Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อุปนิสัยที่ 2 เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the end in mind)


อุปนิสัยของวิสัยทัศน์ มองภาพสุดท้ายที่จะเกิดก่อนลงมือทำ (ต้องมีวิสัยทัศน์รู้ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร รู้จักเป้าหมายที่ชัดเจน)

“หลักการของภาวะผู้นำตนเอง (Self-Leadership)

  เมื่อเรามีทางเลือกของเราเองแล้ว เราต้องสร้างภาพในใจขึ้นมาก่อนการลงมือทำ เพื่อเป็นแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมาย ว่าอยากเห็นตนเองเป็นอย่างไร อยากเห็นผลงานเป็นอย่างไร จากนั้นจึงเริ่มลงมือปฏิบัติตามแผนที่นั้น  

อุปนิสัยที่ 2 นี้มีพื้นฐานอยู่บนหลักการของ "ภาวะผู้นำ" เริ่มต้นด้วยการมองเห็นกรอบความคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายสุดท้ายในชีวิตของเราเพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง ตรวจสอบทุกอย่างที่ผ่านมาว่าสอดคล้องกับสิ่งที่กำหนดไว้ในใจหรือไม่ โดยต้องกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และพยายามทำทุกอย่างไม่ให้ขัดแย้งกับสิ่งที่เรากำหนดไว้ว่าสำคัญที่สุดและทำให้เข้าใกล้เป้าหมายให้มากที่สุด

การกำหนดเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กหรือเป้าหมายใหญ่  และการกำหนดแผนงานก่อนลงมือทำ  จะช่วยให้บุคคลสามารถชี้ชัดได้ว่าตนเองต้องการอะไร  ต้องทำอะไร  อย่างไหร เมื่อไหร  ที่ไหน  และทำให้เกิดความผูกพันต่อเป้ามาย หลักการ  แผนงาน และวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของตน  ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายของตน

การที่เราเองต้องเป็นผู้ริเริ่มกำหนด หรือเลือกสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะทำเอง  เพราะในการดำเนินชีวิตทุกวันของเรา จะมี "สิ่งเร้า" เข้ามากระทบเราอยู่เสมอ  คนที่ Proactive จะมีสติในการคิดในการเลือกทางเลือกที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด และพร้อมที่จะรับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง เนื่องจากในการเลือกของตนเองได้มีการคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว  แต่คนที่ Reactive จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือเรื่องที่มากระทบโดยไม่ได้คิดให้ดี และเมื่อทำไปแล้วก็เกิดความทุกข์ใจ รวมทั้งเมื่อเกิดผลกระทบ ก็โทษสิ่งต่าง ๆ ว่าทำให้ตนเองต้องเป็นเช่นนี้

            อุปนิสัยที่ 2 คือ การนำผลลัพธ์สุดท้ายที่เราต้องการเป็นตัวตั้ง โดยสร้างให้เป็นภาพที่ชัดเจนในใจเรา  จากนั้นให้เขียนออกมาให้ชัดเจน  ซึ่งหากเราเห็นผลลัพธ์ที่เราต้องการได้ชัดเจนแล้ว เราก็จะสามารถแปลมาเป็นวิธีการที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ง่าย เพราะเราจะเห็นว่ามีสิ่งใดบ้างที่จะทำให้เรามุ่งสู่เป้าหมายได้ และสิ่งใดไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย  ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้อย่างรวดเร็ว และไม่หลงทาง ต่างจากการเป็น "ผู้จัดการ" คือ 

"การจัดการ" เหมือนความสามารถในการไต่บันไดแห่งความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล แต่

"ภาวะผู้นำ" เหมือนกับการพิจารณาว่าบันไดอันไหนพิงอยู่บนกำแพงที่ถูกต้อง

             บ่อยครั้งที่เราทำงานหนักเพื่อไต่บันไดแห่งความสำเร็จ  แต่กลับพบว่าบันไดนั้นพิงผิดที่วิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจก็คือ การสร้างคำปฏิญญาส่วนตัว (Personal Mission Statement) โดยต้องเริ่มต้นที่ "ศูนย์รวม" ของขอบเขตที่สามารถทำได้เสียก่อน "ศูนย์รวม" มีหลายแบบ เช่น "ศูนย์รวม" อยู่ที่คู่ครอง ลูก ครอบครัว เงิน ที่ทำงาน การเป็นเจ้าของ ความยินดีและความพอใจ มิตรหรือศัตรู ศาสนาและตนเอง เป็นต้น "ศูนย์รวม" นี้จะเป็นแหล่งกำหนดปัจจัยสนับสนุนชีวิต 4 ประการ ได้แก่

1.      ความมั่นคงในจิตใจ (Security)

2.      เครื่องนำทาง (Guidance)

3.      ปัญญา (Wisdom)

4.      อำนาจ (Power)

ปัจจัยทั้ง 4 นี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะให้ประโยชน์สูงสุด ความมั่นคงในจิตใจและเครื่องนำทางที่ชัดเจนนำมาซึ่งปัญญา และปัญญาเป็นตัวจุดประกายให้มีการใช้อำนาจผลกระทบในด้านบวกที่จะเกิดกับชีวิตเราขึ้นอยู่กับชนิดของ "ศูนย์รวม" ที่เราเป็นอยู่

เข้าใจได้ง่ายๆว่า ก่อนที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรให้เราคิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายก่อน ว่าอยากให้เป็นอย่างไร แล้วจากผลลัพธ์ที่คิดในใจก็จะแปลเป็นวิธีการไปสู่จุดหมาย เหมือนมีเป้าหมายที่ชัดเจน การทำให้เป้าหมายปรากฏชัด (Visualization) หรือเห็นได้ง่าย เสมือนเป็นแผนที่นำทางช่วยให้เรามีความพยายามและทุ่มเททำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้ว่าเราต้องเตรียมอะไรบ้าง  ทำอย่างไร  ไปทางไหน  ให้ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

การวางแผนการทำงาน หรือวางแผนชีวิตของเราไว้ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะทำอะไร ทำให้เราได้ตั้งใจไว้แล้วว่าในที่สุดแล้ว การงานนั้นๆหรือชีวิตของเราจะมีลักษณะสุดท้ายเป็นอย่างไร เราก็จะทำตัวให้สอดคล้องกับจุดหมายนั้น  โดยไม่ออกนอกเส้นทางหรือหลงทางไปง่ายๆ

 เคล็ดลับ  เราต้องเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต รู้ตัวว่าสุดท้ายเราต้องการเป็นอะไร  เราจะอยู่ในจุดไหน โดยเราต้องสร้างภาพนั้นออกมาให้ชัดเจน พยายามจินตนาการถึงภาพแห่งความสำเร็จในวันนั้นของเราว่าจะเป็นอย่างไร เขียนออกมาให้ชัดเจน  และมุ่งมั่นตั้งใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา  

   อ่านอุปนิสัยข้ออื่นได้ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/the7habits

หมายเลขบันทึก: 293336เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท