พุทธวิธีบริหาร (2)


พุทธวิธีในการบริหารงานบุคคล

            การบริหารงานบุคคลในพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่การรับคนเข้ามาบวชที่ต้องมีการกลั่นกรองโดยคณะสงฆ์  พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้คณะสงฆ์ในการให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรตามแบบญัตติจตุตถกรรม  พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีอุปสมบทเรียกว่า พระอุปัชฌาย์  การรับคนเข้ามาอุปสมบทต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะสงฆ์  ที่ประชุมพร้อมกันในอุโบสถที่ประกอบพิธีอุปสมบท

            เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว  พระบวชใหม่จะต้องได้รับการฝึกหัดอบรมและการศึกษาเล่าเรียนจากพระอุปัชฌาย์  โดยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของท่าน  จนกว่าจะมีพรรษาครบ  5  จึงเรียกว่า นิสัยมุตกะ  คือ ผู้พ้นจากการพึ่งพาพระอุปัชฌาย์  ดังนั้น  กระบวนการฝึกอบรมพระบวชใหม่  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  กระบวนการนี้ก่อให้เกิดระบบโรงเรียนในวัด  ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่สำคัญในอินเดีย  เช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา

            ระบบการศึกษาในพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากร  ตราบใดที่บุคลากรนั้นยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์  เข้าผู้นั้นก็ต้องได้รับการศึกษาอบรมตลอดไป   เรียกว่าเป็น เสขะ  คือ  ผู้ยังต้องศึกษา  ต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นพระอรหันต์แล้ว  จึงเรียกเป็น อเสขะ  คือผู้ไม่ต้องศึกษา

            กระบวนการจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนายึดหลักไตรสิกขาคือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ซึ่งเป็นการอบรม (Training)  ที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าจะเป็นการเรียนการสอนในทางทฤษฎี  (Teaching)  เมื่อกล่าวในเชิงบริหาร  เราต้องยอมรับว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งการศึกษา

            การศึกษาอบรมในพระพุทธศาสนายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ดังจะเห็นได้จากการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการและวุฒิภาวะของผู้เรียน  โดยที่พระพุทธเจ้าทรงเทียบความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียนของบุคคลเข้ากับบัวสี่เหล่า  และทรงจำแนกประเภทของบุคคลที่จะเข้ารับการศึกษาอบรมไปตามจริต  6  และที่สำคัญมาก็คือ  พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  ตุมเหหิ  กิจจํ  อาตปป  อกขาตาโร  ตถาคตา  เธอทั้งหลายต้องทำความเพียรเพื่อเผากิเลสเอง  ตถาคตเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง  (ขุ.ธ. 25/30/51)

            บุคลากรที่ได้รับการพัฒนาแล้ก็จะได้รับการจัดสรรภาระหน้าที่ให้ปฏิบัติงานภายในองค์กรตามความรู้ความสามารถ  ดังพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ  ดังกล่าวมาแล้ว

            การบริหารงานบุคคลในพระพุทธศาสนา  มีระบบการให้รางวัลและการลงโทษซึ่งเทียบได้กับการใช้พระเดชพระคุณในสมัยปัจจุบัน  นั่นคือ  ใครทำดีก็ควรได้รับการยกย่อง  ใครทำผิดก็ควรได้รับการลงโทษ 

            ดังพระบาลีที่ว่า  นิคคณหิ  นิคคหารหํ  ปคคณเห  ปคคหารหํ  ข่มคนที่ควรข่ม  ยกย่องคนที่ควรยกย่อง  (ขุ.ธ.  27/242/530) 

            เราจะเข้าใจระบบการให้รางวัลและการลงโทษได้ดี  จากเรื่องต่อไปนี้ใน  เกสีตสูตร  (อง.จตกก. 21/100/150)

            วันหนึ่งสารถีผู้ฝึกม้าชื่อนายเกสีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  แล้วทูลถามว่า  พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีฝึกคนอย่างไร  พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามว่า  นายเกสีผู้ฝึกม้าอย่างไร  นายเกสีกราบทูลว่า  เขาใช้  3  วิธีคือ  วิธีนุ่มนวล  วิธีรุนแรง  วิธีผสมผสาน  คือมีทั้งนุ่มนวลและรุนแรง

            พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า  ถ้าใช้  3  วิธีแล้วไม่ได้ผล  จะทำอย่างไร?

            นายเกสีกราบทูลว่า  ถ้าฝึกไม่ได้ผลก็ฆ่าม้าทิ้งเสีย  เพราะปล่อยไปก็ทำให้เสียชื่อสถาบันเกสีวิทยา

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า  พระองค์ทรงใช้ทั้ง  3  วิธี  ฝึกคนเหมือนกันคือ  ใช้วิธีนุ่มนวลกับคนที่ควรให้กำลังใจ  ใช้วิธีรุนแรงกับคนที่ควรตำหนิห้ามปราม  และใช้วิธีผสมผลสนกับคนที่ควรยกย่องเมื่อถึงคราวต้องยกย่อง  และตำหนิเมื่อถึงคราวต้องตำหนิ

            นายเกสีทูลถามว่า  ถ้าใช้  3  วิธีแล้วไม่ได้ผลจะทำอย่างไร?

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ก็มีการฆ่าทิ้งเหมือนกัน

            นายเกสีทูลถามว่า  การฆ่าไม่สมควรสำหรับสมณะมิใช่หรือ

            พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า  ในวินัยของพระอริยเจ้า  การฆ่า หมายถึง  การเลิกว่ากล่าวสั่งสอน  คนที่พระพุทธเจ้าเลิกว่ากล่าวสั่งสอน  ย่อมหมดโอกาสเจริญเติบโตในทางธรรม

 

พุทธวิธีในการอำนวยการ

            การอำนวยการให้เกิดการดำเนินงานในพระพุทธศาสนาต้องอาศัยภาวะผู้นำเป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพราะไม่มีระบบการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตามผู้นำในพระพุทธศาสนา 

            การที่สมาชิกจะทำตามคำสั่งของผู้บริหารหรือไม่  จึงขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำในผู้บริหารเป็นสำคัญ

            อะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้บริหารกับผู้นำ

            ผู้บริหาร   คือ  ผู้ที่ทำให้คนอื่นทำงานตามที่ผู้บริหารต้องการ

            ผู้นำ   คือ  ผู้ที่ทำให้คนอื่นต้องการทำงานตามที่ผู้นำต้องการ

            ดังนั้น ผู้บริหารเชิงพุทธต้องมีภาวะผู้นำ คือ  มีความสามารถในการจูงใจให้คนเกิดความต้องการอยากปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหาร

            บุคคลที่เป็นผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติสำคัญ  2  ประการ ดังกล่าวมาแล้ว คือ  อัตตหิตสมบัติ  หมายถึง  ความเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติส่วนตัวที่เหมาะกับการเป็นผู้นำ  และปรหิตปฏิบัติ  หมายถึง  ความมีน้ำใจในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมและองค์กรของตน

            พระพุทธเจ้าเพียบพร้อมไปด้วยอัตตหิตสมบัติและปรหิตปฏิบัติจึงสามารถใช้ภาวะผู้นำบริหารกิจการพระพุทธศาสนาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  อัตตหิตสมบัติที่สำคัญในการบริหารของพระพุทธเจ้าก็คือ  ความสามารถในการสื่อสารกับคนทั่วไป  ในการสื่อสารเพื่อการบริหารแต่ละครั้งพระพุทธเจ้าทรงใช้หลัก  4  ส. (ที.สี. 9/198/161)  ซึ่งมีคำอธิบายเชิงประยุกต์เข้ากับการบริหารดังต่อไปนี้

            1.   สันทัสสนา  (แจ่มแจ้ง)  หมายถึง  อธิบายขั้นตอนของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง  ช่วยให้สมาชิกปฏิบัติตามได้ง่าน

            2.  สมาทปนา  (จูงใจ)  หมายถึง  อธิบายให้ความเข้าใจและเห็นชอบกับวิสัยทัศน์จนเกิดศรัทธาและความรู้สึกว่าต้องฝันให้ไกลและไปให้ถึง

            3.  สมุตเตชนา  (แกล้ากล้า)  หมายถึง  ปลุกใจให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความกระตือรือร้นในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย

            4.  สัมปหังสนา  (ร่าเริง)  หมายถึง  สร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันแบบกัลยาณมิตร  ซึ่งจะส่งเสริมให้สมาชิกมีความสุขในการงาน

            ความสามารถในการจูงใจคนของพระพุทธเจ้าตรงกับสมัญญาว่า  ตถาคต  หมายถึง    คนที่พูดอย่างไรแล้วทำอย่างนั้น  (ที.ม.  10/211/255) 

            พระพุทธเจ้าทรงมีภาวะผู้นำสูงมาก  เพราะทรงสอนให้รู้  (ยถาวาที)  ทำให้ดู (ตถาการี)  และอยู่ให้เห็น  (ยถาวาที  ยถาการี) 

            ยิ่งไปกว่านั้น  การสั่งสอนแต่ละครั้งของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยอมรับได้ง่ายเพราะไม่ทรงใช้วิธีเผด็จการ  แต่ทรงใช้วิธีการแบบธรรมาธิปไตย  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงจำแนก  แรงจูงใจในการทำความดี  ซึ่งเรียกว่า อธิปไตย  3  ประการ  (อง.ติก. 20/475/186)  ดังนี้

            1.  อัตตาธิปไตย  การทำความดีเพราะยึดผลประโยชน์หรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง

            2.  โลกาธิปไตย  การทำความดีเพราะต้องการให้ชาวโลกยกย่อง  นั่นคือยึดทัศนะหรือคะแนนนิยมจากคนอื่นเป็นที่ตั้ง

            3.  ธรรมาธิปไตย  การทำความดีเพื่อความดีทำหน้าที่เพื่อหน้าที่  นั่นคือ  ยึดธรรมคือหน้าที่เป็นสำคัญ

            แม้พระพุทธเจ้าจะประกาศว่าพระองค์เป็นธรรมราชา  แต่ก็ไม่ทรงใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยลำพังพระองค์เอง  ตามแบบราชาธิปไตยในสมัยนั้น  พระพุทธเจ้าทรงกระจายอำนาจในการบริหารให้กับคณะสงฆ์ดังกล่าวมาแล้ว  ทั้งนี้เพราะแรงจูงใจในการบริหารของพระพุทธเจ้า  ผู้หมดกิเลสแล้วย่อมไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ส่วนพระองค์  การบริหารของพระพุทธเจ้าจึงไม่ใช้อัตตาธิปไตย

            นอกจากนี้  พระพุทธเจ้า  ก็ไม่ได้ทรงบริหารกิจการพระศาสนาไปตามคำนินทาและสรรเสริญของชาวโลก  การบริหารของพระองค์จึงไม่ใช่โลกาธิปไตย  พุทธวิธีบริหารเป็นแบบธรรมาธิปไตย  เพราะพระพุทธเจ้าทรงยึดธรรม  คือหลักการสร้างประโยชน์สุขเพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ 

            ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักการบริหารของพระองค์ไว้ว่า

            พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงธรรม  เป็นธรรมราชา  ทรงอาศัยธรรม  สักการะธรรม  เคารพธรรม  ยำเกรงธรรม  มีธรรมเป็นธง  มีธรรมเป็นตรา  เป็นธรรมาธิปไตย  ทรงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองที่เป็นธรรม  (อง.ติก. 20/453/139)

            เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงยึดหลักธรรมาธิปไตยนี่เอง  จึงไม่มีการตั้งใครเป็นศาสดาสืบต่อจากพระพุทธองค์ 

            ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พระอานนท์  ทูลถามว่า  จะทรงตั้งใครเป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์หรือไม่ 

            พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  จะไม่ทรงตั้งใครเป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์  ทั้งนี้เพราะทรงประสงค์จะให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง  โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักในการปกครอง  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว  บัญญัติแล้ว  จะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว  (ที.มหา. 10/177/140)

            ภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน  พระมหากัสสปะได้ปฏิบัติตาม    พระพุทธพจน์นี้  โดยเรียกประชุมพระอรหันต์  500 รูป  เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่สำหรับใช้เป็นหลักอ้างอิงในการบริหารกิจการพระศาสนา  นับแต่นั้นมาการบริหารกิจการพระศาสนาก็ยึดพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเป็นหลัก  โดยมีคณะสงฆ์เป็นองค์กรบริหารสูงสุดสืบต่อจนทุกวันนี้

 

(มีต่อตอน 3)

หมายเลขบันทึก: 292156เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เรียนท่านพระครูนิวิฐธุราทร

  • ข้อมูลดีมากครับท่านพระครู
  • ระบบอุปัชฌาย์-ศิษย์นั้นมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งอย่างมากเป็นระบบการฝึกฝนคนให้ได้เรียนรู้ระเบียยวินัยการใช้ชีวิตที่ดี
  • จึงน่าสนใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงใช้เวลาในการฝึกคนด้วยระยะเวลาขนาดนี้
  • ผมเคยนึกเปรียบเทียบกับการฝึกฝนคนด้วยการศึกษาระดับบัณฑิต(ปริญญาตรี)ใช้เวลา ๔ -๕ ปี รับปริญญา คือระยะเวลาใกล้กันมากเลย จบแล้วรับปริญญาตรี(เป็นบัณฑิต)
  • ถ้าบวชห้าพรรษาแล้วลาสิกขา เขาเรียกว่า ฑิต (ว่ากันว่ากร่อนมาจากบัณฑิต) ขอฝากท่านพระครูช่วยคิดต่อด้วยนะครับ.

ด้วยความนับถือครับ

พระครูนิวิฐธุราทร
  • เรียนคุณมหาแล อาสโย
  • ขอบคุณที่เข้ามาเยียมชมและร่วมแสดงความคิดเห็น
  • จะขอนำความคิดของคุณมหาไปคิดต่อ
  • แต่ผมว่า... ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตเพราะใบปริญญา หรือเป็นบัณฑิตเพราะสึกมา
  • ผมขอเพียงว่า อย่าเป็นพระใบลานเปล่าก็แล้วกัน
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท