เรียนรู้ตลอดชีวิต
พระมหา วีระ วีระ กิตฺติวณฺโณ / ได้ทุกทาง

จิตใจกับการเลือกตั้ง


การเลือกต้องแบบไทย ๆ

จิตใจกับสังคมการเลือกตั้ง

เห็นอะไรบ้าง  ในบรรยากาศการซื้อเสียงเลือกตั้ง

พระมหาวีระ    กิตฺติวณฺโณ

6 -7  ก.ย. 2552

 

1. เงินเป็นธนบัตรวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน  ง่ายต่อการจัดเก็บ และไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ หรือระบุการได้มาอย่างไร  เมื่อเปลี่ยนมือ      เงินเป็นอุปกรณ์ชี้ขยายจุดเด่นของผู้สมัครให้ชัดขึ้น  แล้วกดทับจุดด้อยให้ลดลง     การซื้อเสียง คือการเบี่ยงเบียนความรู้สึกของคนในการรับผิดชอบชั่วดีต่อตนเอง ชุมชน สังคม

2. ใช้คนทำงาน ให้เดินซื้อเสียงได้ตามสั่ง  โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล 

3. เกิดการมีส่วนร่วมกันได้โดยง่าย และเกิดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน และมีความเข้มข้น ของหัวคะแนน หรือ คนเดินจ่ายเงิน เพราะหัวคะแนน หรือคนเดินจ่ายเงินมีความเอนเอียงพอใจกับผู้สมัครที่จ่ายเงินซื้อเสียงอยู่มากแล้ว หรือก็มีส่วนร่วมในการคิดวางแผนยุผู้สมัครซื้อเสียงด้วย

4. หัวคะแนน หรือ คนเดินจ่ายเงิน  เกิดความรับผิดชอบร่วมทันทีที่ลงมือทำงาน  และเกิดภาพความสามัคคีของกลุ่มคน เครือข่ายอย่างชัดเจน  ทำให้คนที่ไม่ซื้อเสียงมีแต่ความดีอ่อนแรง เป็นรองทางการเมืองทันที  ประสบการณ์ชุมชนสอนไว้อย่างยาวนานว่าคนซื้อเสียงชนะเสมอจึงไม่กล้าต้านความรู้สึกที่ถูกต้อง  หรือความรู้สึกฝ่ายดี  ( อกุศลครอบงำ)

5. การซื้อเสียงเป็นการสะกดจิตผู้ที่มีข้อมูลน้อย   หรือ ยังลังเลตัดสินใจไม่ได้     อาศัยผู้จ่ายเงินช่วยตัดสินใจให้แทน   ผู้ถูกซื้อคือเป็นฝ่ายถูกรุก  ถูกกระทำ ไม่ได้ตั้งตัว  สภาพจิตจะอ่อนแรง ประกอบกับการไม่มีภาวะผู้นำเพราะอ่อนต่อสังคม  จึงไม่อยากอยู่ฝ่ายแพ้การเลือกตั้ง

6. คนจ่ายเงินกล้าตัดสินใจรุกเข้าหาคนในเป้าหมาย    คนชุมชนเดียวกันจะไม่กล้าปฏิเสธการรับเงิน   รับแล้วความลังเลเกิดขึ้น   ไม่ชอบคิดมาก  กาตามนั้นหมดเรื่อง

7. เกิดสัญญาร่วมกันว่าจะกากบาทให้คนใด  ตามคำร้องขอของผู้จ่ายเงิน 

8. เกิดการมีส่วนร่วมอย่างรวดเร็วของผู้คนที่รับเงิน กับผู้จ่ายเงิน  ( คุยกันถูกคอ  มองตารู้ใจ  )

9. เกิดการมีส่วนร่วมที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา   เป็นการมีส่วนร่วมระยะสั้น  เรียกว่ากระแสเสียง   เมื่อใช้เงินจำนวนมาก ก็สามารถแปรให้เป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากตามไปด้วย

10. คนที่อยู่นอกชุมชน  คนที่ด้อยทางสังคม  หรือ ไม่สุงสิงกับใคร และมีข้อมูลน้อย จะถูกซื้อเสียงง่ายกว่าคนในชุมชน  ยอมให้ซื้อ  เลือกคนซื้อ อาศัยการชนะเป็นการยกฐานะความรู้สึกที่ดีในชุมชน

11. คนที่มั่นใจในความดีจะแพ้คนซื้อเสียง     ดีด้วยซื้อด้วยโอกาสชนะสูง   ดีแต่ไม่ซื้อ คือการขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนในระยะสั้นนั้น

12. สังคมที่การซื้อเสียงอยู่จะไม่เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง  การเรียนรู้ยังอยู่ในแนวดิ่งอยู่มาก   ยิ่งมีการเรียนรู้ในแนวระนาบเดียวกันมากเท่าใด  ยิ่งลดการซื้อเสียงได้มากเท่านั้น หรือการซื้อเสียงจะลดความสำเร็จ     การใช้เงินจำนวนมาก หรือ การใช้คนทำงานมาก เป็นการเพิ่มความถี่  หรือการตอกย้ำ  สังคมที่เข้มแข็งก็สั่นคลอน อ่อนแอได้เหมือนกัน

13. เงินอาจซื้อไม่ได้หลายคน  แต่ถ้าสังคมที่ยังมีความขัดแย้ง   เหลื่อมล้ำ   อยุติธรรม  การเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันยังน้อยอยู่   เงินยังสามารถซื้อเสียงได้ประสบความสำเร็จเสมอ

14. คนที่ถูกซื้อเสียงจะถูกลดบทบาททางสังคม     จิตใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะลดลง

15. การซื้อเสียงมักทำกันก่อนลงคูหากาบัตร บางทียืนคุมหน้าคูหาด้วย เพราะกระแสแห่งการสะกดจิตยังเข้มอยู่   คนที่กาบัตรตามคำสั่งของหัวคะแนน  เมื่อออกจากคูหาจะมีหน้าตาหม่นหมอง  ซึมเศร้า  ไม่สดชื่น

16. การจ่ายเงินซ้ำ คือ การสะกดจิตซ้ำนั่นเอง ( ค่ำ  เช้า  และ ก่อนเข้าคูหา)

17. คนที่ไม่รักษากฎระเบียบ กติกาทางสังคม จะกล้าซื้อเสียง   คนดีมีศีลธรรมจะไม่กล้าทำผิดกฎหมายด้วยการซื้อเสียง   

18.  เกิดชุมชนที่มีคนจิตอ่อนแอ และคนถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ  อยู่ร่วมกันจำนวนมาก

 

  กฎหมายมีไว้ควบคุมคนดี    แต่มีไว้ให้คนไม่ดีละเมิด  

  คนดีคิดตามกรอบ     คนซื้อเสียงคิดนอกกรอบ

  ข่มคนดีให้เกรง     เปิดโอกาสให้คนกล้าทำผิดได้ละเมิด ได้เปรียบทางการเมือง

 

บุคลิกของผู้ซื้อเสียง

            -  เมื่อรู้สึกว่าจะแพ้ หรือ คะแนนไม่ชนะขาด   ไม่มั่นใจ   จึงปฏิบัติการซื้อเสียง

-  กล้าได้ กล้าเสีย      มีเชื้อนิสัยนักการพนัน    หรือนักเลง   ลุแก่อำนาจ และละเมิดศีลธรรม

        -  ยอมไม่ได้    ไม่ยอมเสียหน้า   กลัวแพ้    กลัวถูกเยาะเย้ย    ไม่มั่นคงในศีลธรรม

            -  พูดคุยเก่ง  เจรจาต่อรองเยี่ยม  แต่จะพูดคุยความดี  ความถูกต้องไม่เต็มเสียงนัก

            - อยากได้  อยากเป็นจริง ๆ  ขยันในการหาเสียง  ทุ่มเททั้งกาย  ใจ  และทรัพย์สิน

            - มองทุกช่องทางเป็นเครื่องมือ เป็นโอกาส เช่น มองวัด และพระสงฆ์ เป็นเพียงกลไกด้วย

            - เข้าหาคนเก่ง  เข้าหาใครเข้าได้ถึงจิตใจคนทีเดียว  กระตุกหรือสะกิดคนตรงกับจริตได้ดี

            -  มักเชื่อมโยงกับฐานอำนาจทางการเมืองระดับชาติที่มีโทสะจริตเป็นฐานจิตใจ

            - มีความหวังอันบรรเจิด  จินตนาการโลดแล่น    คาดคะเนแม่นยำ

คนที่ไม่ซื้อเสียง  ถูกมองอย่างไร  จากบางคน

            คนไม่กล้า     คนไม่เอาจริง    อ่อนต่อโลก     ไม่เป็นมวย      มวยไม่มีกระดูก   ไม่มีทีมงานที่เก่ง   ขาดทีมงานวางแผน

 

ทำไมคนจึงถูกซื้อเสียงได้   เพราะมีสาเหตุต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่าง

-          มีปัญหาทางเศรษฐกิจ  ขาดแคลนมาก  ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพไปวัน ๆ

-          วนเวียนอยู่ในปัญหาที่ซ้ำซาก  ปัญหาปากท้องครอบครัว และอื่น ๆ มากอยู่แล้ว

-          ครอบครัวอ่อนแอ  ประสบปัญหาทางครอบครัว

-          มีจิตอ่อนแอ  ขาดข้อมูล  ขาดวิสัยทัศน์ของชีวิต  จะอาศัยการเข้าข้างฝ่ายชนะปลอบใจตนเอง

-          ขาดโอกาสในพัฒนาทักษะจิตใจ

-          ขาดข้อมูลการพัฒนาชุมชนของตนเอง  โลกทัศน์ไม่กว้าง

-          จำต้องอาศัยผู้ที่มีความคิด ความสามารถ ในการช่วยเหลือในอนาคตอีกมาก

-          มีใจเข้าข้าง  ชอบพอ กับผู้สมัครคนนั้นอยู่แล้ว  หรือเป็นญาติกัน

-          การอยู่คลุกคลี การรับข้อมูลข่าวสาร ทัศนคติฝ่ายที่ซื้อเสียงตลอดต่อเนื่อง

-          มีความขัดแย้งกับอีกคนที่เลือกอีกฝ่าย

-          ฯลฯ

 

เมื่อคนที่ซื้อเสียง  ได้รับเสียงส่วนมาก  ก็ได้การรับรองจากกฎหมาย ต่อเนื่องถึง สังคม  ชุมชน  ประเพณี และ วัฒนธรรม   เรียกว่า  ผู้ชนะ      กฎหมายก็กดทับสังคมไว้ให้ยอมรับความไม่ถูกต้องต่อไป

                         

เมื่อคนซื้อเสียงชนะ คือ  ชัยชนะแห่งความอยุติธรรมในชุมชน      ชุมชนตกอยู่ในสภาพขาดทำนองคลองธรรม      จิตใจผู้คนตกต่ำ     ทำลายสุขภาพจิตชุมชน

            - ผู้ชนะย่อมยิ้มแย้ม     ผู้แพ้ย่อมรู้สึกว่าถูกเยาะเย้ย 

- ผู้ชนะย่อมคุยสำทับ (จิตกระด้าง)  อวดความรู้ความสามารถ ความฉลาดและความเก่ง

- กลุ่มคนที่ชนะจะรวมกลุ่มได้ดี  คุยเสียงดัง   ฝ่ายแพ้จะแยกย้ายกันไม่กล้ารวมตัว 

- ฝ่ายแพ้ที่เคยรวมกลุ่มกันมาแต่ก่อน  เกิดสภาพถูกแยกแตกเป็นเสี่ยง

- ฝ่ายชนะจึงกระหยิ่ม    ฝ่ายแพ้รู้สึกถูกกดทับ และฝังใจว่าคนในชุมชนไม่จริงใจต่อกัน หรือจริงใจต่อความดี ความถูกต้อง

- ฝ่ายแพ้จะรู้สึกต่ำต้อย (จิตอ่อนแอ)  ติตนเอง  ว่าขาดศักยภาพทางความคิด  คิดผิด  จึงหลบหน้า  หลบงานชุมชน

            - ชุมชนขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน   ผลการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม แบ่งกลุ่มคน

        - ผู้นำที่มาจากการซื้อเสียงจะคิดดี พูดดี ได้ไม่สุด  ทัศนคติไม่คมชัด  หลักคิดเชิงศีลธรรมอ่อนแอ

            - สังคมแห่งการเรียนรู้ในระนาบเดียวกันจะเกิดขึ้นยากมาก

        - เกิดองค์ความรู้  ความเข้าใจ การตีประเด็น และทัศนคติที่ผิด ๆ ตามกันมาเป็นลูกโซ่

ฯลฯ

สังคมการเมืองแบบไทย ๆ

-          มีอารมณ์เป็นตัวนำ  มากกว่าเหตุผล

-          มีเรื่องชื่อเสียง  หน้าตามากกว่าความถูกต้อง

-          มีเรื่องความสุข ทุกข์ทางใจเป็นตัวสำคัญกำหนดพฤติกรรม

 

แนวทางแก้ไข

- จัดทำโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เครือข่ายคน ครอบครัว ชุมชน ไม่เลือกคนซื้อขายเสียง

- จัดทำโครงการครอบครัวเข้มแข็งเลือกคนไม่ซื้อเสียง โดยสภาองค์กรชุมชนตำบล.....

 

เข้าท่าดี  มีเหตุ  มีผลนะท่าน ลงเป็นบทความทางหนังสือพิมพ์ด้วย แต่ปรับเพิ่มทางแนะแก้เชิงพุทธเข้าไปอีกนิด ตอนใกล้ๆ จะจบ (ขมวดประเด็น) รับรองมีประโยชน์ต่อสาธารณชนนะครับ

พระสมุห์เสรี  จนฺทวํโส  7 ก.ย. 52

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาวีระ

           ผมได้อ่านบันทึกความเห็นเรื่องการฃื้อเสียง ขายสิทธิ์ ของพระคุณเจ้าแล้วครับ ก็รับทราบ และเข้าใจความเป็นจริงในลักษณะนี้ ผมมีข้อคิดบางประการดังนี้ครับ

          1) ก็ยังคงเคารพนับถือน้ำจิตน้ำใจ ภูมิรู้ ภูมิธรรมของพระคุณเจ้า ผู้รักชาติ รักประชาชน เห็นกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเสมอ  นึกถึงพระคุณเจ้าก็มีกำลังใจอย่างดีทุกที

         2) ความเป็นจริงทางการเมืองในระดับต่างๆในยุคเศรษฐกิจนิยมเงินเพื่อการบริโภควัตถุคงเป็นในลักษณะนี้อีกระยะหนึ่งนะครับ และอาจมีแนวโน้มมากขึ้นก็เป็นได้สำหรับคนจำนวนมากในสังคม

         3) อย่างไรก็ตาม คนจำนวนน้อยที่มีการรวมกลุ่มกัน เป็นเครือข่ายความร่วมมือ และเครือข่ายการเรียนรู้กันก็จะมีความเหนียวแน่น ร่วมไม้ร่วมมือที่เป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น โดยใช้เงื่อนไขปัจจัยความเป็นจริงทางสังคม และการเมืองที่ดำรงอยู่จริงเป็นปัจจัยการเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของชนกลุ่มน้อยนี้ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สังคมหมู่มากได้เช่นเดียวกัน

        4)ปฏิบัติการที่พระอาจารย์ทำอยู่ กับกลุ่มงานประเด็นสร้างสรรค์ที่กำลังดำเนินไป เครือข่ายกัลยาณมิตรที่มีเวทีต่อเนื่อง กับการหยิบยกประเด็นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็เป็นสาระเพื่อการเรียนรู้ที่สร้างสติปัญญาได้ดีตามสมควรนะครับ

        5)อย่างไรก็ตามธรรมะของพระพุทธเจ้า และหลักธรรมของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ยังจะต้องช่วยแลกเปลี่ยนและเติมเต็มให้กับปุถุชนในกลุ่ม และเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพระเมื่อมีธรรมะกำกับความรู้ ความเห็น  สิ่งที่ดีงามจึงจะเติบโต สร้างสรรค์ และเบิกบานได้  และการเปลี่ยนแปลงอันสร้างสรรค์กับบุคคล มีความหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมในทันทีทันใดเช่นเดียวกัน

        6) สุดท้าย"การสร้างเสริมวัด-เป็นศูนย์เรียนรู้พัฒนาชีวิต( เศรษฐกิจพอเพียง) และการเอื้ออำนวยสถานที่ในการพัฒนาจิตใจอันสงบสุขและการฝึกสมาธิปัญญา "  ยังเป็นความมุ่งหวังที่ท้าทายอยู่นะครับ ( น่าสนใจใฝ่ทำ จริงๆนะครับ)
                                                                                   จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                                                               นายประสิทธิ์    มากวงศ์ 7 ก.ย. 52

4 ปีหลังจากวันนี้....เป็นทีของเขาแล้ว.....ไม่รู้ประชาชนจะคิดอะไรได้บ้างนะคะ...เงินที่เขาจ่ายให้..ใช้วันสองวันก็หมด...แต่เสียงที่ให้เขา...4  ปีนี้...ตำบลนั้นๆ จะเป็นไปอย่างไร?

ขอบพระคุณงานเขียนที่อธิบายปรากฏการณ์แจ่มชัดค่ะ......

พิมพ์มณี   สคล.    8 ก.ย. 52

มุมมองที่ไม่แตกต่างจากคนอื่นนักของ พระอธิการช่วง  ฐิตโสภโณ

๑.      เมื่อเงินมีคุณอนันต์ ตรงกันข้ามก็มีโทษมหันต์เหมือนกัน  จะลงโทษวัตถุที่ไม่มีวิญญาณก็ไม่ได้ เงินจึงไม่ใช่ตัวปัญหาที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก

๒.    การเรียงลำดับปัญหาได้ถูกต้องและชัดเจนน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม

  • ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วว่าคือวิกฤต ที่เป็นแบบฝึกหัดอันหนักของผู้รับผิดชอบต่อสังคมระดับล่างไปถึงบนของในปัจจุบัน
  • ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เน้นข้อมูลความรู้มากมาย  แต่เน้นกิจกรรมที่ฝังไปถึงความรู้สึกจริงๆ
  • อธิบายเรื่องบุญคุณและนรกสวรรค์ ให้คนรุ่นเก่าและใหม่เข้าใจจริงๆ รวมไปถึงวิธีป้องกัน
  • มีการทำสัญญาประชาคมที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันว่าจะไม่ซื้อสิทธิ์และขายเสียงรวมทั้งกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน เช่น  
    • เมื่อถูกจับได้ คุณต้องทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคมทางใดทางหนึ่งเช่น บวชหรือ ถือศีลแปดตลอดระยะเวลา ๕ ปีหรือบวช 2 พรรษา อะไรประมาณนี้ (บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น) ใช้การบำบัด แก้ไข
    • ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นการจับตัวประกันไว้เพื่อไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เช่น.......(อันนี้ยังคิดไม่ออก)

๓.     การหาแนวทางใหม่ และการจัดการกับระบบความคิดเดิมต้องมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เช่น

  1. จัดตั้งองค์กรอิสระที่คอยดูแลผลักดัน กกต. อีกชั้นหนึ่ง
  2. บทลงโทษน่าจะเอาระบบของทหารมาใช้ เช่น ผิดหนึ่งก็ผิดหมด
  3. ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เข้าใจเพื่อให้รู้เส้นแบ่งอยู่ตรงไหนระหว่างเรื่องจริยธรรมมนุษย์กับหลักสิทธิมนุษยชน

ประวัติศาสตร์ที่เห็นได้กับตาได้ฟังกับหู รู้ด้วยตัวเองก็คือ ผู้ว่า......ปราบโจรก็ใช้วิธีเดียวกับสมัยปราบยาบ้าและผู้มีอิทธิพล  เมื่อสังคมไม่ยอมรับวิธีการแบบนี้เราเองก็ต้องยอมรับชะตากรรมแบบนักบวชที่นั่งหลับตาเพื่อไปนิพพานเท่านั้นหรือครับ ?

8 ก.ย. 52

 ช่วยส่งให้ได้มากที่สุดจะเกิดประโยชน์มากครับ  สนับสนุนแนวคิดครับ
 ปรีชา  แสนรตชัตน์  0856447626  ( ร้อยเอ็ด)

8 ก.ย. 52

 ขอชื่นชมในความพากเพียรเพื่อยังให้สังคมร่มเย็น มีสติเชิงพุทธวิธีในการดำเนินชีวิต  ภายใต้ที่สังคมยอมรับว่า "การเมือง" คือปัจจัยนำ แต่พฤติกรรมทางการเมืองทั้งของนักการเมืองและผู้มีส่วนทั้งหมด ลืมความจริงแท้ของชีวิต ว่าต้องเวียนว่ายในวัฏสงสาร  ตามกฎเกณฑ์ที่ใครๆ ต้องได้รับอย่างแน่นอน คือ "กฎแห่งกรรม" ซึ่งเป็นกฎที่มีความทันสมัยอยู่เสมอไว้มีโอกาสจะได้นำเสนอ "ความต้องการถือเงินกับความต้องการทำบุญ"  ด้วยเงื่อนไขคล้ายคลึงกันแต่ลึกซึ้งแตกต่างกันเพื่อเตือนสติในการพิจารณาตัดสินเลือกกระทำหรือไม่กระทำในพฤติกรรม

"ขอให้มั่นในสมาธิและเจริญด้วยสติปัญญานะครับ"

 พระสมุห์เสรี  จนฺทวํโส

๙ สิงหาคม  ๒๕๕๒

 กราบขอบพระคุณครับ   ผมดำเนินการให้แล้วครับในส่วนของผมที่อยู่ในเครือข่าย
ปรีชา  แสนรัตน์ 
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าร้อยเอ็ด

คำสำคัญ (Tags): #การเลือกตั้ง
หมายเลขบันทึก: 302312เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เขาทุ่มซื้อเสียง เมื่อเป็นผู้นำก็หมดแรงที่จะทุ่มเทใจรับใช้ประชาชน

ฉันจะรณรงค์ต่อต้านการซื้อเสียง เปิดตัวอย่างชัดเจนผ่าไอทีนี้

วัฒนธรรมแบบไทย ๆ เมื่อใครได้ดีก็พลอยดีใจด้วย หลักธรรมก็คือ มุทิตา นั่นเอง

แต่การใช้จิตมุทิตาที่ถูกธรรม คือ พลอยยินดีเมื่อเขาทำความดี หรือสำเร็จความดีด้วยการทำดีอย่างถูกดี

แต่การเลือกตั้งเป็นการต่อสู้กัน ช่วงชิงกัน ไม่น่าจัดว่าเป็นการทำความดีร่วมกัน หรือแข่งกันทำความดี

ด้วยความไม่ชัดเจนในหลักธรรม มุทิตาจิตถูกนำไปใช้กับการพลอยยินดีกับฝ่ายชนะ

เช่น การมอบดอกไม้ การผูกแขน การเรียกขวัญ การประกาศยกย่อง หรือรูปแบบต่าง ๆ ที่เขาทำกัน

แต่ต้องขอลงโทษกติกาทางกฎหมายก่อนที่ไปรับรองการเลือกตั้งนั้นก่อน

ทำให้ชุมชนต้องคล้อยใช้วัฒนธรรมแบบไทย ๆ รับรองความผิดนั้นต่อไป

กฎหมายที่พิการ ทำให้วัฒนธรรมพิกรด้วย

การเขียนกฎหมายหรือวิธีการเข้าสู่การเมืองที่วัดการแพ้ชนะ ด้วยการนับคะแนนเสียง

เป็นกระบวนการฝ่าด่านแห่งความยากลำบาก เมื่อการเข้าสู่การเมืองที่ยาก ก็จะออกยากเช่นกัน

ทำอย่างไรการเข้าสู่การเมืองจะเป็นเรื่องง่าย ๆ การออกจาการเมืองก็จะง่าย ๆ เช่นกัน

คนจะไม่ต้องยึดติดกับตำแหน่งนัก

เชื่อไหมว่า การเลือกตั้ง คือ การสัมปทานอำนาจ เพื่อเข้าไปใช้สิทธิ์ในการจัดการงบประมาณ

ถ้าสิทธิในการจัดการงบประมาณเป็นของชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน คนก็จะลดการสัมปทานอำนาจ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

คำว่ากฏหมาย เคยฟังหนังตะลุง คณะอะไรจำไม่ได้เสียแล้วเพราะนานมาแล้วเอามาอธิยายให้เห็นแง่ขำ ๆ ว่า กฏ ก็คือ กดเข้าไว้ ข่มไว้ ไม่ให้เงยหน้า อ้าปาก หมายก็คือ หมายหัวไว้ หมายปอง(ร้าย)ไว้ ไม่ใช่หมายเหตุ ถ้าหมายเหตุละก็ดีหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท