การจัดการสถานะบุคคล


การบันทึกสถานะบุลคล และการจดทะเบียนการเกิด

การจัดการเรื่องสถานะของบุคคลภายใต้กฎหมายไทย 

                                                                             โดย นายวีนัส  สีสุข

 

          ประเทศไทยมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการประชากรของประเทศมาเป็นเวลายาวนาน  ทั้งในเรื่องการบันทึกตัวบุคคล การจดทะเบียนคนเกิดและคนตายซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคลตามกฎหมาย โดยที่ปรากฏเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัวและการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ. ๒๔๖๐ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๙ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้น  

          การบันทึกสถานะบุคคลภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่อ้างถึงนั้น แต่ละฉบับจะมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป และไม่คลอบคลุมทั่วประเทศ เช่น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านสำรวจจัดทำบัญชีคนในหมู่บ้านและให้แก้ไขปรับปรุงเป็นปัจจุบัน โดยไม่มีกระบวนการออกเอกสารให้เป็นหลักฐานแก่บุคคลหรือครัวเรือน เว้นแต่บุคคลใดจะร้องขอหนังสือรับรอง  ส่วนการบันทึกสถานะบุคคลตั้งแต่เกิดหรือการจดทะเบียนคนเกิด จะกำหนดตาม พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัวและการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.๒๔๖๐ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละมณฑลรับผิดชอบดำเนินการ เป็นต้น จนกระทั่งประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ การจัดการสถานะทางทะเบียนของประชากรในประเทศไทย  จึงได้ถูกนำมากำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกันทุกภูมิภาคในกฎหมายฉบับนี้

 

ก. ภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙

          การยอมรับสถานะบุคคลด้วยการบันทึกหรือจดทะเบียนรายการบุคคลลงในเอกสารราชการของไทยหรือเอกสารมหาชนภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ เริ่มต้นด้วยการสำรวจสำมะโนประชากรและจัดทำบัญชีคนในบ้าน จากนั้นจึงคัดลอกรายการบุคคลจากบัญชีคนในบ้านสร้างเป็นทะเบียนบ้านสำหรับบ้านแต่ละหลัง โดยไม่ได้แยกประเภททะเบียนบ้านระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว เมื่อมีคนเกิดใหม่ก็จะนำใบเกิดหรือสูติบัตรมาเพิ่มชื่อเด็กที่เกิดลงในทะเบียนบ้าน หรือเมื่อมีคนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านก็จะเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามใบแจ้งย้ายที่อยู่ หรือเมื่อมีคนตายก็จะนำใบตายหรือมรณบัตรมาจำหน่ายชื่อคนตายออกจากทะเบียนบ้าน

          การบันทึกและรับรองสถานะของเด็กตั้งแต่แรกเกิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกกำหนดให้ เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนดังปรากฏตามความในมาตรา ๑๑ ที่ว่า เมื่อมีคนเกิด ให้แจ้งดั่งต่อไปนี้      (๑) คนเกิดในบ้านให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง... (๒) คนเกิดนอกบ้านให้มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง... และมาตรา ๑๓ ที่ว่า เมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการมีคนเกิดให้ออกสูติบัตร... โดยคำว่านายทะเบียนผู้รับแจ้งตามกฎหมายฉบับนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตเทศบาลได้แก่นายทะเบียนท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นพื้นที่นอกเขตเทศบาลได้แก่นายทะเบียนตำบลซึ่งก็คือกำนันนั่นเอง ทั้งนี้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ รวมถึงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้ทำคลอดในการรับรองการเกิดแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นหมอตำแย แพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ โดยพิจารณาได้จากตัวบทที่กำหนดในประเด็นการออกหนังสือรับรองโดยผู้ทำคลอดหรือ ผู้รักษาพยาบาลซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๗ นั้น จะเน้นเฉพาะกรณีออกหนังสือรับรองการตายเท่านั้น   ดังความที่ว่า ผู้ใดได้กระทำการรักษาพยาบาลหรือทำคลอดเนื่องด้วยอาชีพของตน เมื่อมีคนตายหรือลูกตายในท้องต้องออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้มีหน้าที่แจ้งตาย

          การบันทึกและรับรองสถานะบุคคลโดยผู้ทำคลอดเริ่มต้นเมื่อสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ ออกระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ กำหนดแบบพิมพ์เพื่อใช้ในการรับรองการเกิด เรียกว่าหนังสือรับรองการเกิด หรือ ท.ร.๑/๑ ใช้ในกรณีของบุคคลที่เกิดโดยมีผู้รักษาพยาบาลโดยวิชาชีพ ทั้งนี้แบบ ท.ร.๑/๑ จะมีสองตอน ตอนที่หนึ่งใช้เป็นหลักฐานประกอบ การแจ้งการเกิด ส่วนตอนที่สองจะเก็บไว้ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าว   เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นมา  

          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ใช้บังคับ จนถึงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ การบันทึกและรับรองสถานะของเด็กที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดในสถานพยาบาลหรือเกิดนอกสถานพยาบาลก็ตามจะเริ่มจากกระบวนการแจ้งการเกิด โดยถ้าเด็กเกิดในเขตเทศบาลจะต้องแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล แต่ถ้าเด็กเกิดนอกเขตเทศบาลจะต้องแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนตำบล (กำนัน) ซึ่งเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการเกิดแล้วจะออกสูติบัตรและเพิ่มชื่อเด็กที่เกิดเข้าในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยไม่พบว่ามีการห้ามนายทะเบียนรับแจ้งการเกิดบุคคลกลุ่มใด ประเภทใด จนกระทั่งมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎรฯ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๕๒๗ การบันทึกและรับรองสถานะของเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะเริ่มจากผู้ทำคลอดโดยวิชาชีพเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเกิดให้ก่อนที่จะมีการแจ้งการเกิดเด็ก ส่วนเด็กที่เกิดนอกสถานพยาบาลก็จะเริ่มจากกระบวนการแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียน

          อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ได้มีการจัดกลุ่มประเภทบุคคลด้วยระบบเลขโดยแบ่งกว้างๆ เป็นคนไทยและคนต่างด้าว ซึ่งในส่วนของคนต่างด้าวยังแบ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยและคนต่างด้าวที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวร (พวกที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ได้เป็นกรณีพิเศษ พวกที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้เป็นการชั่วคราวหรือพวกที่หลบหนีเข้าเมือง) สูติบัตรหรือใบเกิดจึงถูกกำหนดให้แบ่งประเภทเป็นแบบสำหรับคนไทยโดยการเกิด (เลข ๑๓ หลักขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข ๑ หรือเลข ๒) และแบบสำหรับคนที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (เลข ๑๓ หลักขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข ๗) ส่วนทะเบียนบ้านได้ถูกกำหนดให้แบ่ง

ประเภทเป็นแบบสำหรับคนที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในไทย (ท.ร.๑๔) และแบบสำหรับคนที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวร (ท.ร.๑๓)  

ข. ภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔

          พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ถูกยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่แทนเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ ซึ่งได้แก่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ การรับรองสถานะบุคคลและการจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมพอสมควร ทั้งในเรื่องบุคคลที่มีหน้าที่ดำเนินการ และบุคคลที่มีสิทธิขอรับบริการ โดยแยกตามเรื่องการรับรองสถานะบุคคลตั้งแต่เมื่อคลอด และการจดทะเบียนการเกิด ดังนี้

          (๑) การรับรองสถานะบุคคลของเด็ก ได้กำหนดบุคคลที่มีหน้าที่บันทึกรับรองสถานะของเด็กแรกคลอดเพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเดิมได้แก่ผู้ทำคลอด ดังปรากฏในมาตรา ๒๓ ที่ว่า เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตาย...ให้แก่ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดหรือการตาย ซึ่งแท้จริงแล้วบทบัญญัติดังกล่าวก็คือการนำความในระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ มากำหนดเป็นตัวบทเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมาย หนังสือรับรองการเกิดดังกล่าวอาจเรียกอีกอย่างว่าหนังสือรับรองการคลอด โดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดแบบหนังสือรับรองดังกล่าวเรียกว่า ท.ร.๑/๑ ให้ใช้สำหรับเด็กที่เกิดในสถานพยาบาลทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับการออกหนังสือรับรองการเกิดนั้นผู้ทำคลอดไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขสามารถออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในสถานพยาบาล โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเด็กที่เกิดจะเป็นคนสัญชาติใด พ่อแม่เด็กที่เกิดจะมีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่ เป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรในลักษณะใดหรือสถานะใดก็ตาม ผู้ทำคลอดสามารถออกหนังสือรับรองการเกิดให้ได้ ซึ่งการยืนยันหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๓๑๐.๑/๖๙๘๔ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ที่อธิบายความไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอความร่วมมือแจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งในสังกัดถือปฏิบัติ พร้อมทั้งสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งสำนักทะเบียนทั่วประเทศทราบความดังกล่าวตามหนังสือ ที่ มท ๐๓๑๐.๑/ว ๑๕ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ นอกจากนี้ยังได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าสถานพยาบาลบางแห่งออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่เด็กแรกเกิดที่ไม่ได้คลอดในสถานพยาบาลแห่งนั้นเนื่องจากมีเหตุจำเป็น แม่เด็กเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ทันเวลา เช่น กรณีการคลอดบุตรบนรถแท็กซี่ แต่ทั้งนี้เด็กที่คลอดจะต้องถูกนำตัวไปโรงพยาบาลแห่งนั้นด้วย (ต้องปรากฏตัวตนต่อเจ้าหน้าที่)

          สำหรับเด็กที่ไม่ได้เกิดในสถานพยาบาล การบันทึกเพื่อรับรองสถานะบุคคลของเด็กสามารถดำเนินการได้โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้าน การดำเนินการของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนอกจากจะเป็นการบันทึกรับรองสถานะบุคคลแล้ว ยังหมายถึงการ  รับแจ้งการเกิดของเด็กด้วย โดยแบบพิมพ์ที่ใช้คือใบรับแจ้งการเกิด ท.ร.๑ ตอนหน้า  

          (๒) การจดทะเบียนการเกิด ได้กำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านของบ้านหลังที่มีคนเกิด หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิด และกำหนดให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งซึ่งได้แก่นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่นเขตหรือเทศบาล ผู้ช่วยนายทะเบียน รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับแจ้งการเกิด ดังปรากฏในมาตรา ๑๘ ที่ว่า เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง... และมาตรา ๒๐ ที่ว่า เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดแล้วให้ออกสูติบัตร

          สำหรับขั้นตอนการแจ้งการเกิดหรือการจดทะเบียนการเกิดนั้น สามารถดำเนินการได้ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

          ลักษณะแรก ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดจะแจ้งการมีคนเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านที่เด็กเกิดเพื่อให้ออกใบรับแจ้งการเกิด ท.ร.๑ ตอนหน้า แล้วจึงนำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนท้องที่เพื่อออกสูติบัตรหรือใบเกิด  การดำเนินการลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดอย่างน้อย ๒ ประการได้แก่ ๑.การตัดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่ต้องแจ้งการเกิดตามกฎหมายกำหนด เพราะเมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านออกใบรับแจ้ง ท.ร.๑ ตอนหน้าให้แล้ว บิดามารดาจะนำหลักฐานไปขอสูติบัตรเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีความผิด  ๒.เพิ่มความเชื่อถือในการออกสูติบัตรของนายทะเบียนเพราะผู้นำท้องที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงลายมือชื่อรับผิดชอบการแจ้งเกิดเด็กให้แล้ว ทั้งนี้การแจ้งเกิดลักษณะนี้ดำเนินการได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ หรือไม่มีก็ตาม

          ลักษณะที่สอง ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดจะแจ้งการมีคนเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดเพื่อรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรหรือใบเกิด โดยไม่ต้องผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งการแจ้งเกิดลักษณะนี้ดำเนินการได้ทั้งกรณีที่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ หรือไม่มีก็ตาม

แต่ผู้แจ้งการเกิดจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและอาจต้องนำบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็กไปเป็นพยานรับรองต่อนายทะเบียนด้วย

 

ค. ภายใต้นโยบายความมั่นคงและยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะบุคคล

          นอกจากการรับแจ้งการเกิดและจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้ว ยังพบว่าประเทศไทยได้มีการบันทึกเพื่อรับรองสถานะบุคคลให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่าชนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้อพยพหลบหนีภัยจากการสู้รบหรือหนีภัยความตายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายด้านความมั่นคง เช่นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้การจัดทำทะเบียนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าให้แยกต่างหากจากการทะเบียนราษฎร (ข้อ ๕) เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งเกิดต่อนายอำเภอ (ข้อ ๑๐) และกำหนดแบบ พ.ถ.๕ เป็นสูติบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (ข้อ ๒๓) หรือระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนและการควบคุมอดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพ พ.ศ. ๒๕๒๘ กำหนดให้การจัดทำหลักฐานการเกิดให้ใช้แบบพิมพ์ตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร (ข้อ ๕) และเมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอและให้นายทะเบียนออกสูติบัตร ท.ร.๓ (ข้อ ๘) เป็นต้น ซึ่งแม้การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ได้กระทำโดยนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแต่ก็ถือได้ว่าประเทศไทยได้บันทึกสถานะบุคคลเพื่อรับรองจุดเกาะเกี่ยวของเด็กกับพื้นแผ่นดินไทยซึ่งเป็นที่เกิด ทำให้เด็กไม่ตกอยู่ในสถานะของคนไร้รัฐ

          พัฒนาการของการบันทึกสถานะบุคคลและการจดทะเบียนคนเกิดสำหรับคนต่างด้าวที่อยู่ในสถานะของคนไร้รัฐหรือไร้สถานะทางทะเบียน ได้มีการปรับแนวคิดและแนวทางดำเนินการโดยใช้ฐานจากกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแทนที่จะกำหนดขึ้นใหม่ โดยที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติตามยุทธศาสตร์ที่เสนอโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ แบ่งกลุ่มคนที่มีปัญหาออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแต่ตกหล่นจากการดำเนินการของทางราชการที่ผ่านมา  นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา  คนไร้รากเหง้า  คนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ  แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชาที่ไม่สามารถกลับประเทศ  ต้นทาง และคนต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ โดยยุทธศาสตร์ด้านการกำหนดสถานะได้กำหนดวิธีดำเนินการด้วยการสำรวจบุคคลกลุ่มเป้าหมายแล้วบันทึกรายการบุคคลเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติตามแบบ ท.ร.๓๘ ก และกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลักให้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจจัดทำทะเบียนสำหรับคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ส่วนบุตรของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งเกิดในประเทศไทยภายหลังบิดามารดาได้จัดทำทะเบียนประวัติแล้วจะได้รับการจดทะเบียนการเกิดตามระเบียบนี้ เช่นกรณีของเด็กชายหม่อง ทองดี เกิดเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เป็นบุตรของคนพม่าหลบหนีเข้าเมืองที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ได้รับการสำรวจในกลุ่มนักเรียนและบันทึกในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก เลขที่ ๐/๘๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๘ หรือเด็กชายวิษณุ  บุญชา เกิดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ เป็นบุตรของคนที่ไม่มีสถานะ ได้รับการสำรวจในกลุ่มนักเรียนและบันทึกในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก เลขที่ ๐/๘๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ หรือกรณีของนางอายุ  นามเทพ บุคคลที่หนีภัยการเมืองเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับการสำรวจในกลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยและบันทึกในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก เลขที่ ๒๕/๒ ซอย ๒ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๒ มีบุคคลที่มีปัญหาสถานะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามยุทธศาสตร์ฯ จำนวน ๑๙๑,๕๗๐ ราย          

 

ง. ปัญหาการจดทะเบียนการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔

          ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรสำหรับคนต่างด้าวหรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ทั้งในเรื่องการแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ การจัดทำทะเบียนบ้านและทะเบียนประวัติ โดยงดเว้นการดำเนินการสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งการยืนยันเรื่องดังกล่าวปรากฏอยู่ในหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท ๐๓๑๐.๑/ว ๘ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ และกฎกระทรวงกำหนดให้คนต่างด้าวปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้นายทะเบียนปฏิเสธการรับแจ้งการเกิดหรือการจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กที่เป็นบุตรของบิดามารดาที่เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เช่น เด็กที่เกิดในศูนย์ผู้อพยพ  ลูกของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ไม่ได้จัดทำทะเบียนประวัติตามแบบ ท.ร.๓๘/๑ ลูกของผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชาและลูกคนต่างด้าวอื่นที่ไม่มีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ เป็นต้น ทำให้เด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดและตกอยู่ในสภาพของคนไร้รัฐ โดยเด็กบางคนจะได้รับการบันทึกและรับรองสถานะบุคคลจากผู้ทำคลอด มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ แต่ไม่มีใบเกิด

                                                                                                            /ต่อภาคสอง

หมายเลขบันทึก: 291983เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท