แนวทางจัดทำผลงานทางวิชาการเชี่ยวชาญ


หากคุณแหงนหน้าหวังคว้าดาว แม้นไม่ได้ดวงดาวที่ฝันใฝ่ แต่แน่ไซร้คุณไม่ได้ดิน เด็กได้ โรงเรียนได้ เพื่อนร่วมงานได้ ก็สุขใจจากการทำงาน

ศึกษาดูงานที่จีน 22 -25 มิถุนายน 2552
ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ
เบื้องหลังสัญลักษณ์กรุงปักกิ่งครับ

ผู้เขียนสืบค้นเอกสารเกี่ยวกับแนวทางการทำผลงานทางวิชาการเชี่ยวชาญ
สำหรับท่านที่คิดกำลังจะทำ หรือทำแล้วจะได้ปรับปรุงงาน
เป็นงานเขียนของ.........

ดร. อกนิษฐ์   คลังแสง

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา 

เอกสารประกอบการประชุมชี้แจงกรอบแนวทางการเลื่อนสู่วิทยะฐานะของ

ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษาธิการสัญจร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดขอนแก่น 21 มีนาคม 2549

 

ความหมายของผลงานทางวิชาการ 

                                ผลงานทางวิชาการ หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่จัดทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ โดยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย และได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานในหน้าที่จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

ขอบข่ายของผลงานทางวิชาการ 

    1.  ผลงานทางวิชาการของสายงานการสอน หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการสอนที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ รวมถึงผลงานในลักษณะอื่น ซึ่งใช้ประโยชน์ในการสอนหรือการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี  โดยมีลักษณะดังนี้

       1)  ตรงกับสาขาวิชาที่ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ

       2)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

      3)  เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน

  2.  ผลงานทางวิชาการของสายงานบริหารสถานศึกษา หมายถึงเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา ที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ในการบริหารสถานศึกษา หรือจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อดังนี้

     1)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา ได้แก่ ด้านวิชาการ บริหารแผนและงบประมาณบริหารงานบุคคลและด้านการบริหารทั่วไป เช่นกิจการนักศึกษา  ชุมชน  อาคารสถานที่  การเงิน  และพัสดุ เป็นต้น

     2)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ  เช่น วิชาสามัญ  วิชาชีพต่าง ๆ ทางช่างยนต์  คหกรรม  เกษตรกรรม และพณิชยกรรม เป็นต้น

   3.  ผลงานทางวิชาการของสายงานบริหารการศึกษา หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษา การพัฒนางานด้านวิชาการ การบริหารแผนและงบประมาณ  การบริหารงานบุคคล  การเงินและทรัพย์สิน  การบริหารทั่วไป และงานประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

                                4.  ผลงานทางวิชาการของสายงานนิเทศการศึกษา  หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการนิเทศการเรียนการสอน การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและพัฒนาเทคนิค  วิธีการนิเทศ การศึกษาที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ประเภทผลงานทางวิชาการ 

       ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอต้องแสดงถึงความรู้  ความสามารถ  ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แบ่งตามลักษณะของผลงานทางวิชาการเป็น 3 ประเภท ดังนี้

      1.  ผลงาน  งานแต่งเรียบเรียง งานแปล หนังสือหรือเขียนบทความทางวิชาการซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

     2.  ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่แล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

     3.  ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๆ เช่น

       3.1  การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานใหน้าที่

       3.2  สื่อ  นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบ นวัตรกรรมที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น  ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

      3.3  เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นเอกสารที่สามารถใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการเรียนการสอน  บริหารจัดการศึกษาและการนิเทศการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น  สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพปฏิบัติงานเท่านั้น  มิให้นำมาใช้เสนอเป็นผลงานทางวิชาการ

      ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอมิได้จัดทำแต่ผู้เดียว แต่ผลงานทางวิชาการได้ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าผู้ขอมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม     และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกรายรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้จัดทำส่วนใดบ้างทั้งนี้ ผลงานทางวิชาการดังกล่าวต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรใด ๆ หรือผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

ลักษณะสำคัญของการจัดทำผลงานทางวิชาการ 

  ประกอบด้วยด้านคุณภาพและประโยชน์ผลงานทางวิชาการดังนี้

 1.  ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ 

     1.1  รูปแบบ ผลงานทางวิชาการต้องมีรูปแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่นผลงานประเภทงานวิจัย จะต้องถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย บทเรียนสำเร็จรูป ต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของบทเรียนสำเร็จรูปประเภทนั้น ๆ รายงานการประเมินโครงการต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของรายงานการประเมินโครงการ และรายงานการพัฒนา นวัตรกรรมต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของการรายงาน

 

    1.2  เนื้อหาสาระ ผลงานทางวิชาการต้องมีเนื้อหาสาระถูกต้องตามหลักวิชาครบถ้วน  ทันสมัย มีการค้นคว้าอ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้ เรียบเรียงเนื้อหาได้ถูกต้องตามหลักภาษา และจัดเรียงหัวข้อเนื้อหาเป็นระบบเดียวกัน

   1.3  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ผลงานทางวิชาการต้องมีส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระและมีรูปแบบใหม่  ไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

    1.4  การอ้างอิง  ผลงานทางวิชาการที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารต่าง ๆ ต้องมีการอ้างอิงจัดทำเชิงอรรถ  บรรณานุกรมได้ถูกต้องและเป็นรูปแบบเดียวกัน

   1.5  การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม ผลงานทางวิชาการต้องมีการจัดพิมพ์ในสวยงามและถูกต้องตามหลักวิชาการ  เช่นการพิมพ์หัวข้อ  การย่อหน้า  การจัดพิมพ์ตรายาง  การพิมพ์เชิงอรรถ  บรรณานุกรม  การจัดทำรูปเล่มถูกต้อง มีปกหน้า  ปกหลัง  ใบรองปก  หน้าปกใน  คำนำ  สารบัญ  บรรณานุกรม ภาคผนวก เป็นต้น

2.  ด้านประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ 

   ผลงานทางวิชาการควรแสดงให้เห็นถึงการจัดทำ การทดลองใช้ การนำไปใช้จริง องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นและผลจากการนำไปใช้ว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่จัดทำด้วย

 แนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการ 

    ประกอบด้วยด้านคุณภาพ  และประโยชน์ของผลงานทางวิชาการดังนี้ 

  1.  ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ 

     1.1  ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ  พิจารณาจาก  ความถูกต้อง เหมาะสม ครบถ้วนตามหลักวิชาการและทันสมัย มีการค้นคว้า อ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้และเรียบเรียงเนื้อหาได้ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษา จัดเรียงหัวข้อเนื้อหาเป็นระบบเดียวกัน

    1.2  ความถูกต้องตามหลักวิชาการ  พิจารณาจาก  รูปแบบ ขั้นตอนในการนำเสนอต้องถูกต้องตามหลักวิชาการของผลงานประเภทนั้น ๆ

    1.3  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  พิจารณาจาก  การแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ผลงานใหม่ หรือเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดนวัตรกรรมและผลงานนั้นมีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา

 

2.  ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ

  2.1  ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ  พิจารณาจาก เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ สามารถเป็นแบบอย่างใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นแบบในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

 2.2  ประโยชน์ต่อผู้เรียน  ครู บุคลากรทางการศึกษา หน่วยงานการศึกษา การจัดการศึกษา และชุมชน  พิจารณาจาก ผลที่ปรากฏต่อผู้เรียน  ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษาและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.3  การเผยแพร่ในวงวิชาการ  พิจารณาจาก  มีการนำผลงานไปเผยแพร่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์ในรายงานประจำปี  เอกสาร  วารสาร  การนำเสนอต่อที่ประชุม  การจัดนิทรรศการ  การเผยแพร่ทางวิทยุ  โทรทัศน์  หรือ  Web Site

องค์ประกอบและเกณฑ์การให้คะแนน

  การประเมินผลงานทางวิชาการ มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน  โดยมีองค์ประกอบและเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้

    1.  คุณภาพของผลงานทางวิชาการ  (50  คะแนน)

       1.1  ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ                                  20           คะแนน

       1.2  ความถูกต้องตามหลักวิชาการ                                  15           คะแนน

       1.3  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์                                         10           คะแนน

       1.4  การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม                                   5           คะแนน

   2.  ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ  (50  คะแนน)

       2.1  ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ        15           คะแนน

       2.2  ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา

             การจัดการศึกษา หน่วยงานการศึกษาและชุมชน           25           คะแนน

       2.3  การเผยแพร่ในวงวิชาการ                                       10           คะแนน

 

เกณฑ์การตัดสิน

 

 

องค์ประกอบ

วิทยฐานะ

ชำนาญการพิเศษ

เชี่ยวชาญ

เชี่ยวชาญพิเศษ

ด้านผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่

70 %

75 %

80 %

ท่านใดคิดจะทำผลงานด้วยตนเอง ผมคิดว่าท่านจะได้แน่นออนครับ อย่างน้อยประสบการณ์ในการวิจัย ถ้าผลงานผ่านได้รับอนุมัติคือกำไรจากการทำงานที่ทุ่มของเรา เราได้ ผู้เรียนได้ โรงเรียนได้ เพื่อนร่วมงานได้ ขอเพียงท่านทำเพื่อเด็กอย่างจริงจัง งานของเรามีเป้าหมายอยู่ที่เด็กครับ "อันของสูงแม้นปองต้องจิตม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ

ขอคุณแหล่งที่มา

                          ดร. อกนิษฐ์   คลังแสง
            ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 301543เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (42)

สวัสดีค่ะ ท่านผอ.

  • ครูอ้อย กำลังจะส่งผลงานเชี่ยวชาญ ระหว่าง การคัดกรองค่ะ
  • ไม่หวังอะไรล่ะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

เรียนครูอ้อย

ผมว่าครูอ้อยเข้าเกณฑ์หมด โหงวเฮ้งก็ให้ วัยก็พอเหมาะ ความสามารถก็เหมาะสม รออย่างเดียวโชควาสนา ผมก็เริ่มเตรียมงาน

เพราะเวลายังขาด 2 ปี ที่โรงเรียนใหม่ครับ เล่าให้ฟังบ้างครับทำยังไงบ้าง ทำเพื่อเด็กด้วยเราจึงจะได้รับการยอมรับ

ผมเชื่อครูอ้อยทุ่มเทเพื่องานเต็มร้อยครับ

ขอบคุณหนานเกียรติครับ มี่แวะมาเยี่ยมครับ ท่านมีคำคมก็นำมาฝากผมด้วยครับ

มาติดตามเรื่องการทำผลงานด้วยค่ะ..ท่านช่วยเล่าให้ฟังบ้างค่ะจะเก็บข้อมูล..ค่ะ

ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ...คือ การถูกนำมาใช้..และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและสังคม

นั่นคือสิ่งที่ผมเข้าใจและสัมผัสได้...

เป็นกำลังใจให้นะครับ

เรียนคุณrinda

ผมสืบค้นมาเพื่อเตรียมการให้กับตนเอง และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อร่วมชะตากรรม

ตั้งใจจะนำปัญหาที่แท้จริงของโรงเรียน ทั้งที่เกิดจากนักเรียน ครูและชุมชนมาพัฒนางาน

ผ่านไม่ผ่านก็อยู่ที่มุมมองของผู้ตรวจ อย่าได้ตั้งความหวังมากมายนัก

ผมทำเค้าโครงไว้ คือ การบริหารสถานศึกษาให้เป็นองค์กรเปี่ยมสุข เป็นเพียงไกด์ไลน์เท่านั้น

มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกันครับ ทำไม่หยุด ไม่ได้ก็ส่งใหม่ เหลือเวลาตั้ง 10 ปีจะไม่มีสักวันหรือไร

ที่สำคัญผมจะทำอย่างต่อเนือง เพื่อสะท้อนงานปกติ ส่วนผลงานอีกชิ้นจะเป็นบทความทางวิชาการ

ที่เขียนส่งวารสารวิชาการครับ

เรียนคุณแผ่นดิน

ที่ท่านกล่าวมานั้นถูกที่สุดครับ ผลงานทางวิชาการต้องถูกนำมาใช้ ไม่ใช่อยู่ในตู้ ใครขอดูก็บ่ายเบี่ยงอ้างโน่นอ้างนี่

งานวิจัย หรือผงานทางวิชาการต้องสัมผัสได้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • มาเชียร์และเป็นแรงใจให้...คุณครูผู้เชี่ยวชาญค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณครับครูคิม ฝันให้ไกล ไปให้ถึงครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • แวะมาชื่นชมผลงานดี ดี ค่ะ

        เป็นกำลังใจค่ะ อีกไม่นานคงได้ชื่นชมผลงานเชี่ยวชาญท่าน ผ.อ  นะคะ

 

ชาวสาธารณสุขค่ะ ขอมาชื่นชมกับครู....ที่จะก้าวไปไม่ยาก

ส่วนดิฉันก็ได้แต่รอวาสนา...555

ขอเป็นกำลังใจให้อีกคนครับ ผมกำลังคิดจะทำเชี่ยวชาญเหมือนกันครับ

สวัสดี ครับท่าน ผอ.พรชัย

กระผม สุวิรัตน์ รักษาเคน อดีต ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๓๔ (บ้านกุดโง้ง) อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ก่อนอื่น ขอแสดงความยินดีกับ ท่านผอ.ด้วย ที่ได้เข้ามาอยู่ในครอบครัวไทยรัฐวิทยา ถึงแม้ว่าผมจะย้ายออกไปแล้ว (ปัจจุบัน อยู่โรงเรียนบ้านฝางวิทยา อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เหมือนกับ ไทยรัฐ ๖๓ ครับ) ก็ยังเป็นคนของครอบครัวไทยรัฐอยู่ครับ

เห็นผลงานของ ท่านผอ. แล้ว เยี่ยมจริง ๆ ขอเป็นกำลังใจ ในการปฏิบัติงาน ส่วนการทำผลงาน เชี่ยวชาญ คงเป็นคอนเซป เหมือนกับท่าน ผอ.ครับ ทำไปเรื่อย ๆ อย่าตั้งความหวังไว้สูง เดียวจะเครียด ทำดีที่สุดแล้ว ผลงานจะมาเอง (ส่งสัยจะปลอบใจตัวเองละมัง) ตัวผมเองก็ตั้งท่ามาแล้ว ๒-๓ ปี ก็ยังไม่ส่งด้านที่ ๓ สักที เพราะมองดูผลงานตัวเองแล้ว ยังมีน้ำหนักไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ก็ขอแบ่งปันความรู้ จาก ท่าน ผอ.พรชัย ด้วยก็แล้วกัน เผื่อโชคดี มีวาสนา จะได้สายสะพานกับเขาบ้าง ท่าน ผอ.เหลือ ๑๐ ปี ผมคงเหลือแค่เพียง ๘ ปี ทำไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งคงได้หรอกน่ะ ไม่ได้ก็ถือว่าเราได้พัฒนางานให้กับชาติบ้านเมือง ก็ถือว่าเป็นหน้าที่หลักของเราอยู่แล้ว ขอให้เราและทีมงาน มีความสุขกับการทำงานก็พอ

มีข่าวดี ๆ เกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการ การขอเชี่ยวชาญ ก็ขอคำแนะนำจากท่านด้วยก็แล้วกัน เพราะอยู่ไทยรัฐวิทยา จะกว้างกว่า โรงเรียน สพฐ.ธรรมดา ขอเป็นกำลังใจกับคนสู้งานครับ

ด้วยความนับถือ

สุวิรัตน์ รักษาเคน

ชีวิตสดใสไปกับการพัฒนา ชื่นชม

 

ครูไทยใจเต็มร้อย

รักการทำงาน รักการสอน เป็นครูชำนาญการพิเศษมานาน (ปี 2545) มีความสามารถในการใช้คอมฯบ้าง ชอบและเคยผลิตสื่อการสอน ในระดับประถมศึกษาตอนต้น มามากมาย (เคยได้รับรางวัลประกวดสื่อ หนังสือส่งเสริมการอ่าน) มาแล้ว อยากทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเป็น ครูเชี่ยวชาญ (ต่อ) เคยตกมาแล้ว ปัจจุบันเรียน ป.โท อยู่ แต่นักเรียนมีน้อย คือมีนักเรียนที่รับผิดชอบเพียง 8 คน เท่านั้น ถ้ารวมทั้งหมดที่ต้องสอน ชั้น ป.1 - 3 จะมีเพียง 17 คน เท่านั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นอุปสรรคในการเสนอขอไหมคะ จะมีแนวทางใดบ้างจึงจะสามารถทำได้ กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

เรียนท่าน ผอ

อ้างถึงข้อความทางวิชาการนั้น 1.5 การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม

อยากเรียนปรึกษาการพิมพ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น จะต้องใช้หลักเกณฑ์ของหน่วยงานหรือสถาบันไหนเป็นตัวกำหนดถูกต้อง ที่คณะกรรมการตรวจผลงาน ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจและถือว่าผ่าน

ด้วยความเคารพ

ใบบัว

ครูตา ไทยรัฐ๘๒ นครราชสีมา

เพิ่งผ่านพ้นการทำ คศ.3 มาเมื่อ กันยายน 2551 ก่อนหน้านั้นมีลุ้นว่าได้ หรือปรับปรุง 6 เดือน หรือคำตอบที่ 3 ตก แต่ก็โชคดีค่ะที่ ได้คำตอบที่ 1 โล่ง.....ใจมาก...แต่ก็เห็นใจ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ตก เป็นกำลังใจให้ เห็นใครๆก็เตรียมทำ คศ. 4 บางคนก็กลัวบ้าเสียก่อนที่จะได้ ขอบคุณท่าน ผอ.ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานทางวิชาการ แต่ อยากทราบว่า การนับว่าเป็นคศ. 3 นับจากวันส่งงานหรือนับจากวันได้รับคำสั่งแต่งตั้งคะ.....

สวัสดีครับ

เข้ามาเยี่ยมยามครับ

คิดจะทำ คศ. 4 แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี แนะนำหน่อยลูกนกลูกกาหน่อยเถอะค่ะ

นายอุท้ย ช่างกลึง

ขอให้ท่านนำเอาต้วอย่างผลงานระดับ 9 ที่ผ่านแล้วมาลงไว้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่ง

หากได้นำผลงานทางวิชาการมาทำ KM ทั้ง Explicit +Tacit ย่อมขยายผลเชิงแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ..

                                       

อยากขอคำแนะนำในการจัดทำผลงานเชี่ยวชาญ ว่างานที่ส่งมีอะไรบ้างคับ

อยากทราบว่าผู้ที่จะทำผลงานระดับ 9 ได้ต้องจบ ปริญญาโทไหม (ครูสายการสอน) และผลงานต่างจาก ระดับ 8 อย่างไร

ขอเป็นกำลังใจให้

กัลดา ฉัตรปทุมทิพย์

เข้ามาเยี่ยม มาให้กำลังใจที่ท่านต่อสู้เกี่ยวกับการทำผลงานเชี่ยวชาญ เพราะอย่างเราๆ ชำนาญการพิเศษก็เหนื่อยมากๆเลย พอคิดที่จะทำก็ ท้อแล้ว ทั้งข้อมูล ทั้งแผน ทั้งวิจัย มันมาเป็นเสต็บเลย อายุก็เริ่มมาก ความอดทนก็น้อย ความอยากสบายมีมาก เราขอยกย่องท่านที่ไม่ท้อสามารถส่งได้ก็ถือว่าเยี่ยม ๆๆๆๆ สู้ต่อไปตกก็ไม่เจ็บหรอกสู้ๆๆๆๆๆ

     อยากขอคำแนะนำจากผู้ที่รู้ คือผมมีข้อสงสัยว่าการส่งผลงาน ค.ศ.3 เกณฑ์ใหม่  การประเมินด้านที่ 1 - 2 โดยคณะกรรมการชุดที่ 1 มีแบบการประเมินหรือไม่ ผู้ขอรับการประเมินจะต้องเตรียมให้ใช่ไหมครับ

ผมก็คิดจะทำ คศ. 4 แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี อยากขอข้อแนะนำและตัวอย่างจากท่านอย่างมาก

http://www.kroobannok.com/news_file/p26366241055.pdf

http://www.kroobannok.com/news_file/p49181421056.pdf

http://www.kroobannok.com/news_file/p47172441057.pdf

http://www.kroobannok.com/news_file/p63350910045.pdf

http://www.kroobannok.com/news_file/p82089890045.pdf

ผมไปคัดลอกมาจากครูบ้านนอกครับ ลองศึกษาร่วมกันครับ

เริมต้นอยู่ที่ความตั้งใจครับ ต้องกล้าพอที่จะเริ่มต้น กำไรจะเกิดกับงานก่อน ให้วิทยฐานะเป้นผลพลอยได้จากการทำงานแล้วจะไม่เครียดครับ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

เด็กได้ ร.ร. ได้เป็นวาทะได้ใจ ...ค่ะ

ลัดดาวัลย์ ลิ่วศิริวงษ์เจริญ

ได้คศ.3ปี51พัฒนาการสอนด้านสื่อสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานประดิษฐ์ของเล่นของใช้)ทำสื่อ  e- book จำนวน6=ชุด

อยากถามว่าจะทำผลงานเชี่ยวชาญได้หรือยังค่ะ 

ขอคำแนะนำด้วย

ศักดิ์ชัย เชษฐบุตร

ถ้าครูเรามีการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน สร้างสรรค์สิ่งดีให้กับลูกศิษย์คงจะเป็นอะไรที่งดงามครับ ตอนนี้ผมก็กำลังศึกษา แนวทางในการทำเชี่ยวชาญครับ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สังคมศึกษาครับ

สอนที่อุดร เขต 3 ค่ะ เขตมีหนังสือให้ผู้ที่ยืนยันจะทำเชี่ยวชาญไปประชุม ในวันที่ 18 เมษายน 2555 (ผ่านชำนาญการพิเศษแล้ว ส่งผลงาน อ.3 เชิงประจักษ์ ปี 2547 การงานอาชีพและเทคโนโลยี ได้ปรับปรุง อนุมัติ 2550) ยังมองไม่ออกว่าจะทำผลงานทางวิชาการในเรื่องอะไรและรูปแบบไหนดี ได้เกียรติบัตรจากส่งเข้าแข่งทักษะหลายใบ ได้เหรียญทอง 1.ตะกร้าจากเศษวัสดุ 2.โครงงานอาชีพสร้างรายได้ 3.มาลัยคล้องมือ ระดับเขต (แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นพานพุ่ม)

ผอ.พูดให้กำลังใจดีมากครับ

ผมมีเรื่องปรึกษาท่านเกี่ยวกับการส่งผลงานทางวิชาการครับ ผมส่งผลงานปี 53 เกณฑ์ใหม่ ว 17 ประกาศ ปี 55 ผลงานผ่านเลย หากต้องการส่งเชี่ยวชาญเรื่องเดิมแต่ย้ายโรงเรียนใหม่ กลุ่มประชากรใหม่ ผลการวิจัยก็ใหม่ จะส่งได้ไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้ามากครับทีให้ข้อเสนอแนะ

"หากคุณแหงนหน้าหวังคว้าดาว แม้นไม่ได้ดวงดาวที่ฝันใฝ่ แต่แน่ไซร้คุณไม่ได้ดิน เด็กได้ โรงเรียนได้ เพื่อนร่วมงานได้ ก็สุขใจจากการทำงาน" เป็นข้อความที่ชอบมากค่ะ

นางธาวินี ประทุมวงค์

เปิดมาเจอ  เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ  เริมต้นที่เด็ก  เด็กได้  ครูได้  โรงเรียนได้ทุกคนมีความสุข การพัฒนาอยู่ที่ความตั้งใจและ ต้องกล้าที่จะเสียสละเวลาเพื่อศิษย์  วิทยฐานะเป้นผลพลอยได้จากการทำงานและผลบุญจากการกระทำ ไม่เครียดแน่นอนค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะท่าน

ขอบคุณคำแนะนำแนวทางพัฒนาตนเองเพื่อนักเรียน เพื่อโรงเรียนค่ะ

ขอบคุณคับ ทุกท่าน

ที่เป็นกำลังใจกันและกัน

เป็นคนหนึ่งที่จะทำด้วยตนเองคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท