การอ่านเป็นวาระแห่งชาติอีกแล้ว?


Home] มติชนรายวันHome] มติชนราHome] มติชนรายวันยวัน

 

วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11501 มติชนรายวัน


การอ่านเป็นวาระแห่งชาติอีกแล้ว?


โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ



มีนโยบายไม่กี่เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการแต่ละยุคแต่ละสมัยมักจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ หนึ่งในจำนวนนโยบายหลักๆ คือ การประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

การที่เรื่องการอ่านถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติเสมอๆ จนแทบจะทุกรัฐบาล รวมทั้งสถิติที่ปรากฏว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละไม่กี่บรรทัด จนกระทั่งคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 39 นาทีต่อวัน หรือเฉลี่ยคนละ 5 เล่มต่อปี ซึ่งถือว่ายังน้อย สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเรื่องการอ่านยังไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะหากการอ่านเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในและนอกโรงเรียนแล้ว คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติให้เสียเวลาอีก

การประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติมาหลายครั้ง แต่เหตุใดสถิติการอ่านของคนไทย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนจึงไม่ประสบผล เมื่ออ่านหนังสือน้อย ฐานข้อมูลที่ควรจะเก็บไว้ในสมองเพื่อดึงมาใช้สำหรับการคิด วิเคราะห์ คิดให้เป็นก็ทำไม่ได้

น่าสนใจว่า ในส่วนของทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งที่ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อกระตุ้น ส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านนั้น ยังทำไม่เต็มที่? อย่างไร หรือสาเหตุที่ทำให้นโยบายนี้จะยังคงใช้ได้ในรัฐบาลต่อๆ ไป เพราะอะไร

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการอ่านของคนไทยคือ คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 39 นาทีต่อวัน บางหน่วยงานที่สำรวจพบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 5 เล่มต่อปี ไม่ว่าจะคิดเป็นเวลาหรือจำนวนเล่มก็ตาม แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็สะท้อนว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยหากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว

คำว่า "คนไทย" ในที่นี้น่าจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียนกับคนที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลากหลายอาชีพ ทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ มีความสามารถที่จะซื้อหนังสือมาอ่านเองได้ และที่ไม่มีความสามารถที่จะซื้อหนังสือมาอ่าน เนื่องจากรายได้จำเป็นต้องเก็บไว้ใช้ในเรื่องที่จำเป็นมากกว่านี้ เช่น เรื่องปากท้องของตนเอง

คนส่วนนี้อาจอยู่ตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกล หรืออาจอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ก็ตาม ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงโอกาสในการอ่านเช่นเดียวกัน แม้ว่าในบางหมู่บ้านจะมีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน แต่ต้องกลับไปสำรวจตรวจสอบว่าที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านมีหนังสืออะไรให้อ่านบ้าง นอกจากหนังสือพิมพ์ หนังสือเก่าๆ ไม่กี่เล่ม แค่มองยังไม่น่ามอง แล้วจะเชิญชวนให้หยิบไปอ่านได้อย่างไร

บางท้องถิ่นมีห้องสมุดประชาชนตั้งอยู่อย่างเงียบเหงา ชาวบ้านไม่ค่อยรู้ด้วยซ้ำว่าห้องสมุดประชาชนของตนเองอยู่ที่ไหน จะเข้าไปใช้บริการได้หรือไม่ "ความขลัง" ของสถานที่ราชการที่มีความเป็น "ราชการ" มาก อาจรวมไปถึงความเป็น "ราชการ" ของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชนดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเกิดความยำเกรงไม่กล้าและไม่คิดที่จะไปใช้บริการ

ยังไม่รวมถึงหนังสือในห้องสมุดประชาชนว่าน่าอ่าน น่าสนใจเพียงใด มีความเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นหรือไม่ เคยสำรวจหรือไม่ว่า เขตพื้นที่บริการของห้องสมุดประชาชนอยู่บริเวณใดบ้าง ชาวบ้านในละแวกนั้นต้องการอ่านหนังสือแบบใด มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชนหรือไม่

ในเรื่องของงบประมาณ ปีหนึ่งๆ รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชนมากน้อยเพียงใด ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเคยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่าน สร้างเสริมสติปัญญาให้กับคนในท้องถิ่นของตน มากเพียงพอเท่ากับความสนใจที่จะขุดท่อ ทำถนน หรือก่อสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือไม่

คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวเลขแสดงปริมาณการอ่านได้ดี คือ เด็กที่อยู่ในวัยเรียน เป็นที่ยอมรับว่าเด็กที่รักอ่านมักจะเกิดจากการปูพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการอ่าน และมาต่อยอดในระดับอนุบาลไปจนเรียนมหาวิทยาลัย

น่าแปลใจว่า "การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ" มาหลายครั้ง และทุกครั้งเป้าหมายอยู่ที่สถานศึกษาโดยเฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ การที่ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้น่าจะเป็นเพราะการระดมสรรพกำลังที่จะส่งเสริมการอ่านยังไม่เพียงพอ จึงต้องปรับกระบวนท่ากันใหม่ เป็นลำดับชั้นว่าทำกันอย่างไร มากกว่าสั่งให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมการอ่าน ส่วนครูก็สั่งให้เด็กอ่าน โดยลืมมองไปว่า "การรักการอ่าน" เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความพึงพอใจ ความอยากที่จะอ่าน เพราะเห็นความสำคัญและคุ้นชินที่จะอ่านมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการปลูกฝังมาแต่เยาว์วัย

ดังนั้น แม้ว่าการส่งเสริมการอ่านจะเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนส่วนใหญ่ส่งเสริมกันอยู่แล้ว แต่จะได้ผลเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ได้แก่

การที่เด็กจะเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดหรือยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านก็ตาม หนังสือต้องน่าอ่าน เป็นหนังสือใหม่ที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากจะให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จจริง ต้องพิจารณาว่าแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณสำหรับซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดให้แต่ละโรงเรียนมากน้อยเพียงใด เฉลี่ยต่อหัวเท่าไร เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจในการอ่านหรือไม่

หรือหากคิดเป็นจำนวนเล่ม แต่ละโรงเรียนซื้อหนังสือได้กี่เล่ม 1 เล่มต่อนักเรียนกี่คน หากเทียบกับต่างประเทศ ไทยใช้งบประมาณสำหรับหาหนังสือดีๆ น่าอ่านให้กับเด็กได้มากน้อยเพียงใด

หรือหากเทียบกับการที่รัฐจัดสรรงบประมาณสำหรับซื้อคอมพิวเตอร์แจกจ่ายให้กับโรงเรียนปีหนึ่งเท่าไร ขณะที่งบประมาณที่ให้โรงเรียนจัดซื้อหนังสือคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร

ซึ่งจะพบว่ารัฐให้ความสำคัญกับการซื้อคอมพิวเตอร์มากกว่า จนเด็กไทยมีความเชี่ยวชาญในการใช้คอมพิวเตอร์ สังเกตจากเด็กเล่นเกมเก่ง มีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี บางโรงเรียนเด็กมีความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้หลากหลายประเภท สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้ หารายได้พิเศษได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน เด็กจะอ่านหนังสือน้อย เพราะมัวสาละวนกับการเล่นเกม เล่นเน็ตมากกว่าอ่านหนังสือ หรือถ้าอ่านก็มักอ่านจากอินเตอร์เน็ตมากกว่าอ่านในหนังสือ ทั้งที่ข้อมูลความรู้จากอินเตอร์เน็ตบางเรื่องจำเป็นต้องพิจารณาถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ อย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าในหนังสือ

ประการต่อมา หนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุด หรือซื้อแต่ละปีนั้น นอกจากต้องมีปริมาณเพียงพอแล้วยังต้องน่าอ่าน น่าสนใจ เหมาะกับวัยของเด็ก

ดังนั้น ผู้รับผิดชอบเรื่องซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดคงต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยว่าต้องการอ่านหนังสืออะไร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อาจเข้ามาสนับสนุนงบประมาณได้ หากเห็นความสำคัญของการอ่าน แต่ก็ไม่ควรไปซื้อเอง เพราะเกรงว่าจะได้หนังสือที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความต้องการที่เด็กจะอ่าน รวมทั้งการซื้อหนังสือควรมุ่งที่ความน่าอ่าน น่าสนใจ ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ ทั้งความรู้และความบันเทิงมากกว่าความมุ่งหมายอื่นใดที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน

การที่เด็กยังอ่านหนังสือน้อย อาจรวมไปถึงการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดแต่ละปีมักจะจัดซื้อกันปีละครั้งสองครั้ง ขณะที่หนังสือดีๆ น่าอ่านของสำนักพิมพ์ต่างๆ ออกมาแทบจะทุกสัปดาห์ ทุกวัน เมื่อมีการเปิดตัวหนังสือแต่ละเล่ม มีการโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้มาก เด็กอาจจะอยากอ่าน แต่กว่าสถานศึกษาจะได้จัดซื้อหนังสือเล่มนั้นอาจทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ความสนใจอยากอ่านหนังสือของเด็กคงลดลงด้วย

ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้บรรณารักษ์มีสภาพคล่องในการใช้งบประมาณเพื่อสั่งซื้อหนังสือที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ได้มากกว่านี้

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะอ่านหนังสือก็สำคัญมาก บางทีในโรงเรียนอาจมีกิจกรรมส่งเสริม กระตุ้นการอ่านน้อยเกินไป โรงเรียนควรจัดบรรยากาศให้เด็กได้ใกล้ชิด หรือสัมผัสแวดวงหนังสือ ทั้งการเชิญนักเขียน นักอ่าน ที่ประสบความสำเร็จจากการนำความรู้จากการอ่านไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอ่าน หรือจัดกิจกรรมเข้าค่ายฝึกทักษะการอ่านการเขียนเหมือนที่หลายสำนักพิมพ์ทำ

หากได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนก็น่าเชื่อว่าหลายๆ โรงเรียนน่าจะมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่สนใจ สร้างแรงจูงใจในการอ่านได้ดี

ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างจริงจัง ให้มีบรรยากาศเหมือนส่งเสริมการอ่านจริงๆ ไม่ใช่เพียงจัดนิทรรศการวันสองวันมุ่งเน้นแค่ได้ถ่ายภาพว่าได้ส่งเสริมแล้ว แต่ไม่เคยติดตามว่าการประชาสัมพันธ์ให้แต่ละโรงเรียนได้รับรู้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมมีมากน้อยเพียงใด การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนและปริมาณมากน้อยเพียงใดก็แสดงนัยยะอะไรบางอย่างของการทำงานส่งเสริมการอ่านของเขตพื้นที่การศึกษาเช่นกัน

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่านให้กับโรงเรียน และการจัดประกวดโรงเรียนรักการอ่าน ผู้บริหารรักการอ่าน ครูรักการอ่าน นักเรียนรักการอ่าน ควรได้มีภาพ (ไม่ใช่รูปถ่าย) ที่แสดงถึงความกระตือรือร้นของทั้งคนจัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม

อีกทั้งเมื่อการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เขตพื้นที่การศึกษาต้องหายุทธวิธีส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมจริงๆ ด้วยการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยคิด ช่วยจัด และส่งเสริมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ มากกว่าสั่งให้โรงเรียนทำหรือแค่ต้องการได้ตัวเลขข้อมูลจากโรงเรียนเท่านั้นว่าเด็กรักการอ่านกี่คน อ่านหนังสือวันละกี่นาทีต่อคนเท่านั้น

นอกจากนี้ การจัดบรรยากาศในโรงเรียนให้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กแล้ว บรรยากาศของสังคมที่แวดล้อมตัวเด็กยังพบว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกฝังพฤติกรรมรักการอ่านของเด็กๆ รอบๆ สถานศึกษาที่เต็มไปด้วยร้านเกม เมื่อเดินออกจากโรงเรียนก็เข้าร้านเกมหรือสถานบันเทิงอื่นๆ

สื่อทางโทรทัศน์วันหนึ่งๆ เด็กๆ ใช้เวลาอยู่หน้าโทรทัศน์วันละหลายชั่วโมง ไม่ว่าสื่อของรัฐหรือเอกชน รวมทั้งช่องที่เป็นสื่อสาธารณะแทบไม่ปรากฏกิจกรรมหรือภาพการส่งเสริมการอ่านแต่อย่างใด หรือแม้แต่ตัวละครในโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือตัวร้ายก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีพฤติกรรมของความเป็นตัวอย่างของผู้มีนิสัยรักการอ่านแม้แต่น้อย

สังคมไทยทั้งในชีวิตจริงและในจินตนาการ หรือโลกในความฝัน ล้วนแล้วแต่ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของการรักการอ่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดที่เด็กและคนไทยจะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการรักการอ่านอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

การที่รัฐบาลต้องการกำหนดให้ "การอ่าน" เป็นวาระแห่งชาติมาหลายปีหลายรัฐบาล ไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสักที คงเป็นเพราะวัฒนธรรมของ "ระบบราชการไทย" ที่มักมีแต่คนคิดแล้วสั่งให้คนอื่นทำ โดยไม่เสนอความคิดต่อว่าที่ควรจะทำทำอย่างไร จึงมีระบบการสั่งการตั้งแต่ข้างบนลงสู่ข้างล่าง โดยหวังเพียงข้อมูลตัวเลขมากกว่า แทนที่จะเสนอวิธีการกันเป็นลำดับชั้น จนถึงระดับปฏิบัติการ จะได้ประมวลแนวคิดจากระดับนโยบายลงมาผสมกับความคิดของผู้ปฏิบัติ

อาจทำให้การอ่านไม่ต้องเป็นวาระแห่งชาติอีกทุกปีไป เพราะคนไทยรักการอ่านอยู่ในจิตวิญญาณกันอยู่แล้ว

หน้า 9



หมายเลขบันทึก: 294869เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท