กวาวเครือขาว สมุนไพรไทย เพิ่มน้ำหนักตัวไก่พื้นเมืองพันธุ์แดงและพันธุ์คอล่อนและทำให้ไม่มีการสะสมของสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อไก่ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค


อาจารย์วิศาล อดทน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง พร้อมคณะ ได้ทำวิจัยเรื่อง ผลของวิธีการตอนไก่ต่อสมรรถภาพการผลิตของไก่พื้นเมือง พบว่า สรรพคุณของ กวาวเครือขาว สมุนไพรไทย สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวไก่พื้นเมืองพันธุ์แดงและพันธุ์คอล่อนและทำให้ไม่มีการสะสมของสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อไก่ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

 

อาจารย์วิศาล อดทน  หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงไก่พื้นเมืองตอน ชาวบ้านนิยมใช้การตอนแบบฝังฮอร์โมนที่เรียกว่าเฮกเอสตรอล (hexoestrol) ที่ออกฤทธิ์ไปกดการทำงานของอัณฑะไม่ให้มีการเจริญพัฒนาและไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศผู้ได้ มีผลทำให้ร่างกายไก่สะสมไขมันมากขึ้น โดยฮอร์โมนมีระยะการออกฤทธิ์ประมาณ 45-50 วัน ฉะนั้น การตอนไก่แบบฝังฮอร์โมนจึงต้องนำไก่ไปรับประทานหลังฝังฮอร์โมนประมาณ 60 วัน แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ฝังฮอร์โมนไม่ได้คำนึงถึงผลตกค้างฮอร์โมนในเนื้อ จึงนิยมนำไก่ออกขายหลังตอนประมาณ 30-45 วัน เพราะหลังจาก 45 วันไปแล้วไก่จะน้ำหนักตัวลดลง และใช้อาหารเปลือง กำไรลดลง และเนื่องจากฮอร์โมนตกค้างทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคไก่ตอน กระทรวงสาธารณสุข จึงมีคำสั่งที่ 417/2529 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ให้เพิกถอนทะเบียนตำหรับยาที่มีตัวยา Hexoestrol (ราชกิจจานุเบกษา, 2529) ทั้งนี้เพราะมีสารตกค้างจนอาจถึงระดับทำให้เกิดอาการพิษต่อผู้บริโภคได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงมีเกษตรกรลักลอบใช้สารเคมีนี้ในการตอนไก่อยู่จนถึงปัจจุบัน

การตอนไก่แบบผ่าข้างนั้นทำได้โดยตัดเอาอัณฑะที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศผู้ออก ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (testosterone) มีผลทำให้ไก่เพศผู้ตอนเป็นไก่ไม่มีเพศ และมีการสะสมไขมันในร่างกายมากขึ้น แต่การตอนวิธีนี้มีความยุ่งยากในการตอน และไก่มีความเสี่ยงต่อการตายสูง รวมทั้งยังใช้เวลาในการเลี้ยงนานประมาณ 8-12 สัปดาห์ จึงจะจำหน่ายได้

กวาวเครือขาวมีสาระสำคัญอยู่ในกลุ่ม Isoflavonois เช่น Miroestrol และ Deoxymiroestrol ที่ถูกสร้างโดยธรรมชาติและออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นถ้าใช้กวาวเครือขาวผสมลงในอาหารไก่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมและเลี้ยงไก่ในช่วงอายุที่พอเหมาะ ทำให้ไก่แสดงออกทางด้านสมรรถภาพการผลิตได้ใกล้เคียงกับการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (สมโภชน์ และคณะ, 2549) ส่วนการใช้กวาวเครือขาวในการผลิตไก่นั้น สุชาติและคณะ (2545) ได้ทำการศึกษาระดับของกวาวเครือขาวในอาหารไก่ลูกผสมพื้นเมืองในระดับ 2% 4% และ 6% นาน 8 สัปดาห์ พบว่าไก่ทั้ง 3 กลุ่ม มีน้ำหนักตัวเพิ่มไม่แตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) และไม่มีการสะสมของสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อไก่ทุกกลุ่ม ดังนั้น การใช้กวาวเครือขาวที่เป็นพืชสมุนไพรของประเทศไทยเพื่อการผลิตไก่ตอนที่ปลอดภัยทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ถูกห้ามใช้ จึงเป็นอีกแนวทางเลือกหนึ่งที่สามารถผลิตไก่ตอนที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค นอกจากนั้นยังลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อีกด้วย 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ อาจารย์วิศาล อดทน  คณะเทคโนโลยีและการพัฒนชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  โทร. 074-693996  หรือ 084-2525518  หรือที่งานประชาสัมพันธ์ โทร. 074-311885-7 ต่อ 7207

ข้อมูลเพิ่มเติม
ไก่คอล่อน จังหวัดพัทลุง หรือบางคนเรียกว่า ไก่คอเปลือย สนง.เกษตร จ.พัทลุง รายงานไว้ว่า "ไก่คอล่อน พัทลุง"เป็นไก่ลูกผสมระหว่างไก่คอล่อนของฝรั่งเศสกับไก่ชนของ จ.พัทลุง (ไก่คอล่อนของฝรั่งเศสเป็นไก่คอล่อนที่นำมาเลี้ยงในอินโดจีน และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้นำเข้ามาในประเทศไทยเป็นอาหารของทหาร ได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลามีการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์สงขลา-พัทลุง ทำให้ไก่คอล่อนแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดพัทลุง) แต่มีบางกระแสว่า "ไก่คอล่อนพัทลุง" เป็นไก่ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500

ลักษณะประจำพันธุ์ไก่คอล่อน เป็นไก่ที่มีรูปร่างลักษณะหลายส่วนคล้ายไก่บ้านหรือไก่อูเช่นมีขนสีดำเหลือบเขียว แต่จะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างได้แก่ ที่บริเวณไหล่ ลำคอไปถึงศีรษะไม่มีขน จึงเรียกว่า "ไก่คอล่อน" ตรงบริเวณด้านหลังศีรษะ (ท้ายทอย)จะมีขนเป็นกระจุกคล้ายสวมหมวก และบริเวณต้นคอด้านหน้าทั้งซ้ายและขวาจะมีปอยขนอยู่ข้างละกระจุกเล็กๆ ถ้าเป็นไก่แบบคอล่อนแท้จะพบว่าบริเวณต้นคอ หน้าอก หลัง และน่อง ก็จะไม่มีขนด้วย ลักษณะขน มักมีสีดำเหลือบเขียวทั้งตัวเป็นส่วนใหญ่ ขนปีกและหาง อาจมีสีขาวแซมบ้าง ลักษณะหงอน มีลักษณะแบบมงกุฎแต่มีขนาดใหญ่กว่าไก่ชน ลักษณะเหนียง จะไม่เป็นเหนียงที่ชัดเจนเหมือนของไก่ฝรั่งแต่จะมีผิวหนังที่ใต้คางจนถึงลำคอส่วนบนเป็นแผ่นย้วยห้อยลงมาคล้ายหนังคอวัวอินเดีย ขนาดและน้ำหนักตัว เมื่อวัยเจริญพันธุ์ เพศผู้หนัก 2.5-3.0 กก. เพศเมียหนัก 1.5-2.0 กก.เมื่อโตเต็มที่ เพศผู้หนัก 3.0-3.5กก. เพศเมียหนัก 2.0-2.8 กก. รูปร่างของไก่คอล่อน รูปร่างลำตัวคล้ายไก่ชนแต่มีบางลักษณะเด่นกว่าไก่ชน เช่น มีหน้าอกกว้าง เนื้อหน้าอกเป็นมัดใหญ่มาก ถ้าเทียบกับไก่ชน ถ้ายังเป็นๆ ผู้บริโภคอาจรังเกียจบ้างเพราะส่วนที่ไม่มีขนจะมีหนังสีแดงดูรูปร่างไม่สวยงามเหมือนไก่ชน แต่ถ้าทำการฆ่าถอนขนแล้ววางคู่กับไก่บ้าน(ชน) คนก็จะเลือกไก่คอล่อนเพราะมีรูปร่างดีดูมีเนื้อมากกว่าไก่บ้าน(ชน) ที่ได้ชื่อว่าไก่คอล่อน(พัทลุง) ก็เพราะเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากในอำเภอต่างๆ ของจ.พัทลุง แต่จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่ามีการเลี้ยงกันอยู่ทั่วไปในภาคใต้ตอนล่าง แต่ไม่หนาแน่นเท่าที่จังหวัดพัทลุง  

 

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 303033เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2009 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ว้าวๆๆ อาจารย์ สุดยอด!!!!

ว๊าวๆๆๆๆ อาจารย์เก่งคาด ด ด ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท