รูปแบบการจัดการรายกรณีในงานสังคมสงเคราะห์


การประยุกต์ใช้การจัดการรายกรณีแพร่หลายจึงมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

รูปแบบการจัดการรายกรณีในงานสังคมสงเคราะห์

(Model of case management in social work)

                                                                                                                       

                 เมื่อแนวคิดการจัดการรายกรณีได้ถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ได้มีการพัฒนารูปแบบ การปฏิบัติงานตามแนวคิดการจัดการรายกรณีหลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้ 

1. Broker service Model หรือ Expended-broker Model หรือ รูปแบบตัวกลางหรือนายหน้า ซึ่งผู้จัดการรายกรณีจะมีบทบาทหน้าที่ประสานเชื่อมโยงผู้ใช้บริการสู่บริการ/ทรัพยากรที่ต้องการจำเป็น และประสานระหว่างผู้ให้บริการที่แตกต่างหลากหลายสังกัดให้ทำงานร่วมกันหรือรับช่วงต่อกันได้อย่างมีระบบ เหมาะสมกับการช่วยเหลือผู้ใช้บริการตามแผนส่วนบุคคลที่วางไว้ หน้าที่เฉพาะของผู้จัดการตามรูปแบบนี้คือ

 (1)การประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการอย่างองค์รวม

(2)วางแผนเฉพาะราย

(3)ประสานเชื่อมโยงสู่ผู้ให้บริการตามแหล่งต่างๆ

(4)ติดตาม ประเมินผล

 (5)พิทักษ์สิทธิ์

รูปแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อมีแนวคิดลดการพึ่งพิงสถาบัน(deinstitutionalization)เพื่อใช้กับผู้ใช้บริการที่มีปัญหาซับซ้อน ซึ่งต้องใช้บริการที่หลากหลาย และค่อนข้างมีกฎระเบียบหรือการบริการที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะในระบบของการให้บริการในชุมชน(Moore 1990)  จุดอ่อนของรูปแบบนี้  คือการที่คาดหวังว่าผู้จัดการสามารถเชื่อมโยงส่งต่อผู้ใช้บริการเข้าสู่แหล่งบริการทางclinicalได้ โดยที่ผู้จัดการเองไม่ต้องมีความสามารถในเชิง clinic เพราะเชื่อว่าโดยระบบแล้วการให้บริการตรง ควรเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของผู้ให้บริการด้านนั้นๆ ผู้จัดการไม่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะด้าน เป็นเพียงแค่ตัวกลางหรือนายหน้าก็พอ

2. Clinical Case Management Model รูปแบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยการตระหนักว่าผู้จัดการจะต้องทำหน้าที่ให้บริการตรงแก่ผู้ใช้บริการด้วย มิใช่เพียงแต่การประสานเชื่อมโยงเท่านั้น Kanter(1989) อธิบายว่ารูปแบบคลีนิคนี้ ผู้จัดการรายกรณีให้บริการใน 4 กรณีกว้างๆ ดังนี้

(1)  ขั้นเริ่มต้นประกอบด้วย แรกรับ ประเมิน และวางแผน

(2) ขั้นการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือบริบทแวดล้อม คือการเชื่อมโยงส่งต่อสู่แหล่งทรัพยากร

ในชุมชน การสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ใช้บริการ บำรุงรักษาและขยายเครือข่ายทางสังคม ประสานและร่วมมือกับบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาล และพิทักษ์สิทธิ์

  (3)  ช่วยเหลือผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย การทำจิตบำบัดชั่วคราว เป็นระยะๆ การอบรม/

สอนทักษะการดำรงชีวิตตามลำพัง การให้ความรู้ด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วย

(4)  การเข้าแทรกแซงผู้ป่วยในสถานการณ์แวดล้อม เช่น การช่วยเหลือในภาวะวิกฤต การ

ติดตามผล แม้ว่ารูปแบบนี้จะคล้ายคลึงกับรูปแบบตัวกลางหรือนายหน้า ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการทำหน้าที่ของผู้จัดการ ผู้จัดการในรูปแบบนี้จะต้องมีทักษะเฉพาะด้านมากขึ้น เช่น จิตบำบัด การให้การศึกษาจิตสังคม เป็นต้น

3. Assertive Community treatment(ACT) Model หรือ Assertive Continuous Care Teams รูปแบบนี้เป็นผลมาจากการที่Stein และ Test(1980) ริเริ่มโครงการทางเลือกซึ่งใช้ชุมชนเป็นฐานในการรักษาดูแลผู้ป่วยจิตเวชมากกว่าใช้โรงพยาบาล ซึ่งเดิมเรียกว่า Program for Assertive Community Treatment (PACT) เป็นการพัฒนาชุดการให้บริการเฉพาะทางให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเจ็บป่วยที่รุนแรง เรื้อรัง เป็นชุดบริการที่ประมวลรวมความเชี่ยวชาญของนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแต่ละด้านมาร่วมกันการแก้ไขช่วยเหลือผู้ป่วยในคราวเดียวกัน

                รูปแบบ ACT จึงให้บริการโดยทีมสหวิชาชีพ ซึ่งปกติประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล และผู้จัดการอย่างน้อย 2 คน หลักการพื้นฐานของรูปแบบ ACT  มีดังนี้

                   (1)  อัตราส่วนผู้ป่วยต่อผู้ให้บริการต่ำ(10:1 คน)

                   (2)  การให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนหรือบ้านของผู้ใช้บริการมากกว่าในที่ทำงาน                   หรือโรงพยาบาล

                    (3) นับภาระงานเป็นทีมมากกว่ารายบุคคล

                    (4) ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

                    (5) บริการตรงส่วนใหญ่ให้บริการโดยทีมสหวิชาชีพ ไม่ใช่ผู้แทนหรือตัวกลาง

      (6) ไม่จำกัดระยะเวลาให้บริการ รูปแบบนี้เน้นการให้บริการตรงที่บ้านหรือชุมชนของ

ผู้ใช้บริการ และมักจะไม่ส่งต่อบริการถ้าไม่จำเป็น เพราะต้องการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ใช้บริการในกิจกรรมประจำวัน การช่วยเหลือตนเองให้ได้ เช่น การซื้อของ ซักผ้า การเดินทาง

4. Intensive Case Management  Model  รูปแบบนี้พัฒนาขึ้นมาจากความต้องการที่จะตอบสนองต่อจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นในงานจิตเวช จนเกิดความตระหนักว่าการจัดการรายกรณีแบบเดิมไม่เหมาะสม เพราะ ใช้ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงมีรูปแบบ ICM ที่มีอัตราส่วนผู้ใช้บริการต่ำและนำไปให้บริการในสถานที่หรือชุมชนของผู้ใช้บริการ และเป็นการช่วยให้มีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน ความแตกต่างระหว่าง ACT กับ ICT คือ การนับภาระงาน ซึ่ง ICT จะให้บริการตรงเพียงคนเดียวหรือ 2 คน  ไม่ใช่การยกทีมไปพร้อมกันเหมือน ACT

5. The Strengths Case Management Model รูปแบบการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ใช้บริการ Rapp(1993) ได้สรุปลักษณะเด่นของรูปแบบไว้ดังนี้

 

(1)  เน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคล/ผู้ใช้บริการมากกว่าพยาธิวิทยา

(2)  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการเป็นสิ่งสำคัญ

(3)  การเข้าแทรกแซงช่วยเหลืออยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจด้วยตนเองของผู้ใช้บริการ                            

(4)  ชุมชนคือแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์มิใช่อุปสรรคในการช่วยเหลือ

(5)  การติดต่อช่วยเหลือและบริการเกิดขึ้นในชุมชน มิใช่สภาพที่ทำงานของผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล

(6)  ผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการมีศักยภาพในการเรียนรู้ เติบโต และเปลี่ยนแปลงได้

6. The Rehabilitation Case Management  Model  รูปแบบการฟื้นฟูคล้ายคลึงกับรูปแบบการสร้างเสริมความเข้มแข็ง การฟื้นฟูเน้นความสำคัญของระบบการให้บริการแบบรายกรณีที่ให้บริการตามความต้องการและเป้าหมายของผู้ใช้บริการรายบุคคลมากกว่าการตั้งเป้าโดยนักวิชาชีพที่ให้ความช่วยเหลือ ลักษณะเด่นของรูปแบบคือการเน้นเครื่องมือในการประเมินและการรักษา รวมทั้งทักษะการอยู่รวมกันในชุมชน และการรักษาเป้าหมายส่วนบุคคล

             รูปแบบต่างๆเหล่านี้ อาจมีการเลื่อมล้ำทับซ้อนแล้วแต่ผู้ให้บริการจะจำกัดขอบเขตและวิธีการให้บริการของตนอย่างไร โดยสรุป K.T.Mueser และคณะได้รวมกลุ่มของรูปแบบไว้ 3 รูปแบบกว้างๆ คือ

1. Standard Case Management ประกอบด้วย Broker Model และClinical Case Management Model

2. Rehabilitation-Oriented Community Care ประกอบด้วย Strengths Model กับ Rehabilitation Model

3. Intensive Comprehensive Care ประกอบด้วย ACT และ ICT

 

บรรณานุกรม

Kim T.Mueser, Gary R. Bond, Robert E. Drake, and Sandra G. Resnick. Models of Community

Care for Severe Mental Illness : A Review of Research on Case Management.

                ( Reprint requests should be sent to Dr. K. T. Mueser, New Hampshere-Dartmouth

                Psychiatric Research Ctr., Main Bldg., 105 Pleasant St., Concord, 03301.1998)

http://cpmcnet.columbia.edu/dept/pi/ppf/Mueser.pdf.2009

Kanter, J. Clinical case management : Definition, principles, components. Hospital and

Community Psychiatry, 33:456,1982.

 

หมายเลขบันทึก: 295705เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท