ทศวรรษเพื่อการรณรงค์เพิ่มคุณภาพของส้วมทั่วไทย


วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการและโรคที่ไม่พึงประสงค์จากการนั่งยองๆ

      ท่านที่เข้ามาอ่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมผมต้องเขียนบล๊อกนี้ ส้วมไทยมันไม่ดีตรงไหนถึงต้องเลิกใช้

       ผมยืนยันว่าเคารพในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่ประดิษฐ์ส้วมคอห่านแบบนั่งยองๆมาให้คนไทยได้ใช้หลายสิบปีและต้องบันทึกนามผู้สร้างไว้เป็นเกียรติคือพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เป็นผู้ประดิษฐ์ “ส้วมคอหงษ์ หรือ คอห่าน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วมตั้งแต่นั้นมา

       กรมอนามัยมีบทบาทอย่างยิ่งในการรณรงค์ให้คนไทยใช้ส้วม จนแม้ในชนบทปัจจุบันมีน้อยมากที่ประชาชนไม่มีส้วมใช้

        แต่ปัญหาที่หลายคนมองข้ามไปจากการใช้ส้วมนั่งยองนี้ก็คือมันไม่ถูกสุขลักษณะเป็นอย่างยิ่ง  และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพบางประการตามมา ได้แก่

       1. โรคปวดเข่า  ท่านั่งถ่ายแบบยองๆอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเข่าโดยเฉพาะเอ็นยึดข้อเข่า และข้อตะโพก  เอ็นข้อเข่าจะทำงานหนักมากในท่านั่งยอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของข้อเข่า ข้อตะโพกอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่อาจทำให้เอ็นยืด เข่าไม่เสถียรมากยิ่งขึ้นไปอีก

       2. ท่านั่งยองทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้อวัยวะภายในช่องท้อง ทำงานผิดปกติโดยเฉพาอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคภายในช่องท้อง เช่นแข็งตับโต ไส้เลื่อนเป็นต้น

       3. ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการบีบรัดร่างกายในท่างอเข่าและแรงเบ่งจากการขับถ่าย จะทำให้เกิดอันตรายในกรณีความดันโลหิตขึ้นสูง เกิดอาการมึนงงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว  และผู้ที่อายุมาก เส้นเลือดในสมองอาจแตกได้

       4. โลหิตไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเกิดจากเลือดแดงผ่านไปเลี้ยงขาและเท้ายากเพราะท่าที่มีการพับของข้อตะโพกและเข่าและความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการชา นอกจากนี้เลือดดำยังไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ยากทำให้เส้นเลือดดำที่ขาขอดโดยเฉพาะผู้ที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว

          ดังนั้นในทศวรรษนี้ ผมจึงขอรณรงค์และเรียกร้องให้เป็นทศวรรษของการเพิ่มคุณภาพของส้วมไทย โดยมีเป้าหมายให้เปลี่ยนหัวส้วมจากนั่งยองเป็นส้วมชักโครกแบบนั่งให้หมด  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการและโรคที่ไม่พึงประสงค์จากการนั่งยองดังได้กล่าวข้างต้น

   

หมายเลขบันทึก: 296336เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2009 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท