ลดความอ้วนผิดวิธี


>>ลดความอ้วนผิดวิธี...อันตรายที่สุด<<

     จากที่มีการนำเสนอข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งว่า พบผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานยาลดความอ้วนนั้น  อย. ในฐานะที่กำกับดูแลยาประเภทนี้จึงขอเตือนประชาชนผู้ที่ต้องการลดความอ้วนว่า การใช้ยาลดความอ้วนโดยซื้อยามารับประทานเองนั้นเป็นอันตรายเพราะยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ มีผลข้างเคียงสูง  อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
        
          ในปัจจุบันยาลดความอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหารและยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิด ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่ยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลางอาจมีผลข้างเคียงอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงทำให้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาชุดที่มีการนำไปใช้ลดน้ำหนัก  โดยจัดเป็นชุดให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน ซึ่งประกอบด้วยยาประมาณ  1-5  รายการ  อาทิ  (1)ยาลดความอยากอาหาร  เช่น  เฟนเตอมีน และแอมฟีพราโมน  ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, (2)ยาระบาย, (3)ยาขับปัสสาวะ, (4)ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร  ซึ่งยานี้ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาลดความอยากอาหารทำให้ไม่หิว การที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารแต่ยังมีกรดหลั่งเพื่อย่อยอาหาร อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะ จึงให้ยานี้เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร,(5)ยาไทรอยด์ฮอร์โมน  เป็นยาที่รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ  เป็นยาที่เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย  น้ำหนักจึงลดอย่างรวดเร็ว  แต่น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจากมวลรวมของร่างกายแทนที่จะเป็นไขมัน 
          ดังนั้น  ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูงมาก  และยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย, (6)ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ  เช่น  โพรพราโนลอล  ยากลุ่มนี้ปกติใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง  และการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ  การให้ร่วมกับยาชุดเนื่องจากยาจะลดอาการใจสั่นที่เกิดจากยาลดความอยากอาหาร, (7)ยานอนหลับ  หรือยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงให้ง่วงนอน  เนื่องจากยาลดความอยากอาหารอาจทำให้นอนไม่หลับจึงทำให้มีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย  ยานอนหลับที่จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  เช่น 
ไดอาซีแพม มีผลข้างเคียง  เช่น ง่วงซึม  กดอาการหายใจ  ความดันต่ำ  จะเห็นได้ว่ายาชุดดังกล่าวประกอบด้วยยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาลดน้ำหนักโดยตรง  แต่เป็นยารักษาโรคอื่นที่นำมาใช้มาเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา  สุดท้ายอาจทำให้ได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงมากมาย 
 
           ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง  คือ  ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง  ด้วยการควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  พักผ่อนในสัดส่วนที่เหมาะสม  เพราะการใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน  เมื่อหยุดยาน้ำหนักก็จะกลับขึ้นมาได้อีก (yo-yo effect)  ฉะนั้นก่อนการใช้ยาควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาดังกล่าวเป็นยารักษาโรคอ้วนในระยะยาว  ซึ่งมีความเสี่ยงในการได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา  อีกทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือด จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 297871เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท