คำแนะนำสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอก ดร. ดิเรก วรรณเศียร


คำแนะนำสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอก ดร. ดิเรก วรรณเศียร

คำแนะนำสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอก

ดร.  ดิเรก  วรรณเศียร

     6 พฤศจิกายน 2548

 

             การศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้น เป็นการศึกษาในระดับสูงสุดทางวิชาการของศาสตร์ในแต่ละสาขา

  ผู้ที่กำลังศึกษาต้องระลึกและเตือนตนเองอยู่เสมอว่า ตนกำลังเตรียมตัวเป็น“คนชั้นนำของศาสตร์”ในสาขาที่

กำลังศึกษา ซึ่งต่อไปจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ขั้นสูงสุดในศาสตร์ในสาขาวิชานั้นๆ ของตน  และจะต้องกลายเป็น

ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในสาขาวิชานั้นในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ความรู้ขั้นสูงสุดยอดในสาขา

วิชาของตนในขณะนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน มีขอบข่ายครอบคลุมแค่ไหนเพียงใด และในปัจจุบันหรือ

ในขณะนั้น ความรู้ในสาขาวิชานั้นได้ก้าวหน้าไปถึงไหน อยู่ที่ไหน ในแวดวงวิชาการชั้นสูงของสาขาวิชานั้น

 มีใครหรือผู้ใดบ้างที่ได้รับการยกย่อง เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นปรมาจารย์ ในศาสตร์สาขานั้น เป็นผู้มีผลงาน

ทางวิชาการในสาขานั้นในระดับดีเด่น สุดยอดหรืออยู่ในแนวหน้า แต่ละท่านมีความดีเด่น ยอดเยี่ยมในเรื่อง

อะไร  เรื่องนั้นๆอยู่ในส่วนไหนของศาสตร์ในสาขา และปัจจุบันความรู้สุดยอดในแต่ละเรื่องของสาขานั้น

อยู่ในขั้นก้าวหน้าเพียงใด

 

นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ให้ได้ ต้องสั่งสมให้มีในตน โดยอาศัยตนเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใดสั่งสอน ต้องเพิ่มพูนให้ทันต่อความก้าวหน้า และทันต่อการเปลี่ยนทางวิชาการในสาขาของตนในช่วงระยะต่างๆอยู่เสมอ

             

การศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาบริหารการศึกษานั้นมีวัตถุประสงค์ดังนี้

 

  1. เพื่อการเป็นนักวิจัย เป็นผู้บุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ในศาสตร์สาขาและเป็นผู้รับผิดชอบการขยายขอบข่ายแห่งวิชาการในศาสตร์ของสาขาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า เป็นบทบาทในการขยายขอบฟ้าแห่งวิชาการ(Extend Horizon of Knowledge)
  2. เพื่อเป็นนักวิชาการ เป็นนักวิชาการชั้นสูงเฉพาะสาขา   เป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยหรือในสถาบันการศึกษาวิทยาการชั้นสูง
  3. เพื่อเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional)  ระดับสูง  ด้านการบริหารการศึกษา

            

             จะเห็นได้ว่า การที่จะมีลักษณะดังกล่าวเหล่านี้ได้ จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักสั่งสม ต้องเป็นผู้รู้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงสุดยอดในศาสตร์เท่านั้น จึงจะปฏิบัติได้ดีจริงๆ และจากการเป็นสุดยอดในศาสตร์ในสาขาวิชาของตนนี้เอง จึงต้องมีภารกิจ มีบทบาทและความรับผิดชอบทางวิชาการในการยังความเจริญก้าวหน้าให้แก่ศาสตร์ในสาขาของตนต่อไป ไม่มีสิ้นสุด ต้องมีบทบาทตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพหรือตามหลักจริยธรรมทางวิชาการชั้นสูง  ซึ่งถูกคาดหวังให้เป็นผู้ที่ต้องมีบทบาทในฐานะเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้แสวงหา และเป็นผู้นำในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยในวิทยาการให้ก้าวหน้า  ทำหน้าที่เปิดขยายสิ่งที่เรียกกันว่าขอบฟ้าแห่งวิชาการให้ขยายวงกว้าง และก้าวหน้าต่อไป  

 

                สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาการบริหารการศึกษา ข้อแนะนำต่อไปนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการสร้างคุณลักษณะ อุปนิสัย มีพฤติกรรม ตลอดจนมีจิตสำนึกในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิขั้นสูง  ในฐานะที่จะเป็น“ผู้รู้-ผู้คงแก่เรียน(Scholar)” ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ถือคบเพลิงนำทาง ที่ให้แสงสว่างทางวิชาการและทางปัญญาแก่ชนรุ่นหลังต่อไป  

 

สิ่งที่พึงเข้าใจและยึดถือปฏิบัติ ที่เป็นข้อแนะนำสำหรับการฝึกฝนตนเองในขั้นต้น มีดังนี้ 

 

  1. 1.              การศึกษา การแสวงหาความรู้ในทุกเรื่องทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในวิชาที่กำลังศึกษาและตามหลักสูตรนั้น ไม่ใช่การเรียนรู้ตามคำสั่งสอนเป็นหลัก  แต่เป็น“ การศึกษาด้วยตนเองเป็นหลัก”
  2. ต้องศึกษา ค้นคว้าและติดตามความรู้ในแต่ละเรื่องให้ถึงต้นตอ ที่มา ให้เห็นพัฒนาการและสถานภาพของข้อความรู้ในเรื่องนั้นในขณะปัจจุบัน และพยายามทำเป็นสาระสรุปเชิงสังเคราะห์ ที่สะท้อนถึงการเป็นความรู้ของตัวเราเองให้ได้ คือสรุปให้ได้ว่า แก่นของความรู้ในเรื่องนั้นคืออะไร ประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยใดบ้าง ประเด็นคืออะไร สะท้อนออกมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ที่เป็นภาษาสำนวนของตัวเองให้ได้
  3. ในการศึกษาค้นคว้าในแต่ละเรื่อง แต่ละข้อความรู้ ให้ใช้วิธี “ศึกษา ตรวจสอบเรื่องเดียวกันจากหนังสือหลายเล่มที่ทีผู้แต่งต่างกัน ให้สอบเรื่องเดียวกันจากหลายแหล่งความรู้ โดยยึดปรมาจารย์หรือบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอตะทัคคะในศาสตร์นั้นเป็นหลัก ทั้งในแง่ความรู้ ความคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์ แล้วสรุปแบบสังเคราะห์โดยอาศัยความรู้เดิมเป็นฐานไว้ก่อน”

หลักปฏิบัติในแบบที่ง่ายๆในเรื่องนี้คือ ให้ใช้วิธีตรวจสอบข้อความรู้ในเรื่องเดียวกันนั้นจากหนังสือหรือตำราหลายๆเล่ม ที่มีผู้เขียนแตกต่างกัน

 

โดยในขั้นนี้จะต้องรู้จักแยกแยะให้ได้ว่าใครคือผู้ที่คนในวงการถือกันว่าเป็นปรมาจารย์ เป็นผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า หรือใครคือเอตะทัคคะในศาสตร์ ใครคือผู้รู้-ใครคือนักรู้ ใครคือผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริงและใครคือผู้ทรงคุณวุฒิแบบนักรู้  อะไรคือความรู้หลัก ใครคือเจ้าของความรู้หลัก  อะไรคือความคิดเห็น  อะไรเป็นข้อคิด-เป็นความเห็น อะไรที่แสดงถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ให้รู้ให้ชัดให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นข้อเท็จ-จริง อะไรคือความรู้  อะไรคือความจริง หรืออะไรเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์

                4.  ในการอ่าน การศึกษา ค้นคว้า  การวิเคราะห์  ในแต่ละเรื่อง  ให้จัดทำ  folders and files ไว้ทุกเรื่อง และพยายามสะสมไว้ไห้ได้มาก ๆ

                5.  เมื่อได้ศึกษา ได้อ่าน ได้รวบรวมความรู้ในแต่ละเรื่องแล้ว ให้พยายามตั้งข้อคำถามสำหรับการศึกษา ค้นคว้าในขั้นก้าวหน้าต่อไป หรือตั้งข้อคำถามสำหรับความรู้ที่รู้สึกว่ายังยังไม่ชัดเจนดีนัก  หรือข้อความรู้ที่ได้แล้ว-แต่รู้สึกยังไม่จุใจ-ยังไม่พอใจ   ให้หัดตั้งข้อคำถามไว้เสมอๆในทุกเรื่อง

                6.  แหล่งความรู้และแหล่งวิทยาการที่สำคัญสำหรับผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก คือ ห้องสมุด  ห้องนิทรรศการ ในการอภิปรายหรือการสัมมนาและการประชุมทางวิชาการ ในชมรมทางวิชาการ  ในกลุ่มการประชุมวิชาการ  ในแหล่งที่เป็นต้นตอของกิจกรรมทางวิชาการ  ไม่ใช่ในห้องเรียนเท่านั้น

                7.ในการศึกษาค้นคว้าในแต่ละเรื่องให้เริ่มต้นด้วยการจัดทำ Tentative  Bibliography และทำ Tentative Plan  ก่อนเสมอ   แล้วพัฒนาต่อให้เป็น Bibliography  และ Work Plan ตัวจริงต่อไป อย่าเริ่มต้นด้วยการลอกเลียน หรือลอกแบบ ตัดต่อ-ตัดปะจากหนังสือ จากตำรา จากงานวิจัย หรือรายงานเล่มหนึ่งเล่มใด

                8.   ผู้เรียนในระดับนี้ จะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นคว้า ผลิตบทความและผลงานทางวิชาการของตนเอง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นของตนเองไว้ใช้เป็นการส่วนตัว มีมุมทำงานส่วนตัวเกี่ยวกับการเรียนโดยเฉพาะ

                9. ต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทำให้การเรียนและชีวิตง่ายขึ้น

                10. ต้องบริหารเวลาให้เป็น แบ่งเวลาสำหรับการเรียนและการศึกษาค้นคว้า ให้สมดุลแก่ชีวิต จัดเวลาสำหรับพบอาจารย์ที่ปรึกษาวิชาการและที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์สม่ำเสมอ

.............................................................................................................................................................

 

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจและอ้างอิงจากการบรรยายของ รองศาสตราจารย์ ดร.อุทัย บุญประเสริฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผสานกับประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เพื่อประโยชน์สำหรับผู้กำลังศึกษาหรือวางแผนศึกษาระดับปริญญาเอก ทั้งสาขาบริหารการศึกษา และสาขาอื่นๆ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 297938เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริง ๆ แล้วข้อแนะนำทั้ง ๑๐ ข้อนั้น

ควรใช้ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไปครับ

.

ผมเห็นคนเรียนปริญญาเอกและจบมามากมาย

และจำนวนมากมากที่ได้พูดคุยวิสาสะ รวมทั้งติดตามผลงาน

ไม่น่าเชื่อว่าจะจบได้ถึงปริญญาเอก...

อาจารย์ศุภวัฒนานนท์ บานชื่น

สำหรับคำแนะนำดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อตัวของข้าพเจ้าเองที่ได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในการศึกษาในระดับสูงของตนเอง จึงขอกราบขอบคุณท่านอาจารย์ ดร.ดิเรก วรรณเศียร มา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ

อาจารย์ศศิชา สุบรรณ์

สำหรับตัวข้าพเจ้าเองบทความนี้ถือว่ามีประโยชน์มากสำหรับคนที่กำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกหรือคนที่กำลังศึกษาอยู่ไม่ว่าระดับใด เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนขีดความสามารถและพัฒนาตนในโอกาศต่อไป ขอกราบขอบคุณท่านอาจารย์ ดร.ดิเรก วรรณเศียร ไว้ณ.ที่นี่ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท