Minimalist Theory


Minimalist

ลัทธิจุลนิยม หรือ ลัทธิมินิมัลลิสม์ คือขบวนการทางศิลปะและความงามทางด้านศิลปะที่ว่าด้วย "ความน้อย" เกิดจากการลดตัดทอน และเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของ ศิลปะสมัยใหม่ เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19  โดยมีต้นกำเนิดมาจากศิลปะแบบ modernism ซึ่งเป็นศิลปะที่ไม่เพียงต่อต้านสไตล์การออกแบบยุคเก่าที่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่าเท่านั้น แต่ยังต่อต้านการเมืองและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงด้วย นักออกแบบแนว modernist จึงใช้การออกแบบที่ตัดทอนสิ่งที่เกินจริงทิ้ง เป็นวิถีทางการแสดงออกที่จะทำลายชนชั้นทางสังคมด้วย พวกเขารู้สึกว่าวัตถุสิ่งของควรจะเป็นอย่างที่เป็นจริง และนี่ก็คือลักษณะของ minimallism ที่เน้นความเรียบง่ายบริสุทธิ์

ผลงานในแนวลดทอน ที่เรียกว่า "Minimal Art" ซึ่งยอมรับในทฤษฎีรูปทรง (Theory of Form) ที่เชื่อมั่นว่าศิลปะคือรูปทรงนัยสำคัญ ศิลปะที่ดีที่สุดคือศิลปะที่ลดทอนจนกลายเป็นรูปทรงพื้นฐานที่มีความเรียบง่ายที่สุด และยกย่องว่า "แนวคิดสำคัญกว่าการเล่าเรื่อง"

ในจิตรกรรมของฝรั่งเศสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรหัวก้าวหน้าทำการลดทอนรายละเอียดต่างๆ ของแบบที่เขียนลง แทนที่การเขียนรายละเอียดด้วยฝีแปรงและสีสัน จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จิตรกรลดทอนรายละเอียดต่างๆ ของรูปทรงลงจนกลายเป็นเหลี่ยมเรขาคณิต แล้วก็ลดทอนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นศิลปะนามธรรม  ดังผลงานของจอร์โจ โมรันดิ เป็นศิลปินระดับมาสเตอร์ของศตวรรษที่ 20 โด่งดังไม่แพ้ ปอล เซซาน และ อง-บัปติสต์ ซิเมยง ชาร์แดง โดยเฉพาะภาพสติลไลฟ์และแลนด์สเคป ผลงานเป็นภาพซึ่งมีรายละเอียดที่เหมือนจริงน้อยลงทุกที ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในภาพ สีสัน หรือการจัดวางองค์ประกอบของภาพ แทนที่จะเป็นภาพเหมือนสิ่งของหรือผลไม้อย่างที่เคยเห็นกัน

กลายเป็นภาพที่แสดงรูปทรง โครงร่าง ในสีสันอันซีดจาง อันเป็นสไตล์ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร  สิ่งที่โดดเด่นมากในภาพสติลไลฟ์ของเขาก็คือการเล่นกับโทนสี รูปทรง และองค์ประกอบที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้ภาพของเขาดูน่าสนใจมากไปกว่าการเป็นแค่ขวดและแจกันใบเดิมๆ  สไตล์ของศิลปินอิตาเลียนคนดัง มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า มินิมัลลิสม์ (Minimalism) ใน เวลาต่อมา

ศิลปินในกลุ่ม มินิมอลลิสม์ มักจะทำงานประติมากรรมมากกว่างานจิตรกรรม การนำเสนอผลงานโดยมากจะไม่มีแท่นฐานสำหรับวางประติมากรรม ผลงานจะดูไม่มีความเป็นงานฝีมือในลักษณะ "งานทำมือ" แต่จะดูเป็นผลผลิตของเครื่องจักรอุตสาหกรรมเสียมากกว่า เรียบง่ายและประณีต แต่ในความเป็นจริง ในความเรียบง่ายเหมือนกับว่าจะไม่มีรูปแบบเฉพาะ ศิลปินในกลุ่มนี้ต่างมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน มินิมอลลิสม์ เป็นแนวศิลปะกระแสหลักที่ครอบงำวงการศิลปะในอเมริกาช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เปรียบได้กับ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ที่ได้รับความนิยมมากในคริสต์ทศวรรษ 1950










































ในด้านการตกแต่งและสถาปัตยกรรม งานออกแบบมินิมัลจะเกี่ยวโยงกับแนวคิดเซน คือการอยู่อย่างสมถะ เก็บข้าวของให้น้อย มีเท่าที่จำเป็น เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอย การโชว์เนื้อแท้ของวัสดุเป็นสำคัญ ทำให้ภาพรวมของที่อยู่อาศัยดูเรียบ และสบายตาที่สุด วิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมแบบ ZEN นับเป็นต้นแบบของ Minimailist ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก การจัดแจกันดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่น ที่ไม่ใช้ดอกไม้จำนวนมากแต่คำนึงถึงรูปFormที่งดงาม หรือการจัดสวนหินแบบเซน ที่เน้นความเรียบง่าย โดยใช้พื้นที่อันน้อยนิดให้สวยงาม ถือเป็นศิลปะการออกแบบขั้นสูงเลยทีเดียว

คำสำคัญ (Tags): #design#minimalist
หมายเลขบันทึก: 292939เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2009 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดว่าทฤษฎีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการออกแบบสื่อด้วยนะคะ

อย่างเช่น การออกแบบ CAI ที่ต้องนำทฤษฎีนี้เข้ามาช่วยในการออกแบบ เพื่อให้หน้าจอที่ออกมาดึงดูดความสนใจของผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอะไรก็ตามสิ่งสำคัญที่เราต้องนำมาประยุกต์ใช้คือการออกแบบโดยใช้ minimalist ค่ะ

ช่างงดงาม และจรรโลงใจเสียจริงๆ ครับ อยากได้บ้านแบบนี้บ้างจัง ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับ "เซน" ก็น่าสนใจครับ ปัจจุบันคนไทยได้รับเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิตไม่น้อย เน้นความเรียบง่าย และการไม่ยึดติดจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท