หลังจอหนังตะลุง 2


เครื่องดนตรีสำหรับการเล่นหนังตะลุง
๑.๖ เครื่องดนตรีสำหรับการเล่นหนังตะลุง
            เครื่องดนตรีหนังตะลุงในอดีต มีความเรียบง่าย ชาวบ้านในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นได้เอง มี ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง เป็นสำคัญ ส่วน ปี่ ซอ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง จนต่อมาเมื่อมีความนิยมในการใช้ดนตรีไทยสากล หนังตะลุงบางคณะจึงนำเครื่องดนตรีใหม่ๆ เข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ออร์แกน  เป็นต้น แต่เครื่องดนตรีที่ถือเป็นเครื่องดนตรีหลักและสำคัญในการแสดง          หนังตะลุง มีดังต่อไปนี้
                   ๑.๖.๑ ทับ หรือเรียกอีกอย่างว่า โทนชาตรี เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้   มีลักษณะคล้ายกลองยาว แต่ส่วนท้ายสั้นกว่า มีขนาดเล็กกว่า ทั้งสองลูกมีขนาดต่างกันเล็กน้อยทำให้เสียงอาจมีความแตกต่างกันด้วย ทับเป็นเครื่องประกอบจังหวะและทำนองของวงดนตรี      ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่นๆจะต้องคอยฟังจังหวะและทำนองของทับ เพื่อที่จะบรรเลงไปตามทำนองนั้น โดยหนังตะลุงจะใช้ทับ 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงแหลม เรียกว่า หน่วยฉับ มีฐานะเป็นตัวยืน ส่วนอีกใบเสียงทุ้ม เรียกว่า หน่วยเทิง ใช้เป็นตัวเสริม
 
รูปภาพที่ ๑๘  รูปทับ
                                   
                 ๑.๖.๒ โหม่ง  เป็นเครื่องกำกับการขับบทของนายหนัง มี 2 ใบ ร้อยเชือกแขวนไว้ในรางไม้ ห่างกันประมาณ 2 นิ้ว เรียกว่า "รางโหม่ง" ใบที่ใช้ตีเป็นเหล็กมีเสียงแหลมเรียกว่า "หน่วยจี้" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า"หน่วยทุ้ม" ในอดีตใช้โหม่งราง หรือเรียกอีกอย่างว่าโหม่งลูกฟาก ทำด้วยเหล็กที่อัดส่วนกลางให้เป็นปุ่มสำหรับตี ส่วนโหม่งจะหล่อด้วยทองสำริด รูปลักษณะเหมือนฆ้องวง ไม้ตีโหม่งใช้อันเดียว ปลายข้างหนึ่งพันด้วยผ้าหรือ สวมยาง ทำให้โหม่งมีเสียงนุ่มนวล และสึกหรอน้อยใช้ได้นาน
 
รูปภาพที่ ๑๙  รูปโหม่ง
 
                ๑.๖.๓ กลอง  หรือบางแห่งเรียกว่า “กลองตุก” ใช้กลองขนาดเล็ก มีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองมีขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 8-10 นิ้ว มีความยาวประมาณ 10-20 นิ้ว หัวและท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย ใช้ไม้ตี 2 อัน
 
รูปภาพที่ ๒๐  รูปกลอง
               ๑.๖.๔ ปี่ หนังตะลุงใช้ปี่นอกบรรเลงเพลงต่างๆ และถือว่าเพลงพัดชาเป็นเพลงครู ประกอบด้วยเพลงไทยเดิมอื่นๆ เช่น เพลงสาวสมเด็จ เขมรปี่แก้ว เขมรปากท่อ ชะนี-กันแสง พม่ารำขวาน พม่าแทงกบ ลาวดวงเดือน เป็นต้น และเพลงลูกทุ่งหลายเพลงโดยอาศัยทำนองเพลงไทยเดิม หรือบางคณะอาจจะใช้เล่นเพลงไทยสากลก็ได้
 
รูปภาพที่ ๒๑  รูปปี่
 
              ๑.๖.๕ ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะ ทำจากโลหะอย่างหนา มีรูปร่างคล้ายถ้วย ตรงกลางเจาะรูร้อยเชือกติดกันเป็นคู่ๆ ใช้ตีเข้าจังหวะกับโหม่ง
 
รูปภาพที่ ๒๒  รูปฉิ่ง
 
                ๑.๖.๖ กรับ เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เป็นไม้ 1 คู่ ใช้ตีขัดกับจังหวะโหม่ง แต่ในปัจจุบันใช้กรับเดี่ยว (กรับเดี่ยวทำด้วยไม้เนื้อแข็งลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือผืนผ้าแต่ขนาดเล็กกว่ากรับคู่ประมาณ 1/3ของกรับคู่ ขนาดพอที่จะใช้มือซ้ายจับได้พอดีเพื่อใช้เคาะจังหวะกับลังโหม่งทางด้านมุมซ้ายด้านบนแทน)
 
รูปภาพที่ ๒๔  รูปกรับคู่ (ปัจจุบันไม่ใช้แล้วแต่ใช้กรับเดี๋ยวแทน)
 
            โดยหลักแล้วคณะหนังตะลุงโดยทั่วไปจะใช้เครื่องดนตรีข้างต้นเป็นหลักในดารบรรเลงเพลง แต่บางคณะอาจจะนำเครื่องดนตรีอื่นๆมาเล่นประกอบตามความเหมาะสมอีก     เช่น ซอด้วง ซออู้ หรือเครื่องดนตรีสากลมาเล่นบรรเลงประกอบเพื่อให้ดนตรีมีความไพเราะยิ่งขึ้น
 
          ๑.๗ พิธีกรรมก่อนการแสดง
            ก่อนก้าวขึ้นโรงหนัง อาจารย์ท่านสอนไว้เสมอว่าให้จับเสาโรงด้านที่จะขึ้นแล้วภาวนาคาถาในใจว่า “โอม สัตถะราชสิงโห” (สามจบ) ก้าวขึ้นโรงแล้วทำความเคารพพระฤาษีด้วยการไหว้แล้วลูบมือทั้งสองขึ้นบนกระหม่อม จากนั้นให้ทำการกวาดที่นั่งด้วยผ้าหรือหมอนพร้อมภาวนาคาถา กวาดที่ “สรรพอุบาทว์จัญไรออกไปด้วยนะโมพุทธายะ” จากนั้นจึงลงมือทำพิธีกรรมต่อไป ดังนี้
            ๑.การเบิกโรง
            เมื่อลูกคู่หนังขึ้นเพลงลงโรง(โหมโรง)นายหนังจับดินสอดำหรือปากกาพร้อมพนมมือแล้วตั้งนะโมสามจบ ตามด้วยการกล่าวชุมนุมเทวดา
“ สักเค กาเม  จะ รูเป ศิริสิขะระตะเฏ  จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม  ตะรุวะนะคะหะเน  เคหะวัตถุมหิ  เขตเต  ภุมมา  จายันตุ  เทวา ชะละถะละ    วิสะเม   ยักขะคันธัมพพะนาคา  ติฏฐันตา  สันติเก ยัง  มุนิวะระ วะจะนัง  สาธะโวเม สุณันตุ ฯ  ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา   ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา   ธัมมัสสะวะนะกาโลอะยัมภะทันตาฯ” [1]จากนั้นจึงใช้ดินสอลงอักขระ ที่กระหม่อม ที่ฝ่ามือทั้งสอง ฝ่าเท้าทั้งสอง และลงอักขระที่หยวก……………  พร้อมทั้งภาวนาว่า “อักขระยันตัง สันตัง วิติงคะเร”    (สามจบ) [2] แล้วจึงใช้มือทั้งสองวางเรียงลงบนหยวกกวาดมือออกทั้งสองข้างพร้อมทั้งภาวนาคาถาเบิกโรงว่า       “นะเบิก โมเบิก พุทธเบิก ธาเบิก ยะเบิก สรรพอุบาทว์จัญไร เบิกไปด้วยนะโมพุทธายะ”
            ขั้นตอนต่อไปเป็นการเริ่มภาวนาคาถาอื่นๆเช่น คาถาผูกคน โดยนายหนังใช้มือผูกเชือกหรือผ้าหรือทำอาการผูกอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมทั้งภาวนาว่า “พุทธัตรัตนัง ธรรมมัตรัตนัง สังฆัตรัตนัง  ติณณัง ระตะนานัง โสวัตถิ โหตุ”  แล้งจึงใช้หัวแม่มือมือขวาลูบท้องขึ้นมาผ่านคอเข้าสู่ปากลงอักขระที่เพดานปากพร้อมทั้งภาวนาคาถาชักเสียง “กาสาสะหะ” นำหัวแม่มือขวานั้นบรรจงแตะที่ปากรูปฤาษี  รูปหน้าบทและรูปตัวตลกเอกของคณะพร้อมทั้งเบิกปากรูปด้วยคาถาเบิกปาก “อะคะอำงำงอ” (สามจบ)และอาจต่อด้วยคาถาเมตตามหานิยมอื่นๆซึ่งมีหลายบทและแตกต่างกันในแต่ละอาจารย์ซึ่งไม่ขอนำมาอธิบายในที่นี้  จบเพลงลงโรง(โหมโรง)อาจมีเพลงบรรเลงอื่นๆอีก 3 เพลงจึงจะขึ้นเพลงในพิธีกรรมการเชิดฤาษี 
            ๒.การออกฤาษี
            ก่อนเริ่มออกรูปฤาษีให้ยกรูปขึ้น ภาวนา “พุทธยชูลิต โสติโมนี ภควา  พุทธังอาราธนานัง ธรรมังอาราธนานัง สังฆังอาราธนานัง พุทธังประสิทธิเม ธรรมังประสิทธิเม สังฆังประสิทธิเม  โสมะนิสะ” เมื่อเริ่มบรรเลงเพลงออกฤาษี นายหนังจับรูปฤาษีถือไม้เท้ามาเขียนยันต์ลงอุนาโลมบนจอพร้อมภาวนาคาถา “โอมกู ลูกพระพุทธ บุตรพระธรรม รกหมามึงรองนั่ง รกบางมึงห่อตัว น้ำทังมึงทูนหัว นะมะตุด” พร้อมเป่าไปที่ปลายไม้เท้าที่เขียนยันต์อยู่นั้น ทำเช่นนี้ทั้งสามจบ  โดยปกติจะเริ่มที่มุมจอด้านขวา ด้านซ้ายและตรงกลางจอเหนือดวงไฟ  ตามจังหวะเพลงที่บรรเลงอยู่นั้น แล้วออกรูปตามจังหวะดังนี้
 จังหวะการย้ายรูป ออกรูปมาตามจังหวะถึงกึ่งกลางหน้าจอ บิดชายผ้านุ่งเพื่อให้ปลายเท้าพระฤาษีเข้ากับจังหวะที่ย้ายไม้เท้าในลักษณะการเดินจงกรม ตามจังหวะเพลง  ถอยบิดรูปมาทางขวาแล้วกลับรูปมาที่เดิมพร้อมทั้งเชิดรูปขึ้นทางมุมจอด้านซ้ายตามจังหวะเพลง (สามจบ)
  จังหวะการเดินท่องโรง  ออกรูปมาจากมุมจอด้านขวาไปทางซ้ายในลักษณะการเดินที่เร่งรีบหลบรูปไปแล้วออกใหม่มาถึงกลางจอเพื่อให้เข้าจังหวะการนาด
   จังหวะการนาดรูป ออกรูปมาทางมุมขวาให้เข้าถึงกลางจอตามจังหวะเพลงทับแล้วเดินรูปในลักษณะของการเดินแกว่งแขน   เป็นการแสดงสวยงามของศิลปะการเชิดรูปให้เห็นความสัมพันธ์ของการใช้มือถือไม้เท้ากับเท้าของพระฤาษีที่ก้าวเดินตามจังหวะเพลงนาดแล้วหลบรูปไปทางมุมจอด้านซ้าย ลูกคู่เชิดเครื่องจึ่งปักรูปฤาษีลงกลางจอ หยุดบรรเลงเพลงเชิด  เพื่อตั้งธรณีสารว่าโองการพระฤาษี ดังนี้
“โอมพระสิทธิการ ครูอาจารย์ท่านให้กูเบิกฟ้าและเบิกดิน เบิกพระสมุทรกระแสสินธุ์ เบิกพระอินทร์เบิกพระพรหม เบิกพระยม เบิกพระกาฬ เบิกพระจัตตุโลกบาดาลทั้งสี่ เบิกธรณี เบิกทวารบานประตู  ขุดคู ขุดบ่อ ขุดท่อและถางทาง ขุดบึงบางและขุดสระหล่อรูปพระสลักหนังฝังผีพรายตายโหง ต่อตะโลงและโกฐิ์ผา ปลูกศาลามรดก ชุมนุมสกสอดยอดพระสุเมร  ครูกูชื่ออุนรุทร์ชัยเถร อยู่ชั้นดึงสาสวรรค์ เธอเสด็จลงมาพลัน พุทธนิทรา   โอมนะโมพุทธัสกำจัดออกไป โอมนะโมธัมธัสกำจัดออกไป โอมนะโมสังฆัส กำจัดออกไป   สรรพอุบาทว์จังไร  โภยภัยให้ได้แก่พระพาย  ความร้ายให้ได้แก่พระธรณี  ความดีให้ได้แก่ตัวกู  สีหะมนฑลมณีฯ”  (ถอดรูป)พร้อมภาวนาคาถา ฦา ออ  แล้วจึงเชิดรูปฤาษีหลบไปทางมุมซ้าย หากทางซ้ายเป็นทิศตะวันตกก็ให้บิดรูปไปทางขวาซึ่งจะเป็นทิศตะวันออก ตามจังหวะเพลงเชิด
           ๓.การออกพระอิศวร
 ลูกคู่เปลี่ยนเพลงเป็นพระอิศวรทรงโค จึงออกรูปพระอิศวรในจังหวะแรกเป็นจังหวะช้านายหนังจะเชิดรูปพระอิศวรทรงโคให้แลเห็นพอรางๆ  และประทับกลางจอครั้งหนึ่งตามจังหวะเพลงแล้วบิดรูปให้เอียงเข้าหาตัวนายหนัง จะได้เงาที่สวยงามและเห็นความเคลื่อนไหวของพระอิศวรขณะทรงโคมาแต่ไกล เมื่อเงาจะสุดจอด้านซ้ายให้หลบหน้ารูปเชิดมาทางขวาในลักษณะเดียวกันกับเที่ยวแรก ประทับจอเหาะขึ้นไปแล้วลูกคู่บรรเลงเพลงเชิด จึ่งเชิดรูปเหาะลงมาปักตรงกลางจอ แล้วปักรูป  ลูกคู่หยุดเพลงเชิด
นายหนังจึงพนมมือร่ายโองการพระอิศวร  ดังนี้
 “โอมนาคา ข้าฯจะไหว้  พระบาทเจ้าเอ๋ยทั้งสามพระองค์          พระอิศวรผู้ทรงพระโคศุภราชฤทธิรอน  (อุสุภราช  :ผู้เขียน)
เบื้องขวาข้าฯจะไหว้พระนารายณ์ทั้งสี่กร    ทรงพระครุฑเหิรจร 
พระอินรินทร์เรืองรงค์   (พระอินทร์:ผู้เขียน)
            เบื้อซ้ายข้าฯจะไหว้พระจัตุรัสผู้ทรง   มหาสุวรรณเหมหงส์  (พระพรหม:ผู้เขียน)
ทรงอิทธิลือนาม สามองค์ทรงภพไปทั้งสาม  สามโลกก็ไม่ได้เข็ดขาม
พระเดชพระนามลือขจร เรืองเอ๋ยเรืองเดช เรืองเวทย์และเรืองพร
 เรืองฟ้าและดินดอน ขจรจบทั่วจักรวาล
            สิบนิ้วข้าฯจะไหว้พระราชครูอาจารย์ ได้สั่งสอนสรรพการ
ในเครื่องจะเล่นในโลกา  
กลางคืนหนังกลางวันโขนละครและเสภา คนเห็นประจักษ์ตา 
ประดับด้วยเครื่องเรืองไกร
            ราเอ๋ยราตรีขอจุดอัคคีให้แจ่มใส  เอาหนังมาส่องกับแสงไฟ
แลดูวิจิตรลวดลาย
            พร้อมด้วยเครื่องประโคมทั้งหลาย       ยักย้ายอรชร อรออ
ไม้ไผ่ทั้งสี่ลำมาทำเป็นมุมจอ   สี่มุมมาหุ้มห่อ ตรงกลางลาดด้วยผ้าขาว
หนังโคสลักเป็นรูปพระอิศวรนารายณ์ดาว  อาทิตย์ส่องแล้วก็ลับแสง
            เร็วๆเถิดนายตะเกียง  เอาเพลิงมาเหวี่ยงให้เห็นแสง  สองเท้าข้าฯ จะแปลง
เบิกพระเนตรให้เห็นเต็มตามณี...ฯ” ลูกคู่ขึ้นเพลงเชิดแล้วนายหนังถอดรูปประทับจอแล้วยกรูปขึ้น คหฺวัดโคตามจังหวะเพลงเร็ว (คหฺวัดโค คือขับขี่โคอย่างเร่งรีบในอาการที่พระโคอาจจะยังไม่อยากจะไปต้องใช้การบังคับขับเคี่ยวให้เหาะไป:ผู้เขียน) ไปจนเร็วพร้อมที่ดนตรีจะจบ เชิดรูประทับจอหนึ่งครั้งแล้วเชิดเหาะขึ้นไปทางมุมจอด้านซ้าย หรือถ้าทางซ้ายเป็นทิศตะวันตกก็ให้เหาะกลับมาประทับจออีกครั้งแล้วเชิดให้เหาะขึ้นทางมุมขวาซึ่งจะเป็นทิศตะวันออกเป็นการเอาเคล็ดอย่างโบราณ
            อนึ่งในปัจจุบัน การ คหฺวัดโคมักจะไม่ค่อยมีให้เห็นเนื่องจากว่าเป็นศิลปะการเชิดที่ต้องอาศัยทักษะของนายหนังและลูกคู่มากเป็นพิเศษ เราจึงมักจะเห็นพระอิศวรออกมาเหาะไปมาสองสามเที่ยวแล้วเหาะกลับก็มี  โดยไม่มีการร่ายโองการพระอิศวร
แต่ในปัจุบันมีบางคณะมักนิยมเชิดแบบไม่ปักรูปคือ  เอาการเชิดพระอิศวรทรงโคช่วงแรกออกมาสองเที่ยวแล้วก็คหฺวัดโคเลย ซึ่งเพื่อเป็นความรวดเร็วประการหนึ่ง  หรืออาจจะเป็นเพราะนายหนังบางคนไม่ได้ถืออย่างโบราณ คือออกรูปโดยไม่มีการร่ายโองการพระอิศวร
๔.การออกหน้าบท(ออกรูปกาศ )
ลูกคู่จึ้นเครื่องบรรเลงเพลงจังหวะทับเพื่อได้เตรียมความพร้อม ในระหว่างนั้นนายหนังจะต้องยกรูปขึ้นมาเสกด้วยคาถาเสกรูปเหมือนกับที่เสกพระฤาษี   เสร็จแล้วปักรูปไว้รอที่ด้านใน และภาวนาคาถาชักเสียงดัง(ได้กล่าวแล้วในพิธีกรรมการเบิกโรง)แล้วออกเสียง..ออ.. ออ... ออ หอ หอ..อออา ออ แอ ออหอ ออรัก.. ออหอ อองาม... งามออหอรัก  รักงาม..เหอ......แล้วต่อด้วยวรรคแรกของกลอนหน้าบทซึ่งเป็นกลอนบทไหว้พระเช่น ตั้งนะโมสามจบ  ครบทั้งสาม......(โดยว่าให้เข้ากับเสียงของลูกทุ้มของโหม่ง)   ลูกคู่ลงเครื่องเพลงจังหวะทับแล้ว ว่ากลอนบทไว้พระ ดังนี้
 ตั้งนะโม สามจบ ครบทั้งสาม            สามสิ่งงามธูปเทียนทอง ที่ร้อยกรอง ด้วยบุปผา
คือพุทธัง  ธรรมัง พระสังฆา              หมายความว่า  ไตรรัตน์  เป็นฉัตรชัย
พระพุทธองค์  ทรงตรัส  ดำรัสสอน     ทุกๆตอน  ควรได้คิด  วินิจฉัย
ว่าทำดี  ได้ดี  ย่อมมีชัย                    คนเป็นไป  ตามกรรม  ที่ทำมา
ขอเรียกร้อง  น้องพี่  ที่มาชม             ตัวของผม  เชิญท่าน  ผ่านมาหา
จงทำดี  จงทำดี   มีเมตตา                ให้สมเป็นเมืองพระ (ออ) ตามสมญาเมืองนครฯ
                                             ( ออกรูป)
ก่อนออกรูปให้ยกรูปขึ้นไหว้ ปลุกเสกรูป  ภาวนาคาถาชักเสียงและเบิกปากรูปเสร็จแล้วเอามือซ้ายจับไม้มือของรูป มือขวาจับไม้ตับให้มั่น  แล้วออกมาทำความเคารพด้วยการกราบไหว้ 3 ครั้งตามจังหวะทับ(บางคณะครั้งเดียวเพราะถือว่าเป็นการไว้ผู้ชม) ไหว้เสร็จแล้วจึงเชิดรูปหลบไปทางซ้าย  แล้วออกมาใหม่เชิดย้ายรูปตามจังหวะเพลง เน้นความสุภาพอ่อนหวาน เชิดรูปหลบไปทางซ้าย  แล้วออกมาใหม่โดยการเชิดแบบนาดตามจังหวะ เสร็จแล้วเชิดรูปหลบไปอีกครั้ง  แล้วออกใหม่มาปักรูปตรงกลางจอ เพื่อที่จะว่ากลอนหน้าบท ดังนี้
นั่งบังคม  บรมวงศ์ องค์กษัตริย์                ผู้นำรัฐ  ประวัติเด่น เป็นอนุสรณ์
ตั้งแค่ครั้ง  สุโขทัย ใจ  อาวรณ์                         สร้างนครสุโขทัย  กว้างใหญ่ครัน
    พ่อขุนบางกลางท้าว ตลอดเจ้า รามคำแหง           ผู้จัดแจง   ใหญ่ยิ่ง  เป็นมิ่งขวัญ
     กำลังใจ ไทยทำ   เป็นสำคัญ                                 ตลอดชั้น พ่อเมือง  ที่เรืองฤทธิ์
    เจ้าอู่ทองผู้มอบหมายได้เป็นใหญ่                        สร้างกรุงไกร อยุธยา  ประกาศิต
     บรมไตรโลกนาถ ได้ประกาศหลักคิด                  กระชับมิตร มีธรรม เรื่องจำเป็น
     มีเวียงวัง  คลังนา  พระอุปราช                           มาช่วยชาติ เมื่อตรัสถาม ให้ความเห็น
     ลุสมัยจักรพรรดิ  ตัดประเด็น                              เกิดยุคเข็ญ สงคราม  ที่ตามมา
     พระเจ้าแปร  ยกทัพมาชนช้าง                     ฟันพระนางสุริโยทัย  เราเศร้าใจหนักหนา
     แม่เป็นยอดวีระสตรี เท่าที่เคยมีมา                     การศึกษาประวัติศาสตร์ ของชาติไทย
     สมัยหลังยังถูกตี  มีอาเพศ                                  มาเกิดเหตุ  เสียกรุง เรื่องยุ่งใหญ่
     นเรศวรมหาราช ประกาศเกรียงไกร                   กู้ชาติไทยเอาไว้  รบกันหลายปี
     พวกพม่า ไม่ย่อท้อ มันเกาะติด                           เข้าประชิด มิหยุด จนเกิดยุทธหัตถี
     พระองค์รบ ตะลุมบอน ดอนเจดีย์                      อนุสาวรีย์ สร้างไว้ เครื่องหมายแทน
     สมัยหลัง  ยังมี  ที่ปรากฏ                            สืบพระวงศ์  ทรงยศ  กันตามกฎแบบแผน
     พระนารายณ์ ภายหลัง ยังทดแทน                     รักษาแดนดินใหญ่ พ้นภัยอาณานิคม
     โปรตุเกส  ฮอลันดา มาค้าขาย                            ติดต่อได้  กับฝรั่ง ไทยเรายังสะสม
     บารมีเหนือแหลมทอง ต้องชื่นชม                  มาหมดคม เสียหาย  ในยุคปลายอโยธยา
      พระเจ้าตาก ใจสู้ รู้ทางหลบ                                 ไปสมทบ  สร้างทัพ  รับอาสา
     ได้รวบรวม  ก๊กกอ หน่อราชา                               ย้ายเมืองมา  กรุงธนฯ  เป็นผลดี
     การกอบกู้  จากพม่า  รักษาเอกราช                       ปกครองชาติ อย่างมั่นคง ไม่ทรงหนี
    มาสูญเสีย อำนาจ  ภายในราชธานี                  จนวงศ์จักรี สถาปนา กรุงเทพ มหานคร
            นึกย้อนหลัง  ครั้งนั้น กระชั้นชิด                   พม่าติด ตามตี  มิผันผ่อน
    พระพุทธยอดฟ้า  เจ้ามหานคร                    ทรงราญรอน  รบพม่า  จนพวกมันปราชัย
    มาถึงยุคเลิศหล้า  พระโอรส                                   ได้สร้างกฎ  การกวี  ที่ยิ่งใหญ่
    พระนั่งเกล้า  องค์ต่อมา กะการณ์ไกล                     สนพระทัย  การค้า ราชนาวี
    พระจอมเกล้า  เจ้าราชา มหาบพิตร                        ผู้เรืองวิทย์  ราชวงศ์ องค์ที่สี่
    จุลจอมเกล้า องค์ที่ห้า แห่งธานี                               ได้ทรงมี  แนวทาง การสร้างรัฐ
    รัฐชาติ  สมัยใหม่  ไทยปรากฏ                                 ได้กำหนด เลิกทาส  ราชประวัติ
     จัดระเบียบ เทียบระเบียน เขียนขึ้นชัด                    ทรงได้จัด  การศึกษา  ประชาชน
     สร้างรถไฟ ไปรษณีย์ มีไฟฟ้า                                  การประปา รัฐกิจ  ผลิตผล
     มงกฎเกล้า องค์ต่อมา  สู่สากล                                 การศึกษา ปวงชน บังคับมา
     การลูกเสือ ไพศาล กาลสมัย                       ประชาธิปไตย ก่อการ กันมานานหนักหนา
    จนถึงยุค พระปกเกล้า เจ้าราชา                   ประทานมา (รัฐ)ธรรมนูญ ) สมบูรณ์ครัน
    คณะราษฏร์ บริหาร  การประเทศ                           ก็เกิดเหตุ สมาชิก มาพลิกผัน
    ราชสมบัติ สืบต่อมา พระอานันท์                            คดีวัน สวรรคต  สลดใจ
    ทรงครองราชย์อยู่ไม่นาน การกำสรด    เกิดปรากฏ ปลงพระชนม์ (ไทยเรา)ทนไม่ไหว
    เป็นคดีลึกลับ นับนานไป                                        ไม่มีใคร    จะรู้  ผู้ก่อการ
            มายุคใหม่ ไทยรัฐ ประวัติศาสตร์                พระภูมิพล  มหาราช ทรงมีมาตรฐาน
    พระเมตตา ดั่งฟ้า สุธาธาร                                   พ่อทรงงาน หกสิบปี  ที่ได้ทรง
    ทรงดูแล ทุกข์สุข ของทวยราษฎร์                        ประชาชาติ  ก็ใกล้ชิด  พิศวง
    เพราะทรงงาน เหมือน ชาวบ้านการดำรง             ความมั่นคง ตัวอย่าง ท่านสร้างงาน
    มีโครงการ  หลากหลาย หมายประสงค์                 ธ ธำรง  แบบอย่าง ทางประสาน
    ประสานประโยชน์ ราชและรัฐ ร่วมจัดการ           บำเพ็ญทาน  บารมี  ให้ไทยนี้หายจน
    สร้างอุดมการณ์  เศรษฐกิจ จิตบริสุทธิ์                  เพื่อชาวพุทธ   ได้นำพา  ปฏิสนธิ์
    เศรษฐกิจ  พอเพียง  เลี้ยงชุมชน                            ไทยทุกคน  นำพา  ปณิธาน
    ถึงหลายพวก  หลายสี  มีแนวคิด               ท่านประสิทธิ์  ประสาทผล ให้ปวงชนสมาน
สมานฉันท์ หยุดขัดแย้ง  แถลงการณ์                   ที่ประทาน ให้รู้รัก  สามัคคี ฯ
            ถัดนั้นมาจะไหว้บุญ คุณของพ่อแม่.....     ท่านดูแล  เลี้ยงดู  จนรู้ประสี
ได้อบรม  สอนสั่ง หวังให้ดี                                    บุญคุณมี  ล้นหัว  ของดัวเรา
ไหว้บรรพชน ทุกชั้น  ตลอดกรรมาชีพ                     ที่เร่งรีบ  ใช้แรง  แห่งเทือกเถา
มีอาหาร ข้าวปลา มาบรรเทา                                   จนตัวเรา  มีความคิด ในจิตใจ
ไหว้คุณครู  อยู่โรงเรียน สอนให้เขียนพยัญชนะ      อักขระทุกสำเนา  ทั้งเก่าและใหม่
ครูทุกคน สอนให้  ได้จำใจ                                       จำไว้ใน จิตสำนึก  ระลึกคุณ
ไหว้ครูหนังปรีชา  คณะหนังครั้งแรกฝึก                   ลูกระลึก  ทุกเวลา  มาเกื้อหนุน
ให้บทกลอน สอนศึกษา  ได้การุณ                    นึกบุญคุณ อาจารย์ ลูกต้องการจะทดแทน
หนังปรีชา  สงวนศิลป์ คนยินชื่อ                         คำเล่าลือเบื้องหลัง  คนเขายัง หวงแหน
ปรีชาศิลป์ มอบหมายลูกชายแทน                        ความหมายแม่น  ได้สืบสาน  การแสดง
            กราบหลวงปู่  หลวงตา  เจ้าอาวาส            ที่เปรื่องปราชญ์  ในมณฑล ทุกหนแห่ง
หลวงพ่อทวด  พ่อท่านคล้าย   ได้สำแดง              พ่อผุดแจ้ง    พ่อท่านเจิม เริ่มมงคล
กราบบรมธาตุ  เจ้าที่  ทั้งบ้านนี้ หรือทรงเมือง         ได้ลือเลื่อง  ฦาชา สถาผล
ไหว้พี่น้อง  ชาวตามนี้  มีหรือจน                           ทุกๆคน ที่มา ชาวคณะขอบใจ
จากบ้านมา  คณะหนัง  หวังพึ่งท่าน            โดยเฉพาะ  เจ้างาน  พร้อมลูกหลานที่มาใหม่
มาที่นี่   ไม่พึงพี่  จะพึ่งใคร                                       ขอน้ำใจ  จากท่าน  ที่ผ่านมา
หนังมาไกล  ไม่มีไหร  จะมาฝาก                               เพียงลมเสียง อายปาก ฝากกับวงศา
นั่งเถิดแม่ แลเถิดยาย  เมื่อได้เวลา                จะพรรณาขึ้นให้ชม  เพราะเวลามันสมควรฯ
            นายหนังถอดรูป พร้อมภาวนาคาถา  ฦา ออ แล้วประทับรูปที่จอในลักษณะการยืนขึ้น ถอยหลังมาหนึ่งก้าว  บิดรูปมาทางขวาแล้วกลับเชิดขึ้นทางมุมจอด้านขวาตามจังหวะเพลงทับ   เป็นอันเสร็จพิธีกรรม การออกหน้าบท  ลูกคู่จะเปลี่ยนเพลงบรรเลงนายหนังออกรูปบอกเรื่อง  ซึ่งโดยปกติตามโบราณจะใช้รูป นายสีแก้ว(สงขลา)  ซึ่งเป็นที่มาของสำนวนใต้ที่ว่า “สีแก้วพลอย รุ่ง” คือการออกมาครั้งเดียวแต่ต้องอยู่จนกระทั่งรุ่งเช้าจนการแสดงหนังตะลุงแล้วเสร็จ คือ อยู่จนหนังเลิก        
แต่ในปัจจุบันคณะในนครศรีธรรมราช จะออกรูปบอกเรื่องเป็น นายขวัญเมืองหรือตาเมือง เพราะเป็นตัวตลกเอกของอดีตครูหนังปู่จันทร์แก้ว หรือ  หนังจันทร์แก้ว อดีตนายหนังชื่อดังของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็นที่นับถือของนายหนังทุกคณะ
การบอกเรื่องคือการออกมาทำความเคารพท่านเจ้าภาพ(ผู้รับหนัง) และท่านผู้ชมแล้วบอกว่าคืนนี้จะแสดงเรื่องอะไร และขอบคุณทุกๆคนที่มีส่วนสนับสนุนคณะหนังด้วยดีเสมอมา  สุดท้ายจึงอ้างอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยอภิบาลคุ้มครองให้มีความสมบูรณ์พูนสุข  มีโชคลาภเช่นอาจยกสำนวนการอวรพรที่ว่า  “นึกเงินให้ได้เงิน นึกทองให้ได้ทอง นึกข้าวนึกของให้ได้เป็นเรือนแสน  มีลูกผู้หญิงให้ได้เป็นคุณนาย  มีลูกชายให้ได้เป็นผู้แทนฯ”   ลูกคู่ขึ้นเพลงทับแล้วจึงถอดรูปขึ้น ประทับรูปแล้วไหว้และกลับเข้าโรงทางด้านซ้าย   ออกล่อจอทางมุมซ้ายพร้อมภาวนา คาถาผูกใจคนตามความเชื่อของแต่ละคณะ (ล่อจอ คืออาการของรูปที่ออกมาให้เห็นเฉพาะส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปของรูปในลักษณะเป็นเงารางๆ  ไม่ประทับรูป  :ผู้เขียน)
โดยทั่วไปจะใช้คาถาผูกใจคน ดังนี้  “นะผูกใจ โมผูกใจ พุทธผูกใจ  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่าได้ยุ่งไขว่ไปข้างอื่น จันฺทวัณโณ  อาคัจฉาหิ อาคัจฺฉายุง อาคัจฺฉาถะ ฯ”          (ว่าสามจบ)
เมื่อหลรูปแล้วลูกคู่จะบรรเลงเพลง นายหนังออกรูปฉากแรกคือฉากเจ้าเมืองและนางเมือง พร้อมด้วยทหารหรือข้าราชบริพารซึ่งแล้วแต่จะแสดงเรื่องอะไรก็ออกรูปไปตามท้องเรื่องนั้น  ออกรูปเสร็จนายหนังจะภาวนาคาถาผูกคนและคาถาชักเสียงอีกคำรพหนึ่ง ก่อนที่จะออกเสียงว่า ออ ออ ออ ออหอ หอ ออหอ ออรัก ออหอ อองาม งามออหอรัก รักงามเหอ.....แล้วว่ากลอนอารัมบทหน้าเมืองบทหนึ่งจบแล้ว ลูกคู่ขึ้นเพลงใหม่จึงบรรยายความในฉากแรกของท้องเรื่อง หรือบางคณะอาจจะบรรยายแล้วว่ากลอนตั้งเมือง เพื่อทำการแสดงในท้องเรื่องเลยก็ได้

[1] ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง/ผู้รวบรวม สวดมนต์เจ็ดตำนาน (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงธรรมบรรณาคาร ,2500).น28-29.
[2] ปรีชา ลุยจันทร์ “หนังปรีชา  สงวนศิลป์”(สัมภาษณ์ ). 9ตุลาคม 2540.
หมายเลขบันทึก: 297376เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะคนที่เล่นหนังตะลุงได้ เป็นตั้งหลายตัวละคร เก่งมากเลยค่ะ

สมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องแข็มแข็ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท