๕ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ สายสำนักวัดเขาอ้อ ผู้ประสาทวิชชาพุทธาคมเขาอ้อ ตอนที่ ๑


ในแต่ละตอนได้ลำดับเล่าตามแนวคิดแห่งพุทธาคม เน้นเรื่องพุทธศาสน์

ลำดับต่อไปนี้ กล่าวถึง ๕ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ สายเขาอ้อ ผู้ประสาทวิชชาพุทธาคมเขาอ้อ แก่ศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ทั้ง ๕ ท่านนี้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ในท้องถิ่นตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้รวบรวมประวัติจากแหล่งข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่แล้ว และได้แก้ไขเพิ่มเติมในบางส่วน ทั้งนี้ในการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดในทุกตอนนั้น กระทำในฐานะอนุชนที่เกิดในท้องถิ่นตำบลมะกอกเหนือ และในฐานะศิษย์คนหนึ่งในสายสำนักวัดเขาอ้อ เจตนาก็เพื่อเผยแพร่ชีวประวัติ กิตติคุณและธรรมคุณแห่งบูรพาจารย์ ขอขอบคุณท่านผู้เรียบเรียงมีในก่อนที่ได้สืบคำกันมาจนกาลบัดนี้

ผู้เขียนจักได้นำเสนอเรื่องสำนักวัดเขาอ้อในเนื้อความที่ควรจักมีจักเป็นต่อไป ซึ่งในแต่ละตอนได้ลำดับเล่าตามแนวคิดแห่งพุทธาคม เน้นเรื่องพุทธศาสน์    

ในตอนแรกได้นำเสนอเชิงบทความในชื่อ “สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง : มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีตกับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน”  และได้ใช้หัวเรื่องนี้เป็นหัวเรื่องใหญ่ ในตอนย่อยต่อมา คือ “พระปรมาจารย์สายเขาอ้อ “พ่อท่านสมภารนอโม” วัดบ้านสวน ควนขนุน พัทลุง”  ซึ่งในตอนนี้จะขยายออกไปเป็นอีกตอนหนึ่งที่จะถึง “พระจตุราจารย์”   ในลำดับต่อจากตอน “๕ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ฯ” 

๑. พระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต (พระปรมาจารย์อุปัชฌาย์ ทองเฒ่า) วัดเขาอ้อ (  - พ.ศ. ๒๔๗๐) 

๒. พระครูสิทธยาภิรัต (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ เอียด)  

วัดดอนศาลา (พ.ศ. ๒๔๒๕ - พ.ศ. ๒๔๙๑)

๓. พระครูพิพัฒน์สิริธร (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ คง)   

วัดบ้านสวน (พ.ศ. ๒๔๔๕ – พ.ศ. ๒๕๑๗)

๔. พระครูพิพิธวรกิจ (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ คล้อย)   

วัดภูเขาทอง (พ.ศ.๒๔๗๒ - ปัจจุบัน)

๕. พระครูขันตยาภรณ์ (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ พรหม)

วัดบ้านสวน (พ.ศ. ๒๕๘๓ – ปัจจุบัน)

 

                               ๏’”--------------------------------๚ะ๛

 

๑. พระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต (พระปรมาจารย์อุปัชฌาย์ ทองเฒ่า)   วัดเขาอ้อ (  - พ.ศ. ๒๔๗๐)

          พระปรมาจารย์ทองเฒ่า หรือ “พ่อท่านทองเฒ่า” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า " พ่อท่านเขาอ้อ " เป็นเจ้าอาวาสเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางไสยศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ จนเป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของคนทั่วไป ตรงศรีษะของท่านมีเส้นผมสีขาวกระจุกหนึ่ง เล่ากันว่าไม่สามารถโกนหรือตัดให้ขาดได้

ในสมัยของ พระปรมาจารย์ทองเฒ่า สานุศิษย์ของท่านนิยมทำพิธีแช่ว่านยา กินเหนียว กินมัน กันมาก ราวสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์ทองเฒ่า ได้รับแต่งตั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น "พระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต” เป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ และเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ท่านได้ปรับปรุงวัดให้มีความเจริญขึ้นเป็นอันมาก และสอนสั่งศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยวิชาพุทธาคม ที่เข้มขลังด้วยการประพฤติตนไว้ในที่ชอบ ไม่เบียดเบียนตนเองและบุคคลอื่นให้ลำบากกายใจ นำวิชาไปใช้ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก

พระปรมาจารย์ทองเฒ่า มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ รวมอายุได้ ๗๘ ปี

การสร้างวัตถุมงคล 

            พระปรมาจารย์ทองเฒ่า  ได้จัดสร้างเครื่องรางของขลัง เป็นประเภท ดังนี้  

                   1. ตะกรุด (มีตะกรุด 1 ดอก 3 ดอก 5 ดอก 7 ดอก เป็นต้น)

                   2. ลูกสะกด

                   3. ลูกประคำ

                   4. ผ้าประเจียด ผ้ายันต์

                   5. ไม้เท้ากายสิทธิ์

                   6. พระราหู

                      ฯลฯ

                       ๏’”--------------------------------๚ะ๛

 

๒. พระครูสิทธยาภิรัต (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ เอียด  ปทุมฺสโร)   

    วัดดอนศาลา (พ.ศ. ๒๔๒๕ - พ.ศ. ๒๔๙๑)

          มีนามเดิมว่า เอียด ทองโอ่ เกิดที่บ้านดอนนูด ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2425 เริ่มการศึกษาหลังจากบิดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว โดยมารดาได้นำไปฝากพระอาจารย์ทองเฒ่า ที่วัดเขาอ้อ ได้ร่ำเรียนจนรู้หนังสือขอมไทย เมื่ออายุได้ 22 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดเขาอ้อ มีพระอาจารย์ทองเฒ่า เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ปทุมสโร ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไสยศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณจากพระอาจารย์ทองเฒ่า

ต่อมาได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ และเป็นพระอุปัชฌาย์ตามลำดับ

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูสิทธยาภิรัต แต่ชาวบ้านยังนิยมเรียกท่านว่า " พ่อท่านเอียด " หรือ " พ่อท่านดอนศาลา " บางทีก็เรียกว่า " พระครูสิทธิ์ "

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดสงครามอินโดจน ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วย พระครูสิทธยาภิรัต จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นหลายชนิด เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารอาสาสมัคร และพลเรือนในยามสงคราม เช่น พระเครื่อง ลูกอม ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ผ้ารองหมวก ตะกรุด ปลอกแขน โดยทำพิธีปลุกเสกที่วัดเขาอ้อ วัตถุมงคลเหล่านี้ได้แจกจ่ายให้แก่ ทหารอาสาสมัคร พลเรือน พระเครื่องที่สำคัญที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ คือ พระมหายันต์ และพระมหาว่าน ขาว-ดำ การสร้างเครื่องรางของขลังในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างสนองคุณแก่ประเทศชาติ เยี่ยงพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง ที่เคยช่วยเหลือชาติบ้านเมืองมาแล้วในอดีต

พระครูสิทธยาภิรัต เป็นพระเถระที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น และประเทศชาติเป็นอันมาก ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ รวมอายุได้ ๖๖ ปี  

การสร้างวัตถุมงคล

     พระอาจารย์เอียด จัดสร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยได้ไปประกอบพิธีจัดสร้างที่วัดเขาอ้อ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "พระเขาอ้อ" มีดังต่อไปนี้

     1. พระมหาว่านขาว-ดำ หรือ พระกลีบบัววัดเขาอ้อสร้างด้วยว่านผสมผง

     2. พระมหายันต์ หรือ พระปิดตาวัดเขาอ้อ มี 2 แบบ คือ พระปิดตา 2 หน้า กับ พระปิดตาหน้าเดียว สร้างด้วยตะกั่วและเงินยวง 

     3. พระปิดตามหาลาภ สร้างด้วยเนื้อชันรามโลม

     4. ลูกประคำดีควาย ผงมหาว่าน เขาวัว ฯลฯ 

     5. ลูกสะกด สร้างด้วยตะกั่ว เงินยวง ปรอท ฯลฯ 

     6. ลูกอม สร้างด้วยชันรามโลม ลูกดีควาย ลูกสวาท ลูกลาน ฯลฯ

     7. ตะกรุด สร้างด้วยตะกั่ว มี 1 ดอก 3 ดอก 5 ดอก 7 ดอก 9 ดอก และ 12 ดอก ฯลฯ

     8. แหวนพิรอด เนื้อโลหะผสม

     9. หัวนโม เนื้อโลหะผสม

    10. เหรียญพระครูสิทธยาภิรัต (อาจารย์ชุมไชยคีรี สร้างเมื่อ พ.ศ.2498 หลังจากพระครูสิทธยาภิรัต มรณภาพแล้ว 7 ปี มีทั้งเนื้อทองแดง และ เนื้อเงิน)

          ฯลฯ

                          ๏’”--------------------------------๚ะ๛

 

๓. พระครูพิพัฒน์สิริธร (พระอาจารย์อุปัชฌาย์ คง  สิริมโต)   

   วัดบ้านสวน (พ.ศ. ๒๔๔๕ – พ.ศ. ๒๕๑๗) 

พระครูพิพัฒน์สิริธร นามเดิมว่า คง นามสกุล มากหนู ได้ถือกำเนิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๔๕ จ.ศ. ๑๒๖๔ ร.ศ. ๑๒๑ ณ บ้านทุ่งสำโรง หมู่ที่ ๘ ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 

         เมื่อบิดามารดาได้ถึงแก่กรรม นายชูผู้เป็นญาติ ได้นำมาฝากกับพระครูสิทธยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา 

         บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุนทรวาส ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๔๖๕ โดยมีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุลทอง ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน เป็นอุปัชฌาย์ พระครูสิทธยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลาเป็นพระศีลาจารย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้กลับไปอยู่วัดดอนศาลากับพระครูสิทธยาภิรัต ผู้เป็นอาจารย์ และในปีต่อมาก็ได้รับการอุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๖๖ ณ วัดดอนศาลา โดยมีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุลทอง เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดเกาะยาง ตำบลนาขยาด เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สิริมโต” 

พระอาจารย์คงได้ศึกษาวิชาพุทธาคมจากพระครูสิทธิยาภิรัต (อาจารย์เอียด) และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำรับตำราของท่านอาจารย์เฒ่าวัดเขาอ้อ จนมีความรู้แตกฉานและทรงวิทยคุณในวิชาแขนงนี้ จนในระยะหลังต่อมาท่านได้เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือจากประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดอื่น ๆ มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วไป         และต่างก็เรียกนามท่านว่า ”อาจารย์คง”

พ.ศ. ๒๔๘๗ รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน อำเภอควนขนุน

พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ

พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ในเขตตำบลมะกอกเหนือ และยังได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลปันแต เป็นต้น

พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูพิพัฒน์สิริธร

พระอาจารย์คง ได้การพัฒนาวัด ทั้งด้านวัตถุและการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดา และสาธารณประโยชน์มากมายจนสืบต่อความเจริญก้าวหน้าของชุมชนบ้านสวนมาจนบัดนี้

พระอาจารย์คง มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๑๗  อายุ ๗๒ ปี พรรษา ๕๒ พรรษา

 

การสร้างวัตถุมงคล   

          ในระยะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในสภาพไม่สงบสุขจากผู้ก่อการร้ายในภาคต่าง ๆ ของประเทศ ท่านพระอาจารย์คง ได้ร่วมแรงกาย แรงใจกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี จัดสร้างพระเครื่องของวัดบ้านสวนขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยได้นำว่าน ๑๐๘ ผงวิเศษ พระเนื้อดินที่ชำรุดของกรุทางภาคใต้และที่อื่นๆ ที่ท่านรวบรวมไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะผงวิเศษของพระอาจารย์ทองเฒ่า พระปรมาจารย์สำนักวัดเขาอ้อ ที่มอบไว้้มาประกอบสร้างในครั้ง ประกอบพิธีทั้งพุทธาภิเสก และปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง พร้อมด้วยอาจารย์หมุน วัดเขาแดง อาจารย์ปาล วัดเขาอ้อ และอาจารย์ชุม ไชยคีรี เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๑ แล้วนำแจกจ่ายบำรุงขวัญแก่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยอันตรายอยู่ในแดนที่มีผู้ก่อการร้าย ในจังหวัดภาคใต้ และภาคเหนือโดยท่านกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี เดินทางไปแจกจ่ายด้วยตัวเอง และพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่งได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานแก่ ทหาร ตำรวจ หน่วยต่าง ๆ

          อิทธิวัตถุมงคล ที่ได้จัดสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๕๑๖  ได้แก่

                   1. พระกลีบบัวเนื้อเงินยวง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓

                   2. พระปิดตาภควัมบดี “นอโม” เนื้อโลหะผสม และ เนื้อผงผสมว่านสบู่เลือด  

                   3. พระผงบารมี พระบรมธาตุ

                   4. พระผงเทพนิมิตร

                   5. พระผงหลวงพ่อแดงพุทโธ

                   6. พระผงพระปรมาจารย์ทองเฒ่า

                   7. พระผงขุนแผนทรงพล – ขุนแผนออกศึก

                   8. พระยอดขุนพล เนื้อผงผสมว่านฯ

                   9. พระสิวลี เนื้อผงผสมว่าน

                  10.พระผงทุ่งเศรษฐี

                  11.พระผง คง ไชย ชุม (คงหน้า ทองหลัง)

                  12.ตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์  ประคำ ฯลฯ

                 13. บาตรน้ำมนต์ และแผ่นยันต์ดินเผาธรรมราช

                 14. เหรียญรูปเหมือน รุ่นเสาร์ห้า  และเหรียญ รุ่นเราหยุดแล้ว พ.ศ. ๒๕๑๖ 

 

 

                 ๏’”--------------------------------๚ะ๛

หมายเลขบันทึก: 301156เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องการติดต่อกับเจ้าของข้อความครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท