วิทย์
นาย ประวิทย์ วิทย์ นิสังรัมย์

คนดีที่น่าสงสาร


พุทธองค์ตรัสไว้

เวรไม่ระงับด้วยเวร

…”เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร”  การไม่จองเวรเท่านั้นที่จะระงับเวรทั้งหลายเสียได้  ผู้เบียดเบียนก่อนคือผู้เวร  ผู้ผูกใจโกรธที่สุดเบียดเบียนคือ  ผู้จองเวร  เมื่อผู้ใดมีผู้เบียดเบียนและมีผู้ผูกใจโกรธ  เมื่อนั้นความย่อยยับย่อมเกิดได้…

จุดไฟศรัทธาท่ามกลางทุกข์

(ไม่ระย่อ)

เช้าแล้วนกกระจิบกางปีกขยับอย่างคล่องแคล่วส่งเสียงจิ๊บๆจั๊บๆก่อนโผล่อย่างเข็มแข็ง  ปากแหลมเล็กจิกคาบใบสนสีทองที่เรี่ยรายอยู่บนพื้น ที่ละเส้นสองเส้น บินเที่ยวแล้วเที่ยวเล่าไม่รู้
เหนื่อยหน่าย วันต่อวันที่ละเล็กที่ละน้อยกลายมาเป็นรังทองอบอุ่นให้พักพิงอาศัยเป็นสุข
          คนเราก็เช่นเดียวกัน แต่ละวันที่ผ่านไปมีเรื่องราวต่างๆให้เรียนรู้ศึกษา มีอุปสรรคให้ต่อสู้  มีเรื่องยุ่งยากขัดแย้งให้ฝึกฝนฝึกใจ
          ขวากหนามตามรายทางบนถนนชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีใครไม่มีอุปสรรค
          อุปสรรค  จะเคี่ยวเราให้เข็มแข็งขึ้น
          อุปสรรค  จะทำให้เราดึงพลังความสามารถมาใช้อย่างเต็มที่
          อุปสรรค  ยิ่งยากซับซ้อน บ่งให้รู้ว่า  เรากำลังไต่ขึ้นสู่ที่สูง  ถ้าฝ่าฟันได้ นั่นหมายถึง
เราได้ก้าวขึ้นมายืน ณ  อีกจุดหนึ่งซึ่งงดงามกว่าเดิม
          อุปสรรค  จึงคือบันไดทองยอดยาวสู่สวรรค์  พึงรู้จักเลือกสรรกอบเก็บสิ่งที่มีประโยชน์ จากประสบการณ์ที่ปรากฏหลากหลายรูปแบบทุกข์-สุข ที่ละเรื่องสองเรื่อง ศึกษาเรื่องแล้วเรื่องเล่าอย่างแยบคายใคร่ครวญ               วันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี  ที่ละนิดละหน่อย  กลายมาเป็นหัวใจทองผ่องใสเปี่ยมพลังมั่นคงให้เราพึ่งพิงอย่างเบิกบานเย็นสงบ
 

สรรเสริญ-นินทา

 
“ในโลกนี้ไม่ว่าในกาลไหนๆ ไม่มีใครได้รับการสรรเสริญหรือนินทาโดยส่วนเดียว”
กว่า 2500  ปีแล้ว ที่พระบรมศาสนาแห่งพุทธผู้รู้แจ้งพระองค์นั้นได้ฝากข้อคิดนี้แก่เรา
     แต่จะมีสักกี่คนเล่า ที่สามารถนำพุทธพจน์นี้ไปใช้ได้ผลงดงาม  คำสรรเสริญและนินทานั้น
เป็นดั่งเหรียญพิษ  สำหรับผู้ไม่รู้แจ้งทุกคน  ไม่ว่าจะพลิกด้านไหน
          เพียงแต่เหรียญด้านสรรเสริญ  เป็นด้านที่คายพิษช้าๆ เนิบนาบเยือกเย็น  จนน้อยคนจะไหวรู้ถึงพิษภัย ซ้ำกลับเห็นเป็นความเพลิดเพลินเปรมปลื้ม ดื่มด่ำกับรสชาตินี้เสียยิ่งนัก
          ในขณะที่เหรียญด้านนินทาหงายขึ้น พร้อมกับปะทุคุโชนแผดเผาเร่าร้อน รุ่นแรง เป็นทุกข์ ที่แผ่รังสีให้สัมผัสได้ถนัดชัดเจน
          พิษสรรเสริญยังคงนอนนิ่งสนิทในเบื้องลึกสุดลึกของหัวใจตราบจนกระทั่งพิษนินทาแสดงตัวออกฤทธิ์  พิษสรรเสริญจึงเยื้องอย่างแสดงเดช
          เราทุกข์กระสับกระส่าย เดือดพล่าน เมื่อถูกนินทานั้น แท้จริงคือ ผลสะสมของพิษสรร
เสริญนั่นเอง...ยิ่งสะสมความเอร็ดอร่อยของสรรเสริญไว้มากเพียงใดจะยังทนไม่ได้กับรสชาติฝืดคอของนินทามากเพียงนั้น
          ตราบใดที่ยังไม่อยู่เหนือสรรเสริญ  ตราบนั้นนินทา ก็ยังคงแผ่ขยายพิษห่อหุ้มเราไว้ได้อย่างมั่นคง
          ดอกไม้เบ่งบานเปล่งสีสด ทักทายกับแสงตะวันยามเช้าอย่างร่าเริงสดใส  เพราะดอกไม้เป็นอิสระแล้วจากการห่อหุ้มของกลีบเลี้ยง    แต่อีกนานสักเท่าใดหนอ  มนุษย์จึงจะเป็นอิสระจากการห่อหุ้มของคำสรรเสริญและนินทาได้   เพื่อจะได้เบิกบานสดชื่น ไม่แพ้ดอกไม้นานาพรรณ
   ขุนเขาไม่สะเทือน  เพราะแรงลมฉันใด   บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหว  เพราะนินทาหรือสรรเสริญฉันนั้น
 

 

โกรธเขาใครเร่าร้อน

 
          ผู้กล่าวไว้ว่า  “สาเหตุอันเลวแท้ที่ทำให้คนยังโกรธอยู่  คือ  การเอาแต่ใจตัวเอง”
ผู้ใดยั้บยั้งความโกรธที่เกิดขึ้นได้ทันทีเหมือนสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นได้  ผู้นั้นไซร์เราเรียกว่า
”สารถี” ส่วนคนนอกนั้นได้ชื่อว่าเพียง”ผู้ถือเชือก”
เคล็ดฆ่าความอาฆาต
 เพียงแค่คิดจะทำรายผู้อื่น  ความโกรธก็ชิงลงมือทำรายเราเสียแล้ว ผู้ที่ผูกโกรธแค้นอาฆาต  ไม่มีสักรายเดียวที่จะนอนหลับเป็นสุข  ฉะนั้น “บุญคุณต้องทดแทน  แค้นต้องอภัย”  พระพุทธเจ้าแนะเคล็ดวิชาไว้ดังนี้
          “ธรรม   5  ประการที่ระงับความอาฆาตคือ”
  1. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นกับบุคคลใด  พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น
  2. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นกับบุคคลใด  พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น
  3. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นกับบุคคลใด  พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น
  4. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นกับบุคคลใด  พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น
  5. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นกับบุคคลใด  ให้พึงนึกถึงความมีกรรมของตน  เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่ง  จักทำกรรมใด  ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม  จักเป็นทายาท(ผู้รับผล)  ของกรรมนั้น(พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 161)
 

คนดีที่น่าสงสาร

 
              นกยูงรำแพนหางเป็นวงกว้าง  อวดลวดลายสีสันสะดุดตาเดินกรีดกรายอย่างสง่าทระนง ด้วยชื่นชมในความเด่นแห่งปีกหางของตน     นกยูงไม่เคยมองเห็นหางอันเป็นพวงนุ่มสลวยของกระรอกไม่เคยรู้สึกถึงกังวานเสียงไพเราะปานระฆังแก้วของนกโกกิลา
ไม่เคยซาบซึ้งในความขยันขันแข็งของปลวกเล็กๆ   นกยูงมองไม่เห็นสิ่งที่น่าชื่นชมอันใดอื่น  นอกจากความโดดเด่นของตนเอง คนบางคนคล้ายนกยูง  ที่ทระนงในความดีเด่นของตน  จนกระทั่งดวงตามือบอดมองไม่เห็นความดีเด่นของผู้อื่น  เขาจึงถือสาง่ายเมื่อได้รับคำตำนิ  เพราะเขาไม่เห็นว่าคนอื่นมีคุณค่าอะไรมากพอที่จะตำนิเขา  เขาจึงน้อยใจเมื่อใครสักคนไม่ทักทาย  ไม่ได้เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้เขาฟัง  หรือไม่ได้สรรเสริญเขา

เพราะเขาคิดว่า  ผู้ดีเด่นเช่นเขา  ควรจะได้รับการให้ค่าความสำคัญให้ความหมายในทุกๆเรื่องๆจากผู้อื่น  เขาจึงเพ่งโทษผู้อื่น  เหยียดหยามอยู่ในใจ  เพราะเขาเชื่ออยู่ในใจลึกๆว่าคนอื่นไม่มีดีอะไรเท่าเขา

ก้าวก่ายหรือเอาภาระ

            ครอบครัวผึ้งอยู่กันอย่างอบอุ่น ผึ้งงานมีหน้าที่เก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ระยะไกลแสนไกล ผึ้งงานยังคงกรีดปีกอย่างขยันขันแข็ง ผึ้งตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ และนางพญาผึ้งมีหน้าที่วางไข่สร้างชีวิตเล็กๆ  ต่างฝ่ายต่างรู้หน้าที่ของตน และทำเต็มความสามารถ ผึ้งงานไม่เคยตัดพ้อผึ้งนางพญาที่ไม่ไปช่วยหาน้ำหวาน ผึ้งตัวผู้ไม่เคยบ่นน้อยใจในชีวิตอาภัพ อันเกิดจากการทำหน้าที่ผสมพันธุ์ ซึ่งตนต้องถึงแก่ชีวิตในภายหลัง ทั้งนี้เพราะผึ้งตัวผู้รู้ว่าความเติบโตของรวงรังเกิดจากแต่ละฝ่ายเอาภาระร่วมกัน
          หมู่กลุ่มคนมีการทำงานร่วมกันเช่นกัน แต่บ่อยครั้งที่เดียวที่ดำเนินไปอย่างสับสน ด้วยบางคนไม่อาจแยกออกได้ว่า สิ่งใดคือการเอาภาระ  สิ่งใดคือการก้าวก่าย ในหน้าที่การงาน ภาวะอึดอัดไม่อบอุ่นจึงเกิดขึ้นยาวนาน....ในกระบวนการทำงานแบ่งออกเป็นหลายแผนกแต่ละแผนกย่อมมีปัญหาติดขัดแตกต่างกันออกไป  ในขณะที่แผนกหนึ่งต้องการให้แผนกนั้นเป็นเช่นนั้นเช่นนี้  แต่แผนกดังกล่าวนั้นไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการได้  เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ  การนำปัญหามาพูดในที่ประชุมเพื่อหาข้อยุติร่วมกันเป็นวิธีดีที่สุด
          นี่คือการเอาภาระในหน่วยงาน  ซึ่งเป็นหน้าที่เป็นความรับผิดชอบของผู้ทำงานทุกคน เพื่อหน่วยงานจะได้ก้าวหน้าอย่างงดงาม   เมื่อได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว ต้องยอมรับในมตินั้น  และวางใจแม้ว่าประสิทธิภาพของงานจะได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น    หากไม่ไว้วางใจ  ยังคงเพียรชะเง้อชะแง้ข้ามแผนกอยู้ไม่รู้แล้วทั้งที่ตนก็ไม่มีความสามารถหรือไม่มีเวลาจะไปทำแผนกนั้นๆได้  อาจเป็นไปได้ที่งานทั้งหมดจะพังครืน  รวมทั้งแผนกของตนด้วย....นี่คือการก้าวก่ายหน้าที่  ด้วยกิเลสอัตตาอยากให้ได้ดีดังใจราวกับว่าหน่วยงานนี่เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว  และในที่สุดตนก็เป็นผู้หย่อนระเบิดทำลายหน่วยงานนั้นเสียเอง..
                   ไม่ควรรอคอยดูแต่งานที่ทำแล้ว  และยังไม่ได้ทำของผู้อื่น......  ควรพิจารณาดูแต่งานที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น...           (แกงเสียรส  เพราะแม่ครัวมาก)
 

 

อยู่กับคน

 
       สุนัขขนสีน้ำตาลทั้งตัวนอนขดข้างถนนอาบแดดยามเช้าทันใดนั้นมันก็พรวดพราดลุกขึ้นหยัดยืนสี่เท้า  หันซ้ายหันขวา ไม่มีใครหรืออะไรอยู่ใกล้ๆตัวมันแม้สักสิ่ง  ประเดี๋ยวมันก็ยืดคอเห่าเสียงดัง ฮ้ง ฮ้ง กระดิกหางไปมา แล้วก็ล้มตัวนอนขดดังเดิม
          ในหมู่คนหลากหลาย  คงมีสักครั้งคราว ที่เราถูกใครคนหนึ่งซึ่งใจแคบระบายระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราดใส่โดยไม่มีเหตุผลคำพูดกระแทกกระทั้นประดังพรั่งพรู ร้อยรับกับหน้าตาถมึงทึงดั่งกับจะกัดกินฉีกเนื้อเราทั้งตัว หรือในบางหน เราอาจจะโดนคนจ้องเหยียบย่ำเราทุกวิธีทาง เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเราให้คนอื่นฟังพร้อมทั้งตอกใข่ใส่สีแพรวพราว
          ไม่มีอะไรแม้สักสิ่ง  สุนัขก็เห่าได้     ไม่มีอะไรสมเหตุสมผล  คนพาลก็หยิบยกทำให้เป็นเรื่องราววุ่นวายได้
          พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนส่วนมากทุศีล หยาบคาย ดังนั้นคนเพียงจำนวนน้อยนิด  ที่มีคุณสมบัติของบัณฑิต  จึงเป็นเรื่องธรรมดา  ที่เราจะเกี่ยวข้องพบเจอคนนิสัยเสีย นิสัยใจแคบอยู่ทั่วไป
          อย่าหวั่นไหวเสียใจกับการกลั่นแกล้ง หรือคำโจมตีเสียดสี  มิฉะนั้นเราจะสะเทือนใจไม่จบสิ้น เลิกกังวลกับความใจแคบของคนอื่น แล้วความสดชื่นจะเป็นของเรา
อย่าคิดเอาชนะคนใจแคบ ด้วยการลุกขึ้นสู้เด็ดขาด  เพราะเมื่อใดที่เราฮึดสู้เมื่อนั้นเราจะพ่ายแพ้
          คนใจแคบ มักจะไม่รู้สึกพึงพอใจในตัวเอง มีความรู้สึกด้านลบตลอดเวลา เขาไม่มีความสุข  และมีปัญหาลึกๆ ที่เขาเองไม่สามารถจะแกะออกได้ คนจำพวกนี้จะเกลียดตัวเอง แล้วเขาก็เก็บความเกลียดเหล่านั้นมาระบายที่เรา  ที่น่าสงสารกว่านั้น เขายังเด็กเกินที่จะรับรู้และแทงทะลุถึงปัญหาที่แท้จริงของตัวเองได้  ....
พระพุทธองค์ตรัส  (ณวมพุทธ)
  • คนพาลมีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำ  ท่าน้ำ แม้เป็นนิตย์(สม่ำเสมอ)ก็บริสุทธิ์ไม่ได้  แม่น้ำ ท่าน้ำจะทำอะไรได้  จะชำระคนเวรอันความหยาบช้าเป็นบาปนั้นจะให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย*
  • คนพาลทำเหตุ  4  ประการนี้คือ
  1. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา (ความเชื่อ)
  2. เป็นผู้ทุศิล(ละเมิดศิล)
  3. เป็นผู้เกียจคร้าน
  4. มีปัญญาทราม
*คนพาลดังนี้จึงเป็นผู้ไม่ฉลาด     เป็นอสัปบุรุษ(เห็นผิด) ย่อมบริหารตนถูกขจัดทำลายเป็นผู้มีโทษ  วิญญูชนติเตียนและย่อมเกิดผลบาปเป็นอันมาก*
ü    บุคคลพึงรีบทำความดี  ห้ามจิตจากบาป  เพราะเมื่อทำบุญช้าไป  ใจย่อมยินดีในบาป  หากทำบาปแล้วไซร์  ไม่พึงทำบาปบ่อยๆ  ไม่ทำความพอใจในบาปนั้น   เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ * หากทำบุญแล้วไซร์  พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ  พึงทำความพอใจในบุญนั้น  เพราะการสั่งสมบุญ  นำสุขมาให้*
ü    *ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล  คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำหวาน*
ü    ผู้ใดเป็นพาลอยู่  แล้วสำคัญตนเป็นพาลได้  ด้วยเหตุนี้  ผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตไดบ้าง  ส่วนผู้ใดเป็นพาลอยู่  แล้วสำคัญตนว่า  เป็นบัณฑิต  ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า  เป็นพาลแท้*
ü    บุคคลพึงทำตน  ให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน  ค่อยพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง  จะไม่เศร้าหมอง  หากทำตนเหมือนอย่างที่พร่ำสอนคนอื่นอยู่  ผู้นั้นย่อมมีตนที่ฝึกดีแล้ว  เพราะตนแลฝึกได้ยาก  ตนแลเป็นที่พึ่งของตน  บุคคลอื่นใดเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้  เพราะผู้มีตนฝึกฝนดีแล้ว  ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก*
ü    บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม  บุคคลนั้นไม่ชื่อว่า  เป็นผู้ชนะสงคราม  ส่วนบุคคลใดพึงชนะตนเองแค่ผู้เดียว  บุคคลนั้นชื่อว่า  เป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม
ü    ภูเขาหินล้วนเป็นแห่งทึบ  ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลม ฉันใด  บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหว  เพราะนินทาและสรรเสริญ  ฉันนั้น*
ü    บัณฑิตถูกสุขหรือทุกข์แตะต้องแล้ว  ย่อมไม่แสดงอาการสูงๆต่ำๆ  ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน  ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น  ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จโดยไม่ชอบธรรม  บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีล  และมีปัญญาประกอบด้วยธรรม*
ü    สำคัญที่ใจ  ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า  มีใจประเสริฐที่สุด  สำเร็จแล้วแต่ใจ  ถ้าบุคคลมีใจโทษประทุษร้ายแล้ว  กล่าวอยู่ก็ตาม  ทำอยู่ก็ตาม  ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น  เพราะทุจริตกาย  วา  ใจ  เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคซึ่งลากเกวียนไปอยู่
 
ü    เราไม่สรรเสริญ  มิจฉาปฏิปทา(ความประพฤติผิด)  คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว  ย่อมไม่ทำญายธรรม(ความถูกต้องตรงธรรม) อันเป็นกุศลได้สำเร็จ  เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ  ก็ความปฏิบัติผิดไฉนเล่า
1. มิจฉาทิฐิ  มีความเห็นผิด      2. มิจฉาสังกัปปะ  มีความไตร่ตรองผิด  3 . มิจฉาวาจา  มีความเจรจาผิด              4. มิจฉากัมมันตะ  มีการงานผิด    5. มิจฉาอาชีวะ  มีการเลี้ยงชีพผิด
  1. มิจฉาวาจามะ  มีความพยายามผิด  7. มิจฉาสติ  มีการระลึกผิด  8. มิจฉาสมาธิ  มีจิตตั้งมั่นผิด
ü    ผู้ให้ข้าว  น้ำ  ผ้า  ยาน  ที่อยู่อาศัยแก่สมนะผู้สงบกิเลส  เพราะการกระทำนั้นอันเขากระทำให้พรั่งพร้อมถือเอารับเอาไว้อย่างนี้  หากตายไปจะเข้าถึงความสุขสบายในโลกสวรรค์  ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์อีกจะเป็นคนมีสมบัติมาก
ü    จักร  4  ประการ   เป็นเครื่องที่มนุษย์กระทำแล้วย่อมถึงความเป็นใหญ่ความไพบูลย์ในสมบัติทั้งหลายในเวลาไม่นานนัก  จักร  4  ประการนี้คือ
            1. การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม              2. การคบคนที่มีความคิดตรงกัน      3.การตั้งตนไว้ถูกต้อง
            4. การเป็นผู้มีความดีได้ทำแล้วในครั้งก่อนๆ*
ü    การละทุกข์ได้ทั้งหมด  นำซึ่งความสุขมาให้
ü    การเป็นผู้เกื้อหนุนบิดามารดา  นำมาซึ่งความสุขในโลก
ü    ความเป็นผู้เกื้อหนุนสมณะและพราห์ม  นำมาซึ่งความสุขในโลก
ü    การได้มาซึ่งปัญญา  นำซึ่งความสุขมาให้
ü    การไม่ทำบาปทั้งหลาย นำซึ่งความสุขมาให้
ü    ความสุขใจ  แยกออกเป็น 2  อย่าง
1. เมื่อเสพความสุขใด  อกุศลธรรมเจริญขึ้นกุศลธรรมเสื่อม  ความสุขใจเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ
 2. เมื่อเสพสุขใจใด อกุศลธรรมเสื่อม  กุศลธรรมเจริญขึ้น    ความสุขใจเห็นปานนี้ ควรเสพ
ถ้าบุคคลใดเป็นคนเลว  เพราะคำของคนอื่นไซร์  บุคคลนั้นย่อมเป็นคนมีปัญญาทรามพร้อมด้วยคนอื่นนั้น  แต่ถ้าบุคคลเป็นผู้รู้แจ้งธรรม  เป็นผู้มีปัญญาเองไซร์  ใครๆในบรรดาสมรพราหม์  ย่อมไม่เป็นคนพาล*

ไตรปิฎกฉบับประชาชน

  1. ยังพูดปดทั้งๆที่รู้จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้   เมื่อบุคคลไม่ละธรรมข้อที่หนึ่ง  คือการพูดปดทั้งๆที่รู้เราย่อมไม่กล่าวว่ามีบาปอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้*
  2.     มูลรากแห่งอกุศล  3  อย่าง
    1. โลภะ  ความยากได้  เป็นมูลรากแห่งอกุศล
    2. โทสะ  ความคิดประทุษร้าย  เป็นมูลรากแห่งอกุศล
    3. โมหะ  ความหลง เป็นมูลรากแห่งอกุศล
3.  ผู้ตกนรก  บุคคลประกอบด้วยธรรม  5  อย่าง
         1. เป็นผู้มักฆ่าสัตว์  2. เป็นผู้มักลักทรัพย์           3.เป็นผู้มักประพฤติในกาม  4.เป็นผู้มักพูดปด
         5. เป็นผู้มักตั้งอยู่ในความประมาท  ด้วยการดื่มน้ำเมา  คือสุรา เมรัย         
4. คนพูดมากย่อมมีโทษ  5  อย่าง
           1. ย่อมพูดปด       2.ย่อมส่อเสียด(ยุให้แตกร้าวกัน)      3.ย่อมพูดคำหยาบ               4. ย่อมเพ้อเจ้อ       5. สิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ  วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก

5. โทษของความไม่อดทน  5  ประการ                               

    1. ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของคนมาก    2. มากไปด้วยเวร 3.มากไปด้วยโทษ               4. หลง  ถึงแก่ความตาย     5. เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าอบาย ทุคคติ  วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก
6. คนที่เกิดมามีขวานเกิดมาในปากด้วย  “ คนที่เกิดมาแล้ว  มีขวานเกิดมาในปากด้วย คนพาลเมื่อกล่าวคำชั่ว  ชื่อว่าใช้ขวานฟันตนเอง  ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติ  ติคนที่ควรสรรเสริญ  ผู้นั้น  ชื่อว่าใช้ปากเลือกเก็บความชั่วไว้  จะไม่ได้ประสบความสุขเพราะความชั่วนั้น”
7. ผู้เศร้าโศก  กับผู้บันเทิงในปัจจุบันและอนาคต  “ คนทำความชั่ว  ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง  คือเศร้าโศกในโลกนี้และโลกหน้า  ละไปแล้วก็เศร้าโศกเขาย่อม  เศร้าโศกเดือดร้อน  เพราะเห็นการกระทำอันเศร้าหมองของตน”  คนทำบุญ ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง  คือบันเทิงในโลกนี้และโลกหน้า  ละแล้วก็บันเทิง  เพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งการกระทำของตน”
8. คนพูดมากไม่ทำ  กับคนพูดน้อยแต่ทำ  “ คนที่พูดถ้อยคำมีประโยชน์  แม้มาก  แต่เป็นผู้ประมาท  ไม่ทำตามถ้อยคำนั้น  ผู้นั้นย่อมไม่ได้มี ส่วนแห่งคุณธรรม  เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคให้ผู้อื่น  แต่ไม่มีส่วนแห่งน้ำนมโคฉะนั้น  คนที่พูดถ้อยคำมีประโยชน์  แม้น้อย  แต่ประพฤติตามธรรม  ละราคะ  โทสะ  โมหะ  ได้ รู้อยู่โดยชอบมีจิตหลุดพ้นด้วยดี ไม่ถือมั่นในโลกนี้ โลกหน้า  ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณธรรม”
9.เกาะชนิดใดน้ำไม่ท่วม  “ ห้วงน้ำย่อมไม่ท่วมทับเกาะใด  ผู้มีปัญญาย่อมสร้างเกาะ (ที่พึ่ง)  นั้นขึ้น  ด้วยคุณธรรมคือ  ความหมั่น  ความไม่ประมาท  ความสำรวมระวัง  และความรู้จักข่มใจ”
10. ใครทำร้ายก็ไม่เท่าจิตของตน  “ โจรต่อโจร  หรือผูกเวรต่อผูกเวร  พึงทำความพินาศอะไรให้แก่กัน  จิตที่ตั้งไว้ผิด  พึงทำบุคคลให้เลวร้ายยิ่งกว่านั้น “
11. ทัพพีไม่รู้รสแกง  “ คนพาลเข้าไปนั่งใกล้จนตลอดชีวิต  แต่ไม่รู้ธรรม  คนพาลนั้น  ก็เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง”
12. บุคคลผู้มีใจร้าย  คือบุคคลผู้มากด้วยกิเลส  บุคคลผู้มีใจผ่องใส  คือบุคคลผู้ไกลจากกิเลสหรือมีกิเลสเบาบาง  พระพุทธภาษิตข้างต้นมีความหมายง่ายๆว่า  บุคคลผู้มีด้วยกิเลสหรือความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  จะคิด  จะพูด  จะทำอะไร  ย่อมเป็นเหตุให้ตนเองเป็นทุกข์  ส่วนบุคผู้ไกลจากกิเลสหรือมีเพียงเบาบาง  คือไม่มีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  หรือมีเพียงเบาบาง  จะคิด  จะพูด  จะทำอะไร  ย่อมเป็นเหตุให้ตนเองเป็นสุข…..สามัญชนมักจะเข้าใจว่าความสุขความทุกข์ของตนเกิดจากภายนอก  เกิดเพราะบุคคลอื่น  เกิดเพราะเหตุการณ์ทั้งหลายบ้าง  โดยเฉพาะความทุกข์  สามมัญชนมักจะหลงเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นแก่ตนเพราะผู้อื่นเป็นเหตุทั้งสิ้น  ไม่ใช่เพราะใจตนเป็นเหตุสำคัญ  เมื่อไม่รู้เหตุที่แท้จริงของความทุกข์จึงแก้ความทุกข์ไม่ได้  เพราะการแก้โรคต้องแก้ที่เหตุ  คือแก้ให้ตรงเหตุจึงจะแก้ได้  โรคจึงจะหาย……
ü    ธรรมทาน  นี้เลิศกว่าการให้ทานทั้งหลาย
ü    การแสดงธรรมบ่อยๆ  แก่ผู้ต้องการเงี่ยหูฟัง  นี้  เลิศกว่า การพูดถ้อยคำเป็นที่รัก
ü    ผู้มีความดีเสื่อม  1.ไม่ฟังธรรม ที่ยังไม่เคยฟัง    2.ธรรมที่ฟังแล้ว  ถึงความเลอะเลือน      3.ธรรมที่เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน  ไม่ปรากฏ      4. ไม่รู้ธรรมที่ตนยังไม่รู้
ü    บุคคลเปรียบด้วยเมฆ  4  จำพวกคือ
  1. 1.       ประดุจเมฆคำรามแต่ไม่ให้ฝนตก คือคนชอบพูดแต่ไม่ชอบทำ
  2. 2.       ประดุจเมฆไม่คำรามแต่ให้ฝนตก คือ คนไม่ชอบพูดแต่ชอบทำ
  3. 3.       ประดุจดังเมฆไม่คำรามไม่ให้ฝนตก  คือไม่ชอบพูดและไม่ทำ
  4. 4.       ประดุจเมฆคำรามแล้วให้ฝนตก  คือ คนชอบพูดและทำ
ü    มิตรผู้ประกอบด้วยองค์ 3  ควรคบไว้คือ
  1. ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก
  2. ช่วยสิ่งที่ช่วยได้ยาก
  3. อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก
ü    ผู้ควรคบเป็นมิตรควรเข้าไปนั่งใกล้แม้ถูกขับไล่ก็ตาม คือ
  1. ผู้เป็นที่รักใคร่พอใจ
  2. เป็นที่เคารพ
  3. เป็นผู้ควรสรรเสริญ
  4. เป็นผู้ฉลาดพูด
  5. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ
  6. พูดถ้อยคำลึกซึ้ง
  7. ไม่ชักนำไปในสิ่งที่ไม่ดี
ü    คนหัวประจบ  พึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นเพียงคนเทียมมิตรคือ
1.ตามใจเพื่อนให้ทำชั่ว
2. ตามใจเพื่อนให้ทำดี
3.ต่อหน้าสรรเสริญ
4 ลับหลังนินทา
                                ….บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้มักโกรธ  มากด้วยความแค้นเมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจโกรธเคือง  พยาบาทขึ้งเคียดกระทำความโกรธทำความขัดเคือง  ทำความเสียใจให้ปรากฏ   เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระถูกไม้หรือกกระเบื้องเขี่ยกระทบเข้า  ย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น  บุคคลเห็นปานนี้จึง  ควรวางเฉย  ไม่ควรคบ  ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เพราะพึงด่าบ้างกล่าวโทษบ้างทำความพินาศให้บ้าง…..
ü    บุคคลผู้ประกอบด้วยความจริง  3  ประการนี้พึงทราบว่า  เป็นคนพาล
1.ไม่เห็นโทษ  โดยความเป็นโทษ
2. เห็นโทษแล้ว  โดยความเป็นโทษ
3.เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่  ไม่ยอมรับรู้ตามความเป็นจริง
ü    บุคคลเป็นบัณฑิต  มีปัญญามากเป็นอย่างนี้
  1. ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน
  2. ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
  3. ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
  4. เมื่อคิดย่อมจะคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น
  ปริญญาเป็นไฉน……ความสิ้นกำหนัด   ความสิ้นโกรธ  ความสิ้นการหลงผิดนี้เรากล่าวว่า ปริญญา
 ผลกรรมแห่งการฆ่ามนุษย์ และสัตว์  อย่างที่สุดแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์  คือ  เป็นผู้มีอายุน้อย
    ผลกรรมแห่งการลักทรัพย์  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์  คือ ความพินาศแห่งสมบัติ
    ผลกรรมแห่งการประพฤติผิดในกาม  อย่างเบาที่แก่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์  คือ มีศัตรูและถูกปองร้าย
   ผลกรรมแห่งการพูดเท็จ  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ ถูกกล่าวตูด้วยความไม่จริง
    ผลกรรมแห่งการพูดส่อเสียด  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ คือ มีการแตกจากมิตร
   ผลกรรมแห่งการพูดคำหยาบ  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ คือ อยู่กับเสียงที่ไม่น่าพอใจ
   ผลกรรมแห่งการพูดเพ้อเจ้อ  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ คือ ได้รับคำที่ไม่ควรเชื่อถือ
    ผลกรรมแห่งการเสพของมึนเมาให้โทษ  อย่างเบาที่สุดแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ คือ เป็นคนบ้า
    อบาย  4  (ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า)
  1. นรก……..ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย
  2. ดิรัจฉาน…….มืดมัวโง่เขลา
  3. อสุรกาย……หวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง
  4. เปรต……..หิวกระหายไร้สุข
อริยมรรคองค์  8 คือ
1.  สัมมาทิฐิ  คือ  มีความคิดเห็นถูกต้อง  รู้ว่านี้เป็นทุกข์  นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์   นี้เป็นความดับทุกข์  นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
2. สัมมาสัมกัปปะ  คือ  มีความไตร่ตรองที่ถูกตรง  ไตร่ตรองในการออกจากกาม  ไตร่ตรองในการไม่พยาบาท  ไตร่ตรองในการไม่เบียดเบียน
3. สัมมาวาจา  คือ มีการเจรจาที่ถูกตรง  เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ   เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด   เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ   เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
4. สัมมากัมมันตะ   คือ มีการงานที่ถูกตรง  เจตนางดเว้นการฆ่ามนุษย์และสัตว์  งดเว้นจากการลักทรัพย์  งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
5. สัมมาอาชีวะ  คือ มีการเลี้ยงชีพที่ถูกตรง  ละการเลี้ยงชีพที่ผิด
6. สัมมาวายามะ  คือ มีความพยายามที่ถูกตรง  มีความพอใจให้เกิดความพยายามตั้งต้นเพียรประคองจิตไว้  ตั้งจิตไว้  เพื่อมิให้สิ่งชั่วอันลามก  ที่ยังไม่เกิด  บังเกิดขึ้น  เพื่อละสิ่งชั่วอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว  เพื่อให้ความจริงที่ดีที่ถูกต้องที่ยังไม่เกิด  บังเกิดขึ้น  เพื่อให้ความจริงที่ดีที่ถูกตรงที่บังเกิดขึ้นแล้วมีความตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน  เพิ่มพูน  ไพบูลย์  เจริญ  บริบูรณ์
7. สัมมาสติ  คือ  มีการระลึกที่ถูกตรง  พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆอยู่  เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆอยู่  เห็นจิตในจิตเนืองๆอยู่  เห็นธรรมในธรรมเนืองๆอยู่  มีความเพียรความรู้ตัวอยู่เสมอ  มีสติกำจัดความโลภและความเสียใจในโลก
8. สัมมาสมาธิ  คือ มีความตั้งจิตมั่นที่ถูกตรง  ตั้งใจสงัดจากกาม  สงัดจากสิ่งชั่ว  จนบรรลุฌานทั้ง 4 เป็นเหตุให้สติบริบูรณ์…………
……………………………………………………………………………………………………….
“แล้งป่าคอนกรีตต้นไม้ยัง……..แล้งป่าคุณธรรมโลกเร่าร้อน…….แล้งน้ำฝนดินแตกกระแหง
แล้งน้ำใจคนแตกแยก”
♣  เกรงใจน้อยไป  ก็กลายเป็นหยาบคาย……เกรงใจมากไป  ก็กลายเป็นขลาดกลัว
      เกรงใจให้พอเหมาะ  จึงเป็นสุดยอดของมิตรภาพ  ♣
 
☺  อย่าฟังเพียงแค่ได้ยินคำพูด…แต่จะฟังเพื่อให้แง่คิด    อย่าคิดตามใจตนเอง….แต่จะคิดอย่างที่เขาคิดให้เราเข้าใจ  ☺
ความผิด
…..หากเราผิด  เราแก้ไข  หากเราถูกเราอธิบาย
หากเข้าไม่เขาใจ  เราก็รอโอกาสใหม่
หากเขาไม่รับฟัง  เราก็ให้อภัย…..
……คนเราหากเอาแต่คิดเพียงมุมเดียวว่า..ตัวฉันเองทำถูกต้องดีแล้ว  ใจของคนนั้นย่อมไม่ยอมรับคำตำหนิ
หมายเลขบันทึก: 302362เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แลกเปลี่ยนนะพี่ ดีเกินไปต่างหากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท