เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์


การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จะต้องพัฒนากำลังการผลิตของสมองให้เต็มที่ด้วย

จากการอ่านบทความเรื่อง เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของหนังสือโพสต์ทูเดย์ สรุปความได้ว่า

       การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จะต้องพัฒนากำลังการผลิตของสมองให้เต็มที่ด้วยวิธีการดังนี้ 
1. ฝึกคิดเชิงบวก (Positive Thinking)  การคิดเชิงบวก ไม่ใช่เป็นเพียงการมองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องแสวงหาโอกาสจากบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย เช่น
*
ถ้าเราตกงานเราก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองแบบเต็มเวลา
*
ถ้าเราอกหักก็คิดเสียว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิดโอกาสให้กับคนดีๆอีกหลายคนเข้ามาในชีวิตของเรา
*
ถ้าเราเครียดมากๆ ก็ให้คิดเสียว่าจะได้เป็นการทดสอบความแข่งแกร่งของจิตใจว่า
จะสามารถรับมือกับสภาพความเครียดได้มากน้อยเพียงใด
เพราะในอนาคตเราอาจจะ มีเรื่องที่เครียดมากกว่านี้ก็ได้
2.
ฝึกคิดย้อนศร (Backward Thinking)
ใครก็ตามที่คิดไปในแนวทางเดียวกันกับที่คนทั่วๆไปคิด ความคิดเราจะไม่เกิดความแตกต่าง
แต่เมื่อไหร่ก็ตามเราคิดสวนทางกับคนอื่น อาจจะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีๆขึ้นมาก็ได้
เราจะเห็นได้จากคนหลายคนได้ดีจากการทำธุรกิจที่ตรงกันข้ามจากคนอื่น เช่น ปกติรถเสียต้องพารถไปหาอู่ แต่เมื่อคิดใหม่คือเอาอู่ไปหารถ จึงทำให้เกิดธุรกิจบริการซ่อมรถฉุกเฉินขึ้นมามากมาย
แต่การคิดย้อนศรในลักษณะนี้ก่อให้เกิดธุรกิจอีกมากมาย ไม่ว่าการส่งดอกไม้ ร้านหนังสือ ร้านวีดีโอ เป็นต้นการคิดย้อนศรนี้จะช่วยให้เราไม่หลงไปกับกระแสของสังคม
การฝึกคิดเช่นนี้บ่อยๆ จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวได้ดีในกรณีที่กระแสเกิดการเปลี่ยนทิศอย่างกระทันหัน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราขับเข้าไปติดอยู่ในซอยตัน การพัฒนาศักยภาพทางการคิดก็เช่นเดียวกัน ต้องเตรียมพร้อมทั้งคิดไปข้างหน้าตามกระแส แต่อย่าลืมคิด ย้อนกลับหลังบ้างเป็นระยะๆ
3.
ฝึกคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Thinking)
จากอดีตถึงปัจจุบันเราคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่า บางสิ่งบางอย่างที่เราเคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ในอดีต แต่ในปัจจุบันมันเป็นไปได้และเป็นไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ เหตุการณ์นี้ สถานที่นี้
มันอาจจะเป็นไปได้ในอนาคต ในเหตุการณ์ หรือสภาพแวดล้อมอื่นสถานที่อื่น ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าเพิ่งด่วนตัดทิ้งไป เพราะนั่นเท่ากับเป็นการดับอนาคตแห่งความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเองความคิดสร้างสรรค์แบบนี้ เราสามารถเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนต์การ์ตูน หรือภาพยนต์บางประเภทที่เราคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้ ถ้านำเอาความคิดในลักษณะนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานจะพบว่าเรามักจะตกหลุมพรางทางความคิดของเราเองกันอยู่บ่อยๆ พอคิดจะทำโน่นทำนี่ เราก็มักจะถูกขัดขวางด้วยความคิดที่ว่ามันทำไม่ได้หรอก ความคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายกับคนทำงาน สาเหตุที่สำคัญคือ เรามักจะนำเอาสภาพแวดล้อมภายนอกมาทำลายต้นกล้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเราเสียเอง ทำให้เราไม่มีโอกาสได้คิดไปถึงที่สุดว่าจริงๆแล้วที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วมันเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่
4 .
ฝึกคิดบนหลักของความเป็นจริง (Thinking Based Principle)
การฝึกคิดแบบนี้คือการคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยย้อนกลับไปหาหลักความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆว่าคืออะไร เช่น คนที่สามารถผลิตเครื่องบินได้นั้นจะต้องเข้าใจถึงหลักความเป็นจริงในเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกก่อนจึงจะสามารถออกแบบเครื่องบินได้ ต้องเข้าใจว่าการบินได้นั้น จะต้องมีพลังขับเคลื่อนเท่าไหร่ มีความเร็วเท่าไหร่ จึงจะสามารถหนีออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ถ้าเราพูดถึงการผ่าตัด เรามักจะยึดติดกับมีดเพียงอย่างเดียว แต่หลักความเป็นจริงของการผ่าหรือการตัด หมายถึง การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแยกออกจากกัน ถ้าเรายึดเอาวิธีการเป็นตัวตั้งเราก็จะตอบได้เพียงอย่างเดียวว่า การผ่าตัด คือการใช้มีด แต่ถ้าเราเอาหลักความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง วิธีการเป็นตัวตามแปร การผ่าตัดอาจจะทำได้มากกว่าการใช้มีด เช่น การใช้ความร้อน ใช้ลวด ใช้กรรไกร ใช้ความเย็น ใช้รังสี ใช้ความคมของกระดาษ เป็นต้น
5.
ฝึกคิดข้ามกล่องความรู้ (Lateral Thinking )
การคิดข้ามกล่องความรู้คือ การนำเอาความรู้ที่เรามีอยู่ในหัวในเรื่องต่างๆ มาคิดไขว้กัน
ยิ่งเรามีกล่องความรู้หลากหลาย โอกาสที่เราจะคิดข้ามกล่องเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ก็มีมากยิ่งขึ้น
ถ้าเรามีกล่องความรู้เพียง 2 กล่อง โอกาสที่เราจะคิดไขว้หรือข้ามกล่องก็มีเพียง 1 ชุด
แต่ถ้าเรามีกล่อง ความรู้ 3 กล่อง โอกาสที่เราจะคิดไขว้กันก็มีมากขึ้นเป็น 2 ชุด
ยิ่งมีกล่องมากเท่าไหร่ จำนวนชุดของความคิดไขว้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นทวีคูณ
6.
ฝึกคิดแบบแตกหน่อทางความคิด (Germination Thinking)
เป็นการคิดโดยกำหนดจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่ เป็นอยู่หรือมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วแตกความคิดออกไปสู่ทิศทางต่างๆ รอบตัว ดังภาพข้างล่างนี้



การคิดสร้างสรรค์แบบนี้จะช่วยให้ง่ายต่อการจัดกระบวนการคิด เพราะเป็นการคิดพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วเพิ่มสิ่งใหม่ๆ เข้ามาที่ละเล็กละน้อย จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าเมื่อเราคิดแตกหน่อจากปากกาออกไปเป็นปากกาไม่ต้องเติมน้ำหมึกแล้วก็สามารถคิดต่อไปอีกว่าปากกาที่ไม่ต้องเติมน้ำหมึกนั้น สามารถพัฒนาต่อในด้านอื่นๆอีกหรือไม่ เมื่อเราคิดพัฒนาแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าความคิดที่หน่อสุดท้าย อาจจะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับจุดเริ่มต้น(ปากกา)
การคิดในลักษณะนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการคิดข้ามกล่องเข้ามาช่วยในการคิดแตกหน่อจากหน่อเดิมไปสู่หน่อใหม่ๆ และที่สำคัญเราสามารถมองเห็นทั้งกระบวนการคิดและผลลัพธ์ทางการคิดในลักษณะของแผนผังความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน

         สรุปจากวิธีการฝึกเพื่อพัฒนาศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว จะเห็นว่าเราสามารถพัฒนารูปแบบการคิดของเราได้ หลายวิธี เพียงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับการคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจัง นำเอาวิธีการดังกล่าวนี้ไปฝึกคิดกับเหตุการณ์ ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถพัฒนาศักยภาพการคิดให้สูงขึ้นไปได้

 

 ที่มา หนังสือโพสต์ทูเดย์

หมายเลขบันทึก: 299961เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอขอบคุณ คุณรัฐกานต์ที่เข้ามาแวะชมค่ะ

เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคนค่ะ ยินดีด้วยนะครบ 20 เรื่องแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท