ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

ภาษีเงินได้นิติบุคคล (หน่วยที่ 10)


ภาษีเงินได้นิติบุคคล

หน่วยที่ 10     ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 

1.1  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่

1.1.1  บริษัท จำกัด

1.1.2  บริษัทมหาชน จำกัด

 1.1.3  ห้างหุ้นส่วนจำกัด

1.1.4  ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

1.2  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1.2.1  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)

1.2.2  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)

1.2.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้นกระทำกิจการอื่นๆรวมทั้งใประเทศไทยและกิจการที่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ (มาตรา 67แห่งประมวลรัษฎากร)

1.2.4  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย (มาตรา 70)

1.2.5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใประเทศไทย ตามมาตรา 76 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไร หรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย (มาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)

1.2.6  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามาทำกิจการในประเทศไทยโดยตรง หากแต่มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)

1.3  กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย

1.3.1  รัฐบาลต่างประเทศ

1.3.2  องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ

1.3.3  นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

1.4  กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือ หากำไร ระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้คือ

1.4.1  บริษัทกับบริษัท

1.4.2  บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

1.4.3  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

1.4.4  บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา

1.4.5  บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

1.4.6  บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ

1.4.7  บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

1.5  มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

1.6 นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

2.   นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

นิติบุคคลอื่นๆ นอกจากที่กล่าวในข้างต้น และเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การ ของรัฐบาลหรือสหกรณ์ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังมีนิติบุคคลอีกบางประเภทที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร แต่ได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ได้แก่

2.1  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ 

2.2   บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 

2.3  บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่าง ประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

2.4 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา

 3.   ฐานภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากเงินได้ที่ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด ดังนั้น เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น โดยทั่วไปได้แก่กำไรสุทธิที่คำนวณตาม เงื่อนไขที่กำหนด แต่เพื่อความเป็นธรรมและอุดช่องว่างในการจัดเก็บภาษีเงินได้ จึงได้มี การบัญญัติจัดเก็บภาษีเงินได้ นิติบุคคล จากเงินได้หรือฐานภาษีที่แตกต่างกัน  ได้แก่ ฐานจากกำไรสุทธิ  ฐานจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย ฐานจากเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย และฐานการคำนวณจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

3.1  ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ

3.1.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ

1)    บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

1.1)    บริษัท จำกัด

1.2)    บริษัทมหาชน จำกัด

1.3)    ห้างหุ้นส่วน จำกัด

1.4)    ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

ในกรณีที่บริษัทห้างห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอก ประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน ประเทศไทย

2)    บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

3)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

3.1)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ได้แก่   บริษัทหรือห้างหุ้น             ส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าว จะต้องนำกำไรสุทธิเฉพาะ ที่ได้จากการกระทำกิจการในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

3.2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำ การแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และ ความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว

4)  กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

5)   กิจการร่วมค้า

3.1.2  รอบระยะเวลาบัญชี

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ ต้องคำนวณกำไรสุทธิ จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจาก กิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ซึ่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งๆ ไว้ดังนี้

1)  รอบระยะเวลาบัญชีโดยทั่วไปตามบทบัญญัติมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องเท่ากับ 12 เดือน  โดยจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้

2)  รอบระยะเวลาบัญชีซึ่งน้อยกว่า 12 เดือน กรณีที่กฎหมายยอมให้ รอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน ได้ มีเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ คือ

2.1)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะ เวลาบัญชีแรกก็ได้ แต่รอบระยะเวลาบัญชีต่อไปต้องเท่ากับ 12 เดือน

2.2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรจะเห็นสมควรและสั่งอนุญาต ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนจะน้อยกว่า 12 เดือน

2.3)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกันให้ถือเอาวันที่เจ้าพนักงาน จดทะเบียนเลิกเป็น วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

2.4)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเลิกกัน รอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันจึงเป็นไปตาม 2.3) ซึ่งอาจน้อยกว่า 12 เดือน ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการและยังชำระบัญชี ไม่เสร็จ หากมีกำไรสุทธิเกิดขึ้น จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือว่าบริษัทยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้น

3)    รอบระยะเวลาบัญชีมากกว่า 12 เดือน รอบระยะเวลาบัญชีอาจขยายออกไปมากกว่า 12 เดือนก็ได้ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติ บุคคลเลิกกิจการ หากผู้ชำระบัญชี และผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสีย ภาษีได้ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ถ้าได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายใน 30 วันนับแต่วัน ที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปได้ ซึ่งรอบระยะ เวลาบัญชีรอบนี้อาจเกิน 12 เดือนก็ได้)

3.3.3  กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิโดย คำนวณจากรายได้ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไข ที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา65 ตรี

การคำนวณรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและ ให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของ รอบระยะ เวลาบัญชีนั้น

ในกรณีจำเป็น ผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดี เพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิ์ และวิธีการทางบัญชี เพื่อคำนวณราย ได้และรายจ่ายตามเกณฑ์อื่นก็ได้และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดี กำหนดเป็นต้นไป

3.3.4  อัตราภาษี และการคำนวณภาษี

1)    อัตราภาษี   

1.1) ภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 30 

1.2) ภาษีจากกำไรสุทธิเฉพาะกรณีที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศ ธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่16 กันยายน 2535 ร้อยละ 10

2)  การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิและต้องคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

2.1) การคำนวณเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากรดังนี้

2.2)  ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นอกจากที่กล่าวใน 2.1) ให้จัดทำประมาณการกำไร สุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้ว ให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

2.3)   ในกรณีบริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคาพาณิชย์หรือ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วัน แรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนี้ให้ถือเป็นเครดิตใน การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้น รอบระยะเวลาบัญชีคือ เอาไปหักออกจากภาษีที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีและในกรณีที่ภาษีที่เสีย ไว้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสูงกว่า  ภาษีที่จะต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้

กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือ รอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย น้อยกว่า 12เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

3)    การคำนวณเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร โดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องชำระ ถ้าคำนวณกำไรสุทธิออกมาแล้วปรากฏว่า ไม่มีกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ บริษัทไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการจัดทำบัญชีของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามหลักบัญชีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากรเมื่อ จะคำนวณภาษีบริษัทจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากรแล้วจึง คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

3.3.5  การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีดังนี้

1)    การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบ

จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี(ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

2)   การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี  (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

3.2  ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

3.2.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือ           ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ และมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้

3.2.2  ฐานภาษี

1)    กรณีกิจการขนส่ง

1.1) กรณีรับขนคนโดยสาร รายได้เกิดจากค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บใน ประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น ให้คำนวณภาษีอัตราภาษีร้อยละ 3 

ฐานภาษีสำหรับการให้บริการรับขนคนโดยสารซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้คำนวณ จากมูลค่าของค่าโดยสารที่ได้รับหรือพึงได้รับสำหรับระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางตามที่ระบุในตั๋วโดยสาร รวมถึงค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บจากคนโดยสารอันเนื่องมาจากการให้บริการรับขนคนโดยสาร ไม่ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้นจะให้บริการรับขนเองทั้งหมดหรือให้ผู้ประกอบการอื่นรับขนส่งช่วงให้

1.2) กรณีรับขนของ รายได้เกิดจากค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าใน หรือนอกประเทศก่อนหักรายจ่ายใดๆเนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้นให้คำนวณภาษีอัตราร้อยละ 3 ฐานภาษีสำหรับการให้บริการรับขนสินค้าซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้คำนวณ จากมูลค่าของค่าระวางที่ได้รับหรือ พึงได้รับ สำหรับระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางตามที่ระบุ ในแอร์เวย์บิล ในกรณีรับขนสินค้าโดยอากาศยานหรือสำหรับระยะทางถึงปลายทางตามที่ระบุในบิลออฟเลดิงในกรณีรับขน สินค้าโดยเรือทะเล รวมถึงค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บจากผู้รับบริการอันเนื่อง มาจากการ ให้บริการรับขนสินค้า ไม่ว่าสายการบินหรือสายการเดินเรือนั้นจะให้บริการรับขนเองทั้งหมด หรือให้ผู้ประกอบการอื่นรับขนส่งช่วงให้

2)    กรณีมูลนิธิหรือสมาคม

มูลนิธิหรือสมาคมใดมิได้จดทะเบียนการจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายก็จะมีฐานะเป็นเพียงคณะบุคคลซึ่ง อาจจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น บริษัทจัดตั้งสโมสรสำหรับพนักงานเพื่อดำเนินกิจกรรม สันทนาการสำหรับพนักงาน หรือนักศึกษาจัดตั้งสโมสรหรือชมรมต่างๆ โดยไม่ได้ผูกพันกับนิติบุคคลใดโดย เฉพาะ ย่อมมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้อย่าง บุคคลธรรมดาแม้ว่าจะไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าหรือเพื่อที่จะแบ่งปันกำไรก็ตาม

รายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรายได้ที่มูลนิธิหรือสมาคมจะต้อง เสียภาษีเงินได้ จะรวมถึงรายได้ทุกอย่างไม่ว่าจะได้มาจากทางใดๆ เช่น รายได้จากการขายสินค้าและบริการ ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล ฯลฯ

รายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา   65ทวิ (13) ได้แก่

1. ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก

2. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาค

3. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา

นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่มูลนิธิหรือสมาคม เฉพาะเงินได้จากกิจการโรงเรียน เอกชนซึ่งได้ ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึง เงินได้จากการขายของการรับจ้างทำของ หรือการให้บริการอื่นใดที่ โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน (มาตรา 5แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500)

มูลนิธิและสมาคมต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา ดังนี้

1. เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือ การอื่นๆ เสียร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย

2. เงินได้อื่น ๆ นอกจาก 1. เสียร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายการคำนวณ   ภาษีเงินได้ของมูลนิธิ หรือสมาคม จะต้องคำนวณตามรอบระยะเวลาบัญชีด้วย

3.2.3  การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี

1)    กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือนิติบุคคล ต่างประเทศจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและ ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี กิจการขนส่งระหว่างประเทศนี้มิ ต้องยื่นเสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี แต่อย่างใด แบบแสดงรายการที่ใช้ยื่น คือ ภ.ง.ด.52 (ยื่นรอบระยะเวลาบัญชี ละ 1 ครั้ง)

2)   มูลนิธิและสมาคมที่ประกอบกิจการมีรายได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแบบแสดงรายการที่ใช้   ยื่นคือ ภ.ง.ด. 55 (ยื่นรอบระยะเวลาบัญชีละ 1 ครั้ง) ในการยื่นแบบแสดงรายการนั้นมูลนิธิและสมาคมต้องแสดงบัญชีรายได้ ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ที่มีผู้สอบบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวด้วย แต่ไม่ต้องแนบงบดุลแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 300470เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท