บันทึกความรู้สึกก่อนลงจากตำแหน่ง....คณบดี


บันทึกลงบนกระดาษเขียนจดหมายของโรงแรมสยามซิตี้ กทม. เมื่อคืนวันที่ 27 กันยายน 2552  ณ ห้องพัก หมายเลข 1751 ของโรงแรม


          มันช่างเป็นการลงจากตำแหน่งผู้บริหาร (คณบดีคณะสหเวชศาสตร์  ม.นเรศวร) ที่สวยงามและอภิรมย์ยิ่ง  ช่วง 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 - 30 กันยายน 52  เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย

          วันที่ 25  ประชุมคณะกรรมการกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉันได้ปลดปล่อยความคิดเห็นอีกครั้ง  ฉันได้สื่อสารความรู้สึกแก่ทั้งรองอธิการบดีอาวุโส (อ.วิสาขะ  ลิ่มวงศ์)  ผู้กำชะตาคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ  กับคณบดีคณะแพทย์ (อ.ศุภสิทธิ์   พรรณารุโณทัย) ผู้ทวงสิทธิ์งบประมาณ 1,900 ล้านจากมหาวิทยาลัย  ให้รู้ว่า  ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม  ก็ไม่ได้ยี่หระกับคณะต่างๆ ข้างเคียง (อย่างที่ใช้เป็นข้ออ้าง เหมือนนักการเมืองที่อ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ยังงัยยังงั้น) แต่ก็ไม่รู้ว่า ท่านอุปนายกสภามหาวิทยาลัย (ดร.พรชัย  นุชสุวรรณ) และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ (คุณสมนึก  พิมลเสถียร)  จะช่วยอะไรได้??  ฉันคิดว่า...อย่างน้อยที่สุด  ฉันได้ปลดปล่อย....ก็เท่านั้น

          วันที่ 26  ประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยประจำเดือนกันยายน  (ตามปกติ)  แต่มีวาระรับรอง (น่าจะเป็นการเลือก แต่มันไม่ใช่  มันเหมือนเป็นเพียงพิธีกรรม)  คณบดีวาระใหม่หลายคณะ

  • คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (อ.คนึงนิจ  ภู่พัฒนวิบูลย์)
  • คณบดีคณะเกษตรฯ (อ.ชนินทร์)
  • คณบดีคณะวิทยาการจัดการฯ (อ.สุจินดา  เจียมศรีพงษ์)
  • คณบดีคณะพยาบาล (คนนอก)
  • คณบดีคณะสหเวชฯ (อ.อรทัย   ตั้งวรสิทธิชัย)

          ฉันเตรียมมาปลดปล่อยอีกครั้ง  ฉันโชคดีที่มีพระคุ้มครองเสมอ  การดำรงตำแหน่งคณบดีที่มีอำนาจพอสมควร  ในระยะเวลา 4 ปี  มากเกินพอแล้วกับการเสวยอำนาจ  ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า หรือพระคุณเจ้า ท่าน...เมตตาฉัน  ไม่อยากให้ฉันว่ายวนอยู่ในกระแสแห่งกิเลส ตัณหา อำนาจ บารมี  นานเกินกว่านี้  แถมท่านยังดลบันดาลให้มีผู้สืบทอดที่ปูทาง เตรียมการมาด้วยดี  แต่ฉันก็ได้ขอกลางที่ประชุมสภาฯ  ก่อนเดินออกจากที่ประชุมให้ท่านได้ทำพิธีกัน  โดยขอกล่าวสั้นๆ ว่า  "ดิฉัน  เคารพในผลการสรรหาของคณะกรรมการ  แม้ว่าผลการดำเนินงานของดิฉัน หรือวิสัยทัศน์ของดิฉันจะไม่เป็นที่พึงใจของกรรมการ  ดิฉันก็ขอยอมรับโดยดุษฎี  แต่เมื่อมีผู้กล่าวว่า  ดิฉันเป็นผู้สร้างความแตกแยกในคณะ  ดิฉันต้องขอโอกาสอธิบาย  ดิฉันยอมรับว่า ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน  ความแตกแยกในคณะ เกิดขึ้นจริงในคณะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปีสุดท้ายของวาระ  แต่การสร้างความแตกแยกนั้น  ดิฉันไม่ได้เป็นผู้สร้าง  เพราะหากจะให้เกิดความแตกแยก จะต้องมีกระบวนการและยุทธศาสตร์  ซึ่งดิฉันยึดมั่นในระบบธรรมาภิบาลมาโดยตลอด  และขอยืนยันว่า  ดิฉันไม่ใช่ผู้สร้างความแตกแยกในคณะ"

          วันที่ 27  เป็นวันที่ฉันจรดปากกาเขียนบันทึกนี้  เพราะเป็นวันที่ไม่มีภารกิจใดใด  ได้มาพักที่โรงแรม  เป็นวันพักผ่อนที่ได้พักผ่อนจริงๆ  ไม่ต้องกังวลถึงงานที่จะต้องทำต่อไป  ช่างโล่งโปร่งใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา  ฉันไม่เคยรู้สึกปลอดโปร่งอย่างนี้มาก่อนเลย  ฉันได้เริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว  ขอขอบคุณ คุณพระคุณเจ้า ขอบคุณสวรรค์  ขอบคุณเทพยดาทั้งปวง  ที่บันดาลให้ฉันได้พบกับความสุขที่แท้เช่นนี้

          วันที่ 29  วิทยากรที่สอน TQA ของสถาบันเพิ่มผลผลิต ตลอด 3 วันของการอบรมหลักสูตร TQA criteria: service sector เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศ  คือ คุณบดินทร์  วิจารณ์  และนายแพทย์สิทธิศักดิ์  พฤกษ์ปิติกุล  (เคยเป็น ผอ.รพ.นนทเวช / ผอ.รพ.พญาไท  ปัจจุบันเป็น Freelance) ทั้งสองท่านมีความรู้เรื่องบริหารจัดการดีมาก  ฉันได้ความรู้มากทีเดียว  (แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอากลับไปทำอะไร) และที่รู้อีกอย่างก็คือ  การเลือกพัฒนาคณะฯ ด้วย TQA นับเป็นทางเลือกที่ฉัน (เคย) เลือกได้ถูกต้องแล้ว

          การทำ QC หรือ QA ทางการศึกษาในระบบที่ผ่านๆ มา  เราแยกทำคุณภาพเป็นส่วนๆ  โดยไม่สามารถนำคุณภาพแต่ละส่วนมาบูรณาการและเชื่อมโยงกันได้  วิทยากรสอนให้ตอบโจทย์ที่เน้นการคิดอย่างเป็นระบบ  ต้องตอบให้เห็นภาพรวมของระบบและเชื่อมโยงไปสู่วิสัยทัศน์  ต้องมองให้รอบด้าน (เน้นว่ารอบด้านจริงๆ) ความยากของมันคือการร้อยเรียงสิ่งที่แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ ให้แยกให้เห็นอย่างเป็นระบบ (system) โดยอาจเสนอในรูปแบบของ model  ตาราง  flowchart  หรือคำอธิบายที่ชัดเจน  ต้องตอบคำถามให้มีความกลมกลืนของ  context (ขององค์กรของตน) + criteria (ของคุณภาพ) + content ของการดำเนินงานนั้นๆ  ระบบนั้นๆ

             อย่างไรก็ตามฉันก็ยังว่า คู่มือ TQA เป็นคู่มือแบบเทพ  ไม่เฉพาะคำศัพท์ต่างๆ เท่านั้นที่มีคนแขวะว่าเป็นคำศัพท์แบบเทพ (อ่านไม่รู้เรื่อง) เว้นแต่เมื่อมีวิทยากรมาอธิบายเท่านั้น จึงจะกระจ่างขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #tqa#การสรรหา#คณบดี
หมายเลขบันทึก: 303271เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2009 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท