อย่าให้คนไทยฝันค้างเรื่องการศึกษาของไทยนะรัฐนท่านนายกอภิสิทธ์


อย่าให้คนไทยฝันค้าง

อย่าให้คนไทยฝันค้างซ้ำซาก! [2 ม.ค. 52 - 16:47]

 

ปี 2552 ฤกษ์ดีปฏิรูปการศึกษารอบ 2 พร้อมเร่งเครื่องเรียนฟรีของจริง

ทำไม...“เด็กไทย ยิ่งนับวันยิ่งโง่” ???

ปุจฉาที่กลายเป็นคำถามแสลงใจผู้คนในสังคมไทยตลอดมา หลังได้รับรู้ถึงผลการทดสอบต่างๆ

เพราะไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ “โอเน็ต” ของนักเรียนชั้น ม.6 ประจำปีการศึกษา 2550 ซึ่งจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่พบว่าภาพรวมคะแนนโอเน็ตไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

เนื่องจากนักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยแต่ละวิชาอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าคะแนน จากคะแนนเต็มร้อย ซึ่งเท่ากับว่านักเรียนมีความรู้เพียง 1 ใน 3 จากความรู้ทั้งหมดที่ได้รับการถ่ายทอดจากครู

ตามมาติดๆ ด้วยผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ “เอเน็ต” ปี 2551 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งผลออกมาน่าตกใจไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่มีนักเรียนได้ 0 คะแนน แม้จะมีคนที่เป็นเลิศทำได้เต็ม 100 คะแนน แต่ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น เพราะคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 21.96 เท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าต่ำมาก ซ้ำร้ายยังลดลงจากปี 2550 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 27.09 ส่วนวิชาอื่นๆ คะแนนเฉลี่ยแทบไม่เกินครึ่ง จะมีเพียงภาษาไทยที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 50.26

ตอกย้ำด้วยผลการวิจัยระดับนานาชาติ โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปี 2550 (Trends in International Mathematics and Science Study 2007) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “TIMSS”

ยิ่งน่าวิตกเมื่อพบว่าเวลาที่ใช้สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในแต่ละคาบของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ โดยคณิตศาสตร์อยู่ที่ 441 คะแนน ลดลงจากการประเมินปี 2549 ถึง 26 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 471 คะแนน ลดลง 11 คะแนน

ปิดท้ายด้วย ผลการประเมินคุณภาพ ภายนอก จัดโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ประเมินโรงเรียนรอบที่ 2 ระหว่างปี 2549-2553 ขณะที่ช่วงเวลาการประเมินผ่านมาถึงครึ่งทาง จากโรงเรียนที่จะเข้ารับการประเมิน จำนวน 30,000 กว่าโรงทั่วประเทศ พบว่ามีโรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร่วม 20,000 โรง

ที่น่าห่วงที่สุด คือ ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่อยู่ในอาการขั้นโคม่า ขนาดต้องเข้ารับการเยียวยาและจับตา ดูแลอย่างใกล้ชิดมากถึง 15,000 โรง

ทั้งในการประชุม สัมมนา และเสวนาของนักวิชาการ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาหลายต่อหลายครั้งออกมาระบุตรงกันว่า เด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บางคนยังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ

ยิ่งทุกวันนี้ไม่ใช่ เฉพาะแค่เรื่องของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ยังต้องเผชิญกับสารพัดปัญหาที่กำลังวิกฤติในสังคม ไม่ว่าจะเป็น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย

อันควร การค้า ประเวณี ถูกล่วงละเมิดทางเพศ สื่อลามกอนาจาร ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง และปัญหาเด็กติดเกม ทุกปัญหาเหมือนจะยิ่งถาโถม และทวีความรุนแรงในการแทรกซึมเข้าคุกคามเยาวชนในรูปแบบต่างๆมากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของเยาวชนเอง ก็เหมือนตกอยู่ในสภาพ อาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กไทยยิ่งนับวันยิ่งเปราะบางในการต่อสู้หรือเผชิญปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบกับตัวเอง โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากการตัดสินใจผิดพลาด หรือการใช้อารมณ์เพียงชั่ววูบ ขาดสติในการไตร่ตรอง ทั้งการรับน้องหฤโหด การยกพวกตีกันโดยหลงติดยึดเรื่องศักดิ์ศรี การจับกลุ่มมั่วสุมเสพยาเสพติด และที่น่าเศร้าคือการตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง เพราะหาทางออกในปัญหาที่ต้องเผชิญไม่ได้

ยิ่งทำให้สังคมเกิดความกังขาว่า เด็กไทยยุคไฮเทค มีการเรียนการสอนกันอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ “ไอคิว” ตกต่ำเท่านั้น แต่ “อีคิว” ยังถดถอยตามไปด้วย

“ทีมการศึกษา” ขอเปิดศักราชปีฉลู ด้วยการโฟกัสปัญหาการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย

เริ่มที่ “การปฏิรูปการศึกษา” ผ่านมาแล้วถึง 9 ปี แต่กลับถูกมองจากส่วนต่างๆ ในสังคม ว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ “ล้มเหลว” เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปฏิรูปโครงสร้าง

ในขณะที่การปฏิรูปการเรียนรู้ และการปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็น “หัวใจหลัก” ที่จะนำพาการปฏิรูปการศึกษาให้ถึงฝั่งฝันกลับไปไม่ถึงไหน

และที่สำคัญคือ เรื่องของสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม เพราะโรงเรียนยังคงเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง ทั้งที่เป็นค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรม ค่าหนังสือเรียน และอื่นๆ อีกจิปาถะ ชนิดเรียกได้เต็มปากว่า “เรียนฟรี ไม่ฟรีจริง”

สอดรับกับเสียง สะท้อนจากเวทีสิทธิเด็กระดับชาติ ที่ชี้ประเด็นตรงกันถึงโอกาสและสิทธิทางการศึกษาที่ยังคงไม่เท่าเทียม และไม่ฟรีจริง แถมนโยบายการศึกษายังไม่ต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย จนทำให้เด็กเกิดความสับสน

ถึงวันนี้เรามีรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ที่ผ่านการเรียนรู้งานการศึกษามาเป็นอย่างดี ในฐานะรัฐมนตรีเงากระทรวงศึกษาธิการ

และที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ มีส่วนสำคัญในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จนนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา

ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ถึงกับเอ่ยปากอยากจะนั่งควบเก้าอี้ “เสนาบดีวังจันทรเกษม” แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นใจ จึงส่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มานั่งเก้าอี้ เสมา 1 แทน พร้อมส่ง 2 รัฐมนตรี คือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ มาช่วยงานด้านการศึกษาแบบครบเครื่องเต็มทีม

และถือฤกษ์ดี เวลา 08.29 น. ของวันที่ 24 ธ.ค. 2551 นายจุรินทร์ ขนาบข้างด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยของกระทรวงคุณครู ก็ก้าวเข้าสู่วังจันทรเกษม พร้อมกับการประกาศนโยบายชัดเจนที่จะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย

ทั้งประกาศจะส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเติมเต็มการจัดการศึกษาจากเดิมที่เน้นเฉพาะการศึกษาในระบบให้ครบวงจร

และที่เน้นเป็นพิเศษคือ การเรียนฟรี 15 ปี โดยมีเงื่อนเวลาที่จะต้องดำเนินการให้ทันในปีการศึกษา 2552 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.นี้

“เรียนฟรีจะต้องฟรีจริง”

คือคำประกาศที่ย้ำชัดเจนจากปากของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ บนเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ โดยจะมีการกำหนดเป็นหลักประกันการเรียนฟรีพื้นฐาน ว่าจะเรียนฟรีเรื่องใดบ้าง อาทิ ค่าเล่าเรียน ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน เป็นต้น

เหมือนเป็นการสร้างความหวังให้คนไทย และการอบของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่า เพราะทีมการศึกษา เชื่อมั่นว่า ประเทศชาติจะพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องอาศัยคนที่ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราอยากฝากไว้เป็นข้อคิด คือ ถ้าอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เป็น “ฝันที่เป็นจริง” กันแล้ว

อย่ามัวหลงทิศกับการให้ความสำคัญที่มุ่งเน้นเรื่องของโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการแยกประถมศึกษากับมัธยมศึกษา รวมทั้งข้อเสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ออกมากันอีกแล้ว

มากไปกว่าเรื่องของการปฏิรูปการเรียนการสอน ที่มุ่งหวังให้เด็กเป็น “ศูนย์กลางทางการเรียน” รวมถึงการปฏิรูปครู ซึ่งจะเป็นจักรกลสำคัญในการสร้างเด็กที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพราะหากครูยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพทั้งระบบ ก็อย่าหวังว่าคุณภาพของเด็กจะพัฒนาไปได้

ขณะที่เรื่องเรียนฟรี 15 ปีนั้น เมื่อรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนแล้ว ก็ต้อง เร่งเครื่องและทุ่มเทงบประมาณที่มีอยู่เพื่อสานฝันให้การเรียนฟรีเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นแค่เพียงลมปาก หรือความฝันลมๆ แล้งๆ

ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด การศึกษาจะต้องเน้นบ่มเพาะคนให้เป็น คนดี มีความรู้ และมีความสุข ในการดำรงชีวิต สามารถที่จะพึ่งพาตนเอง และพัฒนาประเทศได้

นั่นคือ ต้องให้การศึกษาสร้างคนไทยให้เกิดปัญญา และเรียนรู้ที่จะช่วยกันสร้างและพัฒนาประเทศ ไม่ใช่สร้างคนเก่งแต่ในที่สุดกลับกลายเป็นปัญหาต่อประเทศและส่วนรวม

ปีชวดผ่านพ้นไปแล้ว ปีฉลูกำลังเริ่มต้น ขอให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการถือฤกษ์ดี เดินเครื่องปฏิรูปการศึกษาเต็มสูบ และครบเครื่อง คือ การได้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม

อย่าให้เด็กไทยต้องชวดโอกาสทองของชีวิตเหมือนที่ผ่านมาอีกเลย

 

 

หมายเลขบันทึก: 298479เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเชียร์ด้วยคนค่ะ

อย่าให้คนไทยฝันค้างเลยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เด็กไม่ได้โง่นะ แต่ได้การพัฒนาที่ไม่ถูกทาง และไม่เต็มความสามารถของผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาต่างหาก

คุณภาพของเด็กไทยในปัจจุบันเริ่มลดน้อยถอยลงไป ในฐานะที่เราเป็นผู้สร้างเด็ก เราต้องร่วมแรง ร่วมใจพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท