วิชาพุทธประวัติ ปริเฉทที่ ๗ ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา


ครั้งนั้น มีบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อว่า “ยสกุลบุตร” เห็นอาการต่างๆ ของบริวารที่กำลังนอนหลับอยู่ ปรากฏดุจซากศพในป่าช้า เกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย จึงอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” พร้อมกับเดินออกจากปราสาท ตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมในที่แจ้งได้ยินเสียงยสกุลบุตรอุทานอย่างนั้น จึงตรัสเรียกว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญท่านมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน” ยสกุลบุตรได้ยินดังนั้น จึงถอดรองเท้า เข้าไปใกล้ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่อันควร 

          พระองค์ตรัสอนุปุพพีกถา เพื่อฟอกจิตของยสกุลบุตรให้ห่างไกลจากกาม แล้วตรัสอริยสัจ ๔ ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ที่นั่นเอง

          ฝ่ายมารดายสกุลบุตร ไม่เห็นลูกชายแต่เช้า จึงบอกเศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ เศรษฐีให้คนออกตามหา ส่วนตัวเศรษฐีเองก็ออกตามหา โดยเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าลูกชายวางอยู่จึงเดินเข้าไป ได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วน
ยสกุลบุตรพิจารณาธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแก่บิดาของตนอีกครั้งหนึ่ง จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่

 

ปฐมอุบาสก (เตวาจิกอุบาสก)

           ฝ่ายเศรษฐีเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วก็แสดงตนเป็นอุบาสก ถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก จึงเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นคนแรกในพระพุทธศาสนา (เรียกว่า เตวาจิกอุบาสก)

          เศรษฐีเห็นยสกุลบุตรจึงบอกว่ามารดาเป็นห่วง  พระศาสดาจึงตรัสว่า ยสะ บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว   เศรษฐีจึงพูดว่า ดีแล้ว เป็นลาภของยสะแล้ว เศรษฐีทูลเชิญเสด็จพระศาสดากับยสกุลบุตรเพื่อทรงรับภัตตาหารเช้า

          เมื่อเศรษฐีไปแล้ว ยสะได้ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาต ด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” ในที่นี้ไม่ตรัสว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว  วิธีอุปสมบทแบบนี้ก็เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เหมือนกัน

 

ปฐมอุบาสิกา

          เช้าวันนั้น พระศาสดาพร้อมด้วยพระยสะไปถึงเรือนเศรษฐี มารดาและภรรยาเก่าพระยสะเข้าเฝ้า พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ สตรีทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สตรีทั้งสองจึงเป็นอุบาสิกาก่อนหญิงใดในโลก หลังเสร็จภัตตกิจ พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่คนทั้งสามให้สมาทาน อาจหาญ รื่นเริงแล้ว จึงเสด็จกลับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

          เพื่อนพระยสะ ๔ คน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ทราบข่าวจึงไปหาพระยสะ พระยสะจึงพาไปเข้าเฝ้าพระศาสดา พระองค์ทรงสั่งสอนให้ได้เห็นธรรมแล้วประทานอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทำให้มีพระอรหันต์ในขณะนั้นเกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์

          ฝ่ายสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน เป็นชาวชนบท ทราบข่าวพากันมาบวชฟังธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา รวมมีพระอรหันต์ ๖๑ องค์

 

ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา

เมื่อฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้ว พระศาสดาตรัสเรียกสาวกทั้ง ๖๐ องค์มาพร้อมกัน แล้วตรัสว่า “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย...”

          พระสาวกเที่ยวไปประกาศศาสนาตามที่ต่างๆ ได้มีกุลบุตรเกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะอุปสมบทมากมาย สร้างความลำบากแก่พระสาวกที่ต้องพากุลบุตรเหล่านั้นมาทูลขออุปสมบทด้วยระยะทางลำบากและกันดาร พระศาสดาทรงทราบถึงความลำบากนั้น จึงทรงอนุญาตพระสาวกให้ทำการอุปสมบทแก่กุลบุตรเหล่านั้นด้วยตัวเอง โดยให้กุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด นั่งกระหย่งประนมมือ ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วสอนให้ว่าตามว่า “ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ” ดังนี้ วิธีการอุปสมบทเช่นนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา

 

โปรดภัททวัคคีย์

ระหว่างทางเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธองค์ได้ทรงแวะเข้าไปพักอยู่ในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง  สมัยนั้น ได้มีสหาย ๓๐ คน (ภัททวัคคีย์) ได้พาภรรยามาเที่ยวเล่นอยู่ในที่ไม่ไกลจากนั้น สหายผู้หนึ่งไม่มีภรรยา จึงพาเอาหญิงแพศยามาเป็นเพื่อน พอคนเหล่านั้นเผลอ หญิงแพศยาได้ลักเครื่องประดับแล้วหนีไป สหายเหล่านั้นตามหาไปพบพระพุทธองค์เข้า จึงทูลถามว่าทรงเห็นหญิงคนนั้นผ่านมาทางนี้หรือไม่ พระองค์จึงตรัสถามกลับไปว่า “เธอทั้งหลายจะแสวงหาผู้หญิงคนนั้น หรือจะแสวงหาตนเองดี” ภัททวัคคีย์ทูลว่าแสวงหาตนเองดีกว่า พระองค์จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ คนได้ดวงตาเห็นธรรม พระองค์ทรงประทานอุปสมบทให้และส่งไปทิศต่างๆ เพื่อประกาศพระศาสนา ภิกษุภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูปได้ไปยังเมืองปาวา แคว้นมัลละ ได้อาศัยอยู่ที่นั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปาวายภิกษุ” ภายหลังได้กลับมาเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเชตวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ “อนมตัคคสูตร” จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด

 

โปรดชฎิล พี่น้อง

          พระองค์เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมซึ่งเป็นที่อยู่ของชฎิลชื่อ อุรุเวลกัสสปะ พระองค์ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าลัทธิที่
อุรุเวลกัสสปะปฏิบัติอยู่นั้นไม่มีแก่นสาร จนกระทั่งอุรุเวลกัสสปะสลดใจ พร้อมบริวาร ๕๐๐ คน ลอยชฎาและบริขารเครื่องใช้ลงในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็ประทานอุปสมบทให้

          นทีกัสสปะ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมา คิดว่าคงเกิดอันตรายขึ้นกับพี่ชาย จึงรีบไปหา เห็นพี่ชายพร้อมบริวารถือเพศเป็นภิกษุ ทราบว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐนัก จึงพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ คน ทูลขออุปสมบทกับพระศาสดา

          คยากัสสปะ เห็นบริขารของพี่ชายทั้งสองพร้อมทั้งบริวารลอยมา คิดว่าคงเกิดอันตรายกับพี่แน่ จึงรีบไปหา เห็นพี่ชายทั้งสองถือเพศเป็นภิกษุแล้ว ทราบว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐนัก จึงพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ คน ทูลขออุปสมบทกับพระศาสดา

          พระองค์เสด็จอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตามสมควร ก็พร้อมด้วยบริวารเสด็จไปยังตำบลคยาสีสะ  ประทับ ณ ที่นั้น ทรงแสดงธรรมเทศนาชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร มีใจความย่อว่า อายตนะภายใน* อายตนะภายนอก** เป็นของร้อน ร้อนเพราะถูกเพลิงกิเลส คือ ราคะ  โทสะ โมหะ   และเพลิงทุกข์คือชาติชรามรณะ เป็นต้น เผาไหม้อยู่ ทั้งนี้ เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของพวกเขาที่เคยเป็นชฎิลซึ่งนิยมการบูชาไฟ  จบพระธรรมเทศนา ภิกษุทั้ง ๑,๐๐๓ รูป สำเร็จเป็นพระอรหันต์

 

 


*   อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  เรียกว่า อินทรีย์ ๖

**  อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์  เรียกว่า อารมณ์ ๖

หมายเลขบันทึก: 302109เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการพระคุณเจ้า

มาขอความรู้เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท