การเขียนคำกล่าวรายงานในพิธีปิด


คำกล่าวรายงาน ในพิธีปิดการฝึกอบรม ปิดการประชุม หรือปิดการสัมมนา จะมีสาระสำคัญ เป็นขั้นตอน เรียงตามลำดับ เหมือนกับคำกล่าวรายงานในพิธีเปิด กล่าวคือ มี คำขึ้นต้น

การขอบคุณผู้เป็นประธาน การชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีปิด และการเชิญประธานทำพิธีปิด

ทั้งนี้ แต่ละขั้นตอนจะมีรายละเอียดในทำนองเดียวกับคำกล่าวรายงานในพิธีเปิดเพียงแต่เปลี่ยนจากการ "เปิด" มาเป็นการ "ปิด" และเพิ่มผลที่เกิดขึ้น หรือ ผลที่ได้จากการฝึกอบรม ประชุม หรือ สัมมนา เท่าที่ปรากฏ เข้าไปในคำชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีปิด ด้วย

ผลที่เกิดขึ้น หรือ ผลที่ได้จากการฝึกอบรม  การประชุม หรือ การสัมมนาที่จะเพิ่มเข้าไปในคำชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีปิดนั้น อาจเป็นการได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ หรือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือได้แนวความคิด หรือได้ข้อตกลงข้อยุติ หรือข้อเสนอแนะ หรือผลอย่างอื่น อันเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เข้าฝึกอบรม ผู้เข้าประชุม หรือผู้เข้าสัมมนา และแก่ราชการ ดังตัวอย่างคำกล่าวรายงานในพิธีปิด ต่อไปนี้

 

การเขียนคำกล่าวของประธานในพิธีเปิดและปิด

 

คำกล่าวเปิดงานของประธานในพิธี จะมีสาระสำคัญเป็นขั้นตอนเรียงตามลำดับ ได้แก่ คำขึ้นต้น การแสดงความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้มาทำพิธีนี้ การแสดงการชื่นชม เห็นด้วย หรือสนับสนุน ในงานที่จัดขึ้น การแสดงความสำคัญของงาน การฝากข้อคิด ข้อแนะนำ หรือ ข้อสังเกต การแสดงความหวังว่างานจะเป็นประโยชน์  การขอบคุณผู้จัดและผู้สนับสนุนงาน การกล่าวเปิด และการอวยพรให้การดำเนินงานสำเร็จ รวมทั้งอวยพรแก่ผู้มาร่วมงาน

เช่นเดียวกัน คำกล่าวของประธาน ในพิธีปิดการฝึกอบรม ปิดการประชุม หรือปิดการสัมมนาจะมีสาระสำคัญเป็นขั้นตอน เรียงตามลำดับ เหมือนคำกล่าวของประธานในพิธีเปิด เพียงแต่เปลี่ยนจาก "เปิด" มาเป็น "ปิด" และเพิ่ม การแสดงความยินดี และพอใจในผลสำเร็จของการฝึกอบรม การประชุม หรือการสัมมนานั้น ดังนี้

 

        1. คำขึ้นต้น

 

คำขึ้นต้น ของคำกล่าวเปิดของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น  "ท่าน.....................................(ออกชื่อตำแหน่งของผู้รายงานและบุคคลสำคัญที่มาร่วมพิธี) ท่านผู้เข้าประชุม (ผู้เข้าสัมมนา) และท่านผู้มีเกียรติ"  หรือจะใช้สั้น ๆ ว่า  "ท่านผู้มีเกียรติ"  ก็ได้

 

2. การแสดงความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้มาทำพิธีนี้

 

การแสดงความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้มาประกอบพิธีเปิด............ในวันนี้"

 

3. การแสดงการชื่นชม เห็นด้วย หรือสนับสนุน

 

การแสดงความชื่นชม เห็นด้วย หรือสนับสนุนของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น

"ข้าพเจ้าสนับสนุนการที่...........................ได้จัด.................................ในครั้งนี้"  "ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยที่............................ได้จัด.................................ในครั้งนี้" 

"เป็นที่น่าชื่นชมที่ได้ทราบว่า........................................................................."

"เป็นที่น่าพอใจยิ่งที่.........................................ได้ดำเนินงานทุกด้านมาด้านความก้าวหน้า มีผลงานอันถือได้ว่า เป็นประโยชน์สมกับที่ได้มุ่งหวังไว้"

"ขอแสดงความชื่นชมต้อนรับนักกีฬา ซึ่งร่วมการแข่งขันครั้งนี้ อันเป็นทางที่จะได้ผูกมิตรไมตรีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"

 

 

 

 

4. การแสดงความสำคัญของงานที่จัดขึ้น

 

การแสดงความสำคัญของงานที่ทำในครั้งนี้ของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น

 "การ......................นี้ นับว่าเป็นงานใหญ่ที่สำคัญและน่าสนใจยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในอันที่จะ........................................................."

"การที่....................................ได้จัด........................................นับว่าเหมาะสมแก่กาลสมัย เพราะ................................................................................"

"เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า....................................ฉะนั้น การที่.........................................ได้จัด.............................ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ท่านทั้งหลายจะได้............................"

"กีฬาเป็นสิ่งประเสริฐอย่างหนึ่ง ซึ่งบันดาลให้เกิดผลหลายประการ กีฬาจะช่วยเสริมสร้างพลนามัยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สามารถทนการตรากตรำ กีฬาหัดให้มีความปราดเปรียวว่องไวไหวพริบ รู้จักตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากีฬาช่วยสร้างกำลังใจให้แข็งแรง สร้างนิสัยต่อสู้ มานะไม่ท้อถอยต่อความยากลำบากและอุปสรรคทั้งปวง และช่วยกระชับมิตรไมตรีระหว่างกันอีกด้วย"

 

5. การฝากข้อคิด ข้อแนะนำ หรือ ข้อสังเกต

 

 การฝากข้อคิด ข้อแนะนำ หรือตั้งข้อสังเกตของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น

"โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอฝากข้อคิดบางประการ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้นำไปประกอบการพิจารณาในการ.....................................................ต่อไปนี้"

"ความมีระเบียบ จะก่อให้เกิดวินัย และชาติที่มีระเบียบวินัย สามารถจะสร้างความสำเร็จทุกอย่างได้"

"ข้าพเจ้ายึดมั่นในหลักที่ว่า เงินไม่สำคัญเท่าคน เราต้องยอมรับว่า เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานทุกอย่าง แต่คนเป็นปัจจัยสำคัญกว่าเงิน ถ้าคนไม่ดี ให้เงินไปสักเท่าใดก็ทำไม่ได้ผลเท่าที่ควร ถ้าคนดีมีความรู้ความสามารถจริง อาจทำอะไรได้โดยไม่ต้องใช้เงินหรือทำงานได้ผลเกินกว่าเงินที่ลงไป"

 

 

 

6. การแสดงความหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์

 

 การแสดงความคาดหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์ ของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด อาจจะใช้ เช่น  "ข้าพเจ้ามั่นใจว่า การ..........................ครั้งนี้ จะอำนวยประโยชน์แก่ราชการ แก่ประชาชน ตลอดจนแก่ตัวท่านเอง เป็นอย่างยิ่ง เพราะ........................................................."

 

7. การขอบคุณผู้จัดและผู้สนับสนุนงานนี้

 

การขอบคุณผู้จัดและผู้สนับสนุนของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด อาจจะใช้ เช่น "ขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณผู้มีส่วนร่วม และผู้ให้ความช่วยเหลือ ในการจัด........................ครั้งนี้ รวมทั้งวิทยากร เจ้าหน้าที่ และ..........................................ทุกท่านด้วย"

 

8. การกล่าวเปิด

 

 การกล่าวเปิดของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น  

"บัดนี้ ได้โอกาสอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิด............................................."

"ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิด.............................................ณ บัดนี้"

"ถึงเวลาอันเป็นมงคลแล้ว ข้าพเจ้าขอประกอบพิธีเปิด............................ด้วยการร่วมกับท่านทั้งหลายตั้งจิตอธิฐานให้......................................................................."

"บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าขอประกอบพิธีเปิด โดยขอตั้งจิตอธิฐานให้........................................................................"

 

9. การอวยพรให้งานสำเร็จ และอวยพรแก่ผู้ร่วมงาน

 

การอวยพรของประธานในพิธี ในกรณีที่บุคคลธรรมดา เป็นประธานในพิธีเปิด นิยมใช้ เช่น

"ขอให้งานดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายทุกประการ"

"ขอให้งานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จประโยชน์สมตามปณิธานปรารถนาทุกประการ"

 "ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของท่านจงปกป้องรักษาท่านทั้งหลาย ให้พ้นจากภัยอันตราย และสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ให้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด ที่สมบูรณ์ สามารถที่จะคิดอ่านกระทำการทุกอย่างในหน้าที่ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ประสบแต่ความสุข ความสวัสดี  ความเจริญก้าวหน้า  และความสำเร็จในสิ่งที่พึงประสงค์  จงทุกเมื่อทั่วหน้ากัน"

 

ตัวอย่างคำกล่าวของประธานในพิธีเปิด

 

คำกล่าวเปิดงาน

โดย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอก จรัล กุลละวณิชย

ในงานสัมมนา เรื่อง "ภาวะโลกร้อน : สถานการณ์ ปัญหาและทางออก"

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2550

ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 306 - 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

 

ขอบคุณดอกเตอร์ วัชระ พรรณเชษฐ์ ท่านประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คุณพิชัย วาศนาส่ง ท่านคณะกรรมาธิการ ท่านประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนและกรรมาธิการ ท่านกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วิทยากร ท่านผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการภาคธุรกิจทั้งหลาย พี่น้องสื่อมวลชน ท่านคณะผู้จัดการสัมมนา ผู้ดำเนินรายการและท่านผู้มีเกียรติ ที่เคารพทุกท่านครับ

ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ มอบหมายให้ผมมาปฏิบัติหน้าที่แทนในการเปิดการสัมมนาเรื่อง "ภาวะโลกร้อน : สถานการณ์ ปัญหา และทางออกในวันนี้" ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติและเต็มใจยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพบหน้าท่านทั้งหลายมากมาย รวม กันอยู่ในห้องเดียวกันนี้

ท่านที่เคารพครับ เราทราบกันมานานอาจจะนานกว่า 10 ปีแล้วถึงภาวะโลกร้อนคืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจกหรือ green house effect สาเหตุสำคัญก็เกิดจากมนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นหรือการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งถ่านหิน ทั้งน้ำมัน ทั้งแก๊สธรรมชาติ ทั้งจากการขนส่ง ทั้งจากการอุตสาหกรรม ซึ่งก็สะสมความร้อนทบทวีขึ้นวันละเล็กวันละน้อย

ผลก็คือเกิดภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักสำรวจบันทึกไว้ว่าอุณหภูมิโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงกว่าอุณหภูมิเมื่อหลายศตวรรษก่อนนี้ถึง 1 องศาเซลเซียส พอบอกว่า 1 องศาเซลเซียส นึกว่านิดเดียว แต่ลองนึกดูว่าอยู่ในห้องใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 25 องศาเซลเซียส ลดลงไป 1 องศาเซลเซียส เราจะรู้สึกหนาวแล้ว ลดลงไปอีก 1 องศาเซลเซียส ถ้า 23 องศาเซลเซียส เราจะเย็นทีเดียว หรือจะเพิ่มขึ้นไป 26 องศาเซลเซียส 27 องศาเซลเซียส เราคงจะอึดอัด เพราะฉะนั้น 1 องศาเซลเซียส สำหรับห้องปรับอากาศ ทั่วโลกเพิ่มเป็น 1 องศาเซลเซียส ไม่ใช่ธรรมดาเป็นเรื่องน่ากลัวเป็นเรื่องรุนแรง แล้วก็น่าตกใจเพราะว่าไปกระทบนิเวศวิทยาต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ที่ได้ยิน ได้ฟังก็คือ เมื่ออากาศร้อนขึ้น ภูเขาน้ำแข็งทั่วโลกก็เริ่มละลาย เราได้ฟังข่าวว่าก้อนน้ำแข็งหลายพันตันหลุดลงมา ละลายลงมากลายเป็นน้ำไป ก็ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมในที่ต่าง ๆ เกาะปริ่มน้ำ ต่อไปข้างหน้าคงจะจมน้ำ ระบบนิเวศวิทยาก็จะเปลี่ยนแนวชายฝั่งทะเลก็จะเปลี่ยน ความชุ่มชื้นก็เปลี่ยนไปมีผลกระทบต่อพืชพรรณได้ปรากฏรายงานว่ารวงข้าวทาง Philippine ลีบไม่มีเมล็ดข้าว มีแต่เปลือกข้าวอย่างนี้ เป็นต้น

การดำรงชีวิตต่าง ๆ ก็จะเดือดร้อนธุรกิจการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไป ชายหาดที่เคยมีจะหายไปนะครับ การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลโดยเฉพาะสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ก็คงจะต้องเปลี่ยนไป เพราะว่าเมื่อโลกร้อนก็จะสร้างสภาวะเหมาะกับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เจริญเติบโตขึ้น มนุษย์ก็คงจะต้องเผชิญกับโรคภัยต่าง ๆ แล้วก็ภัยต่าง ๆ อื่น ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า สารพัดจะพูดมาให้ท่านตกใจ แต่ผมนึกว่าท่านรู้อยู่แล้วเรื่องเหล่านี้เดี๋ยวเรามาคิดกันว่าเราจะทำอย่างไร

ปัญหาเหล่านี้วันนี้ท่านคงต้องถกแถลงกัน ประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องภาวะโลกร้อนนี้ เราท่านอยู่ในห้องนี้ได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้บ้างแล้ว เช่น เราเคยได้ยินในเรื่องของเอลนีโญ ลานีญา ผมว่าได้ยินสัก 20 ปี แล้วเคยได้ฟังข่าวปะการังสีทอง เมื่อสักครู่นี้ก็ถกแถลงกันเรื่องปะการังสีทองที่แสมสาร จังหวัดสัตหีบ ทำไมเกิดสีทองขึ้นตรงนั้นเท่านั้น ฟังวิทยุที่กระจายเสียงประมาณเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาบอกว่านี่ล่ะโลกร้อน ท่านก็คงต้องถกกันว่าจริงหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงหรือเปล่า ท่านคงจะช่วยผมบอกความจริงให้ได้ว่าเป็นอย่างไรกัน เรื่องเหล่านี้อาจจะมีผลหลาย ๆ อย่างด้วยกัน คนในชาติของเราจะรู้หรือยัง บางทีอาจจะยังไม่รู้อาจจะยังไม่สนใจ บางท่านอาจจะพอรู้บ้างแล้ว แต่ว่าที่รู้ ๆ อะไร ได้รู้ถึงปัญหาและเตรียมการอะไรได้บ้างเพื่อที่จะเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ในอนาคตหรือเตรียมการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดประชาชนทุกคนก็คงจะต้องมีส่วนร่วมที่จะแก้ไขกัน ในฐานะมนุษย์โลกคนหนึ่งที่อาจจะไม่ค่อยดีนักก็คือรับรู้เฉย ๆ ก็ยังพอดีนะครับ หรือไม่รับรู้อะไรเลยนี้ก็ลำบากหน่อยคงจะต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้

นับว่าเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เชื้อเชิญให้ส่วนราชการ ให้หน่วยราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยที่รับผิดชอบและที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งเพื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรเอกชน สื่อมวลชน ประชาชนมาร่วมระดมความคิดเห็นมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนเสนอแนวทางในการดำเนินงานเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม ท่านผู้มีเกียรติครับ ภาครัฐและภาคเอกชน ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างที่ผมกราบเรียนไปน่าจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการเร่งดำเนินการผลักดันให้ทุก ๆ คนในบ้านเมืองของเรามีจิตสำนึกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใครที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ก็ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ใช้สื่อต่าง ๆ ให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้และมาร่วมระดมความคิดเห็นร่วมกัน อย่างเช่นที่เราทำกันในวันนี้เพื่อเป็นเวทีของการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นเวทีของการระดมความเห็นที่สะท้อนความจริงอย่างรอบด้านทุกภาคส่วนของสังคมก็จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยรวมในสถานที่แห่งนี้ ห้องนี้เป็นรัฐสภาของท่าน

ดังนั้น เราคงจะต้องศึกษาถกแถลงกันให้เข้าใจสาเหตุและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต้องให้เข้าใจถึงพันธกรณีที่มีผูกพันอยู่กับอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโตที่ท่านเลขานุการของคณะกรรมาธิการได้เอ่ยถึงเมื่อสักครู่นี้ ศึกษาในฐานะทางฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะได้พิจารณาให้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าคงไม่ใช่สำหรับคนยุคเรา ๆ คงสำหรับลูกหลานของเราต่อไปภายหน้าในอนาคตที่ผมคิดว่าไม่ไกลนัก การเตรียมการที่ว่านี้อาจจะมีความจำเป็นถึงขั้นที่จะต้องจัดให้เกิดวาระแห่งชาติขึ้นก็ได้อยู่ที่ข้อพิจารณา ข้อเสนอแนะ

ท่านที่เคารพครับ ผมได้มีโอกาสมากล่าวต่อที่ประชุมสัมมนาทำนองนี้ทุกครั้งว่าเวลาที่จัดสัมมนานี้น้อยนัก วันเดียว ครึ่งวัน ถ้าผู้เข้าร่วมการสัมมนาอยากจะพูดกันทุกคน ดังนั้นก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวเรื่องต่าง ๆ นี้ให้ตรงประเด็นไม่เยิ่นเย้อ ไม่อ้อมค้อม ซึ่งจะได้ระดมความเห็นของท่าน แล้วก็เปิดโอกาสให้ท่านอื่น ๆ ได้มีเวลาได้พูด ได้แสดงความคิดเห็นด้วย ท่านอาจารย์ ท่านผู้ดำเนินรายการคงจะกำกับดูแลให้เป็นไปตามนั้นด้วยดีจะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

ผมขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่าน ขอขอบคุณท่านประธานคณะกรรมาธิการ ขอขอบคุณ ทุก ๆ ท่าน ที่มีกัลยาณจิต สละเวลามาร่วมสัมมนา ขอให้กัลยาณคุณของท่านทั้งหลายทุกคนจงบังเกิดเป็นกุศลกรรม น้อมนำทั้งศิริและมงคลมาสู่ท่านและครอบครัว ให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้าทันโลกยิ่งขึ้น และขอให้ทุก ๆ ท่านมีความปลอดภัยอยู่ทุกเมื่อ

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมก็ขอเปิดการสัมมนาเรื่องภาวะโลกร้อน : สถานการณ์ ปัญหา และทางออก ขอให้การสัมมนาครั้งนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ ขอบพระคุณครับ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 2550, หน้า 7)

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 291245เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท