เยียวยาชุมชนด้วยวิธีการบริหารโดยเน้นโรงเรียนเป็นฐาน


เยียวยาชุมชนสัมพันธ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรณีโรงเรียนบ้านท่าน้ำ)

ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พุทธศักราช 2547 จนปัจจุบัน ประชาชน เจ้าหน้าที่ และครูในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลาบางส่วน (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอเทพา) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ถูกคุกคามทำร้ายจากผู้ก่อการร้ายหลายรูปแบบและมีความรุนแรงมากมาย  โรงเรียนถูกเผามากราย ทำให้ครูหยุดทำการสอนเนื่องด้วยกลัวในความไม่ปลอดภัยในชีวิตส่งผลเสียต่อการศึกษาของเยาวชนในท้องถิ่นที่มีผู้ก่อการร้ายคุกคาม ทำให้ไม่สามารถเล่าเรียนได้ตามปกติ ยิ่งกว่านั้นยังมีผลกระทบไปถึงสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพของพลเมืองและดินแดนพื้นที่แห่งนี้

สภาพโดยทั่วไปของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังรวมทั้ง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 16,409 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งที่เป็นชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่ม ป่าพรุ ป่าทึบและเทือกเขา โดยเฉพาะจังหวัดยะลาซึ่งมีพื้นที่ป่าและเทือกเขามากที่สุดที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในภาพรวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนบก ป่าเขาและในทะเล ลักษณะการปกครองของ 3 จังหวัด มีเขตปกครองรวม 32 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 250 ตำบล  2,567 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง และเทศบาลตำบล 31 แห่ง ตลอดจนองค์การปกครองส่วนตำบล 250 แห่ง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีก 3 แห่ง ประชากรเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสิ้น 1,757,407 คน โดยเฉลี่ยนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 80 ศาสนาพุทธร้อยละ 18 ที่เหลือ ร้อยละ 2 เป็นศาสนาคริสต์และอื่นๆ (ศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2549 อ้างถึงใน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2550)

ผลจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลทั้งเป้าหมายและแนวทางกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้สังคมภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน ทั้งที่เป็นลักษณะร่วมกับบริบทของประเทศและลักษณะเฉพาะกิจของภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ การเจริญเติบโตของเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวไม่กี่แห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา-หาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นทั้งแหล่งดึงดูดทรัพย์แรงงานล้มละลายจากภาคเกษตรจากภาคใต้และภาคอื่นๆ นอกจากนั้นจังเป็นแหล่งผลิตวัฒนธรรมบริโภคนิยมให้กับสังคมภาคใต้ โดยเฉพาะในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจารีตและวิถีชีวิตผูกพันกับศาสนาถูกสั่นคลอนไม่น้อยกับกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยม ปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมหลายประการที่ไม่ต่างจากบริบทของประเทศมากนัก อาทิ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่แม้จะรุนแรงน้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ แต่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ๆ อย่างชัดเจน ปัญหาค่านิยมเลียนแบบการบริโภคตามตะวันตกของวัยรุ่น ปัญหาสถาบันครอบครัวและสถาบันศาสนาอ่อนแอลง โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถานศึกษาในระบบรวม 1,202 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 1,202 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 1,129 แห่ง สถานศึกษานอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชุมชนและเอกชนมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,742 แห่ง มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด (เราเฎาะฮ์) และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) รวม 1,735 แห่ง ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกประเภท รวมถึงสถาบันปอเนาะมีทั้งสิ้น 487 แห่ง ส่วนสถาบันการศึกษาทางพุทธศาสนาของพระสงฆ์และคนไทยพุทธ ประกอบด้วย โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศูนย์ธรรมศึกษา ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์มี 39 แห่ง ส่วนบุคลากรที่มเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา มีครูและบุคลากรรวม 28,809 คน มีกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 11,290 คน และเครือข่ายผู้ปกครอง 56,450 คน มีนักเรียน/นักศึกษาทั้งสิ้น 479,074 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 73 ของประชากรวัยเรียน โดยแบ่งเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 447,832 คน ระดับอาชีวศึกษา จำนวน 17,457 คน และระดับอุดมศึกษา จำนวน 13,832 คน ทั้งนี้ในการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษานักเรียนเกือบทั้งหมดเรียนร่วมกันในโรงเรียนของรัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนระดับมัธยมศึกษา นักเรียนร้อยละ 70 เรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนมุสลิมล้วน และร้อยละ 30 เรียนในโรงเรียนของรัฐซึ่งมีทั้งเยาวชนพุทธและมุสลิมร่วมกัน

ในด้านคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยคะแนนผลการทดสอบ National Test (NT) ปี 2547 ช่วงชั้นที่ 1 ร้อยละ 33-38 ช่วงชั้นที่ 3 ร้อยละ 34-36 และช่วงชั้นที่ 4 ร้อยละ 35-44 โดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานและต่ำที่สุดในประเทศ และคะแนนดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงในบางวิชาอีกด้วย ในส่วนคะแนน O-NET เช่นกัน พบว่า ระดับคะแนนเฉลี่ยของจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี อยู่ใน 3 ลำดับสุดท้ายของประเทศเช่นกัน โดยยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องความแตกต่างของคะแนนผลสัมฤทธิ์ที่พบว่า คะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนของรัฐสูงกว่าเอกชนในทุกจังหวัดและในทุกรายวิชาอีกด้วย

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันซึ่งมีโรงเรียนถูกเผาทำลายไปกว่า 200 แห่งในรอบ 40 ปี หรือกว่า เดือนละ 5 แห่ง และมีครู บุคลากร นักเรียนนักศึกษาได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปเกือบ 300 คน ทำให้สภาพการจัดการศึกษาตกอยู่ในภาวะยากลำบาก โรงเรียนต้องปิดทำการสอนไปถึงปีละ 30-40 วันและบางโรงปิดเกิน 100 วัน หรือกว่าครึ่งของเวลาทั้งหมด ภาวะดังกล่าวยิ่งทำให้ปัญหาคุณภาพ ประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษนี้ยิ่งมีแนวโน้มวิกฤตยิ่งขึ้น

ปัญหาการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ที่มิใช่เป็นเพียงปัญหาของการขาดทรัพยากรหรือบุคลากร แต่เป็นปัญหาที่โยงกลับไปถึงประวัติศาสตร์แห่งการละเลยของรัฐต่อความต้องการรูปแบบการศึกษาพิเศษของพื้นที่พิเศษนี้ ที่จะสามารถตอบสนองไม่เฉพาะแต่โอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพหรือโอกาสการมีงานทำเท่านั้น แต่ยังต้องตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่อีกด้วย ท่ามกลางสถานการณ์การก่อความรุนแรงที่มีรากเหง้ามาจากทั้งความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐมาในอดีตของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง ทั้งจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  ที่ไม่ประสงค์ดีนี้ ดังนั้นการหารูปแบบเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาในท้องถิ่นร่วมกับชุมชนจึงเป็นน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเยียวยาปัญหาระยะสั้นเพื่อจะเป็นก้าวแรกที่สร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนในท้องถิ่น 

การเยียวยาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาร่วมกับชุมชนในพื้นที่โรงเรียนบ้านท่าน้ำ  อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 จึงใช้แนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) เป็นกรอบในการสร้างรูปแบบการเยียวยาในชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างรูปแบบการเยียวยา และนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติจริงในภาคสนาม จากนั้นจึงนำผลดังกล่าวมาพัฒนารูปแบบการเยียวยาในชุมชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อความเสถียร และสามารถเผยแพร่แก่ชุมชนในการฟื้นฟูชุมชนและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอื่น ๆต่อไป

หมายเลขบันทึก: 297182เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชม มาเชียร์

ด้วยความนึกถึงค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท