ผลงาน ความคิด ความตั้งใจของทีมเวชศาสตร์ครอบครัว พุทธชินราช


ที่ผมอยากทำมากๆ คือหาแนวร่วมที่เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์ GP ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ ดิฉันได้ส่งอี-เมล์ถึงคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ เพื่อถามข่าวคราวงานมหกรรมศูนย์สุขภาพชุมชน ที่จัดโดยคุณหมอนิพัธและทีมกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ ทีแรกดิฉันตั้งใจจะไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ติดงานประชุมวิชาการของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่จัดในวันเดียวกัน  

 

 คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์

ก่อนส่งอี-เมล์ได้คุยกับคุณรัชดา พิพัฒน์วงศ์ ทีมสุขศึกษาของคุณหมอนิพัธทางโทรศัพท์ ทราบว่ามีคนมาร่วมงานมหกรรมเยอะมาก คุณรัชดายังเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ได้เริ่มนำกระบวนการ KM ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานแล้ว น้ำเสียงของคุณรัชดาแจ่มใส ดูมีความสุข มีความกระตือรือร้น และบอกด้วยว่าได้ความคิดนี้จากการเข้าร่วมตลาดนัดความรู้ของเรานั่นเอง

คุณหมอนิพัธ ตอบอี-เมล์มาตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม อ่านแล้วรู้สึกชื่นใจ (จริงๆ) จึงขออนุญาต (ทางอี-เมล์) นำข้อความที่คุณหมอนิพัธเขียนมาลงในบล็อก เพื่อเผยแพร่ให้สมาชิกอื่นได้ทราบความเคลื่อนไหวด้วย

สวัสดีครับพี่วัลลา

เพิ่งเสร็จงานมหกรรมศูนย์สุขภาพชุมชน ครั้งที่ ๑ ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ครับ ถึงฝนจะตก น้ำท่วมภาคเหนือ แต่ก็มีผู้มาร่วมประชุมเยอะนะครับ สามร้อยกว่าคน เต็มห้องประชุมของโรงพยาบาลพุทธชินราชพอดี

เหนื่อย แต่ก็รู้สึกดี ที่ได้รับรู้ถึงความสนใจของคนทำงานพีซียูอย่างมาก มีการส่งประกวดผลงานด้านต่างๆ เช่น วิจัยชุมชน นวัตกรรม และการดูแลผู้ป่วย ทั้งหมดสามสิบกว่าเรื่องนะครับ

ก็สนุกสนาน ได้รับความรู้กันดี ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่เข้าใจ แนวทางทำงานคล้ายๆ กันหลายคน โดยเฉพาะงานที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้กัน ผมได้อะไรมากมายจากการจัดงานครั้งนี้ครับ

เรื่องเบาหวาน ตอนนี้คุยกับรัชดา ทีมสุขศึกษาของโรงพยาบาลแล้ว ว่าเราจะเน้นการปรับพฤติกรรมและเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในชมรมผู้ป่วยเบาหวานที่พีซียูที่เรารับผิดชอบอยู่ ต่อไปก็จะนำตัวแทนสมาชิกในชมรมของแต่ละตำบล มาคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการดูแลตนเอง คาดว่าจะได้ความรู้จากประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วยหลายๆ คน มาแบ่งปันกัน รวมถึงตัวผมเองจะได้เรียนรู้ด้วย แล้วผมจะให้รัชดากับพี่จำเนียรที่ไปอบรมคราวนั้นด้วยกัน เขียนลง blog นะครับ ผมไม่ค่อยชำนาญเรื่องพูดขีดเขียนเท่าใดนักน่ะครับ

พี่วัลลาจะมาเที่ยวพิษณุโลกเมื่อไร พี่บอกผมได้เลยนะครับ จะพยายามทำตัวให้ว่างเพื่อจะได้คุยกัน ให้พี่ช่วยแนะนำสิ่งที่เราทำในคลินิกเบาหวาน เวชศาสตร์ครอบครัว ถ้ามีเวลาจะพาพี่ไปดูกลุ่มผู้ป่วยที่จัดตั้งชมรมดูแลสุขภาพกันนะครับ

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากทำมากๆ คือหาแนวร่วมที่เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์ GP ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ร่วมกันสร้างระบบกระจายเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ให้มีแนวคิดและแนวทางการรักษาให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด แต่เท่าที่ลองถามๆ ดู ก็มักจะได้คำตอบว่างานเยอะ งานมาก แต่ผมก็จะพยายามหาทางทำให้ได้ต่อไปนะครับ

ผมไม่ใช่ผู้รู้ในเรื่องเบาหวานอย่างผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็พยายามเสาะแสวงหาความรู้ให้มากที่สุด แต่ก็ยังตามไม่ค่อยจะทันนะครับ เรื่องนี้คงต้องเรียนรู้อย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าอาจารย์เทพและทีมคงจะกรุณาผมได้

ผมยินดีมากที่ได้รับเมล์จากพี่ ถ้ามีโอกาสคุยกันใหม่นะครับ ผมเปิดเมล์ทุกวัน ถ้าได้รับจะรีบตอบครับ

คุณหมอนิพัธออกตัวว่าเขียนไม่เก่ง แต่เนื้อหาที่คุณหมอเขียนมานั้น บอกถึงผลงานที่ทำ ความคิด ความตั้งใจได้อย่างชัดเจน ได้อารมณ์ มองเห็นภาพ ดิฉันได้ประสานความตั้งใจของคุณหมอ โดยไปเขียนความเห็นไว้ในบล็อกของแพทย์ทางเวชศาสตร์ครอบครัว ๒ บล็อกที่อยู่ใน gotoknow คือ doctor000.gotoknow.org ของคุณหมอสำเริง ไตรติวานันท์ โรงพยาบาลพนมสารคาม และ kraisorn.gotoknow.org ของคุณหมอไกรสร วรดิถี และจะส่งข่าวให้อาจารย์เทพทราบค่ะ

ดิฉันจะไปเยี่ยมทีมของคุณหมอนิพัธภายในเดือนกันยายนนี้ สมาชิกท่านใดสนใจจะสัญจรแบบ "เพื่อนเยี่ยมเพื่อน" โปรดติดต่อมานะคะ เราจะได้ทำ "Peer Assist" กันด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 2998เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2005 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท