒนาผู้กำกับลูกเสือแทนการไปอบรมตามค่ายทหารหรือค่ายลูกเสือไกล ๆ  โดยครูผู้กำกับลูกเสือไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนกลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์

 

หมายเลขบันทึก: 304225เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมครูลูกเสือด้วยกันค่ะ

อยากให้วงการ การศึกษา และทุกโรงเรียน หันมา สอนลูกเสือ อย่างถูกต้อง และจริงจัง จังเลยค่ะ

ขอบคุณ บทความ ที่ทำให้ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

ขอบคุณค่ะ

ยกเลิกไปเหอะวะ วิชาลูกเสือ ไม่เห็นได้อะไรเลย เอาเวลาไปซ้อมหนีไฟไม่ดีกว่ารึ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท