10 ปีกับความล้มเหลวของการศึกษาไทย


ความล้มเหลวของการศึกษาไทย

ภายหลังจากที่ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คนแรกที่ดิฉันสนใจ คือ ใครจะมานั่งเก้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสียงลือเสียงเล่าอ้างในตอนแรกบอกว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะนั่งควบเก้าอี้ตัวนี้ ก็เลยเช็กเรตติ้งคนทำงานในแวดวงวิชาการ ปรากฏว่า ขานรับแต่โดยดี กระทั่งท้ายสุดมาลงเอยที่ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ก็เลยต้องเช็กกระแสเสียงอีกที

ถ้าใช้ภาษาวัยรุ่นก็ประมาณ so so…

ส่วนใหญ่จะบอกว่ารับได้ แต่ต้องขอดูก่อนว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ?

วันก่อนเห็นหน้าคุณจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่าจะเร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2

อืมม์...ข่าวดีหรือข่าวร้ายไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ การปฏิรูปการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ได้พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับปี 2542 ซึ่งขณะนั้นผู้คนในแวดวงวิชาการส่วนใหญ่ชื่นมื่นเพราะเข้าใจว่าจะทำให้การศึกษาในบ้านเราดีขึ้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี วันนี้พิสูจน์ชัดว่าการปฏิรูปการศึกษาในบ้านเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ..!!

หลังจากพยายามหาสาเหตุหลักๆ ของความล้มเหลวประมาณคร่าวๆ ได้ดังนี้

หนึ่ง – เรื่องบุคลากรทางการศึกษา

10 ปีผ่านไป เคยขาดแคลนบุคลากรอย่างไร ขาดคุณภาพอย่างไร ครูกับงานการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกันอย่างไร ก็ยังคงปัญหาอยู่ครบทุกประการ หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ

สอง – นโยบายที่ทำไม่ได้จริง

จากความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลให้เปลี่ยนตัวผู้นำกระทรวงบ่อยๆ แถมคนที่มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงก็เข้าข่ายมือใหม่หัดขับ ส่วนคนเก่งมีความรู้ความสามารถก็ไม่รู้ว่าเหตุไฉนใยอยู่ไม่ได้สักราย ท้ายสุดก็เลยทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาในบ้านเราไปไม่ถึงไหน และไม่สามารถสานต่อนโยบายได้อย่างจริงจัง ประกอบกับนโยบายบางอย่างก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น กรณีนโยบายเรียนฟรี 12 ปี แท้จริงแล้วไม่สามารถทำได้จริง..!!!

แม้จะบอกว่าเรียนฟรี แต่เอาเข้าจริงคนเป็นพ่อแม่ก็รู้อยู่ว่า ความจริงไม่ได้เรียนฟรีเลย ใบเสร็จอาจจะไม่มีค่าเล่าเรียน แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ไม่จ่ายไม่ได้ หนำซ้ำกลับมีค่าใช้จ่ายจุกจิกโน่นนี่ตลอดทั้งปีอีกต่างหาก เพราะช่องว่างของนโยบายนั่นเอง

สาม - เน้นการแข่งขันด้านวิชาการสุดลิ่ม

โครงสร้างการศึกษาในบ้านเราให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันเพื่อมุ่งเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความสำคัญของช่วงชีวิตมนุษย์ที่ควรจะได้รับการเรียนรู้และส่งเสริมศักยภาพของสมองมากที่สุดคือช่วงวัย 0-6 ปี

แม้พ่อแม่ในยุคปัจจุบันจะมีความเข้าใจในเรื่องการศึกษามากขึ้น เห็นความสำคัญในช่วงปฐมวัยมากขึ้น บางคนให้ลูกได้เตรียมความพร้อม โดยเลือกโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมให้ลูก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็เข้าสู่ระบบแพ้คัดออก โดยใช้การสอบแข่งขันอยู่ดี ท้ายสุดพ่อแม่ก็ไม่สามารถต้านกระแสการแข่งขันในรูปแบบนี้ได้ ก็ต้องผลักลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันอยู่ดี

ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ เมื่อเด็กที่ถูกเคี่ยวกร่ำอย่างหนักมาตลอดชีวิตเพื่อการสอบแข่งขันทุกระดับจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐได้แล้ว กลับไม่ค่อยเน้นเรื่องวิชาการในระดับปริญญาตรี กลายเป็นช่วงที่วัยหนุ่มสาวลดระดับเรื่องวิชาการ เริ่มปล่อยปละและหันไปให้ความสนใจกับชีวิตในด้านอื่นๆ บางคนที่เคยเคร่งกับการสอบมาตลอดชีวิตก็ปล่อยตัวปล่อยใจสุดฤทธิ์ในช่วงนี้

เด็กบางคนที่หลงแสงสีและเสียผู้เสียคนในช่วงนี้จึงมีให้ผู้ใหญ่พบเห็นได้มากมาย

สี่ - ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา

ในอดีตมาตรฐานการศึกษาไม่เท่าเทียมกันในสังคมเมืองและชนบท ขณะที่สังคมเมืองเองก็มีปัญหาเรื่องมาตราฐานการศึกษาไม่เท่ากันระหว่างโรงเรียน แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้แผ่ขยายไปสู่มาตราฐานการศึกษาไม่เท่ากันในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกัน เนื่องเพราะมีการแบ่งหลักสูตรหรือแบ่งห้องเรียนในระดับชั้นเดียวกัน โดยอาศัยช่องว่างทางการศึกษาในการเก็บเงินเพิ่มขึ้นจากการแบ่งหลักสูตรนั้นๆ เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งแบ่งห้องเรียนออกเป็นหลายหลักสูตร มีทั้งห้องพิเศษ, ห้อง Gifted, ห้องหลักสูตรภาษาอังกฤษ ฯลฯ และห้องเหล่านั้นจะมีค่าเทอมที่แพงกว่าห้องเรียนปกติ

และแน่นอนว่า พ่อแม่ทุกคนต่างอยากให้ลูกได้เรียนทุกห้องยกเว้นห้องเรียนธรรมดา

ห้า - หลักสูตรการศึกษาในระบบมีปัญหา

ในอดีตการเรียนกวดวิชาจะเน้นเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อน หรือเด็กที่ต้องการติวเพิ่มเติมเพราะเรียนไม่ทัน หรือเฉพาะช่วงต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ค่านิยมของการกวดวิชากลายเป็นว่าต้องเรียนให้เหนือกว่าในห้องเรียน ต้องเหนือกว่าเพื่อนคนอื่น หรือต้องเหนือกว่าระดับชั้นเรียนในปัจจุบัน จากที่เคยเรียนกวดวิชากันในระดับชั้นมัธยมปลาย ก็เริ่มขยับลงเรื่องๆ มาสู่มัธยมต้น ระดับประถม และปัจจุบันบางคนก็ติวตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ

คนแห่ไปกวดวิชา เพระไม่เชื่อมั่นการศึกษาในระบบ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ที่เปลี่ยนไป

ในขณะที่โรงเรียนเองก็มีการเรียนพิเศษทั้งช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ถ้าโรงเรียนไม่เปิดสอนเอง คุณครูหรืออาจารย์ก็จะเปิดสอนพิเศษเอง โดยสอนเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนของตนเองนั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับคุณครู แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทำไมถึงต้องเรียนพิเศษ เรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้นไม่พอเพียงหรือ แล้วโรงเรียนไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพียงพอหรือในการดูแลการเรียนการสอนของแต่ละสายชั้นหรือ ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนกลับสนับสนุนให้พ่อแม่พาลูกไปเรียนพิเศษ กวดวิชากันเอง

ปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่คุณครูในโรงเรียนสอนพิเศษเอง ทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่และสอนเฉพาะรายวิชานั้นๆ และสถาบันกวดวิชาข้ามชาติที่เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยมากมาย

ก่อนหน้านี้ รศ.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้วิจัยเรื่องการกวดวิชาของนักเรียน ในกลุ่มตัวอย่าง 3,353 คน ทั้งนักเรียนมัธยมปลาย นิสิตนักศึกษาผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ครู ผู้ปกครอง ตัวแทนโรงเรียนกวดวิชา พบ นักเรียนมัธยมปลายเกิน 30% เรียนกวดวิชา โดยผู้ที่กวดวิชาจะมีผลการเรียนดีกว่าผู้ที่ไม่กวด นักเรียนในเขตเมืองกวดวิชามากกว่าเขตนอกเมือง

มหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบการสอบเอนทรานซ์ มาเป็นแอดมิชชัน ให้มีสอบโอเน็ต เอเน็ต เก็บคะแนนจีพีเอ รวมทั้งสังคมที่แข่งขันสูง ทำให้มีการกวดวิชามากขึ้น และกวดกันตั้งแต่ระดับอนุบาลด้วยซ้ำ เชื่อว่ามีเด็กที่กวดวิชาไม่น้อยกว่า 40-50% ในปี 2549 ประมาณการณ์ว่ามีเด็กอยู่ในระบบการศึกษา ระดับ ป.1-ป.6 จำนวน 5,700,000 คน ระดับ ม.1-ม.6 จำนวน 4,660,000 คน รวม 10,360,000 คน

ในจำนวนนี้กวดวิชา 40% จำนวน 4,144,000 คน หากเรียนกวดวิชาอย่างน้อยคนละ 2 วิชา วิชาละ 2,500 บาท ก็เป็น 5,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 20,720 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คิดจากค่าเฉลี่ยต่ำสุด ถ้าคิดว่ากวดวิชาราว 50% จะเป็นเงิน 25,900 ล้านบาทต่อปี จึงน่าจะมีเงินหมุนเวียนตลาดนี้ปีละ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปี

หก - แปะเจี๊ยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ภาครัฐจะมีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องแปะเจี๊ยะมาโดยตลอด ทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งรับประกัน แต่

ลองไปถามพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงสิคะ แล้วจะรู้ว่าไม่ได้จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะหรอกค่ะ แต่เขาเรียกค่าอย่างอื่นที่สุดแท้แต่โรงเรียนจะสรรหาเรียกไป

ตราบใดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกันได้ หรือไม่เหลื่อมล้ำกันจนเกินไป ก็ไม่มีวันแก้ปัญหาเรื่องค่าแปะเจี๊ยะในสังคมไทยได้อย่างแน่นอน

เป็นไงคะ จากการประมวลปัญหาคร่าวๆ พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการจะปฏิรูปการศึกษายกสองกันบ้างหรือยัง

ดิฉันยังจำได้ดีว่าตั้งแต่ลูกเล็กจนปัจจุบันอายุเท่าห้วงเวลาปฏิรูปการศึกษาในวันนี้ เจอะเจอวังวนของปัญหาการศึกษาที่หันไปทางไหนก็ตีบตัน ต้องใช้สรรพกำลังและความพยายามอย่างมากที่จะไม่ตกเข้าไปในกับดักการศึกษาที่ท้ายสุดแล้วไม่แน่ใจจริงๆ ว่าจะการศึกษาในบ้านเราแท้จริงช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กจริงหรือ..!!




ที่มา - สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 24 ธันวาคม 2551 06:51 น. ผู้จัดการออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 298471เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดการบ่อมเพาะมาเรื่อยๆ ระบบการศึกษาไทยถึงแม้ว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษา แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ดีขึ้น ดิฉันคิดว่าควรจะรือกันทั้งระบบ พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ หรือผู้ดำเนินการให้ถ่องแท้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่แท้จริง

จะปฏิรูปรอบสองแล้ว จะเหมือนเดิมหรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท