“HR บูรณาการกับการบริหารองค์กรยุคใหม่” (",)


“HR บูรณาการกับการบริหารองค์กรยุคใหม่

โดย...ณรงค์วิทย์ แสนทอง
mailto:[email protected]

               จากเดิมองค์กรต่างๆมักจะผลิตสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง พูดง่ายๆคือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น บริษัทผลิตอาหารสัตว์ก็ผลิตแต่อาหารสัตว์ บริษัทผลิตผงชูรสก็ผลิตแต่ผงชูรส บริษัทผลิตเครื่องพิมพ์ดีดก็ผลิตแต่เครื่องพิมพ์ดีดแต่เพียงอย่างเดียวฯลฯ และมุ่งเน้นการผลิตในปริมาณมากๆเพื่อให้ต้นทุนการผลิตถูกลง (Mass Production) เมื่อลักษณะของธุรกิจเป็นแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บุคลากรที่ทำงานในองค์กรก็ไม่ค่อยมีความหลากหลายมากนัก จะมีส่วนเหมือนมากกว่าส่วนต่าง ดังนั้น รูปแบบการบริหารคนก็สามารถใช้แบบเดียวเหมือนกันหมดทุกคน ระบบการจ่ายผลตอบแทน ระบบการสวัสดิการต่างๆที่ออกมาก็ไม่แตกต่างอะไรไปกับระบบการผลิตสินค้าเฉพาะอย่างในปริมาณมากๆ ไม่ใช่ผลิตตามคำสั่งของลูกค้าหรือจัดสวัสดิการตามความต้องการของพนักงาน

               เมื่อโลกเปลี่ยนไป (กรรมการ)ผู้จัดการก็เปลี่ยนไป(วิธีคิด วิธีบริหารจัดการ สไตล์) ลักษณะการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไป บริษัทที่เคยผลิตแต่สินค้าประเภทเดียวก็เริ่มแตกไลน์การผลิตสินค้าใหม่ๆมากขึ้น ทั้งที่เป็นสินค้ากลุ่มเดียวกันแต่ต่างรายการ หรือไม่ก็ผลิตสินค้าที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมไปเลย และผลิตตามความต้องการของตลาดมากขึ้น สามารถผลิตในปริมาณที่น้อยลงได้มากขึ้น การบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นระบบย่อยระบบหนึ่งในองค์กรย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย จะมัวมานั่งจัดสวัสดิการแบบเดิมๆ ใช้วิธีการบริหารจัดการคนเพียงรูปแบบเดียวคงจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

               ในอนาคตการบริหารองค์กรมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น เร็วขึ้น ถี่ขึ้นและมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ยิ่งจะทำให้งานด้านการบริหารบุคลากรหรืองาน HR ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆมากยิ่งขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คน HR จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการหาคน จ่ายผลตอบแทน ฝึกอบรมและแรงงานสัมพันธ์ HR ในอนาคตอาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาขององค์กรในเรื่องต่างๆมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุดคือ HR จะต้องรู้ทุกเรื่องที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องจะรู้แค่วิชาชีพของตัวเองเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ เพราะความคาดหวังจากผู้บริหารในอนาคต คาดหวังว่าทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ ทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกเรื่องขององค์กรได้ สรุปง่ายๆว่าในอนาคตพรมแดนระหว่างหน่วยงานจะถูกทำลายลงเหมือนกันกำแพงระหว่างประเทศที่ถูกทำลายลงด้วยระบบการสื่อสารแบบไร้พรมแดน ต่อไปอาจจะบอกได้ยากแล้วว่านี่คือฝ่าย HR นั่นคือฝ่ายบัญชี เพราะทุกสาขาอาชีพจะต้องมาอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นหน่วยทำกำไรย่อย (Profit Center/Business Unit) อาจจะเป็นกลุ่มของโครงการ (Project) อาจจะเป็นกลุ่มแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ (Working Group) โดยที่ทุกคนจะต้องประสานเพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้โดยอาศัยจุดเด่นของทุกคนรวมกัน ไม่มีการแยกขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงเหมือนในอดีตและปัจจุบันที่ใครทำอะไรก็ทำเหมือนเดิมไปตลอดปีตลอดชาติ

               ดังนั้น การบริหารบุคลากรที่เรานิยมเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า HR คงจะต้องก้าวจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนี้ไปสู่การเป็น HR แบบบูรณาการมากขึ้น ซึ่งคำว่าบูรณาการในที่นี้หมายถึงลักษณะดังต่อไปนี้

•  ทำงานคนเดียวไม่ได้

ถ้าแบ่งงานกันชัดเจน ต่างคนต่างทำ งานใครงานมัน อย่างนี้ไม่เรียกว่าบูรณาการ การทำงานแบบบูรณาการคือการร่วมกันทำงานโดยอาศัยความหลากหลายของความรู้ ประสบการณ์ ทรัพยากรและคนทำงานมาร่วมกันคิดร่วมกันทำโดยไม่สนใจว่าใครจะเก่งใครจะใหญ่มาจากไหน เมื่อมาร่วมกันทำงานแล้วก็จะต้องมุ่งไปที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ถ้าใครนึกไม่ออกก็ขอให้นึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ที่มีกลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพมาร่วมกันทำงานโดยมิได้มีการนัดหมาย(ส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัคร) ไม่ได้มีการจัดองค์กรอย่างเป็นทางการไว้ล่วงหน้า แต่สามารถร่วมกันทำงานได้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

•  รู้เฉพาะวิชาชีพตัวเองเพียงอย่างเดียวไม่ได้

ที่สำคัญที่สุดคือคน HR ในอนาคตควรจะต้องทะลายกำแพงแห่งความรู้ในอาชีพออกไปสู่ความรู้ในสายอาชีพอื่นให้มากขึ้น เพราะถ้าเราไม่รู้เรื่องของเขา เราจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาคนของกลุ่มต่างๆได้ยากมาก เหมือนกันเราเป็นช่างซ่อมรถยนต์เรารู้แต่เรื่องอะไหล่ รู้แต่วิธีการซ่อม แต่เราไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีของรถยนต์เปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน รถรุ่นใหม่ๆเป็นอย่างไร คงจะเป็นช่างซ่อมที่เก่งไม่ได้อย่างแน่นอน

•  คนทำงาน HR ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในสาขาเดียวกัน

HR แบบบูรณาการน่าจะมีบุคลากรที่มาจากหลายสาขาอาชีพ เพราะคนๆเดียวอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการเรียนรู้ ดังนั้นทางลัดทางหนึ่งที่จะช่วยให้ HR มีความรู้ที่หลากหลายคือการเปิดทางให้คนจากสาขาอาชีพต่างๆเดินเข้าสู่ถนนสายอาชีพ HR อย่างน้อยก็เป็นการซ้อมทำงานร่วมกันคนที่แตกต่างจากเรามากขึ้นกว่าในอดีตที่มักจะมีแต่คนที่จบรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารงานบุคคลเหมือนกันๆกัน

•  บริหารงานตามสถานการณ์มากขึ้น

การบริหาร HR ในองค์กรยุคใหม่ควรจะต้องเน้นการบริหารงานตามสถานการณ์ให้มากขึ้น อย่ายึดติดกับรูปแบบหรือวิธีการแบบเดิมๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมักจะเป็นปัญหาใหม่ๆ ดังนั้น คงจะยากที่นำเอาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอดีตมาใช้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดเอาปัญหาในอนาคตเป็นหลักและพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยยึดความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก อย่ายึดติดวิธีการในการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก เพราะบางปัญหาต้องใช้ศาสตร์ บางปัญหาต้องใช้ศิลปะ ในขณะที่บางปัญหาต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์รวมกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหรือการกำหนดรูปแบบการบริหารงานของ HR ในอนาคตจะต้องคิดและทำอย่างเป็นระบบ ต้องพร้อมที่จะรับมือกับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

          .................................................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 293977เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การบริหาร HR ในองค์กรยุคใหม่ควรจะต้องเน้นการบริหารงานตามสถานการณ์ให้มากขึ้น เห็นด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท