รัฐสภา: สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา


"รัฐสภาไทย" มีสภาเดียวหรือมีสองสภาเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยจะต้องร่วมกันคิดว่าอย่างไรจึงจะเป็นผลดีและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด

ในอันดับต่อมา ก็ได้ถึงเรื่องของรัฐสภาไทย ซักที เป็นแผ่นพับฉบับที่สอง ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับเอกสารเผยแพร่ชุดนี้

รัฐสภา: สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

"รัฐสภา" ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่หลักในการออกกฎหมายของประเทศ กำกับดูแลและควบคุมรัฐบาลให้บริหารประเทศโดยรับผิดชอบและสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน เป็นที่สะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบแก้ไข

รัฐสภาในประเทศประชาธิปไตยอาจมีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร หรืออาจมีสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ประเทศประชาธิปไตยประเทศใดจะมีสภาเดียวหรือมีสองสภานั้น ขึ้นอยู่กับ ความจำเป็นและเหตุผลของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะมีกี่สภาก็ตาม สภาที่ถือว่าสำคัญที่สุด คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สภาล่าง" โดยสภาผู้แทนราษฎรนี้จะประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ถือว่า เป็นสภาที่มีสมาชิกที่เป็น "ตัวแทน" หรือเป็น "ผู้แทน" ของประชาชนโดยตรง

ประเทศที่มีการปกครองในระบบประชาธิปไตยมี "รูปแบบหรือระบบการปกครอง" ใหญ่ๆ อยู่ 3 รูปแบบ หรือ 3 ระบบ คือ ในรูปแบบหรือระบบรัฐสภาที่มีประเทศอังกฤษเป็นต้นกำเนิด โดยประเทศไทยของเราก็กำลังพัฒนาการปกครองประชาธิปไตยในรูปแบบนี้ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบหรือระบบประธานาธิบดีที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นกำเนิด และรูปแบบหรือระบบผสมกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีที่มีประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นกำเนิด

สภาผู้แทนราษฎรในประเทศประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้นมีหน้าที่จัดตั้งและถอดถอนรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหลายด้วย

ประเทศประชาธิปไตยที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ ส่วนใหญ่มีการปกครองในระบบรัฐสภา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหลายประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น  บางประเทศมีวุฒิสภาซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สภาสูง" และอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น อังกฤษเรียก สภาขุนนาง ญี่ปุ่นเรียก สภาของที่ปรึกษา  อินเดียเรียก  ราชสภา  ออสเตรเลียเรียก สภาเซเนท  เป็นต้น

"วุฒิสภา" โดยทั่วไปจะทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น "พี่เลี้ยง" ของสภาผู้แทนราษฎร โดยคอยตรวจสอบและกลั่นกรองร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม ส่วนวุฒิสภาในประเทศที่เป็นรัฐรวม เช่น อินเดีย หรือ ออสเตรเลีย ก็มักจะเพิ่มหน้าที่คอยคุ้มครองผลประโยชน์ของแต่ละมลรัฐให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างมลรัฐทั้งหลายด้วยกัน

สมาชิกวุฒิสภานั้นมีที่มาแตกต่างกันออกไป เช่น อาจมาจากการแต่งตั้งและสืบสายโลหิตจากคนชั้นสูง  เช่น สภาขุนนางของอังกฤษ หรือมาจากการเลือกตั้งอย่างในออสเตรเลียหรือในญี่ปุ่น  แต่ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือจากการเลือกตั้งก็ตาม สมาชิกวุฒิสภามักจะมีคุณสมบัติทางอายุ การศึกษาหรือมีประสบการณ์สูงพอสมควรที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเป็น "พี่เลี้ยง" ได้ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วสมาชิกวุฒิสภาจะมีอำนาจหน้าที่น้อยกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่บ้าง  ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ของไทยบ้างก็กำหนดให้รัฐสภามีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร บ้างก็กำหนดให้รัฐสภามีสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยทั่วไปจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น  ส่วนสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์  โดยการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี  (ยกเว้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 วุฒิสภาเรียกว่า "พฤฒสภา" ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม)  รัฐธรรมนูญไทยที่กำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2490  ฉบับ พ.ศ. 2492  ฉบับ พ.ศ. 2511  ฉบับ พ.ศ. 2517  ฉบับ พ.ศ. 2521  และฉบับ พ.ศ. 2534  ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน(ที่จัดทำเอกสารเผยแพร่ชิ้นนี้) ซึ่งแม้จะแก้ไขเพิ่มเติมอย่างมากเมื่อ พ.ศ. 2538 ก็ยังกำหนดให้มีสองสภาอยู่เช่นเดิม (เอกสารเผยแพร่ฉบับนี้พิมพ์ก่อน พ.ศ. 2540 ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กำหนดสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดจำนวนตามจังหวัดที่มีอยู่ของประเทศไทย ทั้ง 76 จังหวัด และ 1 เมืองหลวงคือ กรุงเทพมหานคร)

การจะกำหนดให้ "รัฐสภาไทย" มีสภาเดียวหรือมีสองสภาเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยจะต้องร่วมกันคิดว่าอย่างไรจึงจะเป็นผลดีและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด

แต่ไม่ว่าจะมีกี่สภาก็ตาม "รัฐสภา" ก็จะต้องเป็นสถาบันการเมืองการปกครองที่ประชาชนคนไทยทั้งชาติจะต้องช่วยกันกำหนด และช่วยกันเลือกตั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบุคคลที่มีคุณภาพมีคุณธรรมมีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติให้ดีที่สุด  เพื่อความสุขความเจริญและความก้าวหน้าพัฒนาสถาพรร่วมกัน

ขอขอบคุณการเรียบเรียงโดย  รองศาสตราจารย์วิสุทธิ์  โพธิ์แท่น

จัดทำโดย อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

หมายเลขบันทึก: 302164เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2012 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  1. ขอบคุณมากเลยค่ะเป็นประโยชน์มาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท