การนิเทศภายในโดยใช้กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ


การนิเทศ

การนิเทศภายในโดยใช้กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ

 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่  2)  พ.ศ.  2545มาตราที่ 6 บัญญัติว่า การจัดการศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคน ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา. 2547 : 5 )  การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน  อีกทั้งส่งผลเกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านของประเทศ เช่นเดียวกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. 2544   ที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   เป็นคนดี   มีปัญญา   มีความสุข และมีความเป็นไทย   มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ  ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ( กระทรวงศึกษาธิการ. 2545 : 4 )  กล่าวคือ   เห็นคุณค่าของตนเอง  มีวินัยในตนเอง  ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา  หรือศาสนา  ที่ตนนับถือ  มีคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์  มีความคิดสร้างสรรค์  ใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  รักการอ่าน  รักการเขียนและรักการค้นคว้า   มีความรู้อันเป็นสากล  รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ  มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ  การสื่อสารและ   การใช้เทคโนโลยี  ปรับวิธีการคิด  วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์   มีทักษะและกระบวนการ  โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ทักษะการคิด  การสร้างปัญญา  และทักษะในการดำเนินชีวิต รักการออกกำลังกาย  ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี  มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค  มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าเป็นผู้บริโภค เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย  ภูมิใจในความเป็นไทย  เป็นพลเมืองดียึดมั่นในวิถีชีวิต  และการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณี  กีฬา  ภูมิปัญญาไทย  ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม  รักประเทศชาติและท้องถิ่น  มุ่งทำประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคม

การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่มีระบบการชี้แนะ แนะนำ และให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมของครูในการปรับปรุงการเรียนการสอน การปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้   ซึ่งการนิเทศการศึกษาจึงมีหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่จะพัฒนาครูและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ คือ การนิเทศภายใน เนื่องจากการนิเทศภายในเป็นกระบวนการส่งเสริม สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับบุคลากรในโรงเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครูให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและพัฒนางานให้มีคุณภาพ อันที่จะส่งผลให้ผู้เรียนได้พัฒนาพฤติกรรมและความสามารถที่พึงประสงค์ต่อเนื่องไปตามพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสมตามวัย และศักยภาพของแต่ละบุคคล (สุเวทิน ไกรนรา. 2542 : 6)   จากการศึกษาขอบข่ายและกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน จะพบว่าการนิเทศภายในโรงเรียนเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยรวมทั้งด้านบุคลากร การดำเนินการและการประเมินผล แต่การนิเทศติดตามผลการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนที่ผ่านมา ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร กล่าวคือ การดำเนินงานนิเทศภายในโรงเรียน ยังไม่ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ( 2550 :  25 )ได้เสนอแนะในการประเมินรอบที่  2  ของโรงเรียนวัดโคกทราง  ไว้ว่าผู้บริหารควรนิเทศติดตามประเมินผลเปรียบเทียบกับเป้าหมาย นำผลการประเมินมาปรับปรุงงาน  มีการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม การจัดการเรียนรู้ มีสื่ออุปกรณ์ที่เพียงพอเหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้  มีการปรับปรุงสาระการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น  มีสื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมมาร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตร

การนิเทศภายในโรงเรียนกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ   เป็นการประชุมเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกันในระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสมาชิกจะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และลงมือปฏิบัติหรือทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งร่วมกันไปด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมปฏิบัติการจึงต้องมีผลลัพธ์หรือผลงานจากการปฏิบัติงานร่วมกัน หรือมีการนำผลงานจากการประชุมเชิงปฏิบัติการไปปรับปรุงหรือพัฒนาให้แล้วเสร็จภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นไปแล้ว เช่น การ

ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อสอบมาตรฐาน การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่างแผนพัฒนา ฯ เป็นต้น  ( http://pises.exteen.com/     เข้าถึงเมื่อ 

25 กรกฎาคม  2552 ) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ สมาชิกในการประชุมจะต้องร่วมกันศึกษา รับฟังการบรรยาย หรือ ศึกษาค้นคว้า ทำความเข้า และฝึกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพใน การปฏิบัติงานเฉพาะอย่าง ตามหัวข้อของการประชุมปฏิบัติการครั้งนั้น ๆ หลักสำคัญของ      

การประชุมแบบนี้คือ การเรียนรู้ – ฝึกปฏิบัติ – แล้วนำไปปฏิบัติในการปฏิบัติงานจริง        การจัดการประชุมแบบนี้ จึงต้องมีเอกสาร มีหนังสือ มีรายละเอียดและข้อมูล ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ เพื่อประกอบการศึกษาและเพื่อการฝึกปฏิบัติ ซึ่งต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าให้พร้อม เพื่อผู้เข้าประชุมจะใช้ประโยชน์ได้ทันทีในการฝึกปฏิบัติตามกำหนดการ หรือตามตารางการปฏิบัติ ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะจุดเน้นจะอยู่ที่การปฏิบัติได้เป็นการแก้ปัญหาด้วยภาคปฏิบัติเน้นการปฏิบัติการมากกว่าการบรรยายหรือการอภิปรายมุ่งปรับปรุงความสามารถและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานของสมาชิกแต่ละคน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการงานหรือวิชาชีพ ลักษณะเฉพาะของการประชุมแบบ  Workshop   คือมีการกำหนด จัดทำปฏิทินของการประชุมเชิงปฏิบัติการชัดเจน กำหนดสิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ ไว้เห็นได้ชัด และมีกำหนดการ หรือตารางดำเนินงานในการประชุมและการฝึกหัด ที่สัมพันธ์กับเรื่องที่จัดประชุม  มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ การเพิ่มพูนทักษะ ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของ        การปฏิบัติงานในเรื่องที่จัดประชุมปฏิบัติการนั้น ๆ โดยตรง  มีการเตรียมในด้านวัสดุอุปกรณ์ สถานที่ เอกสาร ข้อมูลที่จำเป็นให้พร้อม เพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติสำหรับสมาชิกโดยเฉพาะ         มี  การฝึก / ทดลองปฏิบัติการ หรือ มีการฝึกปฏิบัติกิจกรรมในเรื่องที่จัดประชุม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุม   จุดเน้นของการประชุมปฏิบัติการนี้ อยู่ที่การเตรียมคนให้มีความพร้อมสูง ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในเรื่องที่จัดประชุม และสามารถนำไปใช้ใน    การปฏิบัติงานจริงได้  การประชุมในลักษณะดังกล่าวนี้ ปกติแล้ว จะมีทั้งการให้ความรู้ (ซึ่งได้เลือกและเตรียมการไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างดีแล้ว) และการฝึกปฏิบัติควบคู่กัน แต่จุดเน้นที่สำคัญท้ายที่สุดแล้ว จะอยู่ที่ความสามารถในการปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติได้ ในการปฏิบัติงานจริง    (http://www.senate.go.th/km/  เข้าถึงเมื่อ 

25  กรกฎาคม  2552 )

ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนโดยใช้กิจกรรมการประชุม เชิงปฏิบัติการ  เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ   พัฒนาตน    ให้มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

               

หมายเลขบันทึก: 300221เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท