คุณภาพที่สมดุล


สมดุลระหว่างเต่ากับกระต่าย

วันนี้ขออนุญาต นำบทความของท่านผอ.สถาบันฯ ที่เขียนบทความลงหนังสือ Medical time ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพที่สมดุลไว้ ขอนำมาเผยแพร่ค่ะ

ในระยะแรกของการพัฒนาคุณภาพ ผมได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาคุณภาพที่สมดุลไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงวิธีการคิดหรือการแปลความหมายที่สุดโต่ง

          สมดุลระหว่าง “การมุ่งระบบ” กับ “การมุ่งคน” 

          สมดุลระหว่าง “bottom up” กับ “top down”

          สมดุลระหว่าง “เต่า” กับ “กระต่าย”  หรือการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป  กับการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

          สมดุลระหว่าง “เหตุผล” กับ “ความรู้สึก”

          มาถึงวันนี้ เรื่องของสมดุลก็ยังคงมีความสำคัญ  นอกเหนือสมดุลที่เคยกล่าวมาแล้ว  ยังมีบทเรียนเพิ่มขึ้นในเรื่องสมดุล เป็นสมดุลระหว่างการทำงานที่มีรูปแบบสูง กับการทำงานอย่างมีศิลปะที่ดูเหมือนไม่มีรูปแบบ แต่เรียบง่าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

         1. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล
         การพัฒนาที่มีรูปแบบ คือ training management (การวิเคราะห์ training needs, จัดทำแผนการฝึกอบรม, การฝึกอบรมตามแผนที่จัดทำไว้, การประเมินผลการฝึกอบรม), competency management (กำหนด, ประเมิน, พัฒนา), performance management (ทำแผนและกำหนดเป้าหมาย, ถ่ายทอดมาสู่เป้าหมายระดับบุคคล, ประเมินผล, feed back)

          การพัฒนาเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อองค์กร แต่เราก็จะพบจุดอ่อนว่าไม่สามารถพัฒนาบุคลากรได้ตามที่ต้องการ ใช้เวลามากกับการกำหนด competency แต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ

          วิธีการที่เรียบง่ายกว่า คือการใช้งานเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้  เมื่อให้การดูแลผู้ป่วยสักรายหนึ่ง ทีมงานมีศิลปะในการตั้งคำถามว่าจะเรียนรู้อะไรจากผู้ป่วยรายนี้ ทั้งความรู้ที่เป็นศิลปะหรือความรู้ฝังลึก และความรู้วิชาการที่สามารถค้นหาได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ  มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้การค้นหาข้อมูลเหล่านี้เป็นไปได้โดยง่าย  มีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทีม  และบทสรุปเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

          จะวางสมดุลระหว่างแนวทางทั้งสองอย่างไร?

            2. การบริหารความเสี่ยง

          วิธีการที่มีรูปแบบ คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยง, การกำหนดมาตรการป้องกัน, การจัดระบบรายงานอุบัติการณ์, การวิเคราะห์ root cause เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน รวมทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มของการเกิดอุบัติการณ์, และการประเมินประสิทธิภาพของระบบ

          ระบบเหล่านี้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและสร้างความตื่นตัวกับผู้เกี่ยวข้องอย่างมาก  ต้องอาศัยการติดตามและผลักดันอย่างต่อเนื่อง

          วิธีการที่เรียบง่ายและนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างกว้างขวางคือการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยในทุกโอกาส ระหว่างการปฏิบัติงาน ระหว่างการส่งเวร การตรวจเยี่ยมโดยผู้นำ การใช้กรณีที่เกิดขึ้นมาสร้างความเข้าใจและความตื่นตัว รวมถึงนำกรณีดังกล่าวไปเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาระบบงานที่เกี่ยวข้อง

          จะวางสมดุลระหว่างแนวทางทั้งสองอย่างไร?

            3. การจัดการความรู้
         วิธีการที่มีรูปแบบคือการวิเคราะห์ส่วนขาดของความรู้ การวางแผนเพื่อหาความรู้ที่องค์กรต้องการ การจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุน การระดมจัดเก็บองค์ความรู้ไว้ในฐานข้อมูล

วิธีการที่เรียบง่ายคือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับวิธีการทำงานให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สอดแทรกอยู่ด้วย ที่สำคัญคือการรู้จักตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะได้บทเรียนอะไรจากการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายหรือการทำงานแต่ละชิ้น  ฝึกฝนในการสรุปบทเรียนออกมาเพื่อให้สามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้

          จะวางสมดุลระหว่างแนวทางทั้งสองอย่างไร?

        สมดุลคือการยอมรับแนวคิดทุกมุมมองอย่างเป็นกลาง และใช้ประโยชน์จากแนวคิดต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยจัดวางน้ำหนักให้ความสำคัญกับแต่ละแนวคิดอย่างสมดุล

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29299เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณมากครับที่ทำให้มีแนวคิดอะไรดีๆเพิ่มขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท