ท.ร. ๔ ตอน ๑ : มรณบัตร (ธรรมดา) ของคน (ไม่) ธรรมดา


การนำเสนอ ท.ร. ๔ ตอน ๑ : มรณบัตร (ธรรมดา) ของคน (ไม่) ธรรมดา ในครั้งนี้ ได้แต่หวังว่าจะได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์ร่วมกันว่า "เหตุใดในบางสำนักทะเบียนถึงมีปัญหา ขณะที่ในบางสำนักทะเบียนกลับไม่มีปัญหา" ที่เป็นปัญหาเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมาย ข้อจำกัดที่ไม่มีช่องว่างเผื่อไว้ในระบบที่จัดวาง หรือเป็นเพราะปัญหาด้านการประสานงาน...


ระหว่างนี้ผมกำลังเขียนเอกสารงานชิ้นเล็กๆ ที่ตกค้างมานานนับปีอยู่ครับ
เป็นเอกสารกระบวนงานสวัสดิการสังคม-สังคมสงเคราะห์ ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง โดยหวังจะเริ่มแต่การประสานก่อนเข้ารับบริการในสถานสงเคราะห์จนถึงการพ้นสภาพการเป็นผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์ด้วยเหตุใดๆ

เป็นเอกสารที่อยากทำให้ออกมาในรูปการเป็นกึ่งๆ SOP : Standard Operating Procedure แต่ก็อยากให้มีชีวิตชีวาด้วยก็เลยต้องเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ (ความสำเร็จ-การแก้ไขปัญหา) ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผนวกเข้าไปด้วยในแต่ละกระบวนงาน พร้อมทั้งสารพัดเครื่องมือผนวกแนบท้าย ส่วนใครจะบอกว่าเป็น KM หรือถอดบทเรียนอะไรก็สุดแท้แต่จะว่ากัน

โดยหวังไว้ว่าถ้าเขียนเสร็จเมื่อไหร่คงได้มีโอกาสเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ แวดวงคนทำงานในสถานสงเคราะห์และหน่วยงาน/ภาคีที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการในสถานสงเคราะห์มานั่งจิบกาแฟวิพากษ์กันสักวัน

ทำไปทำมา เหมือนว่าเล่มจะใหญ่โตเกินไป และดูท่าจะเป็นงานใหญ่เกินตัว
ที่สำคัญ เป็นการเขียนภายใต้ข้อจำกัดของ "ประสบการณ์-ความหลัง" หลายๆ เรื่องย้อนกลับไปอ่านแล้วไม่ชัดเจนเพียงพอ  ขณะเดียวกันก็เขียนไปเรื่อยๆ ครับ ไม่ได้เรียงตามกระบวนงาน หากแต่เอาตามแต่ใจปรารถนา - - หวังในใจว่ากำหนดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้

พอดีว่าวันก่อนหมอหนิง : คุณสุจรรยา ละมุล พยาบาลเทคนิค ประจำสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เพิ่งส่งไฟล์เอกสารมรณบัตรกรณีพิเศษมาให้ตามคำร้องขอ ผมเลยนำเรื่องนี้มาชวนคุยเลยละกัน

 


****กรณี ๑ ท.ร. ๔ ตอน ๑ มรณบัตร นายน้อย (ไม่มีนามสกุล ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ไม่มีที่อยู่ ไม่มีอะไรเลย)****

 

ความยุ่งยาก : เมื่อผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์เสียชีวิต

พอดีว่าตอนนี้ผมกำลังเขียนกระบวนงานเรื่อง "เมื่อผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์เสียชีวิต"

แน่นอนครับว่า เป็นกระบวนงานที่ใหญ่โตเอาการอยู่ นับแต่ลักษณะหรือมูลเหตุของการเสียชีวิต สถานที่เสียชีวิต ฯลฯ กระบวนการติดตาม/แจ้งญาติ การจัดการศพ ไปจนถึงการจัดการเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับการตาย ฯลฯ เป็นเรื่องใหญ่โตอีกกระบวนงานหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงาน ทั้งข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการจัดการศพ

กรณีเสียชีวิตในสถานสงเคราะห์ ต้องแจ้งแพทย์+ตำรวจ เพื่อชันสูตรพลิกศพ
ประสานกับมูลนิธิ เพื่อขนส่งศพไปฝากยังโรงพยาบาลจังหวัดเป็นการชั่วคราว
ประสานกับเครือข่ายตำรวจเพื่อติดตามญาติ (กรณีมีทีอยู่) พร้อมกับหนังสือด่วนที่สุด
แจ้งเหตุการเสียชีวิตแก่ผู้นำชุมชน+เอกสารจากแพทย์+เจ้าพนักงานตำรวจ ยื่นยังสำนักทะเบียน
การจัดการมรณบัตร กรณีญาติแจ้งความประสงค์ขอรับฉบับจริงเพื่อใช้ประโยชน์มากกว่า ๑ ราย

ฯลฯ

ยังไม่นับรวมการประสานเพื่อความเข้าใจในกระบวนการ ผ่านรูปแบบของการแจ้งญาติก่อนเสียชีวิต (กรณีมีญาติและการเจ็บป่วยเรื้อรังและมีลักษณะทรงหรือทรุดอย่างต่อเนื่อง) และกรณีถูกญาติด่าทอต่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่รับผิดชอบชีวิตของญาติตนให้ดีพอ

 


****กรณี ๒ ท.ร. ๔ ตอน ๑ มรณบัตร นางแดง (ไม่มีนามสกุล ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ไม่มีที่อยู่ ไม่มีอะไรเลย)****

 

ความยุ่งยาก : กฎหมาย หรือการประสานงาน

ว่าจำเพาะการแจ้งเหตุการตายของผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ก็ดำเนินการตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฏร พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา ๒๑ (๑) คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนตายภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย ในกรณีที่ไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ (๒) คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพแล้วแต่กรณี.....

ตรงนี้ คือจุดที่ผมขีดเส้นย้ำแล้วย้ำอีกให้พี่ๆ น้องๆ ในสถานสงเคราะห์เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ละครับ
หน้าที่ในการแจ้งเหตุเป็นของเรา ขณะที่หน้าที่ในการออกเอกสารใดๆ เป็นเรื่องของนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามกฎหมาย

พูดง่าย แต่ไม่ง่ายหรอกครับ
เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก แต่ละคนก็มีข้อจำกัดในบทบาทและหน้าที่
หลายหน่วยงานมีปัญหาในการขอรับเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตของผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์ กรณีไม่มีรายละเอียดบุคคลดังกรณีของนายน้อย ซึ่งไม่มีรายละเอียดบุคคลใดๆ เลย


เมื่อครั้งปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์คนบ้านนิคมปรือใหญ่นั้น บทบาทสำคัญยิ่งที่หน่วยงานต้องดำเนินการคือ การนำเสนอรายละเอียดของกระบวนงานของผู้รับบริการเฉพาะกรณีให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นข้อจำกัดในการได้มาซึ่งข้อมูลบุคคล (ที่ถูกต้อง) และการเรียนรู้ถึงข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่/นายทะเบียนผู้รับแจ้งการตายด้วย

แน่นอนครับว่า กรณีเช่นนี้อาจต้องรอนานนับเดือนหรือมากกว่า
เป็นการรอภายใต้ข้อจำกัดของระบบ และเป็นการรอภายหลังจากที่ได้มีการทำความเข้าใจกันอย่างแนบแน่นถึงข้อจำกัดของกันและกัน

 


****กรณี ๓ ท.ร. ๔ ตอน ๑ มรณบัตร นายเพชร (มีนามสกุล แต่ไม่ตรงหรือปฏิเสธ ?)****

 

โดยทั่วไปแล้ว กระบวนงานเมื่อแรกรับสำหรับผู้รับบริการที่ไม่สามารถให้ข้อมูลบุคคลได้หรือให้ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ก็จะตรวจสอบข้อมูลบุคคลเบื้องต้น ที่ระบบฐานข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งได้มีการเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างสำนักบริหารการทะเบียน ต่อจากนั้นจึงไปติดต่อขอรับเอกสารยืนยันและรายละเอียดที่สำนักทะเบียนท้องที่

กรณีที่ผู้รับบริการสามารถบอกชื่อ-นามสกุลได้ แต่ไม่สามารถบอกที่อยู่ได้ ก็จะเกิดปัญหากรณีที่มีชื่อ-นามสกุลซ้ำกันละครับ ซึ่งจำเป็นต้องหาข้อมูลใกล้เคียงอย่างอื่นประกอบ ฯลฯ พร้อมทั้งมีหนังสือรบกวนไปยังบุคคลที่มีชื่อซ้ำ (ในเพศและวัยเดียวกัน)

แน่นอนครับว่า กระบวนการสอบประวัติมิได้ดำเนินการในรอบเดียว กระบวนการเดียว หากแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและหลากหลายวิธีการ วันนี้จำไม่ได้ เดือนหน้า หรือปีหน้าก็อาจจำได้ สัมภาษณ์แล้วจำไม่ได้ ก็ให้ลองเขียนดู ให้ลองเล่าประวัติดู ให้ลองพูดถึงเจ้าอาวาส กำนัน นายก อบต. ฯลฯ ที่คุ้นเคยดู ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อนำไปสู่การตอบคำถามว่า "Who am I ?"

แล้วถ้าเกิดเสียชีวิตละครับ ?
มีชื่อ มีนามสกุล แต่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นคนเดียวกันกับคนที่ปรากฏในฐานข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน

นี่ละครับที่เป็นปัญหาหนักอกของสถานสงเคราะห์ และของเจ้าหน้าที่ประจำสำนักทะเบียนท้องที่หลายที่หลายแห่ง การประสานงานได้กลายเป็นการประสานงา

ขณะที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่นั้นเป็นไปอย่างอิ่มเอิบใจครับ
เป็นไปอย่างอิ่มเอิบภายใต้การเข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่มีช่องว่างเผื่อไว้ในระบบที่จัดวาง


การนำเสนอ ท.ร. ๔ ตอน ๑ : มรณบัตร (ธรรมดา) ของคน (ไม่) ธรรมดา ในครั้งนี้
ได้แต่หวังว่าจะได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์ร่วมกันว่า "เหตุใดในบางสำนักทะเบียนถึงมีปัญหา ขณะที่ในบางสำนักทะเบียนกลับไม่มีปัญหา" ที่เป็นปัญหาเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมาย ข้อจำกัดที่ไม่มีช่องว่างเผื่อไว้ในระบบที่จัดวาง หรือเป็นเพราะปัญหาด้านการประสานงาน

ทั้งภาวนาว่าการนำเสนอ ท.ร. ๔ ตอน ๑ : มรณบัตร (ธรรมดา) ของคน (ไม่) ธรรมดา ในครั้งนี้ จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลที่มีชื่อปรากฏ ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักทะเบียนผู้รับแจ้งการตาย

อนึ่ง มูลนิธิสว่างจิตต์ธรรมสถาน (มูลนิธิศรีสะเกษสว่างจิตต์ธรรมสถาน) นั้น มีคุณูปการต่อสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่อย่างที่สุด ในการให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในการขนส่งศพผู้รับบริการเพื่อฝากไว้ยังโรงพยาบาลศรีสะเกษ ด้วยระยะทางเกือบ ๖๐ กิโลเมตร และการจัดการศพภายหลังติดตามญาติไม่ได้หรือกรณีญาติปฏิเสธการจัดการศพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

คุณสุมาลี กุลเกลี้ยง เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ มักจะปรากฏชื่อในมรณบัตรของผู้รับบริการที่เสียชีวิตในฐานะผู้แจ้งการตาย กรณีแจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เพราะเหตุเข้าจังหวัดแทบทุกวันเพื่อปฏิบัติงานด้านการเงิน/บัญชี

ขณะที่คุณขนิษฐา แสงรัมย์ เป็นพี่เลี้ยง/ผู้ดูแล คนเก่งของเรา ที่ต้องวิ่งประสานกับสำนักทะเบียนอำเภอขุขันธ์อยู่เนืองๆ


แล้วผมล่ะ ?

เปล่าครับ ผมไม่ได้ไปเอง ไม่ได้แจ้งเอง - ผมเป็นกองเชียร์ (ฮา)
ต่อเมื่อมีปัญหาในการให้ข้อมูลหรือประสานงานผมค่อยไป (แจ้ง) เอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 298456เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)


ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม

อาจร่วมเรียนรู้และเติมเต็มประสบการณ์ด้านการจัดการข้อมูลบุคคลในกรณีเจ้าตัวไม่สามารถให้ข้อมูลบุคคลได้ของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ด้วยการอ่านบันทึกที่เกี่ยวเนื่องกับบันทึกนี้ ได้ที่

ว่าด้วยการตั้งชื่อสมมติ ชื่อในฐานะเป็นสิ่งเรียกขาน
http://gotoknow.org/blog/preuyaihome/212714

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท