K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิจากเชื้อปารสิตที่สำคัญ ต่อ


โรคพยาธิ

6. โรคที่เกิดจากพยาธิ Toxocara (Toxocariasis)

 

            หนอนพยาธิหลายชนิดที่พบในสัตว์สามารถติดต่อมาสู่คน โดยที่สัตว์นั้นไม่ใช่โฮสต์กึ่งกลาง หนอนพยาธิเหล่านี้ไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ หรือทำให้วงจรชีวิตของมันสมบูรณ์ได้ คนจะเป็นโฮสต์โดยบังเอิญ (accidental host) หนอนพยาธิจะมีการเคลื่อนที่อยู่ภายในร่างกายของคน แบบไม่มีจุดมุ่งหมาย และอาจตายในที่สุด ในขณะที่อยู่ในร่างกายของคนอาจจะเกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อต้าน ทำให้เกิดวิการของโรคตามมาในลักษณะต่าง ๆ ความรุนแรงของพยาธิสภาพขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิไปอาศัยอยู่ พยาธิที่ทำให้เกิดโรค Toxocariasis ได้แก่พยาธิไส้เดือน Toxocara canis ที่พบในลำไส้เล็กของสุนัขและ T. cati ในแมว

 

การติดต่อ

 

  1. ในคน ได้รับไข่พยาธิระยะติดต่อจากการปนเปื้อนของอาหาร น้ำ ผัก ภาชนะ หรือฝุ่น

ละอองที่ติดตามมือ หรือเด็กที่ชอบเล่นบนพื้นดิน และอาจได้รับเข้าไปจากการกินดินเข้าไป ในสวนสาธารณะที่มีผู้นำสุนัขไปจูงหรือเดินเล่น ที่อาจถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางและปนเปื้อนไข่ของพยาธิ Toxocara จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ในการเปลี่ยนเป็นไข่ระยะติดต่อ

  1. ในสัตว์ ในสุนัขและแมว มักจะติดต่อจากสุนัขและแมวที่อยู่ใกล้เคียง โดยการกินและ

สามารถถ่ายทอดไปยังลูกโดยผ่านทางรกได้ ลูกสัตว์สามารถเกิดมาและมีพยาธิไส้เดือนอยู่ในลำไส้เล็กที่พร้อมจะแพร่พันธ์ต่อได้เลย

          

 

อาการของโรค

 

  1. ในคน  อาการจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวอ่อนของหนอนพยาธิที่

ร่างกายรับเข้าไป และตำแหน่งที่พยาธิเข้าไปอาศัยอยู่ อาการที่อาจพบได้แก่ ไอ หืด หอบ คัน เลือดมีลักษณะ Eosinophilia อาการจะรุนแรงมากถ้าพยาธิเข้าไปอยู่ในส่วนของสมอง หรือไขสันหลัง หรือในลูกตา

  1. ในสัตว์  สัตว์จะไม่มีอาการมากเท่าใด โดยเฉพาะในสัตว์ที่มีอายุมากจะมีภูมิคุ้มกัน

ต่อพยาธิ ในลูกสัตว์อาจพบอาการปอดบวม เนื่องจากพยาธิจะเดินทางผ่านปอด ก่อนกลับลงไปอยู่ที่ลำไส้เล็ก ทำให้เกิดวิการกับอวัยวะที่อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนที่ ลูกสัตว์อาจจะอาเจียนเป็นพยาธิออกมา หรือถ่ายเป็นพยาธิออกมาหลังคลอดออกมาไม่นาน

 

 

การตรวจวินิจฉัย

 

  1. ในคน  ต้องอาศัยประวัติของคนไข้ เนื่องจากมีหนอนพยาธิหลายชนิดที่ทำให้เกิด

อาการคล้ายคลึงกัน ไม่สามารถตรวจอุจจาระหาไข่ได้ เนื่องจากพยาธิไม่เจริญเป็นตัวแก่ในร่างกายคน การตรวจทางซีรั่มวิทยามีโอกาสเกิดปฏิกิริยาร่วมกับพยาธิตัวกลมอีกหลายชนิด เช่น พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย และพยาธิปากขอ

  1. ในสัตว์  ตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระของสัตว์เลี้ยง

 

การควบคุมและป้องกัน

 

  1. ควรห้ามนำสุนัขไปเดินหรือจูงในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และบริเวณโรงเรียน

เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อาจนำโรค Toxocariasis มาสู่เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถป้องกันตัวเองได้

  1. ควบคุมสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของ ให้ลดจำนวนลง โดยการจับไปอยู่ในสถาน

สงเคราะห์สัตว์ หรือในพื้นที่ที่จัดไว้

  1. ให้ความรู้แก่เจ้าของสุนัข ในการถ่ายพยาธิสัตว์เป็นประจำทุก ๆ 3-6 เดือน เพื่อ

ป้องกันการติดพยาธิและอาจจะเป็นตัวแพร่โรค ในแม่สุนัขที่ตั้งท้อง ควรให้ยาถ่ายพยาธิในช่วงก่อนคลอด 1 เดือน หรือในลูกสัตว์อายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป

 

7. โรคพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchiasis)

                เกิดจากพยาธิ Opisthorchis viverrini อาศัยอยู่ในถุงน้ำดีและท่อน้ำดีของตับ คนได้รับพยาธิจากการกินระยะติดต่อของพยาธิ (metacercaria) ที่อาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อของปลาน้ำจืดหลายชนิด อาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ก้อยปลา ปลาส้ม ปลาจ่อม อาจทำให้คนที่บริโภคติดโรคได้

 

การติดต่อ

                ในคน  ที่ชอบกินปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก ปลาที่อาจพบตัวอ่อนพยาธิ ได้แก่ ปลาสูต ปลาปก ปลาแม่สะเด้ง ปลาตะเพียนทราย ปลาตะเพียนขาว ปลากระบัง ปลาสาวทราย ปลาซิว อัตราการติดเชื้อของปลาขึ้นอยู่กับพื้นที่ ชนิดของปลาและฤดูกาล

       

อาการ

  1. ในคน  ความรุนแรงและอาการของโรคพยาธิใบไม้ในตับขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิ

ระยะเวลาที่ติดเชื้อ และสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น ถ้ามีสภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นอาจทำให้เกิดอาการอย่างรุนแรง อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมแห้ง ตับแข็ง หรือมีอาการร่วมกับเนื้องอก หรือมะเร็งในตับ

  1. ในสัตว์  อาการของโรคที่เกิดขึ้นในสุนัขและแมวส่วนมากมักไม่แสดงอาการออกมาให้

เห็น


 

การตรวจวินิจฉัย

 

  1. ตรวจหาไข่พยาธิจาก อุจจาระของผู้ป่วย หรือสัตว์ป่วย
  2. จากประวัติอาการของผู้ป่วย

 

การควบคุมและป้องกัน

 

  1. ให้ความรู้ ความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรมในเรื่องการกิน การถ่าย ให้

ถูกสุขลักษณะ

  1. การปรับปรุงทางสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม การสร้างและใช้ส้วม การดูแลแหล่งน้ำให้

สะอาดและไม่ปนเปื้อนจากระยะต่าง ๆ ของพยาธิใบไม้ตับ

  1. กำจัดสัตว์ที่เป็นตัวเก็บกักโรค เช่น สุนัข และแมว หรือตรวจหาพยาธิและทำการถ่าย

พยาธิหรือไม่ใช้ปลาดิบเลี้ยงสุนัขและแมว

 

8. โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ (Fasciolopsiasis)

 

                เกิดจากพยาธิใบไม้ Fasciolopsis buski อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์โดยเฉพาะในสุกร

การติดต่อ

 

  1. ในคน  จากการกินพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง กระจับ สายบัว แห้วจีน ผักแว่น ผักกระเฉดและ

ผักตบชวาที่ปนเปื้อนด้วยระยะ metacercaria ของพยาธิ

  1. 2.       ในสัตว์  สุกรได้รับพยาธิจากการนำผักที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อปนเปื้อนอยู่ไปเลี้ยงสุกร

ทำให้ติดพยาธิและเมื่อนำอุจจาระสุกรไปใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติรดพวกผัก หรือล้างลงแหล่งน้ำจะทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและทำให้การแพร่กระจายของโรคพยาธิเกิดอย่างสมบูรณ์

 

 

อาการของโรค

 

  1. ในคน พยาธิตัวแก่ที่เกาะที่ผนังลำไส้ จะทำให้เกิดอาการท้องเดินเป็นครั้งคราว ถ้ามี

พยาธิจำนวนมากจะทำให้เกิดบาดแผลในลำไส้โฮสต์ ได้ ตัวพยาธิอาจขับสารที่เป็นพิษ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ พยาธิมีขนาดใหญ่ถ้ามีอยู่ในจำนวนมาก ๆ อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ได้ อาการที่มักพบได้แก่ ปวดท้อง บวมบริเวณใบหน้า ตับโต คลื่นไส้อาเจียร ผิวหนังแห้งและหยาบ และถ้ามีพยาธิจำนวนมากอาจทำให้ตายได้

  1. 2.       ในสัตว์  สุกรจะมีพยาธิ F. buski เพียง 3-12 ตัว ทำให้มีอาการไม่เด่นชัดมากนัก

อาจพบอาการท้องเสียและสัตว์จะเจริญเติบโตช้า หรือ การแลกเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อลดลง

 

การตรวจวินิจฉัย

 

            ตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระทั้งในคนและในสุกร

 

การควบคุมและป้องกัน

 

                1.  พยาธิ F. buski มักพบระบาดในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม มีพืชน้ำจำนวนมาก การป้องกันและควบคุม ควรป้องกันโดยไม่ให้กินผักและพืชน้ำดิบ ๆ เช่น ผักบุ้ง สายบัว แห้วจีน กระจับ และพืชน้ำอื่น ๆ อัตราการติดโรคในเด็กสูงเพราะเด็กมักชอบเล่นน้ำแล้วเอากระจับหรือแห้วมากัดกินดิบ ๆ ระยะติดต่อ (metacercaria)  จะติดอยู่ที่ผิวนอกของพืชน้ำ

                2.  สุกร  เป็นพาหะหรือเป็นตัวเก็บกักโรคที่สำคัญ ไม่ควรล้างมูลสุกรทิ้งลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ควรมีบ่อพัก หรือกักมูลสุกรให้อยู่ในหลุม หรือบ่อไม่ให้ไหลไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำภายนอก การเลี้ยงสุกรในฟาร์มส่วนใหญ่จะใช้อาหารสำเร็จ มีเพียงเกษตรกรรายย่อยเท่านั้นที่ยังคงเลี้ยงสุกรด้วยเศษอาหาร และพืชผักรวมทั้งผักตบชวาตามแหล่งน้ำที่หาได้ง่ายในเขตภาคกลาง

                3.  ในเขตชนบทที่ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระตามสะดวกโดยถ่ายอุจจาระรอบ ๆ บ้าน หรือตามท้องทุ่ง โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะถือเอาความสะดวกในการถ่ายอุจจาระตามทุ่งนาหรือใกล้แหล่งน้ำ จึงยังอาจจะพบโรคพยาธิชนิดนี้ได้บ้าง

9. โรคพยาธิตืดวัว พยาธิตืดหมู และโรคพยาธิเม็ดสาคู (Taeniasis and Cysticercosis)

 

                โรคพยาธิตัวตืดวัวและหมู (Taeniasis) เกิดจากพยาธิตัวตืด Taenia saginata และ T. solium โดยที่ระยะตัวอ่อนของพยาธิ (cysticercus) ทำให้เกิดพยาธิเม็ดสาคู (cysticercosis)

 

การติดต่อ

 

  1. 1.       คน  ติดพยาธิตืดหมูจากการกินเนื้อสุกรที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อ (Cysticercus

cellulosae) โดยไม่ทำให้สุกหรือดิบ ๆ สุก ๆ พยาธิจะเจริญเป็นตัวแก่ เกาะกับผนังลำไส้ โดยพยาธิตัวตืดจะมีชีวิต อยู่ในโฮสต์ได้นานถึง 25 ปี หรือมากกว่านั้น สำหรับพยาธิตืดวัวติดต่อโดยการกินเช่นเดียวกับในพยาธิตืดหมู โดยวัวจะเป็นโฮสต์กึ่งกลางในการนำโรค

  1. ในสัตว์  สุกรติดโรคโดยได้รับไข่ที่อยู่ในปล้องสุกโดยปนเปื้อนมากับอาหารหรือเจริญ

เป็นตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในกล้ามเนื้อของสุกรที่เรียกว่าพยาธิเม็ดสาคู (measly pork) ในขณะที่วัวได้รับไข่ หรือปล้องสุกของพยาธิ T. saginata  ที่ปนเปื้อนอยู่ในทุ่งหญ้าในบริเวณที่มีการสุขาภิบาลไม่ดีและเจริญเป็นพยาธิตัวอ่อน Cysticercus bovis ในกล้ามเนื้อของวัว

  

อาการ

 

  1. พยาธิตืดหมูหรือตืดวัวที่อยู่ในลำไส้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระบบทางเดิน

อาหาร อาจมีท้องเสียสลับท้องผูก มีอาการปวดท้อง มีโลหิตจาง พยาธิอาจปล่อยสารพิษออกมาทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบทั่วไป นอกจากนี้อาจพบอาการอาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และพยาธิอาจพันกันทำให้เกิดการอุดตันของลำไล้ได้

  1. พยาธิเม็ดสาคูที่เกิดจาก C. cellulosae ( T. solium) จะทำให้เกิดพยาธิสภาพหรือ

อาการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิไปอาศัยอยู่ ตัวอ่อนของพยาธิพบได้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อในร่างกายและทุกอวัยวะในชั้นใต้ผิวหนัง อาจพบในสมอง ตา หัวใจ ตับ ปอดและในช่องท้อง ถ้าพยาธิอยู่ในเนื้อสมองอาจทำให้เกิดอาการชักแบบลมบ้าหมู พฤติกรรมและนิสัยของคนไข้จะเปลี่ยนไป อาจมีอาการคล้ายคนที่มีเนื้องอกในสมอง

  1. ในสัตว์ จะไม่พบอาการมากนัก เนื่องจากการที่ตัวอ่อนไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้มีผล

ต่อสัตว์น้อยกว่าในการทำให้เกิดพยาธิสภาพ

  

การตรวจวินิจฉัย

 

  1. การตรวจหาปล้องสุก หรือไข่ของพยาธิ T. solium และ T. saginata จากอุจจาระของ

ผู้ป่วย

  1. การตรวจหาพยาธิเม็ดสาคู (cysticercosis) โดยการตรวจทางซีรั่มวิทยา เช่น ELISA

หรือ การทดสอบทางผิวหนัง ด้วยวิธี Precipitin test

 

การรักษา

 

  1. ในคน ใช้ยาได้หลายชนิดที่ให้ผลดี เช่น Niclosamide, Albendazole, Praziquantel

และ มหาด หรือ ปวกหาด

  1. ในโรคพยาธิเม็ดสาคู Praziquantel ให้ผลดีร่วมกับยาแก้ชักและการผ่าตัดเอาซีสต์

พยาธิออก

 

การควบคุมและป้องกัน

 

  1. พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ซึ่งยังนิยมกินเนื้อสัตว์กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่

น้ำตก เนื้อ และหมูปิ้งไม่สุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบมีอัตราการติดโรคพยาธิตัวตืดทั้ง 2 ชนิดมากกว่าภาคอื่น ๆ

  1. ในชนบทที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ที่ทุรกันดารที่ประชาชนมีรายได้น้อย ทำให้การดูแล

ทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลไม่ดีพอ ประชาชนไม่ใช้ส้วมในการถ่ายอุจจาระ เนื่องจากความไม่สะดวก ขณะออกไปทำไร่ทำนา จึงต้องถ่ายตามทุ่งนา หรือเรือกสวนไร่นา ทำให้ไข่พยาธิตัวตืดมีโอกาสปนเปื้อนอยู่ในท้องทุ่ง เมื่อสัตว์ที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางมากินก็จะทำให้วงจรชีวิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

  1. การเลี้ยงสุกรแบบปล่อยทำให้มีโอกาสติดโรคพยาธิตัวตืดได้สูงขึ้นกว่าปกติ และในโค

กระบือก็เกิดอุบัติการณ์ของโรคในลักษณะเดียวกัน

  1. โรงฆ่าสัตว์ในปัจจุบันทั่วประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด

มีสัตว์ที่ถูกนำมาขายเนื้อ โดยไม่ผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกต้อง นอกจากนี้การตรวจซากต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ซากที่พบพยาธิเม็ดสาคูต้องทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายตัวของโรค

  1. การนำอุจจาระของสุกรหรือ โค ไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก ทำให้มีโอกาสที่ไข่หรือปล้องสุก

อาจติดไปกับผักโดยเฉพาะโครงการผักปลอดสารที่อาจจะใช้มูลสัตว์แทนสารเคมี ทำให้ผักเจริญงอกงามดีแต่อาจปนเปื้อน ดังที่มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ ถึงการบริโภคอาหารที่มีผักจิ้มหรือผักแกล้ม เช่น แหนมเนืองหรือสลัดผัก มีโอกาสได้รับไข่พยาธิตัวตืด ถ้าหากไม่มีการล้างผักหรือทำความสะอาดก่อนบริโภค

  1. ให้ความรู้ในเรื่องโรคพยาธิตืดหมูและตืดวัว กับประชาชนเพื่อให้รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง

และลดโอกาสที่จะติดโรค

 

10. โรคสปาร์กาโนซิส (Sparganosis)

 

โรค Sparganosis เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดใน Genus Spirometra (Diphyllobothrium) ซึ่งจะสร้างซีสต์ที่เรียกว่า Spargana อยู่ในกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน พยาธิตัวเต็มวัยจะอยู่ในลำไส้ของสุนัข แมว และสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร

 

การติดต่อ

 

  1. ในคน ติดได้จากกินเนื้อกบ งู เขียด ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อ (pleurocercoid) ซึ่งจะ

เจริญเป็น sparganum โดยไม่มีการเจริญเติบโตพบในกล้ามเนื้อ หรือในอวัยวะต่าง ๆ ในบางพื้นที่ที่มีความเชื่อในการใช้เนื้อกบ เขียด งู ไปผสมกับยาพอกตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อรักษาโรค ถ้าในเนื้อดังกล่าวมีระยะตัวอ่อนก็อาจจะไชเข้าสู่แผลโดยตรง และเจริญเปลี่ยนแปลงเป็น Sparganum

  1. ในสัตว์ สุนัข และ แมว รวมทั้งสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ จะได้รับตัวอ่อนพยาธิจากการ

กินปลาที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อจากนั้นตัวอ่อนเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้

 

อาการ

  1. ในคน พยาธิระยะตัวอ่อนอาจพบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน เช่น เปลือกตา

กล้ามเนื้อคอ ท้อง โคนขา ช่องท้อง บริเวณที่พยาธิอาศัยอยู่จะมีลักษณะบวมแดงและอักเสบ รวมทั้งอาการคันคล้ายกับในกรณีของโรคพยาธิตัวจิ๊ด แต่ว่าอาการปวดเนื่องจาก Sparganum จะเจ็บอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนที่

  1. ในสัตว์จะมีอาการไม่เด่นชัด เนื่องจากพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้ ทำให้เกิดอาการทั่ว ๆ

ไป เช่น ท้องเสีย สัตว์เจริญเติบโตช้า แคระแกรน และสุขภาพไม่สมบูรณ์

  

การควบคุมและป้องกัน

 

  1. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคพยาธิ Sparganosis ต้องเฝ้าระวังในด้านสุขอนามัย

ของประชาชนในการประกอบอาหารจากพวกปลา กบ เขียด และสัตว์เลื้อยคลาน โดยต้องทำให้สุกก่อนนำมารับประทาน และไม่ควรนำเข้าเนื้อสัตว์เหล่านี้ไปผสมทำยาพอกตามร่างกาย เพราะระยะตัวอ่อน sparganum สามารถไชจากเนื้อที่พอกเข้าไปสู่ร่างกายของคนได้

  1. การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำจืดต้องต้มหรือกรองเสียก่อน
  2. สุนัขและแมวที่เลี้ยงอยู่ตามบ้านควรตรวจอุจจาระทุก 6 เดือน -  1 ปี เพื่อจะได้กำจัด

พยาธิ และช่วยตัดวงจรการนำโรคมาสู่คนได้ด้วย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 301234เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาเรียนรู้
  • มาทีหลัง..เดี๋ยวมึน ซ๊ะก่อน
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท