Wachi
นาย วชิรจักร เดียว นือขุนทด

ครูอาสาสร้างฝัน


“เราไม่ได้มองว่าเขามาจากไหน แต่เรามองว่าเขาเป็นคนเหมือนกับเรา”

             เมื่อย่างเท้าลงจากรถ คำว่า สวัสดีครับ สวัสดีค่ะคุณครู  เสียงทักทายแรกที่กลุ่มนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือครูอาสา  ได้ฟังจากเด็กๆกว่า 100 คนที่ศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัย (ท่าฉลอม) สร้างความตื่นเต้นบวกกับความประทับใจแรก ทำให้ช่วงแรกๆคุณครูถึงกับเขินอาย แต่ความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูอาสาสร้างฝันเด็ก ศูนย์ฯเด็กนานาชาติ(พม่า,มอญ ฯ) ก็ช่วยลดความตื่นเต้นต่างๆลงได้  

ไม่เพียงแต่ครูเท่านั้นที่ตื่นเต้น เด็กๆทุกคนก็ตื่นเต้นที่จะได้พบกับเหล่าครูอาสา พอต่างฝ่ายต่างตื่นเต้น ต่างฝ่ายต่างเฝ้ารอกันและกัน  ความมันก็ปะทุขึ้นภายใต้ชายคาศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัย (ท่าฉลอม) สมุทรสาคร ในห้วงเวลา 2 วัน1 คืน

กิจกรรมแรก บรรดาครูอาสาจะแบ่งกลุ่มเด็กๆตามช่วงอายุเป็น 4 กลุ่ม  แล้วสร้างความคุ้นเคย ด้วยการถามชื่อ แล้วบรรจงจรดปากกาเขียนให้ในป้ายห้อยคอทุกคน  ดูแล้วกิจกรรมนี้เป็นของง่ายๆ แค่ถามชื่อแล้วเขียนลงป้าย  แต่ความสนุกอยู่ตรงที่ ชื่อและสำเนียง ของเด็กเป็นภาษาพม่า มันทำให้ยากต่อการฟังการเขียนเป็นระยะๆ

สร้างสัมพันธ์กันได้แล้วก็ต่อด้วยงานศิลปะ ที่ครูกับเด็กร่วมแต่งแต้มสีสัน ข้อความน่ารักๆ ลงในการ์ดวันแม่  ระหว่างกิจกรรมจะสังเกตเห็นรอยยิ้มและความตั้งใจ ที่จะสรรสร้างของขวัญจากใจมอบให้แม่ที่รักทุกคน  เพราะอีกไม่กี่วันก็ถึงวันแม่แล้ว  หลังกิจกรรมนี้ก็ถึงภารกิจอิ่มท้อง วันนี้แตกต่างจากวันทั่วๆไป  เนื่องจากมีคุณครูอาสามาร่วมวงทานอาหาร เพียงไม่กี่นาที หลังจากครูได้นั่งลงทานข้าว  เหล่าจอมซนก็วิ่งไปต่อแถวรอรับไอติมจากครูกุ๊บกับครูส้ม  ที่ช่วยกันตักไอติมกันอย่างสนุกเพราะได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จากเด็กๆ

ครูเนศและผองเพื่อนครู ก็ร่วมสร้างสีสันความสนุก ด้วยการแบ่งเด็กๆเล่นกีฬาสีตลอด 2 วัน  เหล่าครูอาสาขนเกมสนุกๆ มาเล่นเพียบ ตั้งแต่ เกมส่งลูกโป่ง  เก้าอี้ดนตรี  เหยียบลูกโป่ง กินวิบาก ส่งบอล ฯ  เหล่าคุณครูไม่มีความสามารถ ที่จะหยุดเสียงหัวเราะ เสียงเฮ  ความสุข และความสนุกสนาน จากเด็กและคนในบริเวณโดยรอบได้เลย  ถือได้ว่าเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาสร้างความสุขให้กับเด็กๆและชุมชนอย่างเข้าถึงขนาดนี้     

 

มีเริ่มก็ย่อมมีจบ  ในช่วงเวลาแห่งการอำลา ครูอาสานั่งล้อมวงนั่งคุยนั่งเล่นกับเด็กๆ  ร่วมใช้เวลาสานสัมพันธ์สร้างฝันเด็กๆ ณ เวลานั้นศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยมีแต่ภาพแห่งความประทับใจ  เหล่าครูอาสาได้นำสิ่งของและทุน มอบให้แก่ศูนย์  เพื่อเป็นอีกแรงช่วยสนับสนุนกิจกรรมโครงการพัฒนาชีวิตลูกแรงงานข้ามชาติ  

ซึ่งเวลาเพียง 2 วัน คงไม่เพียงพอซะแล้ว กับกิจกรรมดีๆอย่างนี้  หลังกิจกรรมจบลง เหล่าครูอาสาก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของตน

ครูไปป์ ไชโย...ดีใจที่ได้เข้ามาทำงานนี้ รู้สึกว่าทำไมเราถึงต่างจากน้องๆ คิดว่าสังคมของเรายังคงต้องได้รับการดูแลมากกว่านี้ คนไทยไม่ควรมองพวกเขาเหล่านั้นเป็นแค่เด็กต่างด้าว

ครูน้ำส้ม  ความรู้สึกที่ได้ไปทำกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดีมากๆถ้าใครไม่ได้ทำคงไม่รู้จริงๆว่า มันภาคภูมิใจมากขนาดไหน เวลาแค่ 2 วันก็ทำให้เราเปลี่ยนแปลงความคิดบางอย่างได้เหมือนกัน

ครูอร รู้สึกมีความผูกพันกับน้องๆมาก ตั้งแต่วันแรกที่ได้เจอน้องๆก็รู้สึกว่าเขาน่ารักมาก น้องร่วมทำกิจกรรมได้ดีสนุกสนาน  ก่อนกลับรู้สึกไม่อยากจะกลับเลย คิดถึงน้องๆ ถ้ามีโอกาสจะกลับไปอีก  ประทับใจมาก ร้องไห้เลย

ครูตะวัน รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสมาทำโครงการนี้และได้รับรู้อีกด้านหนึ่งของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ยังต้องการการยอมรับและช่วยเหลือในเมืองไทย  ถ้าไม่มาทำโครงการนี้ก็คงไม่รู้ว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่

สำหรับเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยก็ร่วมสะท้อนความรู้สึกต่อกิจกรรมนี้ว่า

ครั้งหนึ่งผมเคยถามเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ฯว่า ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนพม่า ทำไมไม่เอางบประมาณที่ได้ไปดูแลคนไทย  แล้วผมก็ได้คำตอบว่า เราไม่ได้มองว่าเขามาจากไหน  แต่เรามองว่าเขาเป็นคนเหมือนกับเรา  เพียงประโยคนี้ก็ทำให้ผมนึกย้อนมองตัวเองว่าเราเคยมีความคิดที่แคบอย่างนี้เชียวหรือ  ทำไมเราถึงลืมคำว่า  เพื่อนมนุษย์  ไม่ว่าเกิดที่ใดเขาก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับเรา  และเมื่อผมได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆในศูนย์ฯซึ่งเป็นลูกหลานพี่น้องแรงงานข้ามชาติ(พม่า,มอญฯ)หลากหลายชาติพันธุ์  ที่เข้ามาเรียนรู้ช่วงกลางวันเหมือนกับเด็กไทยทั่วไปที่เข้าไปหาความรู้ในโรงเรียน  ต่างกันตรงที่เด็กไทยเรามีโอกาสดีกว่า เด็กกลุ่มนี้มาก  

ผมต้องขอขอบคุณคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และครูอาสาทุกท่าน ที่ได้จัดโครงการ “ BUCA คนดีของพ่อหลวง  ซึ่งส่งผลให้เกิดกิจกรรมดีๆขึ้น   สิ่งที่นักศึกษาทำไม่เพียงสร้างฝันให้กับเด็กๆเท่านั้น เขาได้สร้างฝันให้กับสังคม   เพราะเหล่านักศึกษามิได้มาบริจาคของ หรือมาเล่นกับเด็กเท่านั้น  แต่พวกเขาได้เป็นต้นแบบ  ด้วยการลงปฏิบัติภารกิจครูอาสาอย่างเต็มที่และสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับ  ไปเผยแพร่ให้บุคคลในสังคมได้รับรู้ความจริงที่เป็นอยู่ และเป็นพลังอาสาพัฒนาสังคมเราให้ดีขึ้นต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 300468เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความเอื้ออาทร การแบ่งปัน ไร้ซึ่งพรมแดน

ขอบคุณที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆทั้งนักศึกษา เด็กๆ คนทำงาน และตัวดิฉันเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท