ปรัชญาจีนหลักจริยปรัชญาของขงจื๊อ


ปรัชญาจีนหลักจริยปรัชญาของขงจื๊อ

ปรัชญาจีนหลักจริยปรัชญาของขงจื๊อ

      จีนเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ให้ความสำคัญเรื่องการอยู่กินอย่างมาก ในขณะที่สังคมกรีกโบราณ เป็นสังคมเล็กๆ เป็นสังคมพ่อค้า ในยุคจีนโบราณคนจีนเข้าใจกันง่า ประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของโลก ชาติอื่นๆ ล้าหลังป่าเถื่อน นักปราชญ์คนสำคัญของสำนักหยู (แปลว่านักวิชาการ)ได้แก่ ขงจื๊อ  และ เม่งจื่อ โดยทั่วไปคนที่อยู่ในสำนักนี้มักจะเป็นพวกขุนนาง คำว่าจื่อหรือจื๊อ แปลว่านักปราชญ์ มีคนพูดกันว่าขงจื๊อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจีน ขงจื๊อคิดอย่างไร จีนก็เป็นอย่างนั้น พื้นที่ที่อยู่ในอิทธิพลของขงจื๊อ ได้แก่เอเชียตะวันออก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน

ประวัติของขงจื๊อ
                  ขงจื๊อ เป็นนักปรัชญาเมธีที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาล ในแคว้นหลู่ มณฑลชานตุง ขงจื๊อกำพร้าบิดามาตั้งแต่วัยเยาว์ และมีชีวิตอยู่ด้วยความยากจน แต่ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และการดนตรีจนได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ จากนั้นได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนจรรยามารยาท และการปกครองให้แก่กุลบุตรในตระกูลผู้ดี เคยเข้ารับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมของแคว้นฉี ภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วท่องเที่ยวไปตามแค้วนต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาและข้อคิดในกิจการเกี่ยวกับการปกครองแก่บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นและเสนาบดีที่เลื่อมใสศรัทธาในความคงแก่เรียนของเขา ขงจื๊อ มีชื่อแบบสามัญว่า ข่งชิว บรรพบุรุษของ ขงจื๊อ เดิมเป็นชนชั้นสูงใน ประเทศซ่ง ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหนาน ภายหลังพวกเขาได้อพยพไปอยู่ในประเทศหลู่ (ปัจจุบันคือซานตง) ภายหลังที่พ่อของขงจื๊อ ถึงแก่กรรม แม่ผู้ยังเยาว์วัยได้หอบหิ้วขงจื๊อเข้าไปอยู่ในเมือง ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศหลู่ ผู้เป็นแม่เป็นห่วงเรื่องการศึกษาของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจะมีชีวิตที่มีอนาคตนั้น ขงจื๊อต้องเป็นขุนนาง และมีวิธีเดียวที่จะบรรลุได้ คือการเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหนทางของการมีความรู้นั่นเอง ขงจื๊อเป็นเด็กที่เชื่อฟังคำของมารดาเป็นอย่างยิ่ง ตั้งใจเรียนหนังสืออย่างจริงจังและขยันขันแข็ง อ่านหนังสือจนลืมพักผ่อนบ่อยๆ แต่ละวันๆ มารดาต้องเตือนให้พักผ่อน เขาจึงจะหยุดพักผ่อน ซึ่งก็เป็นการพักผ่อนเพียงชั่วครู่ เขามักจะพูดว่า เรียนหนังสือต้องเรียนให้ดี การทำอะไรทั้งมวลต้องไม่หยุดกลางคัน
                 ขงจื๊อได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งนักปกครองและนักบริหารที่สามารถ มุ่งหน้าสั่งสอนการประพฤติชอบและการปกครองชอบ สั่งสอนให้ประพฤติความดีประโยชน์และความสุขในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า หลักคำสอนของขงจื๊อได้เป็นปรัชญามากกว่าศาสนาใด ๆ ขงจื๊อสอนว่า สังคมจะมีระเบียบเรียบร้อย ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่และปฏิบัติตามความสัมพันธ์ต่อกัน 5 ประการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา กับบุตร พี่กับน้อง สามีกับภรรยา ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง และมิตร กับมิตร
                  คำสอนของขงจื๊อ ตลอดจนคารมที่คมคายแฝงไว้ซึ่งคติธรรมอันลึกซึ้งได้อยู่ในจิตใจของคนจีนเป็นเวลานับพันๆปี คนจีนยึดถือคำสอนเหล่านี้ในการดำรงชีวิตและกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวจีนเป็นชาติที่รักษาขนบธรรมเนียมอย่างเหนียวแน่นจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 นี้
คำสอนของขงจื้อ
                
คำสอนของขงจื๊อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง อุดมคติของปัญญาชน อย่างเขา คือคำสอนที่ว่าด้วย ความประพฤติของชาว "หยู" (ผู้ที่เชื่อในวิถีของวิญญูชน) ซึ่งไม่ล้าสมัยเลย แม้มองจากสายตาของคนยุคนี้ ขงจื๊อกล่าวว่า                 ชาวหยูที่แท้ จะต้องแสวงหา ความรู้ สร้างเสริม คุณธรรม ความสามารถอย่าง ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ เขาจะต้องพยายามทำสิ่งที่ตนศึกษาเล่าเรียนมาให้ปรากฏเป็นจริง และพร้อมที่จะรับใช้บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส

               ในเส้นทางการพัฒนาตัวเองตามทัศนะของขงจื๊อนั้น ขงจื๊อได้จำแนกคนออกเป็น 5 ประเภทคือ สามัญชน บัณฑิต ปราชญ์ วิญญูชน และอริยบุคคล โดยเรียงลำดับจากขั้นต่ำมาขั้นสูง ซึ่งสะท้อน วิวัฒนาการทางจิต ของคนผู้นั้นด้วย กล่าวคือ

                ระดับที่ 1 "สามัญชน" คือคนที่ไม่ค่อยเคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่สามารถกล่าวเขียนวาจาที่สะท้อนความมีสติปัญญา ไม่เคยคิดที่จะคบนักปราชญ์ ชีวิตไม่มีเป้าหมาย รู้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่มีอุดมคติที่ลึกซึ้งกว้างไกล ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเชิงปณิธาน ชอบเปลี่ยนความคิดไปตาม "กระแส ที่เข้ามากระทบ และไม่ยืนหยัดในหลักการ

                ระดับที่ 2 "บัณฑิต" คือบุคคลที่แม้ไม่เข้าใจเหตุผลที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถบำเพ็ญคุณธรรมอย่างหมดจด แต่ก็มีความรู้และความเชื่อบางอย่าง ทำงานและประพฤติตัวตามหลักการบางอย่าง เพราะฉะนั้น ถึงระดับความรู้ความเข้าใจจะมีข้อจำกัดก็ยึดกุมความรู้ความเข้าใจได้ในระดับจำกัดนั้นอย่างแม่นยำ ถึงระดับความสามารถในการพูดจะมีข้อจำกัด ก็เข้าใจเหตุผลที่กำลังพูดอย่างแท้จริง ถึงระดับความสามารถในการสื่อด้วยความประพฤติจะมีจำกัด ก็ระมัดระวังความประพฤติของตัวเองเสมอ พวกเขาจึงสามารถเผชิญความจริงภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง

                ระดับที่ 3 "ปราชญ์" คือบุคคลที่ประพฤติตัวอยู่ในทำนองคลองธรรมมีวาจาเที่ยงแท้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรทั่วแผ่นดินได้

                ระดับที่ 4 "วิญญูชน คือบุคคลที่ศึกษาความรู้บ่มเพาะคุณธรรมอย่างทุ่มเท พูดจริงทำจริง ไม่บ่นโทษ ไม่นินทา ไม่พยาบาท มีคุณธรรมสูงส่ง แต่ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน มีสติปัญญาเลิศล้ำ แต่กลับมีท่าทีอบอุ่น นอบน้อม จนดูคล้ายไร้สติปัญญา ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วมีความสามารถอันลึกล้ำหาผู้ใดเสมอยาก

                ระดับที่ 5 "อริยบุคคล" คือบุคคลที่มีจิตใจสูงส่งน่าบูชาดุจฟ้าดิน แต่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีสติปัญญาแจ่มจ้าดุจแสงแห่งสุริยันจันทรา สามารถหยั่งรู้รากเหง้าของสรรพสิ่ง ยามดำเนินมรรคธรรมจะประหนึ่งฟ้าดินหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตโดยไม่ลำเลิก และเหล่าราษฎรทั้งปวงก็หารู้ไม่ว่ารับบุญคุณท่านแล้ว คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่า ท่านได้ทำอะไรบ้าง ไม่ทราบว่าท่านมีคุณธรรมสูงส่งเพียงใด ดุจเดียวกับที่ไม่เข้าใจความลับของฟ้าดิน

วิพากษ์คำสอนของขงจื๊อ

                 ในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาตะวันออกไม่ลึกซึ้งนัก คำสอนของขงจื๊อดูเป็นสิ่งที่เชย ล้าสมัยและเข้าใจยาก ทั้งๆ ที่คำสอนของขงจื๊อได้ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลาอันยาวนาน จนสามารถคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ มิหนำซ้ำ บางด้านของคำสอนขงจื๊อยังเคยมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วย แม้จะเคยมีบางช่วงที่คำสอนของขงจื๊อถูกปิดกั้น และทำลายในแผ่นดินจีนช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่คำสอนของขงจื๊อก็สามารถฟื้นฟูฐานะเป็นที่ยอมรับได้ไม่เสื่อมคลาย นั่นเป็นเพราะ มีความจริงแท้ดำรงอยู่ในบางส่วนของคำสอนของขงจื๊อ ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างถ่องแท้ โดยที่ในช่วงสองพันกว่าปีมานี้ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในระดับโครงสร้างเชิงลึก

     จุดเด่นในคำสอนของขงจื๊อที่สังคมไทยควรบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของตนก็คือ คำสอนที่โน้มน้าวให้คนเราใฝ่รู้ รักการศึกษา และรู้จักนำความรู้ที่ได้ไปทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง และสังคมโดยรวม โดยผ่านการเดินบนวิถีของวิญญูชน (บัณฑิตปัญญาชนผู้เปี่ยมคุณธรรม) ที่สามารถครองชีวิตอย่างสงบ ซื่อสัตย์ สุจริต และสมบูรณ์พูนสุขในโลกภายในได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน         หลักสำคัญที่มีคนพูดถึงขงจื้อมากที่สุดคือ หลักเรื่องความรับผิดชอบ ขงจื๊อให้ความสำคัญเรื่องครอบครัวว่าเป็นหัวใจของสังคม ครอบครัวเป็นจุดคิดของขงจื๊อ เขากล่าวถึงความสัมพันธ์ 5 คู่ ดังนี้

  • ผู้ปกครอง  กับ ประชาชน - ความจงรักภักดี     
  •  พ่อ กับ ลูก – ความกตัญญู
  • สามี กับ ภรรยา – ความซื่อสัตย์
  • พี่ กับ น้อง – ความสามัคคี
  • เพื่อน กับ เพื่อน – ความซื่อสัตย์

สรุปแนวคิดของขงจื๊อในด้านการเมืองการปกครอง

                        1. การปกครองระบอบประชาธิปไตยเน้นเรื่องความเสมอภาค แต่ขงจื๊อบอกว่าคนเรานั้นไม่เท่ากัน

                     2. แนวคิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเรื่องเสรีภาพ จะเน้นเรื่องปัจเจกบุคคล(Individualism) แต่แนวคิดของขงจื้อนั้นมองว่าแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากคนใดคนหนึ่งทำไม่ดีก็จะมีผลกระทบต่อสังคม มีคนบอกว่าแนวคิดของขงจื๊อเป็นแบบหมู่คณะนิยม(Collectivism) ซึ่งAristotle ก็มองแบบนี้เหมือนกัน โดยมอง The Whole มากกว่าส่วนย่อย แต่แปลกที่คนมองว่าแนวคิดของ Aristotle สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่แนวคิดของขงจื๊อไม่สอดคล้อง

                     3. Pluralism ประชาธิปไตยปัจจุบันเน้นเรื่องความหลากหลาย ประชาธิปไตยในสมัย Socrates,Plato, Aristotle นั้น จริงๆ แล้วเป็นเผด็จการโดยประชาชน ข้อเสียของประชาธิปไตยคือเน้นปริมาณ(Quantity) ไม่ได้เน้นคุณภาพ(Quality)

                       ขงจื๊อเป็นนักคิดแนวอนุรักษ์นิยม ส่วนหนึ่งเพราะเขาเน้นจารีตประเพณี เน้นเรื่องความรับผิดชอบ เน้นเรื่องหน้าที่ มุ่งที่จะธำรงสังคม ภายใต้กรอบที่เขาเห็นว่าสวยงาม ในมุมมองของเขา อะไรคือตัวแบบในมุมมองของขงจื๊อ คำตอบคือราชวงศ์โจวตะวันตก เป็นแบบฉบับของแบบแผนความประพฤติที่เขาอยากให้สังคมจีนเป็น ในยุคนั้นจีนมีแต่ความสงบเรียบร้อย ตัวของขงจื้อยู่ในยุคโจวตะวันออกที่มีแต่สงครามรบพุ่งกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 300879เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โลกไซเบอร์ยังกลมอีกนะเนี่ย......มาเจอบลอกอาจารย์เนี่ย

....................ศิษย์เก่า อ่าวน้อยวิทยานิคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท