ศาลปกครอง


ความรู้ทั่วไป

 

มาทำความรู้จักศาลปกครองกัน

      ศาลปกครองเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นแยกออกจากศาลยุติธรรม จัดตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตามมาตรา 276 – 280 ในส่วนที่ 4 ว่าด้วยศาลปกครองประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง การบริหารงานบุคคล และการงบประมาณ
         ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แบ่งศาลปกคองออกเป็น 2 ชั้น คือ
         1. ศาลปกครองสูงสุดเทียบได้กับศาลปกครองชั้นฎีกา มีแห่งเดียวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง มีอำนาจพิจารณาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น หรือคดีอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 11 ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาคดี ดังนี้
         1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
         2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
         3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
         4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
         2. ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ ศาลปกครองครองกลางตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม นอกจากนี้มีอำนาจในระหว่างที่ศาลปกครองในภูมิภาคยังมิได้มีเขตอำนาจ หรือยังมิได้จัดตั้ง
         ศาลปกครองชั้นต้นอีกประเภทหนึ่งคือ ศาลปกครองในภูมิภาคมีทั้งหมด 16 แห่ง คือ ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองชุมพร ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองบุรีรัมย์ ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองแพร่ ศาลปกครองยะลา ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองลพบุรี ศาลปกครองสกลนคร ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสุพรรณบุรี ศาลปกครองอุครธานี และศาลปกครองอุบลราชธานี
         ศาลปกครองชั้นต้นทั้ง 16 แห่งที่กล่าวมาตั้งอยู่ในจังหวัดตามชื่อศาล และมีอำนาจในเขตใกล้เคียง ดังเช่น ศาลปกครองจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว หรือศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน


         ส่วนการฟ้องคดีปกครองนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
         ลักษณะการฟ้องและการมอบอำนาจ มาตรา 45 โดยคำฟ้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และในคำฟ้องต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้คือ
         1 .ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
         2. ชื่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
         3. การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
         4. คำของผู้ฟ้องคดี
         5. ลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย
         คำฟ้องใดมีรายการไม่ครบตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ชัดเจนหรือไม่อาจเข้าใจได้ ให้สำนักงานศาลปกครองให้คำแนะนำแก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้นให้ถูกต้อง ในการนี้ให้ถือวันที่ยื่นฟ้องครั้งแรกเป็นหลักในการนับอายุความ
         ในกรณีที่มีผู้ประสงค์จะฟ้องคดีปกครองหลายคนในเหตุเดียวกัน บุคคลเหล่านั้นอาจจะยื่นคำฟ้องร่วมกันเป็นฉบับเดียวกัน โดยจะมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีคนใดเป็นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีทุกคนในการดำเนินคดี ในกระบวนพิจารณาผูกพันผู้ฟ้องคดีทุกคน
         ในการดำเนินกระบวนการพิจารณา คู่กรณีจะดำเนินการทั้งปวงด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกำหนดเพื่อฟ้องคดีหรือดำเนินการแทนได้
         ในโอกาสต่อไปจะมานำเสนอเกี่ยวกับศาลปกครองในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและลักษณะการฟ้องคดีปกครอง สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ

เอกสารอ้างอิง
ว่าที่ร้อยตรี สนิทศักดิ์ สนิทศักดิ์ดี “ศาลปกครอง” ใน ยุทธโกษ ปีที่ 110 ฉบับที่ 2 ประจำ
เดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2545.

การดำเนินคดีในศาลปกครอง
          การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนิติสัมพันธ์ระหว่างทางราชการกับเอกชนไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ต้องใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวนดังที่กล่าวมาแล้ว ควบคู่กับหลักการให้สิทธิโต้แย้งหรือหลักการฟังความสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ เพราะเอกสารหลักฐานอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ก็สามารถระบุเหตุขัดข้องเพื่อที่ศาลจะดำเนินการให้ได้พยานหลักฐานนั้นต่อไป หรือเมื่อทางราชการมีคำชี้แจงหรือข้อโต้แย้งอย่างใด จะต้องให้ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบโดยผู้ฟ้องคดีสามารถชี้แจงแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอพยานหลักฐานของตนได้ และในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกก็ยังเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของฝ่ายตน และอาจมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลได้อีกด้วย
          นอกจากนั้น ระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองยังให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างตุลาการศาลปกครองด้วยกัน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของข้อเท็จจริง กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง แต่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงนั้นต่อตุลาการอื่นที่ประกอบเป็นองค์คณะ และต่อ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่ตุลาการในองค์คณะนั้นได้พิจารณาด้วย สำหรับในส่วนของการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ตุลาการผู้แถลงคดี จะเสนอ คำแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินคดีต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย อันเปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการคนเดียวว่า หากตนมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด ซึ่งแม้ว่าคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่การให้มีระบบการเสนอ คำแถลงการณ์ ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อองค์คณะเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจตัดสินคดีขององค์คณะมีความรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะหากองค์คณะไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ โดยหลักก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะจะมีการเปรียบเทียบข้อวินิจฉัยและเหตุผลของตุลาการผู้แถลงคดีและขององค์คณะได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของผู้แถลงคดีควบคู่กันเสมอ

 

 

 

 

 

เขตอำนาจศาลปกครอง

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 94 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ให้จัดตั้งศาลปกครองในภูมิภาค ดังต่อไปนี้
(1) ศาลปกครองขอนแก่น ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม


(2) ศาลปกครองชุมพร ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดระนอง

(3) ศาลปกครองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน

(4) ศาลปกครองนครราชสีมา ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา

(5) ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

(6) ศาลปกครองจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์

(7) ศาลปกครองพิษณุโลก ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดสุโขทัย

(8) ศาลปกครองแพร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์

(9) ศาลปกครองยะลา ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา

(10) ศาลปกครองระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว

(11) ศาลปกครองลพบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครนายก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง

(12) ศาลปกครองสกลนคร ตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร

(13) ศาลปกครองสงขลา ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล

(14) ศาลปกครองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี

(15) ศาลปกครองอุดรธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี

(16) ศาลปกครองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ


บทความเรื่องนี้คัดมาจากเวบไซด์ของ ศาลปกครอง
http://www.lawyerthai.com/articles/law/008.php (http://www.lawyerthai.com/articles/law/008.php)

 ตัวอย่างข่าวเกี่ยวกับศาลปกครอง

ศาลรับฟ้องคดี อภิสิทธิ์ ฟ้อง จตุพร หมิ่นประมาท
          ศาลรับฟ้องคดี อภิสิทธิ์ ฟ้อง จตุพร แกนนำเสื้อแดง หมิ่นประมาท ปราศรัยกล่าวหาเป็นรัฐบาลทรราช สั่งทหารฆ่าประชาชน นัดสอบคำให้การจำเลย - ตรวจพยานหลักฐาน 14 ธ.ค.นี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ส.ค. ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,332
          โดยนายอภิสิทธิ์ เดินทางมา เบิกความด้วยตนเอง สรุปว่า วันเกิดเหตุ จำเลยไปปราศรัยต่อหน้าประชาชนและสื่อมวลชน มีการกล่าวหาใส่ร้ายเขาว่า เป็นผู้สั่งทำร้ายประชาชน ที่เป็นม็อบเสื้อแดง ทั้งที่พัทยา และที่กระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา โดยว่าเขากับรัฐบาลเป็นผู้ชั่วช้าเลวทราม และยังหาว่า รัฐบาลใส่ร้ายคนเสื้อแดง กับสั่งยิงประชาชน หาว่า เขาเป็นฆาตกร สมควรถูกประหารชีวิต
          สำหรับเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย จำเลยหาว่า เขาและรัฐบาล จัดฉากเพื่อให้ทหารเข้ามาใช้กำลัง ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วขณะถูกล้อมที่กระทรวงมหาดไทย เขายังอยู่ในรถ เขายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีพฤติการณ์เป็นทรราช ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยความละมุนละม่อม
          ด้านทนายจำเลยได้พยายามซักค้านถึงประเด็นเหตุการณ์ต่าง ในช่วงดังกล่าว และอ้างว่า ที่จำเลยกล่าวถึงนั้นเป็นลักษณะของการติชมด้วยความเป็นธรรม
          ทั้งนี้ เวลา 14.00 น. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล จึงมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า คดีมีมูล และกำหนดวันสอบคำให้การจำเลย และตรวจสอบพยานหลักฐาน ในวันที่ 14 ธ.ค.เวลา 09.30 น.
          สำหรับคดีนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้อง นายจตุพร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.52 โดยคำฟ้องระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.52 นายจตุพร จำเลย ได้ปราศรัยด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชน จำนวนกว่าหมื่นคน โดยใส่ความว่ารัฐบาลทำนองว่า เป็นรัฐบาลที่ชั่วเลวที่สุด เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม ซึ่งหมายถึงโจทก์ และกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน โจทก์เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงอย่างมาก เหตุเกิดที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม.
เนื้อหาโดย : คม ชัด ลึก

                                            (นางสาวนิตยา เกลี้ยงสง เลขที่ 16 รปศ.501)

คำสำคัญ (Tags): #ศาลปกครอง
หมายเลขบันทึก: 296531เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท