เศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถถูกยกระดับเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้หรือไม่?


เมื่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ในโลกที่มีพลวัตรสูง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีความไม่แน่นอน ไม่เท่าเทียม และไม่เสมอภาคกันทางรายได้ กรรมสิทธิ์ อำนาจและปัจจัยอื่นๆ พฤติกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นพฤติกรรมในอุดมคติในโลกที่มีพลวัตรสูงเช่นนี้

ตอบ

 

ถ้ามองในแว่บแรกจะคิดว่าไม่น่าจะได้ เพราะว่าโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่สภาพัฒน์ฯนำเสนอ (3 ห่วง 2 เงื่อนไข) ดูจะเป็นแนวทางการปฏิบัติมากกว่าจะเป็นทฤษฎีในการอธิบายพฤติกรรมและปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ

 

แต่ในแว่บหนึ่งเมื่อครู่ บังเกิดความคิดขึ้นมาว่า จริงๆแล้วมันทำได้ และอาจจะเป็นการเบนเข็มอุดมคติในทางเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใกล้โลกที่สมจริงมากขึ้นก็ได้

 

อุดมคติในทางเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะกระแสหลัก) คือ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ หรือที่อุดมคติกว่านั้นคือ General Equailibrium Model นโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศโดยมาก มักจะมีภาพเหล่านี้เป็นอุดมคติอยู่เสมอ โดยดูได้จาก Campaign ของ World Bank ในอดีต เช่น Get the price right หรือแม้กระทั่ง Get the institution right ก็ยังเป็น Campaign เพื่อ Get the price right อยู่ดี ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อุดมคติแบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์นั้นแฝงอยู่เบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจจำนวนมากในโลกปัจจุบันอยู่มาก

 

อย่างไรก็ดี ตลาดแข่งขันสมบูรณ์และทฤษฎีต่างๆทางเศรษฐศาสตร์นั้นถูกฟอร์มขั้นบนฐานคิดแบบกลไก แบบฟิสิกส์ และทฤษฎีส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะท่ีเชื่อว่า ทุกๆอย่างจะต้องมุ่งไปสู่จุดที่ดีที่สุด จุดที่คงที่แล้วไม่เปลี่ยนแปลง จุดที่เป็นดุลยภาพ นอกจากนี้หลายๆทฤษฎียังอยู่บนสมมติฐานที่ไม่สมจริง และละเลยการพิจารณาตัวแปรจำนวนโดยถือว่าไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในความเป็นจริงมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีเพียงในโลกจินตนาการเท่านั้นที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลง

 

ฉะนั้นอุดมคติตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ ทิศทางที่เศรษฐศาสตร์ และนโยบายเศรษฐกิจควรจะมุ่งไปหรือ? อาจจะบางส่วนแต่ไม่สมบูรณ์และเป็นไปได้ยาก เว้นแต่ว่าเราจะพัฒนาเทคโนโลยี และความสามารถในการประมวลผลของสมองมนุษย์และระดับความมีเหตุผล ไปถึงระดับที่ทำให้ข้อสมมติทั้งปวงเป็นจริงได้ 

 

ผมคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงอาจจะเป็นอุดมคติทางเลือกในทางเศรษฐศาสตรืได้ เป็นพฤติกรรมอุดมคติอันจะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และสวัสดิการสังคมสูงสุดในโลกที่มีพลวัตรสูงได้ 

 

กล่าวคือ อาจมองได้ว่า เมื่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ในโลกที่มีพลวัตรสูง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีความไม่แน่นอน ไม่เท่าเทียม และไม่เสมอภาคกันทางรายได้ กรรมสิทธิ์ อำนาจและปัจจัยอื่นๆ พฤติกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นพฤติกรรมในอุดมคติในโลกที่มีพลวัตรสูงเช่นนี้

 

พฤติกรรมดังกล่าวท้ายที่สุดน่าจะให้ผลในลักษณะที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูง เพราะการผลิตมีการใช้ความรู้ มีเหตุผล และพอประมาณ (คือใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตอย่างพอดีไม่ขาดไม่เกิน) , การซื้อขายตั้งราคามีความเป็นธรรมเพราะถูกกำกับด้วยคุณธรรม (ซึ่งถือเป็นสถาบันอย่างหนึ่ง) การบริโภคที่มีประสิทธิภาพเพราะเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้นเช่นกัน 

 

นอกจากนี้สวัสดิการทางสังคมยังสูงขึ้นอีกด้วย ในโลกที่มีพลวัตรสูง เพราะว่า ทั้งการผลิตและการบริโภคมีภูมิคุ้มกัน มีแผนสำรอง ฉะนั้นความเสียหายจากวิกฤตทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคก็จะน้อยลงมาก

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและระบบนิเวศน์วิทยา ยังน่าจะมีความสมดุลมากขึ้นด้วย เนื่องด้วยองค์ประกอบเรื่องความรู้ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน จะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักได้เองหลังจากเรียนรู้ผ่านกาลเวลาว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิของมนุษย์ก็ต้องสอดคล้องกับกฎทางนิเวศน์วิทยาเช่นเดียวกัน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสังคมยังสามารถมีทรัพยากรมาหล่อเลี้ยงได้ ในขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็ยังดำรงอยู่ไม่สูญสลาย และไม่ส่งผลร้ายต่อสังคมมนุษย์

 

ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจพอเพียงอาจจะเป็นอุดมคติทางเลือกของการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดก็ได้ และอาจจะนำไปสู่การวิจัยและสร้างทฤษฎีใหม่ตามมาก็เป็นได้ 

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ความคิดนี้ยังไม่ชัดนักว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะมีความขัดแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือไม่อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องทำการศึกษากนต่อไป


หมายเลขบันทึก: 300893เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท