คุณธรรมและจริยธรรม (๓)


การบริหารจัดการการศึกษาที่ดีและเป็นธรรมนั้น จะวางแนวทางปฏิบัติให้ผู้อยู่ในภายใต้การนำของผู้นำให้ตระหนักรู้และสามารถนำไปปฏิบัติให้ตนเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้

หลักการพิจารณาพฤติกรรมทางคุณธรรมและจริยธรรม 

          ในการบริหารจัดการการศึกษาที่ดีและเป็นธรรมนั้น จะวางแนวทางปฏิบัติให้ผู้อยู่ในภายใต้การนำของผู้นำให้ตระหนักรู้และสามารถนำไปปฏิบัติให้ตนเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้ รวมทั้งกำกับตนเองให้เป็นผู้นำทางด้านคุณธรรมจริยธรรมด้วย ซึ่งประภาศรี   สีหอำไพ (2543) กล่าวว่า คุณค่าทางจริยธรรมชี้ให้เห็นความเจริญงอกงามในการดำรงชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผนตามวัฒนธรรมของบุคคลที่มีลักษณะทางจิตใจที่ดีงาม 

 1.  ธรรมชาติของจิตสำนึกของมนุษย์กับการกระทำที่ถูกต้อง

          มนุษย์มี จิตสำนึก คือ สติที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ มนุษย์จึงมีความแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น  ๆ คือ ไม่ได้การกระทำสิ่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่ด้วยสัญชาตญาณ แต่จะมีสติที่เป็นจิตสำนึกในการกระทำและตัดสินการกระทำนั้นด้วยความรู้สึกผิด ชอบ ชั่วดี และมีความละอายที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้สภาพทางด้านจิตใจ มีความรู้สึกที่กระสับกระส่าย ใจกวัดแกว่งซึ่งสามารถรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนเป็นสภาพของอารมณ์ บางครั้งการเคลื่อนไหวเกิดจากอารมณ์ที่เป็นสุขแต่ในบางครั้งการเคลื่อนไหวก็ก่อให้เกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ทุก ๆ ครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางอารมณ์ แสดงว่า จิตรู้ตัวว่ามีสิ่งกระตุ้นเร้าเกิดขึ้น แต่การควบคุมจิตให้สามารถรู้ตัวอยู่ได้ตลอดเวลาที่ถูกกระตุ้น และสามารถกำกับพฤติกรรมการตอบสนองต่อการถูกกระตุ้นนั้นได้ดีเพียงใด  

          ในส่วนที่เป็นจิตสำนึกที่เรียกว่า มโนธรรม พระเทวินทร์ เทวินโท (2544) กล่าวว่า เป็นความสำนึกของจิตทางศีลธรรมและความเมตตาปราณีที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ที่เป็นปฏิกิริยาภายในร่างกายและจิตใจที่เป็นความสำนึกที่บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรดี ชั่ว ถูก หรือผิด และอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ จิตสำนึกในความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเชื่อในเรื่องของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นได้อย่างไร มโนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดต่อการกระทำที่ควรทำหรือไม่ควรทำ มโนธรรมเป็นตัวกำกับให้บุคคลรู้และสำนึกว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ดี ชั่ว ถูกผิด การมีมโนธรรมเกิดขึ้น คือการมีความคิดเกิดขึ้นกับสิ่งต่าง  ๆ มโนธรรม มีความแตกต่างกับเจตคติของมนุษย์ ตรงที่ว่า เจตคตินั้นอาจไม่ได้มี ธรรม เป็นตัวกำหนดเสมอไป และมโนธรรมจะเกิดได้ต้องมีจิตสำนึกควบคู่กันไปด้วย การตัดสินพฤติกรรมด้านจริยธรรมของจิตจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถพิจารณาได้ด้วยความรู้สึกที่สัมผัสได้จากจิตของตนเองที่บ่งบอกถึงความรู้สึกอันเนื่องมาจากพฤติกรรมนั้น 

          การที่มนุษย์ เรียกตนเองว่าเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐซึ่งหมายถึง ผู้มีความเจริญในด้านจิตใจ มีมโนสำนึกอยู่ภายในตนซึ่ง มโนที่เป็นความคิดที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เรียกว่า มโนธรรม หรืออาจเรียกว่า จริยธรรม ส่วนคุณธรรมนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อธรรมนั้นเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นร่วมกัน ทั้งคุณธรรมจริยธรรมเมื่อนำมาเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารย่อมก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นในองค์การ จำเริญรัตน์ เจือจันทร์ (2537) อธิบายว่า มนุษย์มีความเชื่อว่าองค์การใดที่มีผู้บริหารที่ขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมและดำเนินกิจการและปกครองคนอย่างไร้คุณธรรมย่อมนำมาซึ่งสงครามของการแย่งชิงและทำลายล้างกัน มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้มุ่งจิตปรารถนาที่จะให้การศึกษาที่เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและแก่ชุมชนของโลกเป็นการศึกษาเพื่อการนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข  อันเป็นปรัชญาความคิดในด้านการนำการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการนำความสงบ ความสุข มาสู่โลกอย่างแท้จริง การที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ต้องมาจากจิตบริสุทธิของผู้ที่ทำหน้าที่

 

2.  มุมมองเกี่ยวกับตัวกำหนดพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม

          ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นคุณธรรมและจริยธรรมในแต่ละสังคมอาจจะแตกต่างกัน เพราะการเก็บสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ศาสนา และการศึกษาของคนในสังคมนั้น เช่นการคุมกำเนิดหรือการคืนของที่เก็บได้ให้แก่เจ้าของนั้น ในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ในบางสังคมและบางวัฒนธรรม อาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาหรือเป็นความโง่ที่จะกระทำเช่นนั้น ดังนั้นการนำเอาคุณธรรมในสังคมหนึ่งไปตัดสินคุณธรรมในอีกสังคมหนึ่งนั้นย่อมเป็นการไม่เหมาะสม จึงมีการแสวงหาหลักเกณฑ์อื่นในการตัดสินคุณภาพทางจิตใจของคน

          วูด (Wood, 2001) กล่าวว่า ตัวกำหนดพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคลอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังที่ได้นำความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยใช้มุมมองจากผลงานของนักปรัชญา เช่น จอห์ สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) จอห์น ล็อก (John Locke) และ โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

          1) มุมมองในด้านการกระทำที่ถูกนำไปพิจารณาว่า ถูกหรือผิดโดยยึดหลักการนำความสุขมากที่สุดมาสู่บุคคลส่วนใหญ่

          2) มุมในด้านเอกัตตบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอย่างยั่งยืน

          3) มุมมองในด้านความถูกต้องทางคุณธรรมซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์โดยส่วนรวม

          4) มุมมองด้านความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องจริยธรรมของการบริหารภาครัฐ วันที่ 9 กค. 48 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวถึงการจำแนกประเภทจริยธรรม ซึ่งท่านให้ข้อคิดว่าสามารถแบ่งจริยธรรมออกเป็น 2 มุมมอง คือ

          1) จริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  ในมุมมองนี้จริยธรรมของผู้บริหารรัฐ ข้าราชการและประชาชนต้องยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักนิติศาสตร์ พฤติกรรมที่ทำตามหน้าที่ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ 

          2) จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม เป็นจริยธรรมที่ยึดถือเป็นมาตรฐานของสังคม ตามมาตรฐานทางสังคม ซึ่งอาจมีศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มุมมองนี้อาจเป็นมุมมองของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะซึ่งถ้าจะให้เกิดความสมบูรณ์ในตัวจริยธรรแล้วต้องไม่ควรขัดกับหลักสากล

         ดังนั้นตามมุมมองที่กล่าวมานี้ เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม  แม้ว่าเกณฑ์การตัดสินความถูกผิดทางจริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์ใช้ในการตัดสินการกระทำว่า ทำอะไรเรียกว่าทำดี และทำอะไรเรียกว่าทำชั่ว และทำอะไรเรียกว่าทำถูก และทำอะไรเรียกว่าทำผิด แต่การตัดสินการกระทำเช่นนั้นอาจจะไม่ตายตัวเสมอไปเสียทีเดียว (พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544)

 

3.  หลักการพิจารณาเกณฑ์การตัดสินคุณธรรมและจริยธรรม

          คุณธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินพฤติกรรมจริยธรรมเกิดจากความพยายามที่จะตัดสินความถูกผิด นักปรัชญาในยุคเริ่มแรกได้ให้แนวคิดตามหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมและตามหลักธรรมชาติของการกระทำซึ่งเป็นหลักสากลของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

            โปรทากอรัส (Protagoras ) นักปรัชญาให้ข้อคิดในทางปรัชญาว่า มนุษย์แต่ละคนจะเป็นผู้ตัดสินดีชั่ว ถูกผิดกันเอง ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ได้สัมผัสจากประสาทสัมผัสทั้งห้านั้น จะเป็นตัวบ่งบอกว่าถูกต้องหรือไม่ และนั่นคือสัมผัสโดยตรงที่ทำให้มนุษย์มีประสบการณ์กับสิ่งนั้น อวัยวะรับสัมผัส ทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นอินทรีย์พิเศษที่มีอยู่ในตัวแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกความจริงภายในความคิดของบุคคล  ความจริงที่เป็นสากลตายตัว สำหรับทุกคนในโลกนี้จึงไม่มี ความดี ความชั่ว ความถูกผิด เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของแต่ละคนที่จะเป็นผู้ตัดสินเอาเอง และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนในสังคมนั้น

            โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes 1588-1679) เป็นนักปรัชญาอีกผู้หนึ่งที่ที่มีความเชื่อว่าสิ่งที่บอกได้ว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งถูก หรือผิดนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ทำการตัดสิน เนื่องจากผู้ตัดสินความถูกผิดคือมนุษย์ ซึ่งก็มักจะมีกรอบของความรู้สึกของตนต่อสิ่งนั้นอยู่ด้วย เช่น ชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความเป็นจริงในโลกนี้ว่าไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่แท้จริงอยู่ในตัวของมันเอง คนที่เกลียดสิ่งใดก็มักจะกล่าวว่าสิ่งนั้นไม่ดี ชั่ว หรือเลว จึงเชื่อได้ว่าความคิดในการตัดสินความดี ชั่วถูกผิดนี้สอดคล้องกับ ลักษณะสัมพัทธ์นิยม   

         โสคราติส (Socrates 470-399 B.C.) เป็นนักปรัชญาที่ให้แนวความคิดที่แตกต่างว่า ความถูกผิด เป็น สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้อย่างแน่นอน ไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้นมาเอง และไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์แต่ละคนจะเป็นผู้ตัดสินถูกผิดเอาเองตามอารมณ์และความรู้สึก ตามความชอบใจหรือไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นเป็นเฉพาะตน แม้ว่าบุคคลจะยังไม่รู้อย่างแน่นอนว่า ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร  หรือความควรหรือไม่ควรกระทำคืออะไร และหลักเกณฑ์ ที่จะตัดสินความถูกผิดดีชั่วจะยังไม่มีแน่นอน ก็เป็นการไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะรีบตัดสินลงไปในทันที ควรที่จะต้องใช้หลักเหตุผลและใช้สติปัญญาวิเคราะห์พิจารณาหาความจริงที่ถ่องแท้ตามหลักสัจจธรรมและคุณธรรม ตามหลักเหตุผลที่จะบอกความจริง ความถูกต้องที่แน่นอนตลอดไป ดังนั้นต้องเชื่อว่าความจริงความถูกผิดเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างแน่นอนตายตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของมนุษย์

          คานท์ (Kant 1724-1802) มีปรัชญาที่เป็นความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขแต่เพียงอย่างเดียวแต่เกิดมาเพื่อการกระทำความดีมีศีลธรรม และศีลธรรมความสุขเป็นคนละสิ่งกัน เพราะการกระทำที่ผิดหลักศีลธรรมแม้จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนมากมายเพียงใดก็ยังเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายอยู่เช่นนั้น การกระทำดี ตามความคิดของ คานท์ คือ การใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายใด ๆ ของตนเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม

          คานท์ มีความคิดแย้งกับปรัชญาประโยชน์นิยมที่มุ่งการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข โดยมีเกณฑ์การตัดสินว่าการกระทำนั้นจะถูกหรือผิดหรือเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่นั้นอยู่ว่า ถ้าการกระทำสิ่งนั้นได้ผลดีและทำให้มนุษย์มีความสุขการกระทำสิ่งนั้นก็เป็นการกระทำที่ควรทำ แต่ถ้าทำแล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้มนุษย์มีความทุกข์การกระทำนั้นก็ผิดและไม่ควรทำ คานท์ กล่าวว่า ศีลธรรมมีคุณค่าอยู่ในตัวเองและมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองเช่นกัน การกระทำดีก็ไม่ใช่การให้ความสุขแก่ใครคนดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีความสุขหรือทำให้คนอื่นมีความสุข แต่คนดี คือ คนที่ทำตามกฎศีลธรรมโดยมิได้หวังประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะเพื่อตนเองหรือผู้อื่น คานท์ จึงเห็นว่าการทำดี คือ การทำตามกฎศีลธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ตัวอย่างเช่น การโกหกของหมอเพื่อประโยชน์แก่คนไข้ก็ยังถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม แม้ว่าการพูดความจริงของหมอทำให้คนไข้ช็อคตาย คานท์ ก็ยังถือว่าการพูดความจริงของหมอเป็นความกระทำที่ถูกต้องตามศีลธรรม เพราะการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ดีและมีค่าอยู่ในตนเอง ผลที่เกิดขึ้นจากการพูดความจริงไม่ทำให้ความดีของความจริงเปลี่ยนแปลงไป (พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544 หน้า 146)

          คานท์ กล่าวว่า การที่บุคคลมีแรงจูงใจทำให้อยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไร ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการคือ ประการแรก คือ เหตุผล ที่เกิดจากปัญญา ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ผิดหรือถูก การกระทำตามแรงกระตุ้นนี้เป็นการกระทำตามกฎศีลธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวมนุษย์ซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ ประการที่สอง คือ อารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเรียกว่ากิเลสตัณหา สิ่งนี้มักจะทำให้มนุษย์กันเหออกไปจากหลักการที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์ไป คิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำ คานท์ สรุปว่า คนที่ใช้หลักเหตุผลทุกคนจะต้องเห็นด้วยกับกฎศีลธรรมสากลสำหรับทุกคน 2 ประการ ได้แก่

          1) คนทุกคนจะทำตามหลักการที่คนทุกคนจงใจจะให้เป็นกฎสากลสำหรับทุกคน

          2) คนทุกคนจะไม่ใช้มนุษย์เพื่อเป็นเครื่องมือทำการใด ๆ แก่ตนเองและผู้อื่น เช่น การโกหกหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือในกรณีที่หมอโกหกคนไข้ก็เป็นการใช้คนที่เป็นคนไข้เป็นเครื่องมือแม้จะเพื่อคนไข้เอง

          โคห์ลเบอร์ค (Kohlberg) กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลว่ามีแนวคิดที่มีความแตกต่างกันซึ่งสามารถประเมินระดับขั้นของจริยธรรมได้ด้วยการประเมินความคิดของบุคคลต่อผลกรรมที่ใช้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม (สุภัททา ปิณฑะแพทย์, 2527) ดังนี้

          ระดับที่ 1 เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดอยู่ที่ผลกรรมที่เป็นการลงโทษ เช่นต้องทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ หรือต้องข้ามถนนตรงทางม้าลายมิฉะนั้นจะโดนตำรวจจับ ซึ่งพฤติกรรมด้านจริยธรรมนี้ใช้สิ่งเร้าภายนอกเป็นตัวกำกับ ดังนั้นถ้าเห็นตำรวจก็จะไม่กล้าข้ามถนนตามอำเภอใจ

          ระดับที่ 2 เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดอยู่ที่ ผลกรรมที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง หรือบางครั้งเพื่อความต้องการของคนอื่น และถือเกณฑ์ของกรรมสนองกรรมโดยตรง เช่น รดนำต้นไม้แม่จะได้ชมว่าเป็นเด็กดี อย่ารังแกสุนัขเพราะสุนัขเฝ้าบ้านให้  อย่าตีคนอื่นเพราะเขาจะตีเราตอบ

          ระดับที่ 3  เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดยู่ที่การยอมรับของคนอื่นเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เช่น เป็นผู้หญิงไม่ควรแสดงความรักต่อผู้ชายในที่สาธารณะหรือในที่เปิดเผยจะเป็นที่ดูหมิ่นของผู้พบเห็น

          ระดับที่ 4 เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดอยู่ที่ความเป็นระเบียบของสังคม และการทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม พฤติกรรมที่ถูกต้อง คือ การทำหน้าที่ของตน และการรักษาระเบียบและกฎเกณฑ์ทางสังคม

          ระดับที่ 5 เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดอยู่ที่การให้สัญญา โดยเฉพาะสัญญาสังคม พฤติกรรมที่ถูกต้อง คือ พฤติกรรมที่ตนส่วนใหญ่ในสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าดี มาตรฐานต่าง ๆ ไม่ตายตัวแน่นอนเหมือนจริยธรรมในระดับที่ 4 แต่เปลี่ยนแปลง  จริยธรรมปรชาธิปไตยเป็นจริยธรรมที่อยู่ในระดับที่ 5 นี้

          ระดับที่ 6 เกณฑ์การตัดสินความถูกผิดเป็นหลักการสากล เช่น ความยุติธรรม ความเสมอภาค และ ความเคารพในความเป็นมนุษย์

          จริยธรรมในระดับที่ 1 และ 2 เป็นจริยธรรมที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นเกณฑ์ที่ผูกพันโดยตรงกับการเสริมแรงและการลงโทษ

          จริยธรรมในระดับที่ 3 และ 4 เป็นเกณฑ์ที่มีการสั่งสอนอบรมในสังคม ส่วนระดับที่ 5 และที่ 6 อาจจะไม่พบเลยในบางสังคม เพราะเป็นระดับที่เกินเลยจากกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ที่ยึดถือปฏิบัติในสังคม 

4. เกณฑ์การกำหนดคุณค่าทางจริยธรรม

          คุณค่าทางจริยธรรม จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดระบบให้มีจิตที่ดีและวิญญาณที่ดีจากการได้รับ ได้สัมผัสและจับต้อง การให้คุณค่าทางจริยธรรมมีผลต่อการตัดสินว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่ชอบธรรมและพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรม

          4.1 การพิจารณาเกณฑ์การตัดสินคุณค่าภายนอกของจริยธรรม การพิจารณาตัดสินคุณค่าของจริยธรรมนี้ยึดมั่นอยู่ที่พฤติกรรมนิยมของกลุ่มนิยมซึ่งมีความแตกต่างกัน คือ

          1) สุขนิยมและอสุขนิยม นักสุขนิยมถือว่า ความสุข คือความดีและถือว่า ความรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งและไม่มีที่สิ้นสุด การดำรงชีวิตที่ดีเป็นการดำรงชีวิตที่มีความสุข ความสุขจึงมีความสอดคล้องกับหลักคุณธรรมและจริยธรรมเชิงพุทธปัญญา ถ้าร่างกายเป็นสุขก็จะเป็นพื้นฐานทำให้จิตเป็นสุขด้วย ดังนั้นสิ่งที่สร้างสุขคือสิ่งที่มีอยู่จริงสามารถจับต้องเป็นรูปธรรมได้  ดังนั้นเกณฑ์ในการตัดสินจริยธรรม คือ ความสุขที่ได้รับจากการสัมผัสและจับต้อง เกณฑ์ในการวัดความสุขเชิงปริมาณ 3 ประการ คือ ความเข้ม ความยั่งยืนและความแน่นอน ซึ่งจะเป็นคุณค่าทางจริยธรรมกับความสุขของตนเองและความสุขของผู้อื่น

          ส่วนคุณค่าทางจริยธรรมของนักอสุขนิยม  คือ คุณค่าของการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาที่เป็นสาเหตุของการเกิดทุกข์ กลุ่มนี้ ถือว่า อสาร ความงาม ความดี มีอยู่จริง ถ้าจิตดีร่างกายก็จะดีตามไปด้วย ความสุขทางกายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าสำหรับมนุษย์ผู้ประเสริฐ 

          2) มนุษยนิยม คุณค่าจริยธรรมตามแนวคิดของนักมนุษยนิยม คือการที่มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามทั้งร่างกายและจิตใจให้เกิดความสมดุล  ความสงบสุขของจิตใจและปัญญาความรู้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า กายและจิตเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อกายและจิตอยู่รวมกันเรียกว่า ชีวิต (สุภัททา ปิณฑะแพทย์ 2542 หน้า 1 อ้างถึงใน พระราชมุณี 2529) ความประสานกลมกลืนกันของร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์และทำให้ชีวิตมีคุณค่ามีหลายประการ เช่น ความสะดวกสบาย ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตทำงาน เป็นต้น ความสมดุลของชีวิตจึงเป็นคุณค่าทางจริยธรรมของนักมนุษยนิยม

          3.4.2 การพิจารณาเกณฑ์ตัดสินจากคุณค่าภายในของจริยธรรม การตัดสินในด้านจริยธรรมเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความหมายของจริยธรรม ผู้ตัดสินจะเป็นผู้ให้คุณค่าของความดี ความชั่ว ถูกต้องและ ผิด ว่าเป็นอย่างไรมีบริบทของการตัดสินในสองลักษณะ คือ ลักษณะสัมพัทธ์และลักษณะสัมบูรณ์

          1) การให้คุณค่าของจริยธรรมในลักษณะค่าสัมพัทธ์ ลักษณะสัมพัทธ์ หมายถึงการตัดสินความถูกผิดขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น ๆ ดังนั้นจึงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสิ่งอื่น ๆ เหล่านั้น เช่น อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาล เวลา สถานที่และบุคคล สำหรับเกณฑ์ที่เป็นไปตามลักษณะนี้นั้น มีความไม่แน่นอน บางครั้งอาจมีอารมณ์และความอคติทางด้านความคิดมาเกี่ยวข้อง เช่น การทำความผิดเนื่องจากมีความกตัญญูต้องนำเงินมารักษาแม่ที่เจ็บป่วย เป็นต้น

          ดังนั้นจะพบว่านักบริหารที่ให้คุณค่าในลักษณะ คือ จะมองว่าการกระทำอย่างหนึ่งจะดี ชั่ว ถูก หรือผิด จะต้องวางอยู่บนเงื่อนไขและปัจจัยอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ เพราะในสิ่งแวดล้อมหนึ่งการกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ในอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่ง การกระทำเช่นเดียวกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ ดี หรือถูกต้องก็ได้ ดังนั้นการกระทำจึงไม่ใช่สิ่งที่ดี ชั่วในตัวของมันเอง แต่สิ่งที่ดีหรือชั่วของการกระทำนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำว่าเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ๆ ส่วนใหญ่หรือไม่ หรือขึ้นอยู่ว่าใครเป็นผู้ตัดสินการกระทำนั้น เพราะผู้ตัดสินยินยอมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป โดยอาจตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความพอใจและความเข้าใจของตนเอง และเมื่อมีความเชื่อว่าความดีและความชั่วมีความไม่แน่นอนตายตัวแล้ว เกณฑ์ในการตัดสินจึงมีได้หลายเกณฑ์

          2) การให้คุณค่าจริยธรรมในลักษณะค่าสัมบูรณ์ ลักษณะสัมบูรณ์ คือสิ่งที่คงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งอื่น ๆ สิ่งใดก็ตามถ้ามีอยู่ เป็นอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่ว่าเวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งอื่น ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งนี้ก็ยังคงเป็นหลักยึดถือว่าเป็นสัจจะสำหรับเกณฑ์การตัดสินที่เป็นค่าสัมบูรณ์นั้นถ้าผู้บริหารตั้งอยู่บนความเชื่อที่ไม่มีเงื่อนไขของพฤติกรรมด้านจริยธรรมแล้วว่าเกณฑ์การตัดสินความดี ชั่ว ถูกหรือ ผิด มีความสัมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเอง ความดี ชั่ว ถูก หรือผิด มีความแน่นอนตายตัว เกณฑ์ในการวัดความชั่ว ดี ถูกและผิดอยู่เพียงกฎเกณฑ์เดียว และถ้ามีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปจะต้องมีเกณฑ์หนึ่งถูกและอีกเกณฑ์หนึ่งผิดอย่างแน่นอน เช่น การผู้ซื้อไม่คืนเงินทอนที่ผู้ขายทอนให้มาเกินจำนวนจริงจะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมอย่างแน่นอน  แม้ว่าเหตุผลของการไม่ยอมคืนเงินจะเป็นเพราะผู้ขายขายของเกินราคา หรือผู้ขายพูดจาไม่ดี หรือแม้แต่ว่าผู้ขายเคยทอนเงินผิดแล้วไม่ยอมรับก็ตาม เป็นต้น

          ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในทางจริยธรรมของนักบริหาร คือ ถ้าการกระทำอันหนึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมอย่างมากมายแต่วิธีการกระทำนั้นผิดศีลธรรม เราควรจะกระทำหรือไม่เราควรใช้เกณฑ์ใดเป็นหลักในการตัดสิน ธรรมชาติ ผลของการกระทำ หรือวิธีการกระทำ เป็นตัวตัดสินความถูกผิดของการกระทำที่เป็นปัญหานั้น

 

จรรยาบรรณวิชาชีพนักบริหารการศึกษาและมาตรฐานการปฏิบัติตน

          ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ คือนักบริหารการศึกษาซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติตนตามที่คุรุสภาได้ประกาศเป็นข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548   สำหรับมาตรฐานการปฏิบัติตนนี้   เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้บริหารที่มีต่อตนเอง  ต่อวิชาชีพ  และต่อผู้รับบริการ 

1.  ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพและมาตรฐานการปฏิบัติตน

          คำว่า วิชาชีพ เป็นคำที่แปลมาจากศัพท์ ภาษาอังกฤษ คือ คำว่า Profession ซึ่งหมายถึง อาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเป็นอาชีพที่ต้องการการศึกษาและการฝึกอบรมในระดับสูง (ส. เสถบุตร, 2536)   

          วิชาชีพ ตามที่ วริยา ชินวรรโณ (2546) แปลมาจากคำอธิบายของ วิลเบอร์ต อี มัวร์ (Wilbert E. Moore) มีความหมายว่า เป็นการประกอบอาชีพเต็มเวลา โดยผู้ประกอบอาชีพอุทิศตัวให้แก่อาชีพนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพนั้น ๆ อันเป็นผลที่ได้มาจากการฝึกอบรมหรือกาศึกษาตรงตามสาขาอาชีพ นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพจะต้องยึดมั่นอยู่กับกฎเกณฑ์ของการประกอบวิชาชีพ ปฏิบัติตนและให้บริการด้วยจิตสำนึกในวิชาชีพ ตลอดจนมีความเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพ อันเนื่องมาจากผู้ประกอบวิชาชีพมีความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพของตนในระดับสูง

 

          วิชาชีพ ตามความหมายที่ปรากฏในเอกสารมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา หมายถึง อาชีพที่ให้บริการแก่สาธารณชนที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะ ไม่ซ้ำซ้อนกับอาชีพอื่น และมีมาตรฐานในการประกอบอาชีพ โดยผู้ประกอบอาชีพต้องฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบอาชีพ ส่วนคำว่า อาชีพ จะมีความหมายเพียงกิจกรรมที่ต้องทำให้สำเร็จโดยมุ่งหวังค่าตอบแทนเพื่อการดำรงชีพ

          ความเป็นวิชาชีพหรือวิชาชีพนิยมนั้น เป็นสิ่งที่บุคคลถือว่าเป็นองค์ความรู้หรือความรอบรู้ของบุคคลที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นและยึดถือว่ามีค่าสมควรที่สาธารณชนจะยอมรับสถานภาพของอาชีพนั้น

          ติน ปรัชญพฤทธิ์ ได้นำเสนอเกณฑ์ของความเป็นวิชาชีพว่า เป็นความคาดหวังที่เกิดขึ้นได้ในระดับสังคมและระดับบุคคล ดังนี้

          1) เกณฑ์ของความเป็นวิชาชีพในระดับสังคม

                   (1) การประกอบอาชีพเต็มเวลา

                   (2)   การได้รับยอมรับแผนการจัดการศึกษาจากสมาคมวิชาชีพ

                   (3)   การมีสมาคมวิชาชีพและมีกฎหมายรองรับสถานภาพของวิชาชีพ

                   (4)   การมีจรรยาบรรณวิชาชีพ

                   (5)   การมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบ

                   (6)   การเป็นที่ยอมรับของสังคม

                   (7)   การมีความรอบรู้ในวิชาชีพ

                   (8)   การให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ

                   (9)   การมีความเป็นอิสระในวิชาชีพ

          2) เกณฑ์ของความเป็นวิชาชีพในระดับบุคคล

                   (1) การได้รับการศึกษาตรงตามสาขาวิชาที่ประกอบวิชาชีพ

                   (2)   การมีผู้ให้การสนับสนุนในการประกอบวิชาชีพ

                   (3)   การมีการวางแผนล่วงน้ามนการประกอบวิชาชีพ

                   (4)   การมีความตั้งใจแน่วแน่ในการประกอบวิชาชีพ

                   (5)   การมีความกระตือรือร้นในวิชาชีพ

                   (6)   การประพฤติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

                   (7)   การมีความจงรักภักดีต่อวิชาชีพ

                   (8)   การมองเห็นความก้าวหน้าในวิชาชีพ

                   (9)   การมีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

          คำว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ จึงเป็นคำที่นำมาใช้เพื่อเป็นข้อบังคับให้บุคคลในวิชาชีพหนึ่งพึงประพฤติปฏิบัติตาม โดยนำความหมายของคำว่า จริย ซึ่งแปลว่า การประพฤติดี และ ความหมายของคำว่า บรรณ คือข้อความที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกที่กำหนดไว้ มาใช้เพื่อสร้างบรรทัดฐานของวิชาชีพนั้น ๆ    

          มาตรฐานการปฏิบัติตน เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาโดย คุรุสภา เมื่อให้เป็นมาตรฐานด้านจรรยาบรรณสำหรับวิชาชีพทางการศึกษา จึงหมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประพฤติตนของผู้ประกอบอาชีพโดยมีจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นแนวทางและข้อพึงระวังในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียง ฐานะ เกียรติ และศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพตามแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ คุรุสภา จะกำหนดเป็นข้อบังคับต่อไปหากผู้ประกอบอาชีพผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจนได้รับการร้องเรียนถึงคุรุสภาแล้วผู้นั้นอาจถูกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ยกข้อกล่าวหา (2) ตักเตือน (3) ภาคทัณฑ์  (4) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี (5) เพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 54)

          นักบริหารการศึกษา ควรต้องยึดถือมาตรฐานการปฏ

หมายเลขบันทึก: 300102เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท