กว่าจะมาถึงวันนี้ ตอนที่ 1 ฝึกเพลงฉ่อยส่งเสริมประชาธิปไตย


ผมจัดส่งแผ่นวีซีดีไปวันที่ 30 มิถุนายน 2552 (เป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร) เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้งหมดให้เหลือ 10 คณะ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

กว่าจะมาถึงวันนี้ 

เพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯ

โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1

ตอนที่ 1  ฝึกพลงฉ่อยส่งเสริมประชาธิปไตย

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

          วันที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจดจำและบันทึกเอาไว้เป็นการเตือนความทรงจำ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างมิใช่แค่เพียงความดีใจ การเสียใจ แต่เป็นความประทับใจที่มิอาจรู้ลืม  จำไปจนวันสิ้นลมหายใจยังมิอาจที่จะลืมได้ เพราะฉะนั้น อดีตที่ผ่านมา คือบทเรียนสอนใจ เตือนใจให้เรามีสติ ได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้เลือกทางเดินตาที่เราถนัด เรามีความสนใจ

          ผมเริ่มฝึกหัดเพลงฉ่อยให้กับนักเรียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 (18 ปีที่ผ่านมา) ใช้เพลงฉ่อยแสดงบนเวทีในงานต่าง ๆ แต่ก็ไม่บ่อย ไม่มากเท่ากับเพลงอีแซว จะว่าเพลงฉ่อยร้องยากก็ไม่เชิง (แต่ก็นับว่ายาก) เพราะเพลงฉ่อยร้องช้ากว่าเพลงอีแซว ฟังคำร้องได้ชัดเจน แต่หากจะร้องให้ถูกต้องตามรูปแบบ จะต้องฝึกฝนกันนานทีเดียวกว่าที่จะจับทางลงและตอนรับโดยเฉพาะเพลงเกริ่นเบิกโรง (ยากมาก ๆ)

          ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2552 ผมได้ทราบข่าวการประกวดเพลงพื้นบ้าน ของรัฐสภา ซึ่งมีการเชิญชวนให้โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ส่งวงเพลงพื้นบ้าน 4 ภาคเข้าประกวดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ผมเฝ้าติดตามมาตลอด แต่เด็ก ๆ ในวงยังมีความสามารถไม่ถึงขั้นที่จะไปประชันขันแข่งกับรุ่นพี่ ๆ  พอมาถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552  พี่สาวที่นับถือและสนิทกันมากคนหนึ่งโทรมาส่งข่าวในรายละเอียดให้ทราบเรื่องของการประกวดเพลงพื้นบ้านของรัฐสภา ผมจดรายละเอียดเอาไว้และติดตามดูรายละเอียด โดยเฉพาะกติกาการประกวดที่ชัดเจน ต่อมา รัฐสภาก็ส่งเอกสารโฆษณาเชิญชวนให้เข้าร่วมประกวดเพลงพื้นบ้าน

          ผมเริ่มนำเอาหัวข้อที่เป็นเรื่องบังคับมาศึกษา แยกแยะประเด็นหลัก ๆ ออกมาอย่างครบถ้วน เรื่องที่จะต้องนำเสนอคือ  “ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ส่วนชื่อกิจกรรมหรือการจัดงานในครั้งนี้ ใช้สโลแกนว่า “พื้นบ้านสานไทย สานใจเยาวชน” ชิงโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 840,000 บาท (แปดแสนสี่หมื่นบาท) แบ่งออกเป็น 4 ภาค ใครจะส่งผลงานการแสดงภาคไหนก็ได้ แต่จะต้องจัดส่งให้ตรงกับประเภทของเพลง  เช่น ภาคกลาง ประกวดเพลงฉ่อย โรงเรียนที่อยู่ทางภาคเหนือ จะจัดเพลงฉ่อยส่งไปก็ได้  เพราะเป็นการจัดประกวดที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนทั่วประเทศ

          ผมเรียกเด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ของผมทั้ง 16 คนมาปรึกษาหารือกัน ใครมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เด็ก ๆ ทุกคนต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งนี้  แต่กติกาจำกัดจำนวน เพลงฉ่อยวงหนึ่งจะมีผู้แสดงได้ไม่เกิน 10 คน นับรวมผู้ที่ให้จังหวะด้วย

          ผมให้ น.ส.ณิชกานต์ (ขวัญธณา) นรการ เป็นคนเลือกตัวผู้แสดง 10 คน ได้แก่

         1. น.ส.ณิชกานต์  นรการ            ม. 6/3 (หัวหน้าวง)

         2. น.ส.ยุวดี  มูลทองชุน              ม. 6/1 

         3. น.ส.ยุพาภรณ์ สุขเกษม          ม. 6/2

         4. น.ส.เฉลิมขวัญ นครพงษ์         ม. 6/3

         5. น.ส.สิรมาศ  โกลากุล             ม. 5/2  

         6. น.ส.ภาธิณี  นาคกลิ่นกุล         ม. 5/1 (ร้องนำหญิง)

         7. นายธีระพงษ์  พูลเกิด             ม. 5/4 (ร้องนำชาย)

         8. นายอนุสรณ์  นพวงค์              ปวช.ปีที่ 2

         9. ด.ช.สหรัฐ  อินทร์ละม่อม         ม. 4/5

        10. ด.ช.จิระพงศ์  มามีสุข             ม. 4/2

        

         ผมเริ่มเขียนเนื้อเพลงหรือบทร้องในทันที ใช้เวลาเขียนเนื้อร้องเพลงฉ่อยส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอยู่หลายวัน (4 - 5 วัน)  นำบทร้องไปให้พ่อเพลงและแม่เพลงลองฝึกร้องดู เด็ก ๆ บอกกับผมว่า เนื้อร้องเก็บคำไม่หมด ร้องยากมาก ผมจึงต้องนำให้ฟังหลายเที่ยว เด็ก ๆ ร้องตาม ก็ฝึกกันอย่างนี้ 1 สัปดาห์ (เน้นคนร้องหลัก) พอตกเย็นฝึกซ้อมเพลงอีแซวเสร็จ น้องท็อป กับ แป้งจะต้องอยู่ต่อเพื่อฝึกหัดทำขวัญนาคอยู่แล้ว ก็ให้ฝึกร้องเพลงฉ่อยควบคู่กันไปเลย 

เพลงฉ่อย  “พื้นบ้านสานไทย สานใจเยาวชน” (ฉบับย่อ)

(ชาย)    ชา ชะ ฉ่า ชา..... เอิ้ง เงอ... เอ่อ เอิง เง้ย...

           เยาวชน  มาชวนเชิญ    ขึ้นร้องเกริ่น  เพลงเบิกโรง

           ใช้ทำนองเพลงฉ่อย     ที่เหลือน้อยลง  

           มาสื่อสารทางตรง        ประชาธิปไตย

           ขอวิงวอนพ่อแม่           แล้วก็พี่น้อง  

           ลูกจึงได้เอ่ยคำร้อง       อธิบาย  เอย.... เอิ้ง เหง่อ เออ เอ๊ย..ไป  

(ลูกคู่)   ขอวิงวอนพ่อแม่ แล้วก็พี่น้อง   ลูกจึงได้เอ่ยคำร้อง อธิบาย  ลูกจึงได้เอ่ย

           คำร้อง  อธิบาย    เอย.. เอิ้ง เหง่อ เออ เอ๊ย.. ไป  ชะ ชา...

(ชาย)       เอ๊ย..พระบรมราโชวาท    ของพระเจ้าอยู่หัว

           รับรู้กันถ้วนทั่ว                  ทั้งประเทศไทย

(หญิง)   มาช่วยกันส่งเสริม             ให้คนดี

           ควบคุมคนไม่ดี                 เอาไว้ให้ได้

(ชาย)    ระบอบประชาธิปไตย         มิใช่แค่ไปเลือกตั้ง

           ต้องคอยระแวดระวัง          ความวุ่นวาย

(หญิง)   การเมืองการปกครอง         ทั่วท้องถิ่น

           ไม่ให้มีใครโกงกิน             ค้าก็กำไร

(ชาย)    รัฐบาลที่ได้  ความไว้ใจ     จากปวงชน

           ถึงได้คะแนนท่วมท้น        แต่ไม่ครองใจ

(หญิง)   มิติใหม่การเมืองต้องได้รับ  ความเห็นชอบ

           ต้องสามารถตรวจ             ผู้แทนได้

(ชาย)    จะสวมเสื้อสีใด               ไม่สำคัญ

           มาร้องบอกทุกท่าน           เพื่อเตือนใจ  (เอ่ชา.. เอ๊ช้าชา ฉ่าชา หน่อยแม่..)

-------------------------

นายชำเลือง มณีวงษ์  โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ (เขียนบทร้อง)

        

         2 สัปดาห์ผ่านมาจึงพอร้องได้ ก็ให้ลูกคู่ 5 คน เข้ามาฝึกซ้อมร่วมด้วยในตอนเย็นวันอังคารและวันพฤหัสบดี และในสัปดาห์ต่อมาจึงให้ผู้ทำหน้าที่จังหวะ ตะโพน ฉิ่ง กรับ มาฝึกซ้อมร่วมกัน  ฝึกกันอยู่หลายวัน จนถึงปลายเดือนมิถุนายน จึงได้นัดหมายบันทึกวีซีดี เพื่อจัดส่งไปยัง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ถนนอู่ทองใน  เขตดุสิต  กรุงเทพฯ  ผมจัดส่งแผ่นวีซีดีไปวันที่ 30 มิถุนายน 2552 (เป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร)  เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้งหมดให้เหลือ  10 คณะ  ผลจะออกมาเป็นอย่างไร 

        

         โปรดติดตามในตอนที่ 2  เตรียมตัวเต็มที่แต่ยังไม่ดีพอ

 

หมายเลขบันทึก: 298855เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้สึกภาคภูมิใจอาจารย์มากที่ทำให้พวกหนูกล้าแสดงออกและเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เพลงฉ่อยเพลงอีแซวสืบทอดรุ่นต่อไป

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ทำให้หนูมีวันนี้

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท