บทเรียนวงหารือร่างหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล


วงหารือร่างหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ภายใต้โครงการต้นกล้าอาชีพ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ฯ พระสุบิน ปณีโต วัดไผ่ล้อม จ.ตราด ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2552 โดยมีพี่ต๋อม ธีระ วัชรปราณี เป็นแกนประสานสนับสนุน นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ก่อการดีหลายภาคส่วน พอช.(คุณพรรณทิพย์ เพชรมาก คุณธนชัย อาจหาญ) พม.(คุณชินชัย ชี้เจริญ) สศค.(คุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์) กลุ่มต้นแบบด้านองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน 7 พื้นที่ ภาคเหนือ 1) ครูมุกดา อินต๊ะสาร เครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 2)พี่นกยุพิน เถาเปี้ยปลูก ออมบุญวันละ 1 บาทจังหวัดลำปางพร้อมที่ปรึกษาเรื่องโปรแกรมบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3)พ่อประจวบ แต่งทรัพย์ เครือข่ายออมทรัพย์บ้านขาม อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ  ภาคกลาง 4)คุณศิวโรฒ จิตนิยม สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่ายและกองทุนสวัสดิการตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี(ติดภารกิจด่วนไม่สามารถเข้าร่วมได้)  ภาคตะวันออก 5)พระอธิการมนัส ขนฺติธมฺโม เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี 6)พระสุบิน ปณีโต สัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จ.ตราด ภาคใต้ 7)พระสุวรรณ์ คเวสโก เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช(ฝากประเด็นมาท่านไม่สะดวกเข้าร่วมเนื่องจากอยู่ในช่วงเข้าพรรษา) และ 8)ดร.ครูชบ ยอดแก้ว สัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาทเพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ภาควิชาการ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ผศ.ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ภีม ภคเมธาวี)ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน อย่างเข้มข้นเกิดข้อสรุปเบื้องต้นจากวงหารือ

 

ภายใต้การอบรมต้นกล้าคุณธรรมสวัสดิการชุมชน(ชื่อใหม่)

กิจกรรมแรกซึ่งจะจัดในช่วงปลายตุลาคม เป็นกิจกรรมการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้กับศูนย์ 9 ศูนย์(5-10 คน) และทีมกรรมการกลาง อาทิ จาก พอช. พม. ภาควิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ สัมมนา ณ ศูนย์เรียนรู้ตราด(พระสุบิน)/จันทบุรี(พระอธิการมนัส)หลักสูตร 4 คืน 5 วัน เพื่อปรับฐานคิด วิธีคิด เน้นหลักคุณธรรม (ศูนย์แต่ละศูนย์รับผิดชอบงบประมาณการเดินทาง+พอช.งบประมาณหลักในการจัดกิจกรรมสัมมนา)

 

หลังจากนั้นศูนย์ทั้ง 9 ศูนย์/พอช./พม./ภาควิชาการ ก็จะอบรมต้นกล้า(ครู ก)จังหวัดละ 8-10 (76 จังหวัดประมาณ 760 คน) เป็นหลักสูตร 7 คืน 8 วัน เนื้อหาหลักสูตร/กิจกรรม ครอบคลุมเรื่องของคุณธรรมสวัสดิการชุมชน อาทิ

-          ความเข้าใจเรื่องการเงินชุมชนและสวัสดิการ ทิศทางอนาคตไทย

-          การบริหารจัดการกองทุนรูปแบบคุณธรรม

-          ศึกษาดูงานข้อมูลกลุ่ม/ตำบล(พื้นที่จริง)

-     ถอดบทเรียนจากพื้นที่ ทำบัญชีมือข้อมูลจริงจากกองทุน ข้อมูลสมาชิก บัญชีรับ บัญชีจ่าย/โปรแกรมบริหารงานกองทุนสวัสดิการชุมชน

-          การเชื่อมโยงการบูรณาการการทำงานกองทุน/กลุ่ม เครือข่ายระดับจังหวัด

-          กิจกรรมวางแผนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่

 

และหลักสูตรนี้ก็จะอบรมต้นกล้าจังหวัดละ 50-80 คน ณ ศูนย์ทั้ง 9 ศูนย์โดยมีวิทยากรประจำศูนย์และวิทยากรครู ก ช่วยกิจกรรมอบรม

 

ผลการหารือหลักสูตรฯจะนำเสนอต่อสภาพัฒน์คืบหน้าอย่างไรก็ต้องติดตามดูกัน แต่อย่างไรเสียผลที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้วนั้นคือการได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผนของหลายภาคส่วน จะได้ต่อยอดสู่การร่วมปฏิบัติตามแผน ร่วมแก้ปัญหา ร่วมรับประโยชน์ ร่วมประเมินและร่วมขยายผลต่อ(ตามหลักเจ็ดร่วมของพ่อชบ ยอดแก้ว )หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการได้รับการจัดสรรงบประมาณและระยะเวลารวมถึงบริบทต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงาน “ต้นกล้าคุณธรรมสวัสดิการชุมชน”

 

หยิบจับแง่คิดบางช่วงบางตอน

 

พระสุบิน ปณีโต

            “คนทำงานต้องเชื่อเรื่องธรรมะ ธรรมะ คือ ธรรมชาติ เราต้องเข้าใจกฎธรรมชาติ สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน การทำงาน เช่น หน้าที่ของชาวนา คือ ไถ หว่าน เปิดน้ำเข้าออกในนา ไม่ใช่ชาวนามีหน้าที่กำหนดให้ข้าวออกรวงเลย มันหลากหลาย ในส่วนของหลักสูตรหากจะพัฒนาได้ต้องพัฒนาที่ความคิดก่อน ทุกอย่างไม่ได้เป็นที่เงิน แต่เรานำเงินมาเป็นเครื่องมือ อาตมาอยู่ในชุมชนมาเกือบ 20 ปี มองว่าฐานความคิดของชุมชนยังอ่อนมาก ๆ การส่งเสริมหากจะให้ได้ผลดีต้องส่งเสริมกลุ่มที่มีอยู่แล้วจะได้เป็นแบบอย่างที่ดี ฉะนั้น ความคิด+การนำร่องกับกลุ่มที่ทำอยู่แล้ว+และหนุนเสริมให้กลุ่มใกล้ ๆ มาเรียนรู้ ถึงจะเกิดผล”

            “กติกาของพระพุทธเจ้าพระองค์จะแสดงธรรมกับคนที่คุยรู้เรื่อง+นักปฏิบัติ”

            “ทำงานให้บรรลุเป้าหมายของงานหรือทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของใคร”

            “เราต้องคิดที่จะสร้างไม่ใช่คิดแต่จะเอาในสิ่งที่สำเร็จบูรณาการยึดหลักธรรมะ”

            “ต้นไม้ไม่เคยขอใครไม่เคยเรียนแต่ยังช่วยตัวเองได้”

            “คิดจะออมต้องคิดที่จะบริหารสร้างสวัสดิการให้เกิดความเข้มแข็งต้องสร้างจากความคิด”

            “สวัสดิการสู่ความยั่งยืนบริหารจัดการทรัพย์ 4 ส่วน 1)ครอบครัว 2)ลงทุน 3)เสียภาษี 4)แก่ชรา”

            “เสาเข็ม คือ ความคิด เน้นการพัฒนาที่ความคิดก่อน ต้องสร้างฐานความคิดให้เข้มแข็ง ปรับวิธีคิดอย่างไรให้คิดอย่างถูกต้อง”

หมายเลขบันทึก: 298330เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะน้องแหม่ม

ขอให้งานประสบความสำเร็จสมดังมุ่งหวัง

ดูเหมือนจะรับเฉพาะผู้เรียนที่มีประสบการณ์ทำงานสวัสดิการชุมชนมาแล้วใช่ไหมคะ เพราะหลักสูตร 7 คืน 8 วัน คงจะสั้นไปสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ... ทำให้นึกถึงหลักสูตร MINI MBA ที่ใช้สร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ อะไรทำนองนั้น

วันนี้ได้อ่านข่าวเรื่อง "วิทยาลัยชุมชน" ทำให้รู้สึกเศร้าว่า สิ่งดีๆที่ชุมชนมีอยู่ ไม่ได้รับการเหลียวแลสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคีอื่นๆเท่าที่ควร ... ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้เลย.... ถ้าเราสามารถนำหลักสูตรดีๆ อย่างเช่น สวัสดิการชุมชน เข้าสู่วิทยาลัยชุมชนได้ด้วย ก็น่าจะเป็นคุณูปการที่ได้หนุนเสริมสิ่งดีๆที่มีอยู่แล้ว และสามารถถ่ายทอดสู่ผู้เรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้

ครูของวิทยาลัยชุมชน ก็น่าจะมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในโครงการนี้ด้วย

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

เป็นความก้าวหน้าของงานสวัสดิการชุมชน แบบก้าวกระโดด ยิ่งชื่นชมอย่างมากที่คณะทำงานเข้าใจว่า งานสวัสดิการชุมชนต้องเคลื่อนไปกับระบบคุณธรรม มีพระสงฆ์ สคล. สสส. เป็นสมองให้กับงานนี้

จิตใจ สุขภาพ คงจะได้โอกาสเติบโตอยู่กับเขาในสังคมนี้บ้างแล้วนะ

สวัสดีค่ะ อ.ปัท

ระยะต่อไปของโครงการ "ต้นกล้าคุณธรรมสวัสดิการชุมชน" คือมุ่งถึงการผลิตซ้ำผ่าน "วิทยาลัยองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน"ค่ะ ขับเคลื่อนคุณธรรมเชื่อต่อเครือข่ายพระสงฆ์

รักษาสุขภาพเช่นกันนะค่ะ

ติดตามบันทึกการลงพื้นที่ด้วยนะค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท