พุทธวิธีบริหาร (3)


Buddhist Style in Management

พุทธวิธีในการกำกับดูแล

            การกำกับดูแลเป็นการควบคุมสมาชิกภายในองค์กร  ให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ 

            พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่การกำกับดูแลคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย  เพื่อให้พระสงฆ์ใช้เป็นมาตรฐานควบคุมความประพฤติให้เป็นแบบเดียวกัน 

            พระพุทธเจ้าทรงให้เหตุผลในการบัญญัติวินัยไว้  10  ประการ  เช่น  เพื่อความผาสุกแห่งคณะสงฆ์  เพื่อข่มบุคคลผู้ไร้ยางอาย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสีย  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต  เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา  (วินย. 1/20/37)

            การบัญญัติวินัยเป็นเครื่องช่วยให้พระสงฆ์มีวินัยในตนเองและมีเกณฑ์ในการประเมินตนเอง  เมื่อเห็นตนทำผิดพลาดไปจากมาตรฐานตามประพฤติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  และความผิดพลาดนั้นไม่ร้ายแรงถึงขนาดต้องถูกขับออกจากหมู่คณะหรือขาดความเป็นพระภิกษุพระสงฆ์แต่ละรูปจะสารภาพความผิดพลาดต่อเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกัน  วิธีสารภาพเรียกว่า  การแสดงอาบัติ  ซึ่งลงท้ายด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอย่างนั้นอีกต่อไป  (น  ปุเนวํ  กริสสามิ)

            เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว  พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุนำศีลสิกขาบท  ที่ทรงบัญญัติไว้เหล่านั้นมาสวดให้กันและกันฟัง  ทุกกึ่งเดือนในวันพระ  15 ค่ำ  ประเพณีปฏิบัตินี้เรียกว่า  การสวดปาฏิโมกข์  ในตอนจบของศีลสิกขาบทแต่ละข้อผู้สวดก็จะถามที่ประชุมสงฆ์ว่า   กจจิจถ  ปริสุทธา  ท่านทั้งหลาย  บริสุทธิ์ในศีลสิกขาบทนี้แล้หรือ  (วิ.มหา. 1/300/220) 

            ผู้บริหารเชิงพุทธต้องมีภาวะผู้นำ คือ  มีความสามารถในการจูงใจให้คนเกิดความต้องการอยากปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหาร

            ยิ่งไปกว่านั้น  พระพุทธเจ้ายังได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุทำการปวารณาต่อคณะสงฆ์ในวันออกพรรษา 

            การปวารณา  หมายถึง  การอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันด้วยคำว่า  ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์  เพราะเห็นก็ดี  เพราะได้ยินก็ดี  เพราะสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า  เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าผิดพลาด  ก็จักแก้ไขปรับปรุงตัวเอง  (วิ.มหา. 4/226/314)

            ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงว่า

            พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวิธีการในการกำกับดูแลเพื่อให้พระสงฆ์มีวินัยในตนเอง  มีการประเมินตนเอง  และมีการกระจายอำนาจให้คณะสงฆ์กำกับดูแลกันเอง 

            ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขัดแย้ง  ซึ่งเรียกว่าอธิกรณ์ขึ้นในองค์กรสงฆ์  อันเนื่องมาจากพระสงฆ์บางรูปไม่ยอมรับการกำกับดูแลนั้น  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวิธีระงับอธิกรณ์ซึ่งเรียกว่า  อธิกรณสมถะ  7  ประการ  (วิ.มหา.  2/879/571)  ตัวอย่างเช่น

            สัมมุขาวินัย  คือ  วิธีระงับข้อพิพาทด้วยการที่คณะสงฆ์ประชุมพร้อมกัน  พิจารณาข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์  และคำแก้ต่างของฝ่ายจำเลยแล้วดัดสินโดยยึดหลักพระธรรมวินัย

            เยภุยยสิกา  คือ  วิธีระงับข้อพิพาทโดยให้ที่ประชุมสงฆ์ออกเสียงชี้ขาด  ฝ่ายที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากเป็นฝ่ายชนะ

            ติณวัตถารกะ  คือ  วิธีระงับข้อพิพาทด้วยการประนีประนอมยอมความ  โดยที่คู่กรณีตกลงเลิกรากันไป  ไม่ต้องมีการชำระสะสางให้มากเรื่องเหมือนเอาหญ้ามากลบทับปัญหาไว้

            กระบวนการกำกับดูแลความประพฤติของพระสงฆ์  ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นั้นเป็นหลักประกันความมั่นคง  และความบริสุทธิ์ผุดผ่องของคณะสงฆ์  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  เปรียบเหมือนมหาสมุทร  ไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว  ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร  มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตายแล้วนั้นไปสู่ฝั่งซัดขึ้นบกโดยพลัน  บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล  มีธรรมลามก  มีความประพฤติไม่สะอาดน่ารังเกียจ  สงฆ์ย่อมไม่ร่วมกับบุคคลนั้น  ย่อมประชุมกันยกเธอออกไปเสียโดยพลัน  ถึงแม้เธอนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง  ถึงอย่างนั้นเธอชื่อว่า ไกลจากสงฆ์  (วิ. จุล.  7/459/289)

 

บทสรุป

            พุทธวิธีบริหารยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่า  ผู้บริหารเองต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร  พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นอัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย

            ผู้บริหารที่เป็นอัตตาธิปไตย  ก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน  หรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง  โดยยึดคติว่าถูกต้องคือ  ถูกใจข้าพเจ้า  ผู้บริหารประเภทนี้มักลงท้ายด้วยการเป็นเผด็จการ

            ส่วนผู้บริหารที่เป็นโลกาธิปไตย  ก็พยายามเอาใจทุกคนเพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้  เขาพยายามทำให้ถูกใจทุกคนซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  ผู้บริหารประเภทนี้มักหนีปัญหา  เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นภายในองค์กรก็พยายามลอยตัวหนีปัญหา

            ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นธรรมาธิปไตย  เขายึดถือคติว่า  ถูกต้องไม่จำเป็นต้องถูกใจข้าพเจ้าหรือต้องถูกใจทุกคน  เขากล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมโดยไม่พยายามลอยตัวหนีปัญหา  เขาถือคติว่า  อำนาจหน้าที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ      เขายอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน  ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า  นั่นคือ  ประโยชน์สุขส่วนรวม 

            พุทธวิธีบริหารจึงเป็นธรรมาธิปไตย  เพราะพระพุทธเจ้าทรง  ยึดหลักธรรม  คือหลักการสร้างประโยชน์สุข  เพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

            ดังพุทธพจน์ว่า

                  ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขยิ่งใหญ่เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย  บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อย  เพื่อเห็นประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่  (ขุ.ธ. 25/8/9)

            ควรกล่าวไว้ในที่นี้ว่าธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง  แต่เป็นวิธีการปกครองที่ถือธรรมเป็นใหญ่  ธรรมาธิปไตยใช้ได้กับการปกครองในระบอบต่างๆ  นั่นคือ  การปกครองไม่ว่าจะเป็นระบอบใด คือ  ราชาธิปไตย  คณาธิปไตย  หรือประชาธิปไตยก็ตามที  ก็เป็นธรรมาธิปไตยได้  ถ้าผู้ปกครองในระบบนั้นถือธรรมเป็นใหญ่  การปกครองไม่ว่าจะเป็นระบอบใดก็ถือว่าดีแท้ยังไม่ได้ถ้าไม่เป็นธรรมาธิปไตย  แม้แต่ประชาธิปไตยก็อาจจะกลายเป็นเผด็จการ  โดยเสียงข้างมากถ้าไม่เป็นธรรมาธิปไตย

            ในระบอบการปกครองที่เป็นธรรมาธิปไตย  ผู้บริหารสูงสุดต้องมีทั้งอัตตหิตสมบัติ  คือยึดธรรมประจำใจ  และมีปรหิตปฏิบัติ  คือ มุ่งบำเพ็ญประโยชน์สุขส่วนร่วม  เมื่อผู้นำประพฤติธรรม  สังคมส่วนรวมก็อยู่เป็นสุข  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

            เมื่อฝูงโคข้ามฟากแม้น้ำ  ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง  โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมด  ในเมื่อโคผู้นำฝูงไปตรง  ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน  ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ  ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม  ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน  ประชาชนทั้งประเทศย่อมอยู่เป็นสุข  ถ้าพระราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม  (อง. จตุกก.  21/70/98)

 

เอกสารอ้างอิง

 

พระเทพโสภณ  (ประยูร  ธมมจิตโต).  (ม.ป.ป.)  พุทธวิธีบริหาร.   กรุงเทพฯ : ธรรมสภา.

พระธรรมโกศาจารย์  (ประยูร  ธมมจิตโต).  (2548,  ตุลาคม - ธันวาคม).  ทางเดิน.  กรุงเทพฯ :  เจริญรัฐ.  30 (131),  38-44.

พระธรรมโกศาจารย์  (ประยูร  ธมมจิตโต).  (2549,  มกราคม - มีนาคม).  ทางเดิน.  กรุงเทพฯ :  เจริญรัฐ.  31 (132),  34-38.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 292158เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท