การเสริมพลัง


คนเราจะไม่สามารถเอาชนะ ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในชีวิตได้ถ้าไม่มีการเสริมเพิ่มพลังในตนเอง

 

ค้นหาหนังสือเพื่อเตรียมการสอน group work พบกับหนังสือ social and empowerment ของ Adams น่าสนใจดีก็บรรจงจับประเด็นคร่าวๆในหัวข้อการเสริมพลังบุคคลได้ความว่า.................. (หากถูกผิดประการใดโปรดชี้แนะ)

 

การเสริมพลังบุคคล (Empowering Individuals)

                ในปี 1980 เริ่มมีความสนใจในการใช้ทฤษฎีจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเสริมพลังและการเสริมพลังเป็นบทบาทที่สำคัญของงานสังคมสงเคราะห์ในแง่การเพิ่มศักยภาพของผู้ใช้บริการเป็นมิติสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นมา จากการทบทวนวรรณกรรมหลายๆ เล่ม พบว่า คนเราจะไม่สามารถเอาชนะ ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการเสริมเพิ่มพลังในตนเอง เสริมพลังกลุ่ม ตลอดจนพลังชุนชน เครือข่าย และองค์กร งานสังคมสงเคราะห์แบบดั้งเดิมจะละเลย สถานการณ์ที่คนถูกทำให้อ่อนแอลง เพราะคิดว่าแต่ละคนสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ มากกว่าที่จะกระโจนเข้าร่วมปรับความคิด หรือร่วมต่อสู้กับการถูกกดขี่

                ในการเสริมพลังบุคคล นักสังคมต้องพัฒนาวิธีการที่จะเสริมสร้างพลังให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องตั้งคำถามต่อสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนโดยวิเคราะห์จาก “อำนาจ” ของผู้ใช้บริการกับครอบครัว หรือผู้คนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวนักสังคม แล้วตั้งเป้าหมายให้สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเคารพสิทธิของผู้ใช้บริการ ถนอมความรู้สึกและความคิดของผู้ใช้บริการ ตลอดจนลกการเผชิญหน้า การแบ่งแนยก การสูญเสียผลประโยชน์

                Heron (1990) ได้แบ่งการเข้าช่วยเหลือแบบการให้บริการปรึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การใช้อำนาจ ซึ่งประกอบด้วย การชี้แนะ การให้ข้อมูล และการเผชิญหน้า เป็นการใช้อำนาจในการควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงานดำเนินการรับผิดชอบ หรือถือเป็นาภาระหน้าที่แทนผู้ใช้บริการ ส่วนที่ (2) คือ การเอื้ออำนวย ประกอบด้วย การระบาย การกระตุ้น การสนับสนุน ซึ่งเป็นการชี้นำน้อยลง ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการสามารถพึ่งพิงตนเอง รับผิดชอบด้วยตนเองได้ จะเห็นได้ว่า การใช้อำนาจเป็นการเสริมพลังน้อยกว่าการเอื้ออำนวย ส่วน Adam (2003) ได้เพิ่มการพิทักษ์สิทธิไว้ในส่วนของการเอื้ออำนวยให้เกิดการเสริมพลังขึ้น พื้นฐานทั้ง 6 ข้อเป็นอิสระต่อกัน และบางครั้งอาจมีการทับซ้อนแยกแยกไม่ได้ชัดเจน แต่ก็มิได้เป็นภาระ เป็นอุปสรรคต่อการเสริมพลัง

  1. การใช้อำนาจ (Authoritative) ถือได้ว่าเป็นการเสริมพลังอย่างหนึ่งในแง่ของการจัดการให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งประกอบด้วย

1.1   บทบาทผู้ชี้แนะ เป็นการช่วยเหลือที่เปิดช่องทางให้ผู้ใช้บริการได้ปฏิบัติการด้วยตนเอง กล่าวคือ ผู้ให้บริการตรวจสอบดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา หรือสิทธิของผู้ใช้บริการที่มีอยู่แล้วแจ้ง หรือทำความชัดเจนให้เขาเข้าใจ และให้เขาตอบสนอง หรือปฏิบัติการด้วยตนเองต่อสิทธิเหล่านั้น

1.2   การให้ข้อมูล เป็นการช่วยค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูล การตีความแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าผู้ใช้บริการ สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และข้อมูลนั้นเป็นการเสริมสร้างพลังให้เกิดขึ้น เช่น ในกระบวนการวางแผนช่วยเหลือ แทนที่ผู้ให้บริการจะกำหนดแผนการ หรือประเมินทรัพยากรเอง แต่ให้ข้อมูลว่ามีแหล่งทรัพยากรใดบ้าง รายละเอียดข้อเด่น ข้อด้อยของแต่ละบริการ แล้วให้ผู้ใช้บริการประเมินตัวเองว่าแหล่งใดเหมาะสมกับเขา แล้ววางแผนใช้บริการด้วยตนเอง จะทำให้เขารู้สึกมีพลังในการควบคุมตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าผู้ให้บริการจัดการให้

1.3   การเผชิญหน้า เป็นการค้นหาและยกระดับการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดทางทัศนคติ หรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการมิได้คาดคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา การให้เขายอมรับด้วยวิธีการเผชิญหน้ากับความจริงอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด หรือท้าทาย แต่เมื่อมีการยอมรับและตระหนักรู้แล้วจะทำให้เกิดความรับผิดชอบและเป็นพลังอันยิ่งใหญ่

  1. บทบาทเอื้ออำนวย  การใช้บทบาทผู้เอื้ออำนวยเป็นการสร้างเสริมพลังให้แก่ผู้ใช้บริการชัดเจนกว่าบทบาทผู้ชี้แนะ ซึ่งการเอื้ออำนวยนี้อาจดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดได้หลายแนวคิด เช่น Cognitive Work, Radical Therapy, Family Therapy, Brief Therapy, Transactional Analysis, Existential Social Work หรืออีกหลายๆ แนวคิดส่วนมากใช้การให้บริการปรึกษา หรือวิธีการอื่นที่คล้ายคลึงเพื่อ เพิ่มพลังความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการและส่งเสริมให้เขาพิทักษ์สิทธิตนเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง (Thompson) โดยเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งต่อไปนี้

                            2 .1 การระบาย เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกที่อึดอัดออกไป เช่น ความโกรธ, การสูญเสีย ว่าความรู้สึกเหล่านี้แสดงออกได้ แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม และทำให้เป็นแรงผลักดันที่จะก้าวต่อไปสู่เรื่องที่ต้องแก้ไขอื่นๆ ต่อ ไม่หมกมุ่นกับอารมณ์เหล่านั้น

                            2.2  การเร่งปฏิกิริยา เป็นการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการค้นหาตัวตน อยู่ด้วยตนเองให้ได้ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งในการเร่งปฏิกิริยานนี้ต้องเริ่มต้นบอก/ตกลงกันว่าเริ่มทำอย่างไร ด้วยวิธีการใด เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีการสร้างพลังตนเองมากขึ้น

                            2.3  การสนับสนุน เป็นการตอกย้ำ ยืนยัน คุณค่า คุณภาพของบุคคล ส่งเสริมทัศนคติ และการกระทำที่ถูกต้องที่ผู้ใช้บริการได้กระทำแล้วว่ามีผลดี เป็นการเสริมสร้างความรู้สึก และความคิดของการพัฒนาสู่สิ่งที่ดีขึ้นให้คงอยู่และเพิ่มพูน

                            2.4  การพิทักษ์สิทธิ เป็นกิจกรรมการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเสรีภาพโดยผู้ให้บริการ การพิทักษ์คุ้มครองบุคคลที่อ่อนแอให้เขาสามารถเข้มแข็งเป็นอิสระ และไม่พึ่งพิงผู้อื่นด้วยการเสริมพลัง

กระบวนการเสริมพลังบุคคล

                กระบวนการเสริมพลังบุคคลจะต้องใช้ทั้งกระบวนการทางจิตวิทยา และโครงสร้างของสังคมในการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้ปฏิบัติงาน และบุคคลที่ต้องเสริมพลัง กระบวนการทางจิตวิทยาจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น    กระบวนการเสริมพลังของ Paulo Freire (1986) มีแนวคิดว่าการเสริมพลังผู้ที่อ่อนแอ ไร้อำนาจ จะต้องปลุกเร้าสติความรับผิดชอบ (จิตสำนึก) ด้วยการเรียนรู้ที่จะพิจารณาปัญหาในมุมมองความขัดแย้งของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และต้องปฏิบัติการโต้ตอบต่อความกดดัน บีบบังคับต่างๆ เหล่านั้น ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การที่จะทำให้คนมีพลังขึ้นมาด้วยการกระทำที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่สามารถเอาชนะความอ่อนล้า อ่อนแอที่ถูกกดดัน บีบบังคับด้วยกระบวนการสนทนาโต้ตอบระหว่างประชาชนด้วยกัน การสนทนาจะทำให้เกิดการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่มีการสนทนาก็จะไม่มีการสื่อสาร ถ้าไม่มีการสื่อสารก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ หรือการศึกษาที่แท้จริง กระบวนการศึกษาเป็นการสร้างความตื่นรู้ทางประวัติศาสตร์ของประวัติประชาชนทั่วไป เขารับรู้ความมีอยู่ของตัวตนของพวกเขา มันจึงเกิดความต้องการเข้าไปแทรกแซง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตัวเขาเอง

                การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเสริมเพิ่มพลังตนเองของบุคคล ต้องการนักวิชาชีพเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาทักษะซึ่งเป็นวิถีของการเพิ่มพลังมีขั้นตอนดังนี้

  1. ผู้ให้บริการตระหนักและรับรู้ถึงความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการที่ต้องการการลงมือปฏิบัติ เพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นนั้นๆ
  2. ผู้ให้บริการต้องแบ่งปันความตระหนัก หรือการรับรู้นี้แก่สมาชิกในกลุ่ม
  3. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่มระบุ/กำหนดอุปสรรคของสมาชิกกลุ่มแต่ละคนจนครบทุกคนในกลุ่ม
  4. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่ม เจรจาต่อรองกันและตกลงกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ ซึ่งจะเป็นการวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเสริมพลังสมาชิกกลุ่มแต่ละคน
  5. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่มช่วยกันคิด และสร้างทักษะ/พัฒนาทักษะที่จำเป็นของสมาชิกกลุ่ม
  6. เมื่อสมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองกันได้แล้ว ผู้ให้บริการถอนตัวเพื่อให้กลุ่มดำเนินไปด้วยตัวของสมาชิกกลุ่มเอง

                กระบวนการกลุ่มดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการหนึ่งที่เสริมสร้างพลังของบุคคลแต่ละคนในกลุ่ม โดยการช่วยให้บุคคล/กลุ่มได้คิดผ่านสถานการณ์ที่เป็นปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ และการกระทำเช่นนี้เป็นการเชื่อมโยงโลกภายนอกที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยเข้าสู่โลกภายในจิตใจที่เขารู้สึก และรับรู้ เพื่อที่ปรับเปลี่ยนอย่างมีพลังที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม

 

 

หมายเลขบันทึก: 297937เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท