ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

ภาษีธุรกิจเฉพาะ (หน่วยที่ 6)


ภาษีธุรกิจเฉพาะ

หน่วยที่ 6  ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากการบริโภค และเริ่มบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2535 พร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าจัดเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการโดยทั่วไป ซึ่งธุรกิจบางประเภทไม่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นธุรกิจบางประเภทได้กำหนดให้ธุรกิจเฉพาะเสียภาษีในลักษณะพิเศษซึ่งเรียกว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะ การเสียภาษีประเภทนี้จะเสียภาษีในลักษณะเดียวกันกับภาษีการค้า โดยคำนวณภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายในเดือนภาษีตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และเสียภาษีเป็นรายเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาล หรือรายได้สุขาภิบาล หรือรายได้จังหวัดควบคู่ไปอีก ร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ

1.   ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือ        นิติบุคคล 

2.   กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 

2.1    การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

2.2    การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

2.3    การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (การรับประกันวินาศภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย อยู่ในข่ายบังคับของภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2542)

2.4    การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

2.5   การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะกระทำเป็นธุรกิจหลักหรือส่วนประกอบของธุรกิจอื่น

การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ คือ การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออกซื้อหรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่างๆ  รวมทั้งกิจการโพยก๊วนหรือฮ่วยตั๋ว

2.6    การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป

การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางค้าหรือหากำไร ได้แก่ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

2.6.1  การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตากฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน

2.6.2  การขายห้องชุดของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

2.6.3   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว

2.6.4   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 2.6.1, 2.6.2 หรือ 2.6.3 เฉพาะกรที่มีการแบ่งขายหรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว

2.6.5   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร

2.6.6   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 2.6.1, 2.6.2, 2.6.3, 2.6.4 หรือ 2.6.5 ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่

1)       การขายหรือการถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

2)       การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก

3)      การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น

ในกรณีที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตามข้อ 3) ได้มาไม่พร้อมกัน กำหนดเวลาห้าปีตามข้อ 2.6.6 ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง

4)      การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

5)      การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

6)      การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีค่าตอบแทน

7)      การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่างอื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์แลกเปลี่ยนนั้น

ข้อสังเกต

1. การนับระยะเวลาต้องนับวันชนวัน กรณีต่างกับการนับจำนวนปีถือครองเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งนับเป็นปีปฏิทิน เช่น ซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 25X3 ขายไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25X7 กรณีนี้ถือว่าขายไปภายใน 5 ปี ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

2. การมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่จำเป็นต้องติดต่อกันถึง 1 ปี และในปีที่ขายแม้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่ถ้ามีชื่อมาครบ 1 ปีแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

3. การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มา อยู่ในข่ายเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วยการไถ่ถอนการขายฝากในกำหนดเวลาก่อนวันที่ 10 เมษายน 2541 ไม่ถือเป็นการขาย จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่หากเป็นการไถ่ถอนตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 ทรัพย์สินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาชำระสินไถ่ตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้นการไถ่ถอนการขายฝากภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รับซื้อฝาก เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร แต่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เหมือนกับธุรกิจเฉพาะบางประเภทตามข้อ 15)

1. ผู้มีเงินได้ที่ไดรับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามข้อ 2.6.6 ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเงินได้พึงประเมิน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544

2. ข้อยกเว้นในข้อ 4.1 ไม่ใช้กับข้อ 1 – 5 เช่น ถ้าบริษัทถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

2.7  การขายหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ (ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ)

2.8    การประกอบกิจการอื่น ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ

2.8.1   พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2542 กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการประกอบกิจการอื่นที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

2.8.2   พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ. 2542 กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

คำว่า “ธุรกิจแฟ็กเตอริง” หมายความว่าธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงว่าจะโอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ และรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1)  จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

2)  เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

3)  รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด

ข้อสังเกต

1. กิจการเฉพาะอย่างที่ไม่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยทั่วไปจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

2. กิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3.   กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีดังต่อไปนี้

3.1  การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

3.2  การให้บริการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน

3.3  การให้บริการที่ปรึกษาการลงทุน

3.4  การให้บริการนายหน้าและตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์

3.5  การให้บริการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

3.6  การให้บริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงและไม่มีฐานภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่กำหนดไว้

 

4.   การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะมีรายละเอียดดังนี้

4.1    กิจการที่ประกอบธุรกิจที่เหมือนกับธุรกิจเฉพาะบางประเภท ซึ่งได้รับ               การยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีดังต่อไปนี้

4.1.1  กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

4.1.2  กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

4.1.3  กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ เฉพาะการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกหรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น

4.1.4  กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

4.1.5  กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการขายหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

4.1.6  กิจการรับจำนำของกระทรวง ทบวง กรม และราชการส่วนท้องถิ่น

4.1.7  กิจการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 และ   (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2540 ได้แก่

1)    กิจการขายหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2)    กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

3)    กิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

4)    กิจการของธนาคารเพื่อส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

5)    กิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม

6)    กิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

7)   กิจการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

8)   กิจการของนิติบุคคลเฉพาะกินในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เฉพาะกรณีต่อไปนี้

8.1)  กิจการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับโอนทรัพย์สินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น หรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น

8.2) กิจการที่ได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม   ข้อ 4.1.1 – 4.1.7

9)   กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือการับโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ

10) กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

11)   กิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

12) กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการพัฒนาคนจนในเมือง

13)   กิจการของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์บริการ ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับ  การจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิกดังต่อไปนี้

13.1) ต้องเป็นสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโครงการพัฒนาคนจนในเมืองของการเคหะแห่งชาติ และได้รับเงินกู้ตามโครงการดังกล่าว

13.2) ต้องนำเงินกู้ที่ได้รับไปจัดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต่อให้แก่สมาชิกของสหกรณ์นั้น

14)  กิจการของสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์เฉพาะกรณีที่

14.1)  สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสีย จะต้องมีนิติบุคคลรายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

14.2) เป็นรายรับที่ได้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้น หรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินนั้น หรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

14.3)  สถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

15) กิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร เนื่องจาก

15.1) การรับไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝากหรือการไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝาก โดยการวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

15.2)  การขายอสังหาริมทรัพย์ภายหลังที่ได้ไถ่จากการขายฝาก ซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก่อนการขายฝาก ระยะเวลาระหว่างการขายฝาก และระยะเวลาภายหลักจากการขายฝากแล้วเกินห้าปี

16)  กิจการของรัฐวิสาหกิจในส่วนของรายรับที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ

17)  การขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทจำกัดที่สถาบันการเงินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดย           ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย

18)  การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบกิจการให้แก่องค์การฯ หรือบริษัทจำกัดตามข้อ 17) ลักษณะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเท่านั้น หากมีการประกอบกิจการอย่างอื่น กิจการอย่างอื่นอาจอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

4.2    รายรับที่ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มี 2 กรณีดังต่อไปนี้

4.2.1  กรณีการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะส่วนรายรับสำหรับกิจการธนาคาร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการฯ (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์

4.2.2   กรณีประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากรวางแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 กำหนดให้รายรับกรณีดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะรายรับกรณีดังนี้

1)  กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีนี้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม

2)  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินที่อื่นที่เหลืออยู่ไปฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่นโดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ ดอกเบี้ยนั้นเป็นรายรับที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม

ตามข้อ 1) และ 2) ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคาร กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วย การประกันชีวิต

3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ โดยคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร ไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นรวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

5.   ฐานภาษีและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ

ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเสียภาษีจากฐานภาษีคูณด้วยอัตราต่อไปนี้ และเสียภาษีท้องถิ่นควบคู่ไปด้วยอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว

กิจการ

ฐานภาษี

อัตราภาษีร้อยละ

1.  กิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

-  ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ  จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ

-  กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ  จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ

3.0

 

 

 

 

3.0

2.  กิจการรับประกันชีวิต

-  ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ

2.5

3.  กิจการโรงรับจำนำ

-  ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม

- เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ  อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายของที่จำนำหลุดเป็นสิทธิ

2.5

2.5

4.  การค้าอสังหาริมทรัพย์

-  รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

3.0

5. การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

-  รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

            0.1 (ยกเว้น)

6. การซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

-  กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ  จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ย เงินปันผล หรือผลประโยชน์ใดๆ  ที่ได้จากหลักทรัพย์

3.0

7.  ธุรกิจแฟ็กเตอริง

-  ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ

3.0

 

ข้อสังเกต

1. คำว่า “ขาย” หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ และรายรับที่ใช้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์นั้น มีแนวทางปฏิบัติกำหนดว่าให้เปรียบเทียบราคาขายกับราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาใดสูงกว่าก็ให้ถือราคานั้นเป็นรายรับในการคำนวณภาษี

2. การคำนวณฐานภาษีหรือรายรับให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้

3. ถ้าในเดือนภาษีใดภาษีธุรกิจเฉพาะมีจำนวนไม่ถึงร้อยบาท เดือนภาษีนั้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

4. ตามพระราชกฤษฎีการออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 402) ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ  จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 366) พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 0.1 เป็นการชั่วคราวสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 แต่เนื่องจากธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือด้านภาษีอากรจากภาครัฐต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการธุรกิจดังกล่าว อันจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป สมควรลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 0.1 เป็นการชั่วคราวสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2545 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

6.   การจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

ผู้ประกอบการที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะโดยยื่นคำขอจดทะเบียนตามแบบ ภ.ธ. 01 ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ หากผู้ประกอบการดังกล่าวประกอบกิจการลักษณะเป็นการชั่วคราวก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 1)ได้กำหนดให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นการประกอบกิจการชั่วคราว

6.1    การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ

6.2    กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์

6.3    การให้กู้ยืมเงินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่งให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราวมิใช่การประกอบกิจการเป็นปกติธุระ ในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักภาษีสรรพากรพื้นที่ (สพท.) อันเป็นสถานที่ตั้งสถานประกอบการ ในต่างจังหวัดให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือสำนักงานสรรพากรจังหวัดในกรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง แล้วแต่กรณี

เมื่อเลิกกิจการ ย้ายสถานประกอบการ โอนกิจการ หรือเปลี่ยนแปลงรายการที่ประกอบกิจการ ผู้ประกอบการมีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามแบบ ภ.ธ. 09 ต่อสำนักงานสรรพากรที่ได้จดทะเบียนไว้ภายใน 15 วันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง

7.   การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี

ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ธ. 40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป การยื่นแบบ ภ.ธ. 40 และชำระภาษีให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ถ้ามีสถานประกอบการหลายแห่ง (หรือหลายสาขา) ให้แยกยื่นแบบ ภ.ธ. 40 เป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่มีความประสงค์จะขอยื่นแบบ ภ.ธ. 40 รวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอ (หรือเขต) ก็ให้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อน และให้ยื่นแบบ ภ.ธ. 40 รวมกันได้เมื่อได้รับอนุมัติแล้วเท่านั้น

สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 นั้น ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณจากฐานภาษี คือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ  ในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นตามอัตราภาษีที่กำหนด คือ ร้อยละ 3.3 (รวมภาษีท้องถิ่น) รวมทั้งมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษี ผู้มีหน้าที่เสียภาษีกรณีดังกล่าวนี้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น และในการชำระภาษีนั้นให้กรมที่ดินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากรและห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาณีที่ต้องชำระให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ภาษีที่ได้ชำระแล้วนี้ให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

หมายเลขบันทึก: 300452เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท